ประโยชน์ของทับทิม ผลไม้คุณค่าสูงยิ่ง ป้องกันได้หลายโรค

          ประโยชน์ของทับทิม ผลไม้ที่มีเมล็ดสีแดงสวย อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย กินสดก็อร่อย หรือนำไปคั้นเป็นน้ำทับทิมก็ดื่มเพลิน เสริมสุขภาพอย่างฟิน ๆ

          ทับทิมเป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน และที่สำคัญทับทิมยังมีรสชาติอร่อย ไม่ว่าจะกินสด ๆ หรือนำมาคั้นเป็นน้ำทับทิมก็ตาม และหากใครอยากรู้ประโยชน์ของทับทิมอย่างชัด ๆ วันนี้กระปุกดอทคอมจัดให้แล้วค่ะ มาดูกันว่าสรรพคุณของทับทิมมีดียังไง พร้อมกับทำความรู้จักทับทิมไปด้วยในตัว

ทับทิม ผลไม้ในตำนาน

          ทับทิมเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากว่าพันปี โดยต้นกำเนิดของทับทิมจะอยู่ทางแถบประเทศอิหร่าน อียิปต์ และได้แพร่ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในเวลาต่อมา ดังจะเห็นได้ว่า ทับทิมเป็นผลไม้มงคลที่แฝงไปด้วยความเชื่อต่าง ๆ จากหลายวัฒนธรรมประเพณี เช่น ชาวกรีก ทับทิมเป็นสัญลักษณ์ของการดำรงเผ่าพันธุ์ ชาวยิวถือว่าทับทิมเป็นผลไม้ศักสิทธิ์ ส่วนชาวฮินดูถือว่าทับทิมเป็นผลไม้โปรดของพระพิฆเณศ ส่วนชาวจีนมีความเชื่อว่าทับทิมเป็นไม้มงคล ใบหรือกิ่งทับทิมก็มีอำนาจไล่ภูตผีปีศาจ จึงนิยมปลูกทับทิมไว้ในบริเวณบ้าน เป็นต้น

ทับทิม

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ของทับทิม

          ทับทิมเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 4-6 เมตร ทรงพุ่มโปร่ง มีหนามแหลมตามกิ่งก้าน ใบเดี่ยวขนาดเล็ก รูปใบยาวปลายแหลม โคนสอบแคบ ปลายใบกว้าง ใบจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ดอกของทับทิมออกตามปลายกิ่ง ดอกมีสีแดงหรือสีขาว และมีทั้งแบบดอกเดี่ยวและเป็นช่อดอก โดยกลีบดอกจำนวนเท่าๆ กับกลีบรอง ผลกลมโต ผิวนอกแข็งเป็นมัน สีเขียวอมเหลือง สีแดงอมน้ำตาล หรือสีทับทิม เมื่อแก่จะแตกอ้าออก เมล็ดมีเนื้อเยื่อใสสีขาวอมชมพูหรือสีแดงหุ้มอยู่  มีรสเปรี้ยวอมหวาน

          ทั้งนี้ชื่อวิทยาศาสตร์ของทับทิมคือ Punica granatum Linn. เป็นพืชในวงศ์ PUNICACEAE และทับทิม ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Pomegranate นอกจากนี้ทับทิมยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นด้วยนะคะ เช่น พิลา (หนองคาย) พิลาขาว มะก่องแก้ว (น่าน) มะเก๊าะ (เหนือ) หมากจัง (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น

ประโยชน์ของทับทิม มีดียังไง

          ประโยชน์ของทับทิมเป็นได้ทั้งผลไม้เพื่อสุขภาพ และตำรับยารักษาโรคกันเลยล่ะค่ะ โดยประโยชน์ของทับทิมด้านสุขภาพก็มีดังนี้

1. อุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญต่อร่างกาย

          เมล็ดทับทิมมีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมจากน้ำตาลธรรมชาติ โดยเมล็ดทับทิมปริมาณ 1 ถ้วยตวง (174 กรัม) จะประกอบไปด้วย...

          - ไฟเบอร์ 7 กรัม

          - โปรตีน 3 กรัม

          - วิตามินซี 30% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

          - วิตามินเค 36% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

          - โฟเลท 16% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

          - โพแทสเซียม 12% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

          - น้ำตาลธรรมชาติ ประมาณ 24 กรัม

          นอกจากนี้ในเมล็ดทับทิมยังมีกรดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างวิตามินเอ วิตามินอี ธาตุเหล็ก แคลเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งเป็นธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการ และในปริมาณ 1 ถ้วยตวง (174 กรัม) ทับทิมให้แคลอรีประมาณ 144 กิโลแคลอรีค่ะ

