x close

ไม่ต้องกลัว! สธ. ยัน โรคมือเท้าปากกัมพูชา ไม่อันตราย


โรคมือเท้าปาก กัมพูชา  สธ. ยัน ไม่อันตราย


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเจาะข่าวเด่น โพสต์โดย คุณ LadyBimbettes สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

            จากข่าวการเกิดโรคมือ เท้า ปาก ที่มาจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ได้คร่าชีวิตเด็กชาวกัมพูชาไปแล้วกว่า 52 คน ทำให้หลายคนที่ติดตามข่าวนี้หันมาจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะมีรายงานจากกัมพูชาว่า ผู้ที่ติดเชื้อสามารถเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง จึงกลัวว่าโรคดังกล่าวอาจจะเข้ามาสู่ประเทศไทย

            สำหรับเมืองไทย โรคมือ เท้า ปาก ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นโรคที่เราได้ยินชื่อกันทุกปี แต่ก็ไม่ค่อยพบกรณีที่มีผู้เสียชีวิตเหมือนโรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์ของกัมพูชา ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท รายการเจาะข่าวเด่น เมื่อเย็นวันที่ 10 กรกฎาคม จึงได้เชิญ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค มาให้ข้อมูลว่า โรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์กัมพูชานี้ น่ากลัวจริงหรือไม่

โรคมือเท้าปาก กัมพูชา  สธ. ยัน ไม่อันตราย

            ทั้งนี้ นพ.พรเทพ กล่าวว่า จริง ๆ โรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์เขมร ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่วิตกกัน แต่ที่ดูน่ากลัวก็เพราะที่กัมพูชามีผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก เป็นหมื่น ๆ ถึงแสนคน โดยในจำนวนนี้มีคนที่มีอาการหนักประมาณ 1% เท่านั้น แต่กว่าที่คนกลุ่มที่ป่วยหนักจะถูกส่งตัวมาจนถึงโรงพยาบาลในกรุงพนมเปญ ก็ใช้เวลาหลายวัน ซึ่งอาการเข้าขั้นวิกฤตแล้ว จนสุดท้ายก็มาเสียชีวิตหลังจากมาถึงโรงพยาบาล 24 ชั่วโมง ทำให้คนเข้าใจว่าโรคนี้ร้ายแรง

            อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงต่อว่า จริง ๆ แล้ว โรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงกว่าปกติ แต่เป็นเพราะระบบการทำงาน การส่งตัวของทางกัมพูชาช้า และไม่มีการทำบันทึกไว้ว่า มีผู้ป่วยเท่าไหร่ ทำให้คนไข้อาการหนักขึ้น จนถึงแก่ชีวิต ส่วนผู้ป่วยอีก 5-6 หมื่นคน ไม่ได้ถูกส่งตัวมาโรงพยาบาล เพราะรักษาได้หายแล้ว

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนสงสัยก็คือโรคมือ เท้า ปาก ที่ระบาดในกัมพูชาเป็นโรคสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ เพราะทางองค์การอนามัยโลกก็เข้าไปร่วมเฝ้าระวังทันที หลังมีข่าวการระบาดของโรค แต่ นพ.พรเทพ ยืนยันว่า ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ แต่ที่มีคนเสียชีวิตมากจนองค์การอนามัยโลกต้องเข้าไปตรวจสอบก็เพราะทางกัมพูชาไม่สามารถวินิจฉัยได้ เพราะไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีเครื่องมือ กัมพูชาจึงขอให้องค์การอนามัยโลกเข้าไปช่วยตรวจ จนรู้ว่า นี่คือโรคมือ เท้า ปาก ที่มาจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ซี 4

            นพ.พรเทพ อธิบายว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดได้จากเชื้อโรคหลายตัว สำหรับเอ็นเทอโรไวรัส 71 ก็เป็นเชื้อตัวหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรค โดยในปีที่ผ่านมา ประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ที่มาจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ประมาณ 200-300 คน จากผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ทั้งหมดประมาณ 18,000 คน ซึ่งก็ไม่ถือว่ามาก และในจำนวน 200-300 คนนี้ มีผู้เสียชีวิตไป 6 คน ส่วนในปี พ.ศ.2555 ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา พบคนไทยป่วยโรคมือ เท้า ปาก แล้ว 10,800 คน คาดว่าเกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ประมาณ 100 คน แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

โรคมือเท้าปาก กัมพูชา  สธ. ยัน ไม่อันตราย

            สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ทั่ว ๆ ไปนั้น จะมีผื่น มีตุ่มแดง ตุ่มใส ๆ ขึ้นตามฝ่ามือ ตามฝ่าเท้า ตามปาก แต่หากเป็นโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 นอกจากจะมีอาการผื่นตามมือ เท้า ปาก แล้ว อาการบ่งชี้ที่ชัดเจนก็คือ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส นานเกิน 3 วัน แล้วมีอาการซึม นั่นหมายความว่าเชื้อเริ่มเข้าสมองแล้ว ให้รีบพาไปโรงพยาบาลทันที ไม่เช่นนั้น หากปล่อยทิ้งไว้ ผู้ป่วยจะมีอาการชัก ซึ่งถึงขั้นนี้อาการจะหนักแล้ว เพราะหลังจากนี้หัวใจจะหยุดทำงาน เมื่อหัวใจหยุดทำงาน น้ำเลือดจะไหลกลับไปท่วมปอด จนเสียชีวิตในที่สุด

