10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคกระเพาะ -=By หมอแมว=-

          โอ้ย...ปวดท้องอีกแล้ว สงสัยโรคกระเพาะจะกำเริบใช่ไหมเนี่ย หรือเป็นเพราะเมื่อกี้ไม่ทานอาหารให้ตรงเวลา เอ..ว่าแต่ โรคกระเพาะ เกิดจากการทานอาหารไม่ตรงเวลาอย่างเดียวหรือ มีสาเหตุอื่นไหมนะ แล้วมันเกิดอาการขึ้นเฉพาะที่กระเพาะอาหารเท่านั้นน่ะหรือ?



           ถ้าใครยังคงสงสัยเกี่ยวกับเรื่องโรคกระเพาะ กระปุกดอทคอม ขอเสนอบทความดี ๆ จากคุณหมอแมว ที่จะทำให้ทุกคนรู้จัก และรับมือกับโรคกระเพาะได้ดีขึ้น เพราะนี่ถือเป็นโรคใกล้ตัวที่ใคร ๆ ก็เป็นได้ ถ้าไม่รู้จักดูแลตัวเองให้ดี

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคกระเพาะ -=By หมอแมว=-

          ในต่างประเทศ มีการจัดการกับโรคกระเพาะอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแล้ว ประเทศไทยเอง ในฐานะประเทศที่รับความรู้และเทคโนโลยีเข้ามา ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงในการรักษาตามต่อเนื่องมาหลายปี มียาใหม่ ๆ ออกมามากมายกว่าแต่ก่อน หากแต่เมื่อเปรียบเทียบอดีตจนถึงปัจจุบัน การรักษาโรคกระเพาะเมื่อไทยก็ยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับยา และการรักษาใหม่ ๆ ที่เข้ามา

          เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น โรคกระเพาะที่เรารู้จักกันตกลงมีที่มาที่ไปอย่างไร การรักษามีข้อควรปฏิบัติ ข้อควรระวังอย่างไร มาดูเรื่องราวน่าสนใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคกระเพาะกันครับ

1. โรคกระเพาะ คืออะไร

          พูดถึงโรคกระเพาะ บางคนนึกไปถึงการที่มีแผลในกระเพาะอาหาร แล้วก็เกิดอาการเจ็บปวดขึ้น ... นั่นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

          คำว่า โรคกระเพาะ เป็นภาษารวม ๆ หากจะเปรียบเทียบเป็นภาษาอังกฤษก็คงจะเขียนว่า Dyspepsia ซึ่งกินความถึงอาการ จุก แน่น เสียด เจ็บ ปวดที่บริเวณลิ้นปี่หรือท้องส่วนบน ... ดังนั้นคำว่าโรคกระเพาะจึงเป็นคำบอกอาการ ซึ่งโรคกระเพาะสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มที่มีแผล (แผลใหญ่ ๆ แผลจุดเลือดออกเล็ก ๆ หรือแม้กระทั่งมะเร็ง) และกลุ่มที่ไม่มีแผล

          อีกอย่างหนึ่ง อาการโรคกระเพาะ อาจจะทำให้นึกถึงว่าเป็นโรคของกระเพาะอาหาร แต่ความจริงแล้ว อาการโรคกระเพาะ เกิดได้จากความผิดปกติของโรคตั้งแต่ทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ถุงน้ำดี หรือแม้แต่ลำไส้ใหญ่

2. เมื่อการแพทย์เชื่อกันผิด ๆ มากว่า 100 ปี

          หากเมื่อสัก 30 ปีก่อน มีแพทย์มาบอกคุณว่า จะรักษาโรคกระเพาะด้วยยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบ คุณคงเปลี่ยนไปรักษากับแพทย์คนอื่นแน่ ๆ แต่เรื่องนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

          หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมานี้มีแพทย์ชาวออสเตรเลียสองท่านได้รับรางวัลโนเบล ในสาขาสรีรศาสตร์ หรือการแพทย์ ก็คือ J. Robin Warren และ Barry J. Marshall ในฐานะที่เป็นผู้ค้นพบว่า โรคแผลในกระเพาะอาหารส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ H. pyroli และได้หักล้างความเชื่อเดิมที่ว่าโรคกระเพาะทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นเกิดมาจากความเครียดและการกินอาหารไม่ตรงเวลา ซึ่งเชื่อกันมากว่า 100 ปี

          หลังจากการประกาศความรู้ใหม่นี้ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน การรักษาโรคกระเพาะได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่เคยมีมาก่อน ช่วงที่กระแสความรู้นี้ออกมาใหม่ ๆ การรักษาโรคกระเพาะได้หันเหไปในทางการฆ่าเชื้อ H. Pylori ... และในที่สุด ปัจจุบันก็พบว่าโรคแผลในกระเพาะอาหารที่พบ มีทั้งที่เกิดจากเชื้อ และที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

