x close

ท้องอืด ท้องเฟ้อ


ท้องอืด ท้องเฟ้อ


ท้องอืด ท้องเฟ้อ  (หมอชาวบ้าน)

          ท้องอืดท้องเฟ้อเกิดขึ้นได้อย่างไร อาการท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นอาการที่มีก๊าซในท้องมากกว่าปกตินั่นเอง สาเหตุของการเกิดมีด้วยกันหลายอย่างได้แก่

          ความตึงตัวของหูรูดหลอดอาหารหย่อนสมรรถภาพ

          แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

          ภาวะมีกรดมากเกินไป การหมักโดยแบคทีเรียในลำไส้ทำให้เกิดก๊าซขึ้น

          ความผิดปกติของการย่อยอาหาร ทั้งในส่วนของกระเพาะอาหารเองและในส่วนของลำไส้ เช่น ขาดเอนไซม์ซึ่งเป็นสารช่วยย่อยอาหารประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เป็นต้น

          ชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีการอัดก๊าซไว้ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ พอเปิดฝาปั๊บฟองพุ่งขึ้นปุ๊บ นั่นแหละตัวดีนักที่จะทำให้เกิดก๊าซหรือลมในท้อง

          พวกที่ชอบกินอาหารเร็ว ๆ หรือดื่มเร็วจนไม่มีเวลาย่อย หรือพวกที่คุยเก่งจ้อไม่หยุด จนรู้สึกคอแห้ง ต้องกลืนน้ำลายบ่อย ๆ

          ชนิดของอาหาร อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดืมาก คงเคยได้กลิ่นมาบ้างแล้วเวลากินถั่ว แล้วผายลมออกมามีกลิ่นชวนพิสมัยแค่ไหน

ยาขับลม...บทบาทในอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

          เมื่อคุณมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ยาชนิดหนึ่งที่คุณมักจะได้รับเสมอก็คือ ยาที่มีสรรพคุณในการขับลม ยาดังกล่าวไปช่วยอย่างไรพอทราบไหมครับ

          เมื่อคุณกินยาขับลมเข้าไปแล้ว จะรู้สึกอุ่นและซ่าภายในท้อง มันจะลดอาการอึดอัดแน่นท้อง และขับลมออก โดยมันจะลดแรงตึงตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารและทำให้ฟองอากาศหรือก๊าซในท้องเกิดการรวมตัวกันและแตกออกได้ จึงเกิดการขับก๊าซและสารอาหารได้ง่ายขึ้น

          นอกจากจะบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อแล้ว ยาขับลมยังช่วยลดอาการท้องอืดหลังผ่าตัดในช่องท้อง และใช้กินเพื่อตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร กินก่อนที่จะตรวจภาพโดยรังสีเอกซ์ เป็นต้น

ยาขับลมที่ใช้มีส่วนประกอบอะไรบ้าง

          ยาขับลมส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารที่เป็นส่วนน้ำมัน เช่น น้ำมันซินนามอน (cinnamon oil) น้ำมันเปปเปอร์มินท์ (peppermintoil) การบูร (camphor) เป็นต้น และยังมีสารที่ใช้ไล่ก๊าซในท้อง ได้แก่ ไดเมทิลโพลีไซลอกเซน (dimethypoly siloxane) ซิลิคอนไดออกไซด์ (silicon dioxide) ซึ่งตัวยาดังกล่าว อาจใช้ตัวเดียวเดี่ยว ๆ หรืออาจใช้ในรูปยาผสมเพื่อช่วยกันเสริมฤทธิ์ในการขับไล่ลมและก๊าซในท้อง

          ตามท้องตลาดมียาเหล่านี้อยู่ด้วยกันหลายชนิดหลายยี่ห้อแพทย์และเภสัชจะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ยาดังกล่าวตามความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

          นอกจากจะใช้ยาขับลมโดยตรงแล้ว บางครั้งอาจต้องกินยาประเภทดูดซับก๊าซในท้องร่วมด้วย ซึ่งก็คือผงถ่านเตรียมพิเศษเพื่อใช้ในทางการแพทย์ (อย่าเข้าใจผิดเอาถ่านหุงข้าวมากินนะครับ) ผงถ่านชนิดนี้เรียกว่า Charcoal activated ซึ่งการพิจารณาใช้ควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ นอกจากดูดซับก๊าซแล้ว ผงถ่านเตรียมพิเศษนี้ยังดูดซับสารพิษในทางเดินอาหารได้ด้วย จึงมีการนำมาใช้รักษาอาการท้องเดินจากอาหารเป็นพิษได้ด้วย

          นอกจากยาขับลม ยาดูดซับก๊าซในทางเดินอาหารแล้ว บางครั้งก็มีการใช้ยาช่วยย่อย (digestant) ร่วมด้วย ทั้งนี้เชื่อว่าคนที่มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อบางครั้งเกิดจากอาหารไม่ย่อย อาจเนื่องมาจากการขาดตัวย่อยหรือไม่เพียงพอ ดังนั้น เราจึงเสริมยาช่วยย่อยเข้าไป เพื่อให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเกิดลมและก๊าซในทางเดินอาหารก็จะลดลงได้ ซึ่งยากลุ่มนี้มีทั้ง

          ยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กรดกลูตามิกไฮโดรคลอไรด์ (glutamic hydrochloride)

          เอนไซม์ช่วยย่อยจากตับอ่อน เช่น แพนครีเอติน (pancreatin)

          ยาที่กระตุ้นการผลิตน้ำดี เป็นต้น

          เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มีข้อบ่งใช้ขนาดการใช้ ข้อห้ามใช้ และข้อควรระวังในการใช้ ตลอดจนผลข้างเคียงแตกต่างกันออกไป ดังนั้น การใช้ยากลุ่มนี้จึงควรอยู่ภายใต้ของการดูแลของแพทย์

          จากที่กล่าวมาทั้งหมด คงพอจะทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอาการ และยาที่ใช้ในอาการท้องอืดท้องเฟ้อดีขึ้นนะครับ หากไม่ต้องการมีอาการดังกล่าว ก็มีข้อแนะนำง่าย ๆ ในการปฏิบัติเวลากินอาหารให้กินอาหารที่ย่อยง่าย ไม่มีไขมันปนมากนัก ลดการดื่มพวกเครื่องดื่มที่มีก๊าซมาก เช่น น้ำอัดลม เบียร์ กินพอประมาณและอย่ารีบร้อนกิน หลังกินอาหารแล้วเดินเล่นเสียบ้าง เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น เท่านี้คงทำให้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อห่างไกลจากตัวท่านไปอีกนาน


                เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

                             คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องอืด ท้องเฟ้อ อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 15:47:56 7,307 อ่าน
TOP