ทำอย่างไรให้ห่างไกลมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Health Plus)
เรื่องราวของบรรดาคนดังที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ทำให้เราต้องนั่งลงใคร่ครวญถึงสุขภาพของตัวเอง และมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายในแต่ละปี และต่อไปนี้ คือวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ที่ต้องพึงระวัง
คุณมีความเสี่ยงหรือไม่
ในประเทศอังกฤษ มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบบ่อยทั้งในชายและหญิงที่ไม่สูบบุหรี่ ในแต่ละชั่วโมงจะมีรายงานว่า มีคนป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 4 คน และ 90% ในจำนวนนั้นอายุมากกว่า 50 ปี สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่า การกินอาหารที่มีไฟเบอร์น้อยและกินเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูงเป็นสาเหตุสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น โรคอ้วน การไม่ออกกำลังกาย และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ล้วนเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด (เช่น พ่อ แม่ หรือพี่น้อง) เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในขณะอายุต่ำกว่า 45 ปี หรือมีคนในครอบครัวเดียวกันที่ใกล้ชิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายคน คุณก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวสูงเช่นกัน
ทำอย่างไรให้ห่างไกลมะเร็ง
มี 2 วิธีหลัก ๆ ด้วยกันที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาหารการกิน กินผักผลไม้และอาหารที่มีไฟเบอร์สูงมาก ๆ เป็นประจำ จะช่วยป้องกันท้องผูกและมะเร็งลำไส้ใหญ่ กากใยอาหาร ช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระคล่องขึ้น และยังทำให้เซลล์ลำไส้ใหญ่แข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ วิธีง่าย ๆ คือกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงแทนอาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำ เช่น กินไฟเบอร์ทางเลือกอย่างขนมปังโฮลวีทแทนขนมปังขาว กินผลไม้และผักดิบให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือจะนำไปลวกหรือผัดก็ได้ กินถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืช และเมล็ดถั่วต่าง ๆ
การออกกำลังกาย มีหลักฐานระบุว่า การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการศึกษาวิจัยหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า การออกกำลังกายช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้น้อยลงเกือบ 50% ควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะประมาณวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง และหากคุณรู้สึกเซ็งกับการต้องออกจากบ้านไปโรงยิม จงจำไว้ การทำสวน การจูงสุนัขไปเดินเล่น หรือการวิ่งขึ้นลงบันไดจัดเป็นการออกกำลังกายที่ดีเช่นกัน
สัญญาณเตือนภัยลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ ฉะนั้นกันไว้ดีกว่าแก้ โรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่พบได้บ่อย และเกิดได้จากหลายปัจจัยเช่น การเปลี่ยนยา ความเครียด หรือโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) จะเห็นว่าหลายปัญหาที่เกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุจากมะเร็งเสมอไป อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทหากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์
ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
นิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ (เช่น ท้องเสีย หรือท้องผูก) โดยไม่มีเหตุผล และเป็นอยู่นานเกิน 6 สัปดาห์
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ปวดท้อง หรือรูทวารหนัก
รู้สึกเหมือนถ่ายไม่หมด ทั้งที่เพิ่งถ่ายมาหมาด ๆ
