x close

ข้อคิด...ก่อนเช็กสุขภาพ

ตรวจสุขภาพ


ข้อคิด...ก่อนเช็กสุขภาพ
(momypedia)
โดย: รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ 

         การตรวจเช็กสุขภาพประจำปี มีความสำคัญมากกว่าที่เราคิด ในฐานะที่เป็นหมอรักษาคนไข้มายาวนานพอควร ผมเจอกับคำถามเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำ และเชื่อว่าก็จะยังคงถูกถามอยู่ต่อไปตราบใดที่ยังคงรักษาคนไข้อยู่ คุณหมอชวนคุยฉบับนี้ จึงอยากจะให้ข้อคิดเห็นและข้อแนะนำเกี่ยวกับการตรวจเช็กสุขภาพ เพื่อให้ท่านผู้อ่านนำไปเป็นข้อคิดในการพิจารณาตรวจเช็กร่างกายครับ

เช็กสุขภาพไปทำไม ?

         ปัจจุบันความคิดคนเราเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก ทั้งในหมู่ประชาชนและในกลุ่มของหมอเอง พบว่าส่วนมากเห็นด้วยกับการตรวจเช็กสุขภาพโดยที่ไม่ได้มีโรคภัยไข้เจ็บ และการมาหาหมอเพื่อเช็กสุขภาพก็เป็นเรื่องปกติไปแล้ว
    
         อย่างไรก็ตามเท่าที่สังเกตดู ผมคิดว่าการที่แต่ละคนอยากจะตรวจเช็กสุขภาพไม่ได้มาจากเหตุผลเดียวกันหรอกครับ แต่ละคนต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง ซึ่งผมพอจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มครับ

กลุ่มแรก

         คือพวกที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรหรอกครับ แต่เนื่องจากรู้มากและกลัวตายมากยิ่งรู้มากยิ่งกลัวตายมาก ทำให้อยากตรวจเช็กสุขภาพ
    
         พูดถึงความรู้ที่มี อาจจะมาได้จากหลายแหล่ง เช่น จากนิตยสารทางการแพทย์และสุขภาพ ข่าวสารทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือจากโฆษณาทางด้านสุขภาพจากสื่อต่างๆ คนกลุ่มนี้บางทีมาหาหมอแทนที่จะให้หมอตัดสินใจว่า จะตรวจเช็กอะไรให้บ้าง ก็สั่งหมอเสร็จเลยว่า ต้องการตรวจโน้นตรวจนี่เยอะแยะไปหมด เพราะเข้าใจเอาตามความรู้ที่มีว่ามันน่าจะมีประโยชน์

กลุ่มที่สอง

         พวกนี้ก็มีสุขภาพดีและไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเช่นกัน คนในกลุ่มนี้ปกติก็ไม่ได้สนใจที่ตรวจเช็กสุขภาพอะไรหรอกครับ แต่เผอิญคนที่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทหรือมิตรสหายเพิ่งตายจาก เพราะเป็นโรคร้าย เช่น เป็นมะเร็ง หรือเพื่อนบางคนเมื่อวานยังคุยกันอยู่ดีๆ วันนี้ไปโรงพยาบาลหมอกลับบอกว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกไปซะแล้ว เจอข่าวประเภทนี้เข้าไปหลายคนเลยโรคปอดรับประทาน กล่าวคือปอดแหกกลัวตายต้องรีบแจ้นมาให้หมอเช็กสุขภาพให้

         บางคนกลัวน้อยหน่อยหมออยากจะเช็กอะไรก็แล้วแต่คุณหมอจะกรุณาเถอะค่ะ แต่รายที่กลัวมากหน่อยก็อาจจะขอร้องแกมบังคับ ให้คุณหมอตรวจเช็กสารพัดไปหมด คำขอที่ผมมักได้รับก็เช่น “คุณหมอช่วยตรวจให้ละเอียดหมดทุกอย่างเลยนะคะ” ผมเป็นหมอมานานแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจเลยว่า ที่จะให้ตรวจละเอียดทุกอย่างจะเอากันแค่ไหนดี ต้องตรวจละเอียดขนาดดูเส้นผมทีละเส้นเลยหรือเปล่าก็ไม่รู้

