
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หมอชาวบ้าน
หน้าฝนทีไร จะย่างเท้าไปทางไหนก็มีแต่น้ำขังเฉอะแฉะไปหมด แถมบางแห่งยังมีน้ำท่วมขังสูง ๆ จะเดินแต่ละทีก็แสนจะลำบาก และที่สำคัญ น้ำที่ท่วมขังก็เต็มไปด้วยเชื้อโรคและสิ่งสกปรก ย่อมทำให้เรามีปัญหา "ฮ่องกงฟุต" หรือ "น้ำกัดเท้า" ตามมาอย่างแน่นอน แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะวันนี้กระปุกดอทคอม มีข้อมูลดี ๆ ในการป้องกันและรักษา โรคฮ่องกงฟุต หรือ น้ำกัดเท้า มาบอกต่อกันค่ะ
สำหรับ ฮ่องกงฟุต หรือ น้ำกัดเท้า หรือเชื้อราที่เท้าเป็นโรคที่เกิดจากการย่ำน้ำ หรือแช่เท้าในที่น้ำท่วมขัง และมีเชื้อโรค สิ่งปฏิกูลปะปนอยู่เป็นเวลานาน แล้วไม่ได้ใส่ใจดูแลรักษาความสะอาดของเท้าให้ดี ทำให้เท้าเกิดความอับชื้น จนเชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี

อาการของผู้ที่เป็น ฮ่องกงฟุต หรือ น้ำกัดเท้า จะเกิดแผลเปื่อย เป็นผื่น ทำให้เท้าเปื่อย มีอาการคันที่ง่ามนิ้วเท้า โดยส่วนมากจะเกิดระหว่างนิ้วเท้าที่ 3 กับ 4 และนิ้วเท้าที่ 4 กับ 5 เริ่มแรกจะเป็นขุยขาว ๆ ยุ่ย ๆ ก่อน จากนั้นจะลอกเป็นแผ่น หรือตกสะเก็ดแล้วแตกเป็นร่อง ถ้าลอกขุยขาว ๆ ออก จะเห็นผิวหนังข้างใต้มีสีแดง และมีน้ำเหลืองซึมออกมา แต่หากเป็นมาก หรือเท้ามีแผลอยู่แล้วก่อนแช่ในน้ำสกปรก จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เป็นหนอง เป็นฝี มีอาการเจ็บปวดอย่างมาก หรือเป็นไข้ได้เลย ซึ่งอาการอาจจะลุกลามไปยังเล็บเท้า ฝ่าเท้า ได้ด้วย หากไม่ได้รับการรักษา
ทั้งนี้ อาการคัน มีแผลที่ง่ามนิ้วเท้า อาจมีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้ได้ แต่ต่างกันตรงที่ หากเกิดแผลเปื่อยคันจากโรคภูมิแพ้ จะเกิดเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วเท้าเท่านั้น ไม่ลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น
นอกจากนี้ ในนักกีฬาที่ฝึกซ้อมอย่างหนัก หรือผู้ที่ใส่รองเท้าอบทั้งวัน จนมีเหงื่อออกภายใต้ถุงเท้า-รองเท้าที่สวมใส่ ก็มีโอกาสเป็นติดเชื้อราที่เท้าได้เช่นกัน ดังนั้น จึงมีการเรียกชื่อโรคนี้อีกชื่อว่า "โรคเท้านักกีฬา" หรือ "แอทลีตฟุต" (Athlete’s foot) รวมทั้งผู้ที่นิยมอาบน้ำในห้องอาบน้ำรวม ก็เสี่ยงที่จะเป็นเชื้อราที่เท้าด้วย

เชื้อราที่เท้ายากที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่หากมีอาการขึ้นมา ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยแพทย์จะขูดเอาผิวหนังในบริเวณที่เป็นโรคไปพิสูจน์ หากพบว่าเป็น ฮ่องกงฟุต จะจ่ายยาทาฆ่าเชื้อรามาให้ อาจเป็นรูปแบบครีม ขี้ผึ้ง หรือยาน้ำ หากเป็นมากทายาแล้วไม่หาย แพทย์จะจ่ายยารับประทานปฏิชีวนะฆ่าเชื้อรามาให้ ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นเชื้อราที่เท้าต้องทายาอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ หรือรับประทานยาให้ครบกำหนดตามแพทย์สั่ง และปฏิบัติควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีก คือหมั่นรักษาความสะอาดของเท้า ไม่ให้เท้าเกิดความอับชื้นนั่นเอง