The Bowel Cancer Forum ระบุว่า คุณสามารถใช้เวลา 6 สัปดาห์ในการสังเกตอาการดังกล่าว ในระหว่างนั้นให้กินอาหารที่เป็นมิตรกับลำไส้ ซึ่งได้แก่อาหารที่มีไฟเบอร์สูง หากมีอาการท้องผูกและต้องการซื้อยามารับประทาน ให้ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และมีเลือดออกจากรูทวารหนัก ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างที่ร้ายแรงกว่าริดสีดวงทวารธรรมดา
คอเลสเตอรอลเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงมะเร็ง
ผลวิจัยใหม่ชี้ว่า ผู้ที่มีปริมาณ "ไขมันดี" สูง จะมีความเสี่ยงมะเร็งลำไส้น้อยกว่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปริมาณไขมันดีที่เพิ่มขึ้น มีส่วนช่วยให้ร่างกายรับมือกับภาวะติดเชื้อ โดยระดับไขมันดีที่เพิ่มขึ้นนั้นบ่งชี้ถึงการมีสุขภาพดี เพราะมันจะทำหน้าที่ "ตามเก็บ" ไขมันส่วนเกินในเส้นเลือดก่อนส่งไปทำลายยังตับต่อไป การเลิกสูบบุหรี่ ลดน้ำหนักส่วนเกิน และออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยกระตุ้นระดับไขมันดีและลดระดับไขมันร้ายลงได้
อาหารบางชนิดก็พบว่ามีส่วนช่วยดูแลระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นธัญพืชเต็มเมล็ด อย่างข้าวโอ๊ต จมูกข้าวโอ๊ต และผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเต็มเมล็ดอย่างตระกูลถั่วเปลือกแข็ง เช่น วอลนัท อัลมอนด์ ถั่วบราซิลนัท ทั้งยังรวมถึงแพลนท์ สเตอรอล (Plant sterols) หรือสารคล้ายฮอร์โมนพืช และกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่พบในปลาไขมันสูง เมล็ดแฟล็กซ์ซีด และน้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์ซีด
จากรายงานล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Gut ซึ่งผู้เชี่ยวชาญใช้ข้อมูลจากกว่า 520,000 ตัวอย่าง ใน 10 ประเทศ ของหน่วยงานเฝ้าระวังและติดตามโรคมะเร็งและโภชนาการแห่งยุโรป (DPIC) พบว่า กว่า 1,200 คนเกิดโรคมะเร็งลำไส้ขณะอยู่ระหว่างการวิจัย เทียบกับอีกกว่า 1,200 คนที่ไม่ได้เป็นโรค และเพื่อหาความต่างของทั้งสองกลุ่มด้วยอย่างจึงต้องทำการตรวจเลือด เพื่อเช็กระดับคอเลสเตอรอลและภาวะโภชนาการรวมทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิต
หลังจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ที่มีปริมาณไขมันดีสูง (16.6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) และมีไขมันในเลือดที่ชื่อว่า อะโพไลโพโปรตีน เอ หรือสารประกอบของไขมันดีปริมาณสูง (32 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ต่างมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ต่ำเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ และ 18 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ประโยชน์จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้พบแนวโน้มการเกิดมะเร็งลำไส้มากกว่าที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
ผู้เชี่ยวชาญนำทีมโดยสถาบันสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ ได้สรุปว่า "การค้นพบครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าปริมาณไขมันดียิ่งสูง ยิ่งสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ แต่กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ อย่างไรนั้น จำเป็นต้องศึกษากันต่อไป"
ข้อเสนอหนึ่งเกี่ยวกับการทำงานของไขมันดีก็คือ มันเกี่ยวข้องกับการเพิ่มระดับโปรตีนที่ตอบสนองเมื่อร่างกายติดเชื้อ ในทางตรงข้าม เมื่อระดับไขมันดีลดต่ำจะยิ่งไปกระตุ้นให้โปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเพิ่มปริมาณขึ้นได้
อย่าอาย
เราชอบเล่าเรื่องมุกตลกเกี่ยวกับห้องสุขา แต่นำแปลกที่เวลามีปัญหาเรื่องอึ เรื่องก้น เรามักอายไม่กล้าพูด ถ้าเราอายไม่กล้าพูดกับหมอ หรือไม่กล้าให้หมอตรวจทวารหนัก ให้บอกกับตัวเองว่า หมอเห็นอะไรแบบนี้บ่อยจนเบื่อแล้ว คุณไม่ใช่คนแรก ดังนั้นจงอย่าวิตกกังวล จำไว้เสมอว่าการไปพบแพทย์ช่วยชีวิตคุณได้
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก