x close

จัดการปัญหา อาการคันในร่มผ้า


อาการคันในร่มผ้า
 

อาการคันในร่มผ้า (อาหารและสุขภาพ)


           หากคุณเป็นผู้หญิง ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อยีสต์ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ต้องขอขอบคุณ Aimee Christine Hughes นักบำบัดองค์รวมที่จะมีช่วยบอกวิธีรักษาและป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

           ผู้หญิงทุกคนจะต้องมีเชื้อยีสต์อยู่ในตัวบ้างไม่มากก็น้อย เชื้อนี้ชื่อว่า Candida albicans เป็นเชื้อปรสิตที่อาศัยอยู่ตามที่อับชื้นตามร่างกาย รวมทั้งช่องคลอด กระเพาะอาหาร ปาก และผิวหนังตามข้อพับต่าง ๆ โดยทั่วไปก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่บางทีก็มีบางสิ่งบางอย่างไปกระตุ้นให้ยีสต์เกิดการขยายเพิ่มจำนวน

           ตัวกระตุ้นอย่างหนึ่งก็คือ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งสามารถฆ่าแบคทีเรียอย่างเช่น Lactobacillus acidophilus ที่คอยช่วยควบคุมจำนวนยีสต์เอาไว้ การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไปก็เป็นการกระตุ้นเช่นกัน เพราะยีสต์ต้องการน้ำตาลเป็นอาหาร สิ่งอื่น ๆ ก็ได้แก่ภูมิคุ้มกันลดลง ๆ ความเครียด, การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (โดยเฉพาะในช่วงก่อนมีรอบเดือน, ระหว่างมีครรภ์หรือหมดรอบเดือน, หรือขณะให้นมบุตร), น้ำอสุจิจากผู้ชาย, ยาคุมกำเนิด, และแอลกอฮอล์

           สตรีมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์มีการติดเชื้อยีสต์ที่ช่องคลอดอย่างน้อยก็หนึ่งครั้งในชีวิต แต่บางคนก็เกิดขึ้นมากกว่านั้น ตั้งแต่ปีละหนึ่งถึงสามครั้ง และการติดเชื้อสามารถติดเชื้อไปสู่คู่นอนได้ อาการที่เกิดขึ้นในผู้หญิงได้แก่ คัน, เป็นผื่นแดง และผิวหนังหนาขึ้น, ตกขาว, มีน้ำข้น ๆ ไหลออกมา บางทีก็พูดกันว่าข้นพอ ๆ กับค็อตเตจชีสเลยทีเดียว ในกรณีที่เป็นหนัก ๆ ก็จะมีปฏิกิริยาของการแพ้, เป็นผื่นที่ช่องคลอด, ท้องเสีย, เจ็บในท้อง, ปวดรอบเดือน, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย, แสบเวลาถ่ายปัสสาวะ, รู้สึกเจ็บเวลาร่วมเพศ, บางทีก็มีการติดเชื้อที่ไต หรือที่กระเพาะปัสสาวะ หากมีการติดเชื้อในผู้ชาย ก็จะมีอาการแดงที่หนังหุ้มองคชาติและปลายองคชาติ และมีการอักเสบ

           การติดเชื้อยีสต์อาจไม่ได้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ที่แน่ ๆ คือมันไปทำให้คุณภาพชีวิตของคุณแย่ลง การแพทย์กระแสหลักมักจะรักษาด้วยการให้ยาเฉพาะที่ และ/หรือ ให้ยาฆ่าเชื้อรา สิ่งเหล่านี้จะให้ผลเป็นการชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันไม่ให้กลับมาติดเชื้อได้อีก

ผู้หญิง

           วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ให้ลองวิธีการดังต่อไปนี้เพื่อป้องกันและรักษาการติดเชื้อยีสต์

