x close

การปฐมพยาบาล พิษจากแมลงสัตว์ กัดต่อย





พิษจากแมลงสัตว์ กัดต่อย (Lisa)

          ในประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น และอุดมด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาตินานาชนิดอย่างบ้านเรา  ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีแมลงต่าง ๆ ชุกชุม แมลงบางชนิดอาจมีประโยชน์ในการช่วยผสมเกสร  และช่วยกำจัดแมลงอื่นที่เป็นศัตรูพืช  แต่บางชนิดอาจก่อให้เกิดความรำคาญด้วยการตอมหน้าตา และตอมอาหารบางชนิดก็อาจจะกัดต่อย  หรือปล่อยเหล็กในที่มีพิษมาทำอันตรายเราได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ หากเราพอจะรู้วิธีการที่จะป้องกัน พร้อมทั้งรู้จักวิธีที่จะเยียวยารักษา เมื่อถูกแมลงที่มีพิษนั้นทำร้าย ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเราเองและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด

กรณีถูกแมลงทำร้ายแบบไม่ทันตั้งตัว

          ก่อนอื่นเราต้องรู้ให้ได้ว่าแมลงดังกล่าวเป็นแมลงชนิดใด เพราะวิธีการเยียวยารักษาจะไม่เหมือนกัน ถ้าหากเป็นยุงมันจะใช้วิธีกัดโดยตรงลงบนบริเวณผิวหนังของเราด้วย เหล็กไนที่มีพิษซึ่งยื่นออกมาจากปากของมัน ดังนั้นมันจึงสามารถกัดเราได้หลาย ๆ ครั้ง แต่ถ้าหากเป็นผึ้งต่อยวิธีการจะตรงกันข้าม เพราะว่าผึ้งจะปล่อยเหล็กไนที่มีพิษจากก้นของมันออกมาทำร้ายเรา ซึ่งในชีวิตของผึ้งมันจะสามารถปล่อยเหล็กไนได้เพียงครั้งเดียว หากเหล็กไนดังกล่าวปักลงตรงผิวหนัง ถุงพิษที่อยู่ในเหล็กไนจะแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายทันที ด้วยเหตุนี้การเยียวยารักษาในกรณีที่ถูกผึ้งต่อย เราจึงจำเป็นต้องรีบถอนเหล็กไนนั้นออกจากผิวของเราก่อน โดยใช้แหนบเล็ก ๆ คีบเหล็กไนนั้นออกไป จากนั้นให้นำหอมหัวใหญ่มาฝานครึ่ง แล้วใช้หัวหอมด้านที่ฝานนั้นถูกับผิวตรงบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย จะช่วยให้อาการเจ็บปวดจากพิษของแมลง (ไม่ว่าจะเป็นยุง มด ต่อ หรือผึ้ง) บรรเทาเบาบางลงได้ นอกจากนี้อาจจะเลือกใช้ยาหม่อง, แอลกอฮอล์ 96%, เกลือป่น หรือยาแอสไพรินบดละเอียด แตะน้ำเล็กน้อย แล้วทาโปะไว้บนผิวตรงบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย

อาการขนาดไหนจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์

          หากรอยที่ถูกแมลงกัดต่อยเกิดอาการบวมแดงและกลัดหนอง หรือเกิดผื่นแดงเป็นบริเวณกว้างยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการดังกล่าวมีทีท่าว่าจะไม่หายเอง แถมยังอักเสบลุกลามเพิ่มขึ้น ลักษณะอาการอย่างนี้จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้ช่วยเยียวยารักษาให้

          นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีผื่นบวมแดงขึ้นอย่างปุบปับ และขยายวงกว้างขึ้นในชั่วพริบตา เราควรจะรีบทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วย ด้วยการนำก้อนน้ำแข็งมาประคบไว้ก่อนที่จะรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์

ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้พิษของแมลงมาก่อน จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น

          โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ภายหลังจากที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย กล่าวคือ คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น กระวนกระวาย ความดันโลหิตต่ำลงอย่างรวดเร็ว  หรือเกิดผื่นคันบวมแดงเป็นปื้นคล้ายลมพิษลุกลามขึ้นทั่วทั้งตัว  อาการเช่นนี้หมายความว่าบุคคลดังกล่าวแพ้พิษของแมลงนั้น ๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งจำเป็นต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด  ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้พิษของแมลงมาก จนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นได้

วิธีการป้องกันตัวให้ห่างไกล จากแมลงสัตว์กัดต่อย

          คนส่วนใหญ่มักจะพยายามหลีกเลี่ยงแมลงมีพิษเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่ว่าพวกเขาจะแพ้หรือไม่ก็ตาม ซึ่งหากยิ่งรู้ตัวอยู่แล้วว่าเป็นคนที่แพ้ต่อพิษของแมลงชนิดใด ก็ยิ่งควรหลีกเลี่ยงที่จะต้องเผชิญกับแมลงชนิดนั้น ๆ อย่างเด็ดขาด แต่ถ้าไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหาวิธีการป้องกัน อย่างเช่น หากต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับแมลง ก็ควรจะสวมชุดที่รัดกุม หรือทายากันแมลงไว้ก่อน

          นอกจากนี้ หากทำงานหรือพักผ่อนในสวนก็ควรสวมเสื้อผ้าสีมอ ๆ หรือสีเรียบ ๆ เพราะเสื้อผ้าที่มีสีสันฉูดฉาดจะดึงดูดความสนใจของแมลงได้ง่าย ที่สำคัญเวลาที่ถูกผึ้ง ต่อ หรือแตน ตอมอยู่ตรงหน้า อย่าแสดงอาการตกใจ และอย่าพยายามปัดไล่ เพราะการกระทำดังกล่าวจะเป็นการยั่วยุให้แมลงนึกว่าเป็นศัตรู และจะยิ่งแสดงความก้าวร้าวต้องการทำร้ายเรามากขึ้น

         
                     เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

                            คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การปฐมพยาบาล พิษจากแมลงสัตว์ กัดต่อย อัปเดตล่าสุด 6 กันยายน 2552 เวลา 14:29:28 20,677 อ่าน
TOP