            ทั้งนี้ เชื้อดังกล่าวอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ และออกมาทางอุจจาระ หากเด็ก ๆ เข้าห้องน้ำนำมือไปสัมผัสอุจจาระที่มีเชื้อแล้วไม่ได้ล้างมือ นำมือมาดูดเล่น เชื้อโรคก็เข้าสู่ปากได้ และเมื่อเชื้อเข้าสู่ปากแล้ว จากนั้น เชื้อก็เข้าสู่กระแสเลือด ถ้าเป็นหนัก ๆ เชื้อจะเข้าสู่เนื้อสมอง และไปอยู่ในจุดที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดทำงาน

            เมื่อเป็นเช่นนี้ นพ.พรเทพ จึงแนะนำว่า หากบ้านไหนมีเด็กอยู่ที่บ้าน ให้ซื้อปรอทวัดไข้ติดบ้านไว้ และหากลูกใครป่วยโรคมือ เท้า ปาก อย่าพาเด็กไปโรงเรียน เพราะจะทำให้โรคนี้ติดต่อไปสู่เด็กคนอื่น ๆ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนวิธีการล้างมือที่ถูกต้องให้กับลูก ๆ เพื่อจะได้ป้องกันการนำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

โรคมือเท้าปาก กัมพูชา  สธ. ยัน ไม่อันตราย

            สำหรับโรงเรียน หากพบเด็กในห้องใดห้องหนึ่งป่วยโรคมือ เท้า ปาก 1-2 คน ก็ต้องให้เด็ก ๆ ในห้องนั้นกลับบ้าน ปิดการเรียนการสอน 7 วัน ทำความสะอาดห้องเรียนให้เรียบร้อย ส่วนเด็กที่ป่วยก็ต้องไปเฝ้าดูอาการ แต่หากว่า ในชั้นนั้นพบเด็กป่วย 3 คนขึ้นไป ไม่ว่าจะอยู่ในกี่ห้อง ทางโรงเรียนต้องปิดทั้งชั้นนั้น เพราะเด็กนักเรียนมักจะเล่นด้วยกัน สามารถติดต่อกันได้ทั้งชั้น และถ้าโรงเรียนใดมีเด็กป่วย 5 ห้องเรียนขึ้นไป ทางกรมควบคุมโรคก็ขอความร่วมมือให้ปิดทั้งโรงเรียน เป็นเวลา 7 วัน เพื่อป้องกันการระบาดของโรค เพราะถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงแพร่เชื้อที่อันตราย

            มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมโรคนี้ถึงมักเกิดกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปีลงมา อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า เป็นเพราะเด็กเล็กยังไม่มีภูมิต้านทาน ในขณะที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เคยรับเชื้อนี้เข้าไปและมีภูมิต้านทานแล้ว แต่บางคนก็ไม่ได้มีอาการของโรคปรากฏ บางคนอาจจะเป็นหวัด เจ็บคอนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็หายไป อย่างไรก็ตาม คนที่เคยเป็นโรคนี้แล้วก็จะไม่เป็นอีกเลย เพราะมีภูมิต้านทานแล้วนั่นเอง

            ในตอนท้าย นพ.พรเทพ ยังได้แนะนำให้ศูนย์เด็กเล็ก หรือโรงเรียนต่าง ๆ ควรนำของเล่นของเด็ก ๆ ไปล้างฆ่าเชื้อด้วย สัปดาห์ละครั้งก็ยังดี รวมทั้งทำความสะอาดห้องน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อของโรค พร้อมกับปลูกฝังวิธีการล้างมือที่ถูกต้องให้กับเด็ก ๆ เพราะโรคนี้เป็นโรคในพื้นถิ่นอาเซียน และมีการระบาดเป็นประจำในช่วงหน้าฝนทุกปี โดยที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

            ขณะเดียวกัน นพ.พรเทพ ยังย้ำด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องไปเฝ้าระวังโรคดังกล่าวตามพื้นที่ชายแดนกัมพูชาแต่อย่างใด เพราะโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นที่เกิดในประเทศไทยทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มอบนโยบายให้ดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ป่วยมากขึ้น และพยายามรักษาไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต











เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม่ต้องกลัว! สธ. ยัน โรคมือเท้าปากกัมพูชา ไม่อันตราย โพสต์เมื่อ 11 กรกฎาคม 2555 เวลา 11:55:34
TOP