1.ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับยีสต์

           วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ทำให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมภายในไม่เหมาะกับการเติบโตของเชื้อ Candida albicans เสียแต่แรกเลย ด้วยการลดการบริโภคน้ำตาล แอลกอฮอล์, ของหวาน ๆ, ขนมปังกรอบและขนมเค้กที่ผ่านกระบวนการ, น้ำผลไม้, น้ำอัดลม ลดโปรตีนจากเนื้อสัตว์ลง เพราะมีหลักฐานบ่งชี้ว่า มีความสัมพันธ์กับการเติบโตอย่างผิดปกติของจุลชีพในลำไส้

           หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี โดยเฉพาะขนมปัง เนื่องจากมีสารอาหารต่ำ และมีสารแต่งเติมที่อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ในช่วงที่มีการติดเชื้อ ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีเชื้อราอยู่ในนั้น เช่น ชีส, ผลไม้แห้ง, ถั่วลิสง และแตงโม สำหรับผู้ที่ยังติดเชื้อไม่ยอมหาย หรือติดเชื้อซ้ำซาก ให้หลีกเลี่ยงอาหารนมถ้วย

           รับประทานผักสีเขียวให้มากขึ้น (ผักพวยเล้ง, คะน้า เป็นต้น) รวมทั้งแครอท, ข้าวบาร์ลีย์, ถั่วเขียว, ผลไม้ตระกูลส้ม มะนาว, กะหล่ำ, อาร์ติโช้ค, เห็ดชิตาเกะ, กะหล่ำปลี ให้รับประทานกระเทียมวันละสองสามกลีบทุกวัน เพราะมีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อยีสต์ จะให้ได้ผลดีที่สุดก็โดยการบุบแล้วรับประทานสด ๆ

           ส่วนน้ำมันวอลนัท, น้ำมันเมล็ดแฟล็กช์, น้ำมันมะกอก และน้ำมันมะพร้าว ล้วนทำให้เชื้อแคนดิด้าอดอยาก น้ำมันมะพร้าวช่วยได้มากเพราะมีกรดลอริค (lauric acid) และกรดคาพรีลิค (caprylic acid) อยู่สูง ซึ่งทั้งคู่ มีคุณสมบัติต่อต้านไวรัส, ต่อต้านจุลชีพ, และต่อต้านเชื้อรา มุ่งจู่โจมยีสต์และเชื้อราอื่น ๆ ที่เจริญเติบโตมากเกินไปในร่างกาย อย่างเช่นขี้กลากและฮ่องกงฟุต ขอให้แน่ใจที่จะซื้อน้ำมันมะพร้าวที่ไม่ได้ถูกไฮโดรจีเนเต็ด ให้รับประทานโยเกิร์ตชนิดไม่ได้เติมน้ำตาล แต่งรสที่มีเชื้อ Lactobacillus acidophilus ที่มีชีวิตอยู่ด้วยทุกวัน จะช่วยลดการเจริญของยีสต์ในช่องคลอดและลำไส้เล็ก

2.เพิ่มอาหารเสริม


           สูตรผสมโปรไบโอติคส์ที่มี Lactobacillus acidophilus ช่วยรักษาสมดุลของจุลชีพในทางเดินอาหารและระบบสืบพันธุ์ ที่คลินิกของผู้เขียน (Aimee Christine Hughes) มักจะพบความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อยีสต์กับปัญหาของทางเดินอาหาร นับตั้งแต่ท้องผูกและแสบร้อนหน้าอกไปจนถึงสารอาหารไม่ดูดซึม การให้เอนไซม์ช่วยย่อยนับว่าเป็นประโยชน์ รวมทั้งวิตามินเกลือแร่รวม (ให้แน่ใจด้วยว่าอาหารเสริมเหล่านี้ไม่มียีสต์อยู่ด้วย)