มะเร็งกระเพาะอาหาร

3. สาเหตุของโรคกระเพาะ

          ช่วงที่มีข่าวเรื่องนี้ ผู้ป่วยบางคนถึงกับหลงคิดไปเลยว่า โรคกระเพาะทั้งหมดเกิดจากเชื้อโรค แต่ความจริงโรคกระเพาะและแผลในกระเพาะ ต่างมีสาเหตุได้หลายอย่าง สาเหตุต่าง ๆ ก็ได้แก่

          - ยาบางชนิด ยาหลายชนิดมีส่วนที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องโรคกระเพาะ แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาในบ้านเรามากที่สุด เห็นจะเป็นยากลุ่มแก้ปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ และยาสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่พบว่าใช้กันบ่อยและใช้กันผิด ๆ จนก่อโรคกระเพาะ

          - บุหรี่ การสูบบุหรี่จะลดการสร้างสารป้องกันกระเพาะ และส่งเสริมการสร้างกรดในกระเพาะ จึงทำให้เกิดอาการของโรคกระเพาะ และเมื่อเกิดแผลในกระเพาะก็จะหายได้ยาก

          - เหล้า กาแฟ ชา เป็นกลุ่มเครื่องดื่มที่ส่งเสริมการสร้างกรดในกระเพาะ

          - เชื้อโรค อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วก็คือ เชื้อ H. pylori

          - โรคของอวัยวะใกล้เคียงของช่องท้อง เช่น โรคของตับ โรคของถุงน้ำดี (นิ่ว) ตับอ่อน พวกนี้อาการเริ่มแรกอาจจะเป็นอาการปวด และทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะได้

          - โรคการทำงานของกระเพาะและลำไส้ที่ผิดปกติ เป็นโรคที่เมื่อตรวจไปเสร็จแล้ว ไม่พบว่ามีแผล หรือลักษณะผิดปกติแต่อย่างใด แต่การทำงานของกระเพาะลำไส้ผิดปกติไปเอง เช่น เคลื่อนไหวแรง หรือบีบตัวย้อนทาง จนก่ออาการปวด โรคในกลุ่มนี้ก็อย่างเช่น กลุ่ม IBS GERD

          - มะเร็ง เจอไม่มาก แต่เป็นสิ่งที่แพทย์และผู้ป่วยต้องร่วมมือกันในค้นหาเพื่อจะได้รักษากันอย่างถูกต้อง และไม่หลงทางไปรักษาอาการปวดแต่อย่างเดียว


          บางคนอาจจะเถียงว่า โรคในสามข้อล่างไม่ใช่โรคกระเพาะ แต่อย่าลืมนะครับว่าคนเราไปหาหมอ ไปหาด้วยอาการ ไม่ได้ไปหาด้วยชื่อโรค ดังนั้นก็ต้องคำนึงถึงโรคพวกนี้ไว้ด้วย

4. ส่องกล้องจำเป็นหรือไม่ จะทำเมื่อไหร่

          ถ้าไปเปิดตำราต่างประเทศ จะพบว่ามีการแนะนำให้ส่องกล้องผ่านทางปาก เพื่อจะได้เห็นว่ากระเพาะและลำไส้เป็นอย่างไร และดูว่ามีอะไรที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ แต่นั่นก็ต่อเมื่อได้ทำการรักษาไปแล้วในช่วง 1-2 เดือน

          ในไทยยังนับว่าเป็นปัญหาอยู่ ทั้งที่ประเทศไทยต่างมียาแปลกใหม่ราคาแพงโอฬารตระการตา แต่การรักษายังมีแง่มุมอื่นนอกจากการใช้ยา นั่นคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นของตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งการรักษาด้วยยาจะได้ผลน้อยมากหากผู้ป่วยเองไม่ได้หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น

          การส่องกล้องที่ดี จะทำเมื่อรักษาอย่างถูกต้องแล้วเป็นเวลา 1-2 เดือน (ถ้ามีแผล รักษาก็น่าจะหายแล้ว) แล้วยังมีอาการอยู่ การส่องกล้องจะเข้าไปดูได้ว่ามีแผลหรือไม่ ถ้ามีแผลก็สามารถตัดชิ้นเนื้อไปตรวจดูได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือมีเชื้อหรือไม่

          อย่างไรก็ดี ก็อาจจะส่องกล้องก่อนได้ หากมีอาการที่บ่งชี้ว่าเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

5. สัญญาณอันตราย

          สัญญาณอันตรายดังต่อไปนี้ จะเป็นข้อมูลที่ทำให้แพทย์ส่งส่องกล้องดูกระเพาะอาหารโดยไม่รอการรักษาด้วยยากิน

