โรคฉี่หนู Leptospirosis
โรคฉี่หนู เชื้อร้ายที่มากับน้ำท่วม (กรุงเทพธุรกิจ)
ภาวะฝนที่ตกหนักจนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ไม่เพียงส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ภาวะน้ำท่วมขังยังนำมาซึ่งโรคร้ายหลายชนิด ยิ่งเฉพาะโรคฉี่หนูที่มีการระบาดหนักและมีรายงานการเสียชีวิตทุกปี
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า โรคฉี่หนู ในประเทศไทยพบระบาดรุนแรงมากในช่วงฤดูฝน ยิ่งเฉพาะในเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่น้ำฝนชะล้างเอาเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อม เข้ามารวมกันอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง
โรคฉี่หนู เป็นโรคระบาดในคนที่ติดต่อมาจากสัตว์ มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) เป็นเชื้อที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะซึ่งไม่ใช่แค่หนู แต่ยังรวมถึง วัว ควาย หรือสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวอย่าง แมวและสุนัข เป็นต้น การติดเชื้อมักเกิดขึ้นผ่านทางบาดแผลที่เกิดจาการแช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ โดยเชื้อแบคทีเรียจะชอนไชเข้าสู่ผิวหนัง อีกทั้งยังผ่านเข้าทางเยื่อเมือก เช่น ตาและปาก ฉะนั้น ผู้ปกครองจึงไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ ลงเล่นน้ำที่ท่วมขัง เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรคนี้ ซึ่งอาจมีผลร้ายแรงทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อ โรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือ แบบที่ไม่รุนแรง จะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรม ดา ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ต่างจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ อีกหลายชนิด แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรง เชื้อจะเข้าไปอยู่บริเวณที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน เช่น ลูกตา จะทำให้มีอาการตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ หากเชื้อเข้าไปอยู่ในสมองจะทำให้มีอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว และถ้าเชื้ออยู่ในท่อไต จะทำให้ไตวาย ที่สำคัญเมื่อมีการติดเชื้อทั่วร่างกายจะทำให้มีเลือดออกในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิต
ดร.นำชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเนื่องจาก โรคฉี่หนู มากในทุกปี อาจเนื่องมาจากอาการของโรค ซึ่งในเบื้องต้นจะคล้ายกับโรคไข้หวัดธรรมดา หรือโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อโรคอื่น ๆ ที่พบมากในฤดูฝนหรือพบในบริเวณที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จึงยิ่งทำให้การวินิจฉัยโรคเป็นค่อนข้างยาก ดังนั้น การตรวจวินิจฉัยอย่างแม่นยำในห้องปฏิบัติการ จึงเป็นวิธีการที่ให้ข้อสรุปได้ชัดเจนว่า ผู้ป่วยติด โรคฉี่หนู หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถคิดค้น และพัฒนาชุดตรวจ โรคฉี่หนู ในเวลาอันสั้นได้สำเร็จ
พญ. สุทธิพันธ์ สาระสมบัติ กับ ดร.ปัทมา เอกโพธิ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาชุดตรวจ โรคฉี่หนู ที่มีความแม่นยำต่อสายพันธุ์ที่พบในประเทศสูง และให้ผลการตรวจที่เที่ยงตรง ทั้งยังได้รับความนิยมและมีหลายหน่วยงานนำไปใช้งานจริงแล้ว เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นครราชสีมา และภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นต้น
ขณะที่ ศ.ดร. วันเพ็ญ ชัยคำภา ได้พัฒนาเทคโนโลยีชุดตรวจโรคที่สามารถตรวจเชื้อ โรคฉี่หนู ได้ทุกสายพันธุ์ โดยใช้หลักการตรวจโปรตีนที่พบเฉพาะในผู้ติดเชื้อ โรคฉี่หนู ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำและใช้เวลาในการวินิจฉัยเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น มีการนำใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลขอนแก่น อีกทั้งล่าสุด นพ.ดร.อมรพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ พัฒนาชุดตรวจ โรคฉี่หนู ที่สังเคราะห์จากอนุภาคทองคำขนาดเล็กระดับนาโนเมตร สำหรับตรวจหาโปรตีนที่จำเพาะต่อแบคทีเรีย Leptospira spp. ทำให้การตรวจเป็นไปอย่างแม่นยำและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีแม้จะมีชุดตรวจ โรคฉี่หนู ที่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำเพียงใด แต่หากใช้ตรวจผู้ป่วยไม่ทันการณ์ ก็เป็นสาเหตุนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดเนื้อปวดตัว และเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ อยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง เล่นน้ำ หรือย่ำน้ำในช่วงนี้ ให้รีบแจ้งข้อมูลกับแพทย์ทันที เพื่อให้เกิดการตรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้อง