           สตรีที่มีแนวโน้มในการติดเชื้อยีสต์มักจะมีวิตามินบีชนิดต่าง ๆ อยู่ต่ำ วิตามินบีจำเป็นในการเมตาโบลิซึ่มของน้ำตาล ดังนั้น ให้เพิ่มอาหารเสริมวิตามินบีเข้าไปด้วย นอกจากนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้รับประทานวิตามินซี (1,000 ม.ก.), วิตามินอี (800 หน่วยสากล), กรดไขมันโอเมก้า -6 (ชนิดที่ให้แกมม่า-ไลโนเลนิค แอซิด หรือ GLA 450 ม.ก.), กรดไขมันโอเมก้า -3 (ที่ให้กรดไอโคซาเพนทาอีโนอิค แอซิด หรือ อีพีเอ 1,000 ม.ก. และกรดโดโคชาเฮ็กชาอีโนอิค แอซิด หรือดีเอชเอ 800 ม.ก.), และซีเลเนียม (200 ไมโครกรัม) เหล่านี้จะช่วยต่อต้านการอักเสบ และเพิ่มภูมิคุ้มกัน การรับประทาน caprylic acid (500 ม.ก.) ก็ช่วยป้องกันการติดเชื้อราทุกชนิด รวมทั้ง Candida albicans

3.สมุนไพร

           ผู้เขียนพบว่า ในการต่อต้านการติดเชื้อยีสต์และป้องกันการระบาด สมุนไพรที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันนับเป็นสิ่งที่ยากที่จะมองข้ามไปได้ ทั้งสมุนไพร astragalus และ ahwagandha สารสกัดจากเมล็ดส้มโอผลเล็ก (grapefruit) มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อราและแบคทีเรีย รวมทั้งให้รับประทานเอ็คไคเนเชีย (250-500 ม.ก.) และสมุนไพรโกลเด้นชีล (150-300 ม.ก.) ร่วมด้วยทุกวัน เพื่อช่วยให้ทั้งระยะเวลาการติดเชื้อลดลง และร่างกายจะได้สามารถรักษาตัวและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

           เป็นที่ทราบกันว่า สมุนไพร cat’s claw ช่วยอาการปวดข้อได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วย ผู้เขียนแนะนำให้รับประทานสารสกัดสมุนไพรนี้ครั้งละ 500 ม.ก. วันละสามครั้ง สมุนไพรอื่น ๆ ก็ได้แก่ oat straw (ช่วยให้ประสาทสงบ) pu d\'arco (ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้เม็ดเลือดแดง) แล้วยังมีสมุนไพรจีนอย่างราก gentian, skullcap, gardenia, akebia, plantain, pupleurum, rehmannia, angelica, cardamom และ dioscorea

           น้ำมันหอมระเหยอย่างลาเวนเดอร์, โรสแมรี่, และทีทรีก็สามารถนำมาเติมเวลาอาบน้ำอุ่นก็ได้ หรือจะผสมเกลือทะเลลงไปในน้ำ กวนให้ละลาย แล้วนำมาล้างถูตัวเพื่อแก้คันและช่วยรักษาได้เร็วขึ้น การกลั้วปากด้วยน้ำเกลือก็ช่วยควบคุมการแพร่กระจายของแคนดิด้าในช่องปาก คุณสามารถใช้น้ำมันหอมลาเวนเดอร์ หรือน้ำมันทีทรี 3-5 หยด ผสมลงในน้ำมันมะกอก หรือโฮโฮบา 50 มิลลิลิตร แล้วใช้ทาหรือช่วยหล่อลื่นเนื้อเยื่อช่องคลอดที่อักเสบ

เครื่องเทศ

           ให้เตรียมส่วนผสมจากอบเชย ซึ่งงานวิจัยแนะว่ามีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อราเป็นอย่างสูง ให้บิอบเชย 8 อัน ออกเป็นชิ้นหัก ๆ ใส่ลงในน้ำต้มเดือดและเคี่ยวเป็นเวลา 10 นาที ดับไฟ นำลงจากเตาแล้วทิ้งไว้อีกหนึ่งชั่วโมง นักสมุนไพรบางท่านแนะนำให้ฉีดล้างช่องคลอด บางคนก็แนะนำให้ดื่มชาอบเชยซึ่งจะช่วยควบคุมการติดเชื้อยีสต์