กลุ่มที่สาม

         พวกนี้พบมากที่สุด คือจะต้องมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นจึงไปหาหมอ เช่น รู้สึกผอมลง ปวดศีรษะบ่อยๆ เป็นต้น บางคนถึงมีอาการผิดปกติแต่ยังไม่ยอมมาหาหมอก็มีเหมือนกัน เช่น บางคนปวดท้องมาตั้งนานแล้วแต่ก็ไม่ยอมมาหาหมอ พอถามว่าทำไมถึงทนอยู่ได้ตั้งนาน ก็ตอบว่ากลัวหมอบอกว่าเป็นโรคร้ายแรงแล้วจะรับไม่ได้ แต่ที่ทนปวดอยู่นั้นรับได้

         บางคนก็รีรอไม่มาหาหมอเพราะอายก็มี ผมเจอคนไข้จำนวนไม่น้อยที่มีเลือดออกทางช่องคลอดมานานหลายเดือน จนซีดแหงแก๋ถึงจะมาหาหมอ พอถามว่าทำไมถึงใจเย็นจัง พบว่าส่วนมากอยากมาตรวจเร็วๆ กันทั้งนั้น เพราะก็รู้อยู่ว่าเรื่องเลือดตกยางออกน่ากลัวน้อยเสียเมื่อไหร่ แต่ที่กลัวมากกว่าก็คือถ้ามาตรวจมีหวังถูกหมอจับตรวจภายในแหงเลย มันอายนะคะคุณหมอ แต่เมื่อทนมานานพอควรสงสัยเลือดไม่หยุดแน่แล้ว ความกลัวตายก็จะถูกปลุกขึ้นมาในความคิดจนมากกว่าความอาย และลงท้ายด้วยการมาหาหมอในที่สุด

ตรวจอะไรบ้าง ?
    
         ในการตรวจเช็กสุขภาพของคนเรา เฉพาะทางการแพทย์ก็มีวิธีการตรวจมากมายนับร้อยนับพันวิธีอยู่แล้ว ยากที่จาระไนได้หมด อย่างไรก็ตามผมขอสรุปวิธีตรวจเช็กสุขภาพออกเป็น 3 ประเภทง่ายๆ ดังนี้นะครับ

ตรวจร่างกาย

         คนที่เรียนเป็นแพทย์ทุกคนจะได้รับการสั่งสอนโดยครูบาอาจารย์ ตั้งแต่เริ่มเป็นหมอเด็กๆ แล้วว่า ก่อนจะนำคนไข้ไปตรวจด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่วุ่นวาย ต้องเริ่มต้นด้วยการตรวจร่างกายของคนไข้ก่อน การตรวจที่สำคัญประกอบด้วยการตรวจหลักๆ เพียงไม่กี่อย่าง ได้แก่ การตรวจโดย “ดู คลำ เคาะ ฟัง”
    
         คุณหมอที่ตรวจคนไข้มาเป็นเวลานาน บางครั้งแค่ดูรูปร่างลักษณะคนไข้ก็พอจะบอกโรค หรือความผิดปกติได้แล้วก็มี เช่น บางคนที่ดูตัวผอมบาง ซีด หน้าผากโหนก จมูกแบน แค่นี้ก็พอจะบอกได้แล้วว่าเป็นโรคเลือดธาลัสซีเมีย ผู้หญิงบางคนที่ตัวอ้วนๆ ผิวมัน สิวมาก ขนเยอะ พวกนี้มักมีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ บางรายพอแต่งงานก็มีลูกยากเพราะไข่ไม่ตก คนไข้บางคนดูเฉยๆ บอกไม่ได้ แต่คลำที่คอพบว่าต่อมไทรอยด์โตก็มี บางคนไม่มีอาการอะไร พอตรวจภายในพบว่าเป็นเนื้องอกมดลูกก้อนเบ้อเริ่มเลยก็มี บางคนมาตรวจเพราะแน่นท้อง พอหมอจับให้นอนลง และเคาะที่ท้องพบว่ามีน้ำเต็มท้องก็มี บางคนพอใช้หูฟังฟังที่ปอด พบมีเสียงผิดปกติที่เกิดจากโรคปอดสารพัดชนิดก็มี
    
         การตรวจร่างกายที่ละเอียดลออ บางครั้งไม่ต้องตรวจอะไรต่อก็พอบอกได้แล้วว่าคนไข้เป็นโรคอะไร หรือถ้าจำเป็นจะต้องตรวจด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออะไรต่อ คุณหมอก็อาจจะเลือกใช้วิธีตรวจบางอย่าง เพียงไม่กี่วิธีก็สามารถสรุปได้แล้วว่าคนไข้เป็นโรคอะไร