          น้ำหนักลดผิดปกติ (มากกว่า 10% ใน 3 เดือน) เบื่ออาหารมาก กลืนลำบาก ถ่ายอุจจาระดำหรือมีเลือดปน ลักษณะการถ่ายอุจจาระเปลี่ยนไปจากเดิม ซีด โลหิตจาง อาการรุนแรง มีประวัติโรคมะเร็งของทางเดินอาหารในครอบครัว อาการเหล่านี้จะทำให้ต้องระวังว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งได้



6. กินยาโรคกระเพาะโดยไม่ต้องส่องกล้องดีหรือไม่

          ปัญหาการรักษาอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ป่วยหลายคนไม่อยากส่องกล้อง และคิดว่าแค่กินยาไปเรื่อย ๆ ก็น่าจะพอ ซึ่งนั่นไม่เพียงพอ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า สาเหตุของโรคกระเพาะยังมีโรคจากการติดเชื้อและมะเร็ง ซึ่งหากรักษาด้วยยาลดกรดเพียงอย่างเดียวก็ไม่มีทางหาย

          ข้อควรรู้คือ มะเร็งกระเพาะ กินยาลดกรดในกระเพาะ ก็หายปวดท้องได้.... ดังนั้น ถ้าแพทย์บอกว่าควรส่องก็น่าจะไปส่องครับ

7. ประโยชน์ของการรักษาตามแนวทางการรักษา

          ปกติแพทย์จะสั่งยาตามมาตรฐานการรักษาอยู่แล้ว หากแต่ว่าการรักษายังต้องการความร่วมมือในการหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นจากผู้ป่วย

          ถ้าผู้ป่วยกินเหล้า สูบบุหรี่ กินยาแก้ปวดเป็นประจำ และไม่ยอมหยุดยา ก็จะเกิดปัญหาตามมา ก็คือ ถึงเอาไปส่องกล้องก็จะมีโอกาสเจอแผลในกระเพาะสูง จนทำให้แพทย์หลายคนในโรงพยาบาลรัฐเบื่อที่จะต้องส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพราะผู้ป่วยบางคนไม่ยอมหยุดปัจจัยเสี่ยง แต่ก็ต้องการยาลดกรด นอกจากนี้บางคนยังมีความต้องการส่องกล้องหลาย ๆ ครั้ง กล่าวโทษผู้รักษา (ว่ารักษาไม่ดี) ต้องการยาเกินความจำเป็น ก่อความเครียดในทั้งผู้ป่วยและแพทย์

          นอกจากนี้ยังมีผลทำให้เกิดความล่าช่าในการตรวจหามะเร็ง อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่ผมเคยส่องกล้องกระเพาะอาหารในผู้ป่วยซึ่งไม่ยอมหยุดการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และใช้ยาแก้ปวด ส่องไปก็พบแผลขนาดครึ่งเซนติเมตรเป็นสิบแผลกระจายกันตามตำแหน่งต่าง ๆ ครั้นจะตัดชิ้นเนื้อจากทุกแผล ก็ทำได้ยาก ทำได้เพียงแต่ชี้ให้ผู้ป่วยเห็นว่า มีแผลมากมาย น่าจะหยุดปัจจัยเสี่ยงได้แล้ว.... (ครั้งสุดท้ายที่พบผู้ป่วยรายนี้ ก็ยังเลิกตัวกระตุ้นเหล่านี้ไม่ได้และยังปวดท้อง)

          ในทางกลับกัน ผู้ป่วยที่ร่วมมือในการรักษาอย่างดี ยอมหยุดปัจจัยเสี่ยงทุกตัว เมื่อนำมาส่องกล้องพบแผลไม่มาก ตัดไปตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ H. pylori จากนั้นได้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะและยาลดกรด (สุดท้ายน่าจะหาย แต่ผมก็ไม่ได้เจอผู้ป่วยคนนี้อีกเลย)

          ดังนั้นประโยชน์หลักก็คือสามารถตรวจและรักษาได้อย่างดี หากรักษาตามแนวทาง

          นอกจากนี้ยังมีประโยชน์รองก็คือ "ประหยัด"

          ยาเม็ดลดกรด ranitidine หรือ cimetidine (ตั้งแต่จบมาผมไม่เคยใช้ตัวนี้เลย) ราคาประมาณ 50 สตางค์ต่อหนึ่งเม็ด... เมื่อรักษาแล้วไม่หาย แพทย์หลายคนจะปรับเปลี่ยนเป็นยาในกลุ่ม PPI เช่น Omeprazole เม็ดละ 12 บาท (โรงพยาบาลเอกชนปัจจุบันก็จะมียากลุ่มนี้อีกหลาย ๆ ตัว) ซึ่งเมื่อปรับเป็นกลุ่มนี้ก็มักปรับเปลี่ยนยาได้ยาก