4.ฉีดน้ำ

           การใช้เครื่องฉีดชำระอาจไม่จำเป็นตอนคุณเป็นปกติดีอยู่ แต่ในช่วงที่ติดเชื้อยีสต์ จะช่วยบรรเทาอาการลงได้มาก วิธีหนึ่งก็คือ ใช้น้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลไซเดอร์วินนิก้า 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำสะอาดหนึ่งลิตร จะได้ส่วนผสมที่เป็นกรดเล็กน้อยและไม่เหมาะกับการเจริญของยีสต์ นำมาฉีดล้างวันละสองครั้ง หรือใช้โยเกิร์ตชนิดไม่ผสมน้ำตาล (unsweetened yogurt) 2 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำเปล่า 1 ถ้วย ชำระล้างวันละสองครั้ง หรือใช้น้ำมันทีทรี (10 หยดผสมกับน้ำ 1 ถ้วย ล้างวันละสองครั้ง)

5.ทำใจให้สบาย

           นอนยืดแผ่สบาย ๆ บนผ้าปูสำหรับเล่นโยคะเวลารู้สึกคัน โยคะช่วยคลายความเครียด และความกลัดกลุ้ม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสองอย่างที่ไปกระตุ้นการขยายตัวของยีสต์ โยคะยังช่วยกำจัดสารพิษ, เพิ่มภูมิคุ้มกัน, ทำให้น้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสมดุล รวมทั้งทำให้สมดุลของฮอร์โมนกลับมาด้วย ท่าอาสนะที่ช่วยผ่อนคลายมาก ๆ อย่างเช่น The Child ช่วยต่อต้านความอยากน้ำตาล รวมทั้งคาเฟอีนและนิโคตินด้วย

กางเกงใน

ผู้หญิงจะทำอะไรได้บ้าง?

           รักษาความสะอาดและแห้ง สวมซับในผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงผ้าสังเคราะห์และเสื้อผ้าที่คับรัดรูป เพราะจะไปขัดขวางการไหลเวียน ถอดชุดอาบน้ำหรือชุดบริหารร่างกายที่เปียกออกทันทีที่ทำได้ เมื่อมีรอบเดือนให้เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ

           หลีกเลี่ยงสารเคมี พยายามอย่าให้บริเวณอวัยวะเพศสัมผัสสารเคมี หรือสารให้ความหอมสังเคราะห์ ซึ่งระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณนั้นมาก เช่น ผ้าอนามัย, กระดาษชำระหรือสบู่, แป้ง, สเปรย์ดับกลิ่น หรือน้ำยาอาบน้ำที่ผสมกลิ่นหอม มีหลายกรณีที่พอเลิกใช้กระดาษชำระแล้วเอาน้ำใส่ขวดชนิดบีบได้บีบทำความสะอาดหลังเข้าห้องน้ำ แล้วเป่าให้แห้ง หรือใช้เครื่องเป่าผมตั้งไว้ที่ลมธรรมดาเป่าให้แห้งก็ช่วยได้ดี

           รักษาการอักเสบ ผู้เขียนประสบความสำเร็จจากการใช้ชาแดนดิไลอัน (เอาใบสด ๆ มา 1 ถ้วย ต้มกับน้ำเดือด 3 ถ้วย เป็นเวลา 30 นาที แล้วกรอง) ; น้ำว่านห่างจระเข้ (เอาสำลีจุ่มลงไปแล้ว ทาบริเวณปากช่องคลอด) ; ยาเหน็บบอร์ค แอซิด (มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อ, ต้านเชื้อราและไวรัส) ; colloidal silver (รับประทาน และ/หรือ นำไปผสมกับเจลว่านหางจระเข้กับน้ำมันทีทรีสัก 2-3 หยดเคลือบลงบนก้อนสำลี แล้วใช้เหน็บ) ; น้ำมันมะพร้าว (ทาตรงบริเวณที่อักเสบ)



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จัดการปัญหา อาการคันในร่มผ้า อัปเดตล่าสุด 2 กรกฎาคม 2564 เวลา 16:56:19 56,315 อ่าน
TOP