ยอมอด ยอมหิวเพราะกลัวอ้วนหนักมาก ลดน้ำหนักจนผอมลงแต่ต้องผอมเบอร์ไหน มีอาการยังไงถึงจะจัดเป็นผู้ป่วยโรคคลั่งผอม ลองเช็ก
ความอ้วน
เป็นคำที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผู้หญิงและอาจรวมไปถึงหนุ่ม ๆ ด้วย
เพราะยุคสมัยนี้คนดูแลรูปร่างกันแบบดีเว่อร์
ดังนั้นหากอ้วนเกินมาตรฐานสักนิดหน่อยก็มักจะถูกล้อ โดนแซว โดนเพื่อน ๆ
เรียกเป็นหมู ช้าง เป็นโอ่งบ้าง
ด้วยเหตุนี้ความอ้วนจึงเป็นคำต้องห้ามสำหรับบางคน ที่อาจกลัวอ้วนจนเกินไป
และมีพฤติกรรมเข้าข่ายโรคคลั่งผอม หรือโรคอะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia
Nervosa) โรคที่ดาราทั้งไทยและเทศป่วยกันเยอะ
กระปุกดอทคอทจึงอยากพาทุกคนไปรู้จักโรคคลั่งผอมว่าคืออะไร อาการคลั่งผอมเป็นยังไง แล้วโรคกลัวอ้วนแบบนี้รักษาได้ไหม
โรคคลั่งผอม หรือภาวะกลัวอ้วนมากเกินไป จัดเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน หรือภาวะ Eating Disorder โดยโรคอะนอเร็กเซีย หรือโรคคลั่งผอม ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมกินอาหารน้อยหรือไม่ยอมกินอาหาร พยายามลดน้ำหนักอย่างหนักด้วยวิธีการต่าง ๆ เพราะกลัวตัวเองจะอ้วน หรือคิดว่าร่างกายยังผอมไม่เท่าที่อยากให้เป็น แม้จะอดอาหารจนเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกก็ยังคงคิดว่าตัวเองอ้วนอยู่ดี
โรคคลั่งผอม เกิดจากอะไร
สาเหตุของโรคคลั่งผอมอาจยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่หลักฐานทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยโรคคลั่งผอมมักเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบ มีภาวะย้ำคิดย้ำทำ และมักจะมีทัศนคติผิด ๆ เกี่ยวกับรูปร่าง โดยอาจมีไอดอลเป็นคนผอมหุ่นดี และรู้สึกอยากผอม มีรูปร่างที่ดีตาม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคคลั่งผอมบางรายมีภาวะกดดันจากสังคม กดดันจากการถูกล้อเลียน และต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคมจึงไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอ้วน ขณะเดียวกันยังมีข้อสันนิษฐานด้วยว่า ปัจจัยเรื่องยีนและพันธุกรรมก็อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคนี้
โรคคลั่งผอม ใครเสี่ยงที่สุด
โดยส่วนใหญ่โรคคลั่งผอมมักจะเกิดในวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการความมั่นใจ และเป็นวัยที่เริ่มจะเข้าสู่สังคม มีปัจจัยแวดล้อมเรื่องความสวยความงาม ความอ้วน ความผอมเข้ามามีอิทธิพล นอกจากนี้โรคคลั่งผอมยังเกิดกับดารา นางแบบค่อนข้างเยอะ ด้วยอาชีพที่ต้องดูแลรูปร่างอยู่เสมอ ดาราและนางแบบบางคนเลยกลัวอ้วน ไม่ยอมกินอาหารจนอาจกลายเป็นโรคอะนอเร็กเซียในที่สุด
โรคคลั่งผอม อาการเป็นอย่างไร
ความอ้วนเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนพยายามเลี่ยงค่ะ แต่ในคนปกติเมื่อลดน้ำหนักจนถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็จะพอใจในรูปร่างที่ดีขึ้นของตัวเอง หรือมีคนทักว่าผอมลง สวยขึ้นก็จะภูมิใจและยุติการลดน้ำหนักเพียงเท่านั้น ทว่าในผู้ป่วยโรคคลั่งผอมจะเสพติดความผอมมาก ๆ จนไม่ยอมกินอะไร หรืออาจสังเกตอาการโรคคลั่งผอมได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- อดอาหาร ไม่ยอมกินอาหารเพราะกลัวอ้วน
- มีพฤติกรรมชอบวัดสัดส่วน หรือชั่งน้ำหนักบ่อย ๆ
- เบลอ ๆ หลงลืมง่าย
- น้ำหนักลดลงเป็นอย่างมาก
- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
- เป็นลมบ่อย
- ประจำเดือนคลาดเคลื่อน ประจำเดือนขาดเนื่องจากฮอร์โมนแปรปรวน
- มีอาการหนาวสั่น อุณหภูมิในร่างกายค่อนข้างต่ำ
- มีภาวะซีด จากการขาดสารอาหาร
- ผิวแห้งแตก
- ผมหยาบกระด้าง ผมร่วง
- นอนไม่หลับ
- เครียด ย้ำคิดย้ำทำว่าตัวเองยังอ้วนอยู่ตลอด
- บางรายมีพฤติกรรมออกกำลังกายหนักมาก วันละ 4-5 ชั่วโมงติดต่อกัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาการกลัวอ้วนของผู้ป่วยโรคคลั่งผอมจะขาดทักษะแยกแยะสิ่งที่ถูกที่ควรด้วย เช่น ผอมมากจนมีอาการป่วยทางกายก็มักจะไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย หรือต่อให้ใครทักว่าผอมมากจนน่ากลัวแล้วก็ยังไม่เชื่อว่าตัวเองผอมลง ยังคงคิดว่าตัวเองอ้วนและควรต้องลดน้ำหนักต่อไปเรื่อย ๆ
