x close

อาหารอร่อย รสต้องดี

 

รสกลมกล่อม  (ผู้หญิงวันนี้)

          อาหารอร่อย แน่นอนว่า "รส" ต้องดี

          เลยทำให้เราหลายคน  กินอาหารที่มีรสอร่อยไว้ก่อน โดยไม่ค่อยคำนึงถึงส่วนประกอบอย่างอื่น ที่อาจจะมีความสำคัญมากกว่า

          และหลายคนคิดว่า ขึ้นชื่อว่าอาหารสุขภาพนั้น  "รสต้องจืดชืด" ไม่เอาไหน ใครจะอยากกิน

          ความคิดอันนี้จะว่าถูกก็ใช่ว่า ไม่ถูกก็ใช่อีกนั่นแหละ  ทั้งนี้เพราะ "รส" นั้นขึ้นอยู่กับลิ้นของผู้ชิมอาหาร ถ้าเราฝึกลิ้นของเราให้เคยชินกับอาหารรสจัด แล้วลองไปกินอาหารรสธรรมชาติที่อีกคนหนึ่งชมว่า "มีรสดี กลมกล่อม" อาจจะเห็นว่าจืดชืดไม่รสเลยก็ได้

          เคยปรุงต้มยำง่าย ๆ ดูสักหม้อหนึ่งไหมว่าเราใส่น้ำปลากี่ช้อน มะนาวกี่ลูก ชิมทีไรก็ไม่เห็นเหมือนที่ร้านสักที ใส่เติมน้ำปลาเข้าไปอีก ก็รู้สึกเค็มโดดขึ้นมา บีบมะนาวลงไปอีกลูก ก็ยังเหมือนขาด ๆ อะไรอยู่ไม่เห็นเหมือนที่ร้าน ทั้ง ๆ ที่ใส่ทั้งเค็มทั้งเปรี้ยวอย่างสุดฤทธิ์แล้ว ต้มยำมื้อนั้นจึงจบลงด้วยการกินเค็มและเปรี้ยวมากเกินกว่าที่ควร

          ทั้ง ๆ ที่เราเคยอร่อยจากร้านอาหารก็ด้วยผงชูรสที่เขาอาจจะใส่ลงไปทั้งช้อน ทำให้ไปบังคับต่อมลิ้นให้รู้รสว่ามันอร่อยนะ

          แต่อันตรายในระยะยาวที่เรามองไม่เห็นเล่า จะรอจนเจ็บไข้ได้ป่วยไปก่อนหรือ

          เรามาทำความรู้จักกับ "รส" ต่าง ๆ ของอาหารกันก่อน

           หวาน : มารู้จักกับรสหวานกันก่อน เพราะเป็นตัวช่วยให้หลาย ๆ คนมีความสุข บางคนใส่น้ำตาลถึง 3 ช้อนพูน ๆ ในก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม บางคนติดขนมหวาน บางคนต้องอมลูกอมประจำ และคิดว่าความหวานทำให้เราสดชื่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา

          รสหวานนั้นจริง ๆ แล้วมีสรรพคุณเย็น มีผลทำให้น้ำหนักของเราเพิ่มขึ้นได้ แต่การกินหวานพอประมาณก็ทำให้เรามีความสุขได้ด้วย ของหวานจึงมักถูกยกให้เป็นอาหารแห่งความรัก ไม่ว่าจะเป็นช็อกโกแลต ขนมเคลือบน้ำตาลต่าง ๆ แต่ถ้าเรากินเกินพอประมาณของหวานก็ทำให้เราอ้วนขึ้น มีอารมณ์แปรปรวน และทำให้การย่อยอาหารติดขัดได้

          อาหารที่ดีต่อสุขภาพจึงต้องเลี่ยงให้ "หวานน้อย" เข้าไว้ เอาแค่พอประมาณให้สุขใจเท่านั้น

          แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องอดของหวาน ๆ ให้ชีวิตอับเฉาลดดีกรีลงหน่อย และอย่าเป็นคน "ติดหวาน" (ฝรั่งเรียกว่า Sweet Tooth) บางคนนอนไม่หลับ ลงมาเปิดตู้เย็น ค้นหาช็อกโกแลตกินสักแท่ง ขึ้นไปหลับปุ๋ยสบายอารมณ์ บางคนหงุดหงิดจังถ้าไม่ได้กินน้ำอัดลมทุก ๆ บ่าย หรือเพิ่มรสหวานในอาหารที่ควรเค็บอย่างเกินขนาด หัดตัวเองให้เป็นคนอร่อยได้กับอาหารรสธรรมชาติแท้ ๆ ยามมีโอกาสพิเศษออกไปกินข้าวนอกบ้าน พบร้านขนมอร่อยที่สุด จะกินบ้างเป็นมื้อเป็นคราวก็มีความสุขดีหรอก ขืนเป็นคนติดหวานประจำ และหวานมากไปหน่อย อาจต้องรับผลตอบแทนในรูปของน้ำหนักตัวขึ้น อารมณ์หงุดหงิดง่ายหรือโรคเบาหวานถามหา

          รสหวานที่เราใช้ปรุงในอาหารส่วนมากจะมาจากน้ำซุปต่าง ๆ ไม่ว่าจากเนื้อสัตว์ หรือผักที่ให้ความหวานโดยธรรมชาติของมันเอง เช่น แครอท ผักกาดขาว หัวไชเท้า หรือแม้แต่ผลไม้แห้งต่าง ๆ เช่น ลำไย มะเดื่อ พุทรา อ้อย ข้าวโพด เป็นต้น ของพวกนี้เราจับใส่ปรุงรสได้ทั้งนั้น ถ้าต้องใช้น้ำตาลในการปรุง ให้เลือกใช้น้ำตาลที่ทำจากธรรมชาติโดยไม่ผ่านขั้นตอนทางเคมีมาก เช่น น้ำตาลมะพร้าวที่มีขายทั้งสองอย่างเป็นก้อนหรืออยู่ในปี๊บ (เราจึงเรียกว่าน้ำตาลปี๊บ) น้ำตาลอ้อยทีมีขายเป็นอย่างแผ่นกลมเล็ก ๆ (เรียกว่างบ) หรือแบบผงที่มีขายโดยทั่วไป น้ำตาลกรวดที่เป็นก้อนสีขาว มีสรรพคุณเย็น รวมทั้งน้ำผึ้งที่หวานเป็นธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความให้ใช้ได้ในจำนวนมาก เพราะความหวานที่มาจากผลไม้ (Fructose) ก็มีอันตรายได้เหมือนกันถ้าใช้ในปริมาณมาก

           เปรี้ยว : บางคนกินเปรี้ยวมากจนเข็ดฟัน มะนาวยังบอกว่าหวานได้ด้วย รสเปรี้ยวของตัวมันเองในขนาดเล็กน้อย มีสรรพคุณในการช่วยย่อยได้ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าสดชื่นได้ แต่ถ้ามากเกินไป อาจไปขัดขวางการย่อย โดยเฉพาะถ้ากินผสมกับเนื้อสัตว์ เนื้อแดงที่ย่อยยากอยู่แล้ว ถ้าเอาไปยำจนรสเปรี้ยวจัดมากไปจะทำให้อาหารจานนั้นย่อยยากมากขึ้นมาอีก

          รสเปรี้ยวเกินไปอาจมีผลต่อจิตใจทำให้ขี้น้อยใจหรือริษยาได้ด้วยนี่เป็นตำราของอายุรเวทว่าไว้

          รสเปรี้ยวที่เรานำมาปรุงอาหารส่วนใหญ่ได้แก่ มะนาว มะขาม ส้ม น้ำส้มหมัก (เลือกใช้อย่างหมักตามธรรมชาติจะดีกว่า) และของหมักดองต่าง ๆ เช่น ผักกาดดอง

           เค็ม : รสเค็มมีผลต่อระดับน้ำในร่างกาย กินเค็มมากไป ไตต้องทำงานหนัก ร่างกายอาจมีอาการบวมน้ำได้ ส่งผลให้เป็นโรคหัวใจ รสเค็มจึงอาจทำให้น้ำหนักขึ้นได้ง่าย ๆ พอกับรสหวานทีเดียว ด้วยรสเค็มที่พอดี ๆ แล้ว มันจะช่วยในการย่อยและให้ความร้อนต่อร่างกาย แถมยังช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมแห่งความสุข (Adrenal) ด้วย แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น