ตรวจเลือด

         การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายคนเราไม่ว่าจะเป็น ตับ ไต หัวใจหรืออวัยวะอื่นๆ จะมีการสร้างสารเคมีชนิดต่างๆ ออกมากันอย่างมากมาย สารเคมีเหล่านี้ส่วนมากจะล่องลอยปะปนกันอยู่ในกระแสเลือดของคนเรานั่นเองแหละครับ เมื่อเราอยากทราบว่าอวัยวะใดของคนเราทำงานผิดปกติไปหรือเปล่า แทนที่จะต้องไปตรวจอวัยวะนั้นๆโดยตรง ก็สามารถตรวจโดยดูปริมาณสารเคมีที่สร้างมาจากอวัยวะนั้นๆ แทนได้ เพราะการเจาะเลือดมาตรวจทำง่ายกว่าการตรวจอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต โดยตรง
    
         การเจาะเลือดมาตรวจบางครั้ง ก็บอกได้เลยว่าคนไข้เป็นโรคอะไร แต่บางครั้งเจาะมาแล้วก็ยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่อาจจะบอกแนวโน้มว่าน่าจะเป็นโรคอะไร และคนไข้ต้องรับการตรวจด้วยวิธีที่ยุ่งยากมากขึ้นต่อไป เป็นไงครับ แค่อ่านก็เหนื่อยแล้วใช่ไหมครับ
    
         เกี่ยวกับการตรวจเลือดผมมีเรื่องที่อยากให้คุณผู้อ่านเข้าใจซักเล็กน้อยว่าไม่อยากให้จริงจังกับผลที่ได้มามากนักนะครับ เพราะค่าตัวเลขของสารเคมีในเลือดที่เจาะออกมาได้มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บางคนเจาะเลือดหาค่าสารเคมีตัวเดียวกัน แต่คนละเวลากัน ค่ายังต่างกันได้เลย นอกจากนี้การแปลผลการตรวจเลือดบางครั้งก็ไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยการประมวลข้อมูลหลายอย่างทั้งผลการตรวจร่างกายและการดูผลเลือดหลายๆ ตัวรวมกันจึงจะบอกได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่

         คุณผู้อ่านบางคนที่ชอบตรวจเลือดเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ บางครั้งเจอผลผิดปกติก็อาจตกใจเกินกว่าเหตุก็ได้ ผมอยากเรียนว่าการดูผลเลือดแบบทื่อๆ เป็นตัวๆ ไป บางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดได้ครับ

         ตรวจด้วยเครื่องมือหรือวิธีการพิเศษ มีมากมายหลายวิธี เช่น การฉายเอกซ์เรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือด การส่องกล้องเข้าไปดูในช่องท้อง ในลำไส้ ฯลฯ เป็นต้น
    
         การตรวจด้วยวิธีเหล่านี้มักเป็นการตรวจเพื่อดูที่ตัวอวัยวะต่างๆ โดยตรง เพื่อจะดูว่ามีก้อน มีแผล หรือสิ่งผิดปกติอื่นหรือไม่ ฟังดูก็แล้วน่าจะตรวจอวัยวะต่างๆ ด้วยวิธีนี้ไปซะเลยไม่ดีกว่ามัวไปตรวจเลือดอยู่หรือเปล่า
    
         ขอเรียนว่าการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษต่างๆ ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ หรอกครับ ส่วนมากต้องใช้หมอที่เรียนมาโดยเฉพาะสำหรับการตรวจแต่ละอย่าง การตรวจหลายวิธีต้องมีการเจาะท้องเป็นรู เพื่อเอาเครื่องมือส่องเข้าไป คนไข้จึงต้องเจ็บตัว บางวิธีการต้องดมยาสลบถึงจะตรวจได้ นอกจากประเด็นนี้แล้ว เรื่องของค่าใช้จ่ายในการตรวจก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดด้วย เพราะการตรวจบางอย่างค่าใช้จ่ายสูงมาก โรคที่คุณเป็นอาจไม่ทำให้คุณตาย แต่ค่าตรวจโรคบางวิธีอาจทำให้คุณตายได้นะครับ เพราะแพงมาก

เลือกตรวจด้วยวิธีไหนดี ?
    
         จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า วิธีการตรวจเช็กสุขภาพมีมากมายสารพัดวิธี ผมคิดว่าการจะใช้วิธีใดในการตรวจควรจะต้องมีการพิจารณา และคัดเลือกอย่างพิถีพิถันพอสมควร เนื่องจากเราคงไม่สามารถนำเลือดมาตรวจหาสารเคมีเป็นร้อยเป็นพันชนิดได้ รวมทั้งคงไม่สามารถนำการตรวจพิเศษวิธีต่างๆ มาใช้ได้ทั้งหมด หรือถึงได้ก็ไม่น่าจะคุ้มค่าและอาจทำให้แปลผลผิดก็ได้อีกด้วย
     
         ผมคิดว่าตัวผมเองและคุณหมอท่านอื่นๆ ก็คงจะคิดคล้ายกันและครับว่า ถ้าจะนำวิธีการตรวจใดมาใช้สำหรับผู้ป่วยแต่ละคน วิธีการตรวจนั้นต้องเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุด ให้ผลแม่นยำที่สุด ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ทราบผลเร็วที่สุด และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยน้อยที่สุดด้วย
    
         มีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่เชื่อเอาเองว่า ต้องตรวจด้วยเครื่องมือบางอย่างเท่านั้นจึงจะเชื่อถือได้ บางคนแค่ปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย ก็ขอให้หมอตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมองเลยก็มี ทั้งที่บางครั้งแค่ซักประวัติโดยยังไม่ต้องตรวจร่างกายด้วยซ้ำก็บอกโรคได้แล้วก็มี บางคนปวดท้องน้อยเรื้อรังเพราะทำงานหนักและวันหนึ่งๆ ต้องนั่งเป็นเวลานาน แค่ตรวจภายในคุณหมอก็บอกได้แล้วว่า อาการปวดมาจากกล้ามเนื้อหน้าท้องถูกกดจากการนั่งนาน แค่พักผ่อนให้พอก็น่าจะหายหรือดีขึ้น แต่คนไข้บางคนปัก ใจว่าต้องใช้อัลตราซาวนด์ตรวจถึงจะบอกได้ บางคนมาถึงก็สั่งให้หมอตรวจเลยก็มี ความเชื่อเหล่านี้ส่วนมากฟังมาจาก “เขาบอก” และอิทธิพลของการโฆษณา

ข้อเสียของการเช็กสุขภาพ
    
         การตรวจเช็กสุขภาพมีประโยชน์ทำให้เราประเมินสุขภาพของเราได้ แต่ข้อเสียจากการตรวจเช็กสุขภาพก็มีนะครับ อย่างแรกเลยก็คือ เสียสตางค์ บางคนตรวจเช็กสุขภาพทีหนึ่งหมดเงินหลายหมื่นเลยก็มี เพียงเพื่อจะบอกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ตรวจแค่ร่างกายและเจาะเลือดตรวจเล็กน้อยก็บอกได้แล้ว นอกจากเสียเงินแล้ว คนที่พอตรวจแล้วผลปกติก็อาจตกอยู่ในความประมาท เพราะคิดว่าสุขภาพยังดีอยู่ ผมอยากเรียนว่าผลการตรวจที่ปกติวันนี้รับประกันอนาคตไม่ได้หรอกครับ อีกเดือนหนึ่งอาจเป็นโรคร้ายก็ได้ เพราะจนกระทั่งปัจจุบัน ผมยังไม่เห็นวิธีการตรวจใดรับประกันอนาคตได้เลย ที่บอกได้ก็แค่วันที่ตรวจ และอาจจะตรวจผิดก็ได้
    
         การตรวจเช็กสุขภาพเป็นเรื่องดี แต่การจะเลือกตรวจอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ควรขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่แตกต่างกัน การตรวจเช็กสุขภาพหลายวิธีสิ้นเปลืองและอาจไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า การจะเลือกตรวจเช็กสุขภาพอย่างไร จึงควรจะได้ปรึกษาหารือกับคุณหมอที่ดูแลให้เข้าใจดีเสียก่อนนะครับ
  
         ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ควรตรวจมะเร็งปากมดลูกและเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) เพิ่ม
  
         เตรียมตัวจะตั้งครรภ์ ควรตรวจเลือดดูความเสี่ยงว่าเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียหรือไม่ และตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมันเพิ่ม
  
         ผู้หญิงวัยทอง ควรตรวจความหนาแน่นของกระดูกเพิ่ม

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

      คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ  

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้อคิด...ก่อนเช็กสุขภาพ อัปเดตล่าสุด 5 กันยายน 2552 เวลา 17:45:15 1,735 อ่าน
TOP