โรคคลั่งผอม อันตรายแค่ไหน
โรคคลั่งผอมไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายซูบผอมเพราะผู้ป่วยปฏิเสธอาหาร หรือกินเข้าไปแล้วเกิดความรู้สึกผิดจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้อาหารที่กินเข้าไปออกมาจากร่างกายโดยเร็วที่สุด ซึ่งบางครั้งร่างกายยังไม่ได้ย่อยอาหารเหล่านั้นและไม่ได้ดูดซึมเอาสารอาหารที่ได้รับไปใช้เป็นพลังงานและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายเลยด้วยซ้ำ
และภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารนี่แหละค่ะที่จะนำโรคต่าง ๆ มาให้มากมาย เช่น เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง กระดูกพรุน ยิ่งหากผอมมาก ๆ ชั้นไขมันแทบไม่มีอาจเสี่ยงต่อภาวะกระดูกทิ่มแทงอวัยวะข้างในร่างกายได้ เพราะชั้นไขมันในร่างกายหนาไม่พอจะเป็นเกราะคุ้มกันเครื่องใน โดยเฉพาะเมื่อต้องยกของหนัก หรือเล่นกีฬา การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็วและผิดท่าอาจทำให้กระดูกซี่โครงทิ่มปอดได้เหมือนกัน
นอกจากนี้เมื่อขาดสารอาหาร ร่างกายก็จะเกิดภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล ส่งผลให้ประจำเดือนผิดปกติ และอาจส่งผลต่อจิตใจทำให้ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไร เกิดความรู้สึกห่อเหี่ยว คิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องรูปร่าง กลัวอ้วน มีพฤติกรรมแยกตัว เสี่ยงทำร้ายตัวเอง ใช้ยาเสพติด หรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอีกด้วยนะคะ
โรคคลั่งผอม รักษาได้ไหม
โรคคลั่งผอม หรือโรคอะนอเร็กเซีย จัดเป็นความผิดปกติทางจิตใจ ที่มีความกลัวอ้วนจนเกินไป ซึ่งการรักษาโรคคลั่งผอมสามารถรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติเรื่องรูปร่างเสียใหม่ ทว่าผู้ป่วยโรคคลั่งผอมส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย ทำให้ขาดโอกาสในการรักษา กว่าจะกลับตัวกลับใจได้อีกทีก็ตอนที่สุขภาพร่างกายย่ำแย่มาก ๆ แล้ว
ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยโรคคลั่งผอม จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าดุ อย่าด่า หรืออย่าบังคับให้เขากินอาหาร แต่ควรพูดคุยกับเขาด้วยเหตุและผล พยายามโน้มน้าวให้เขากลับมาดูแลตัวเอง หรือหากลองพูดคุยแล้วอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น ก็ควรพาเขาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
โรคคลั่งผอม ป้องกันได้ไหม
การป้องกันโรคคลั่งผอมสามารถทำได้โดยคนรอบข้าง ที่ควรสังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของผู้ป่วยว่ากินน้อยเกินไปไหม รูปร่างผอมเกินไปหรือเปล่า ซึ่งหากพบเห็นว่าพฤติกรรมการกินของเขาผิดปกติจนเกินไป เคสนี้อาจพาเขาไปพบจิตแพทย์เพื่อช่วยปรับความคิด เสริมความมั่นใจในการเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นได้ ร่วมกับส่งเสริมทักษะในการใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่โรคคลั่งผอมหรือโรคอะนอเร็กเซียเท่านั้นที่พบเห็นได้บ่อยในสังคมไทยและต่างประเทศ แต่ยังมีกลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินที่ชื่อว่าบูลิเมีย (Bulimia Nervosa) ซึ่งจัดเป็นโรคกลัวอ้วนหรือโรคคลั่งผอมอีกโรคหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยบูลิเมียจะมีพฤติกรรมกินตามปกติแต่มักจะไปล้วงคอเพื่อให้อาเจียนหรือใช้ยาถ่ายในการลดน้ำหนัก และพฤติกรรมแบบนี้ก็จัดว่าอันตรายต่อสุขภาพมากเลยทีเดียวนะคะ ดังนั้นกินแต่พอเหมาะและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอคงเป็นวิธีดูแลรูปร่างและเป็นวิธีลดน้ำหนักที่ดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก
พบหมอรามา, thaipsychiatry.wordpress, medicalnewstoday, nationaleatingdisorders