          รสเค็มที่ใช้ในครัวมาจากเกลือทะเล น้ำปลา (น้ำที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ) ซีอิ๊ว (น้ำที่ได้จากการหมักถั่วเหลืองกับเกลือ) อาหารที่มีเกลือสูงเป็นอันตรายต่อร่างกายเพราะเรามักจะกินเกินไปโดยไม่รู้ตัว ได้แก่อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ อย่างถั่วอบ มันทอด ที่ยิ่งกินยิ่งไม่หยุดนั้นมีเกลือโซเดียมสูงมาก

           เผ็ดและฉุน : เป็นรสอาหารที่ช่วยเสริมการย่อยอาหารของร่างกาย ขับความชื้นออกจากร่างกาย แต่การกินเผ็ดมาก ๆ ก็อาจทำให้ผิวแห้งท้องเสียได้ คนใต้กินรสเผ็ดจัด เพราะอยู่ในภูมิประเทศที่ชื้น ฝรั่งไม่กินเผ็ดเพราะอยู่ในที่แห้ง การกินเผ็ดแต่พอประมาณจะทำให้เรารู้สึกคึกคักหัวใจสูบฉีด กินมากเกินไปอาจทำให้สภาวะเลือดลมในร่างกายไม่สมดุล รสเผ็ดและฉุนมาจากพริกต่าง ๆ กระเทียม หอม เครื่องเทศ

           ขม : รสขมทำให้ร่างกายแห้งและเย็น เป็นรสที่ลบล้างกันดีกับรสเปรี้ยว เค็ม และหวาน ด้วยเหตุนี้ การปรุงอาหารที่ส่งผลดีต่อร่างกาย จึงต้องมีรสประกอบกันหลายรสให้พอดี ๆ ผักใบเขียวหลายอย่างที่มีรสขม เช่น ผักโขมจีน ต้นใหญ่ ๆ ที่เราใช้ต้มจับฉ่าย ผักโสภณที่เราเอามาทำผักกาดดอง ผักกาดเขียวต้นน้อย ๆ ที่ชาวบ้านกินดิบ ๆ กับแจ่ว ยอดสะเดา ใบขี้เหล็ก มะระ เหล่านี้เป็นรสขมที่เราได้จากอาหาร ผักต่าง ๆ เหล่านี้มีวิตามินสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ แคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และอื่น ๆ

          ปกติแล้วเราไม่กินของขมเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ร่างกายเย็นเกินไป แต่เราจะใช้ปรุงร่วมกับรสอื่นให้เกิดความกลมกล่อม

          อาหารที่กินแล้วดีต่อร่างกายของเรา ควรเป็นอาหารที่ได้รสมาจากรสแท้ ๆ ตามธรรมชาติของอาหารนั้น การปรุงรสต้องมาจากเครื่องปรุงรสที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เครื่องปรุงรสสำเร็จรูปที่มาจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบของสารเคมี

          อาหารที่รสกลมกล่อมกำลังพอดี ๆ ไม่หวานมากเกินไป ไม่เค็มเกิน หรือไม่เปรี้ยวจัด จะมีประโยชน์ช่วยร่างกายในการย่อยในการได้ความอบอุ่น ในการขับความชื้น ฯลฯ ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว เวลาปรุงอาหารให้ค่อย ๆ ใส่เครื่องปรุงรสลงแต่น้อยก่อน เพราะถ้ารสใดรสหนึ่งโดดออกมามากไป เราต้องลำบากในการแก้ไขด้วยการใส่รสอื่นเข้าไปช่วย

          จึงอาจจบลงด้วยการกินต้มยำที่มีแต่รสน้ำปลา พริก มะนาว หรือน้ำตาลด้วย แทนที่จะได้กินรสหวานของน้ำแกง และความอร่อยจากรสทั้งเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ที่พอดี ๆ

 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
    คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาหารอร่อย รสต้องดี อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 15:33:33 1,673 อ่าน
TOP