          ผู้ป่วยหลายคน เมื่ออาการไม่ดีขึ้นก็ปรับการใช้ยาเอง จากวันละ 1-2 เม็ด เป็นกินวันละ 4-5 เม็ด เสียค่าใช้จ่าย (งบประมาณรัฐ) ไปกับยาเดือนละหลายพันบาท และเสียค่าใช้จ่าย (เงินส่วนตัวผู้ป่วย) ไปกับเหล้าบุหรี่ เดือนนึง ๆ ก็เป็นพัน ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกคือ เสียเงินเพื่อทำร้ายตนเองแล้วไม่พอ ยังเบียดเบียนเงินที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นอีก

โรคกระเพาะอาหาร

8. นิ่วในถุงน้ำดี กับโรคกระเพาะ

          บางครั้งผู้ป่วยได้รับการตรวจพิเศษอย่างอื่นมาก่อนในอดีต แล้วได้พบว่ามีก้อนนิ่วในถุงน้ำดี ... บางครั้งผู้ป่วยก็สงสัยว่าทำไมปวดท้อง มีนิ่ว แต่ทำไมไม่ทำอะไรกับนิ่ว

          ต้องบอกว่า หลาย ๆ ครั้ง คนเรามีนิ่วในถุงน้ำดีโดยไม่มีอาการ ดังนั้นการรักษาจึงขึ้นอยู่กับว่า อาการปวดนี้เป็นปวดลักษณะที่เข้าได้กับนิ่วหรือไม่ และได้หาสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้หรือยัง

          พบว่าบางคนการตัดถุงน้ำดี หรือนิ่วออกไปก็ไม่ได้ทำให้หายปวดท้อง ร้ายไปกว่านั้น บางคนมีอาการปวดท้องที่เกิดจากการการย่อยไขมันที่ผิดปกติ เมื่อตัดถุงน้ำดีและนิ่วในนั้นไปแล้ว ปรากฏว่าแทนที่จะหายก็กลายเป็นปวดเสียยิ่งกว่าเดิม

9. อาหารของโรคกระเพาะ

          ถึงแม้ว่าโรคแผลในกระเพาะจะมีเหตุจากเชื้อโรคได้ แต่ว่าโรคกระเพาะที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคก็ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีแผล การดูแลแบบเดิม ๆ ที่ทุกคนรู้จักกันดีก็ยังมีประโยชน์อยู่ ได้แก่

          - กินอาหารให้ตรงเวลา

          - ไม่กินอาหารรสจัด (เค็ม เผ็ด เปรี้ยว) อาหารหมักดอง อาหารมัน ๆ

          - ไม่กินของที่มีแก็ส หรือก่อแก๊ส เช่น น้ำอัดลม ผลิตภัณฑ์จากถั่ว (เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง)

          - กินผักผลไม้ เพื่อช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดี


          การกินอาหารที่ดี จะช่วยลดอาการของโรคกระเพาะได้ครับ

10. สมุนไพรสามารถรักษาโรคกระเพาะได้หรือไม่

          เคยมีอยู่พักหนึ่งที่มีการพูดถึงเปล้าน้อย และสารเปลาโนทอล ว่าสามารถเอาไปผลิตเป็นยารักษาโรคกระเพาะได้ ช่วงนั้นจำได้ว่าในตลาดค้ายาลูกกลอน มีสมุนไพรที่อ้างสรรพคุณรักษาโรคกระเพาะที่อ้างว่าผลิตจากเปล้าน้อยออกมา....

          ยาไทย ๆ หลายตัวรวมทั้งพืชผักในครัวหลายชนิดมีฤทธิ์สามารถลดอาการจุกเสียดแน่นเฟ้อได้ดีมาก หาได้ง่าย ราคาถูกและปลอดภัย ดังนั้นถ้าถามว่าสมุนไพรรักษาอาการโรคกระเพาะได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า "ได้"

          แต่สิ่งที่ต้องระวังไว้อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นก็คือ พวกยาที่อ้างว่าเป็นสมุนไพรที่วางขายในท้องตลาด หลาย ๆ ตัวผสมสารกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่ากินอาหารได้ดีขึ้น อาการเหมือนดีขึ้น แต่ที่จริงแล้วการใช้สเตียรอยด์เป็นประจำจะทำให้กระเพาะเสี่ยงต่อการเกิดแผล และทะลุได้ง่าย
 
          ดังนั้นการเลือกใช้สมุนไพร จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง หากเป็นไปได้ก็ควรทำเองหรือซื้อจากแหล่งที่ไว้ใจได้ครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคกระเพาะ -=By หมอแมว=- อัปเดตล่าสุด 26 กรกฎาคม 2562 เวลา 11:31:02 135,716 อ่าน
TOP
x close