ทับทิม

2. สารต้านอนุมูลอิสระสูง

          น้ำที่คั้นได้จากเนื้อทับทิมมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก โดยสารต้านอนุมูลอิสระในทับทิมจะเป็นสารกลุ่มโพลีฟีนอลและแอนโธไซยานิน และจากการวิจัยก็ค้นพบว่า น้ำทับทิมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเป็น 3 เท่าของไวน์แดงและชาเขียว และสูงกว่าน้ำบลูเบอร์รี น้ำแครนเบอร์รี น้ำองุ่นสีม่วง และน้ำผลไม้ชนิดอื่น ๆ เมื่อเทียบในปริมาณที่เท่ากัน

          ที่สำคัญไปกว่านั้น ในเปลือกและน้ำของทับทิมจะมีสารต้านอนุมูลอิสระชนิดพิเศษที่ชื่อว่า สารพูนิคาลาจิน (Punicalagin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันโรคที่มีสาเหตุมาจากอนุมูลอิสระได้หลายโรค รวมไปถึงภาวะอักเสบต่าง ๆ ด้วย

3. ช่วยลดการอักเสบ

          นอกจากสารพูนิคาลาจิน (Punicalagin) แล้ว ในเปลือกทับทิมยังมีสารช่วยลดการอักเสบที่ชื่อว่า กรดเอลลาจิแทนนิน โดยจากการทดลองพบว่า สารจากเปลือกทับทิมสามารถยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการแข็งตัวของหลอดเลือดต่าง ๆ ในร่างกายเมื่อเกิดการอักเสบขึ้นในจุดนั้น ๆ อีกทั้งการทดลองสารสกัดด้วยเมทานอลผสมน้ำจากผลทับทิม และกรดไขมันจากเมล็ดทับทิมก็พบว่า สารที่สกัดได้จากส่วนของทับทิมดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยพบว่ามีกลไกการออกฤทธิ์หลายแบบ ทั้งช่วยยับยั้งการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ และกดการทำงานของเอนไซม์ที่กระตุ้นการสังเคราะห์สารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้

          อย่างไรก็ดี มีบันทึกทางการแพทย์ทางเลือกที่สหรัฐอเมริกาา ว่ามีการใช้สารสกัดจากน้ำทับทิมรักษาโรคที่เกิดจากการอักเสบ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์แล้วด้วยนะคะ

4. ป้องกันไข้หวัด

          ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สารพูนิคาลาจิน (Punicalagin) และฟลาโวนอยด์ในผลทับทิมมีฤทธิ์ต้านไวรัสโรคหวัด โดยสามารถยับยั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ฮ่องกง (H3N2) ในคนในหลอดทดลองได้

5. ลดความดันเลือด ป้องกันโรคหัวใจ

          สารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่มากในทับทิมมีส่วนช่วยป้องกันไขมันชนิดไม่ดีโดยช่วยกำจัดไขมันเลวโดยตรง และยังช่วยยับยั้งการออกซิเดชั่นของไขมันเลว ทำให้ไขมันเลวไม่สามารถเกาะผนังเลือดได้ ทั้งนี้จากการศึกษาทางคลินิกพบว่า สารสกัดจากน้ำทับทิมมีผลดีต่อการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ เนื่องจากมีส่วนช่วยลดความข้นของเลือดอันเกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง

ทับทิม

          นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า สารสกัดจากน้ำทับทิมมีส่วนช่วยให้เลือดสูบฉีดไปยังหัวใจได้ดีขึ้น โดยสารในน้ำทับทิมมีฤทธิ์ลดความหนาของผนังหลอดเลือดคาโรติด (Carotid endarterectomy) ช่วยลดภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือดจากไขมันในเลือดสูง ลดความดันเลือดโดยหยุดการสะสมไขมันและสลายไขมันสะสมที่หลอดเลือด

          อีกทั้งสารในน้ำทับทิมยังช่วยลดปฏิกิริยาต้านอนุมูลอิสระลงได้ครึ่งหนึ่ง และสามารถลดปริมาณไขมันไม่ดีหรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีที่ทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ นอกจากนี้น้ำทับทิมยังลดปริมาณพลัค (Plaque) ในหลอดเลือดแดงใหญ่ และเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลดีในร่างกายได้อีกด้วย

6. ช่วยกระตุ้นความจำ

          มีงานวิจัยที่ทดลองให้สารสกัดผลทับทิมแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดในปริมาณ 2 กรัม แล้วพบว่า ผู้ป่วยมีอัตราสูญเสียความทรงจำภายหลังการผ่าตัดลดน้อยลงหรือแทบจะไม่สูญเสียความทรงจำเลย

          นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยกับอาสาสมัครสูงอายุจำนวน 28 คน โดยให้ทุกคนดื่มน้ำทับทิมปริมาณ 237 มิลลิลิตรทุกวัน ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ และผลการทดลองพบว่า อาสาสมัครทุกคนมีความจำในส่วนของการสนทนา และการมองเห็น (Verbal and Visual Memory) เพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบจากการทดลองสารสกัดจากผลทับทิมในด้านป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในหนูทดลอง ก็ยิ่งทำให้นักวิจัยเชื่อกันว่า สารสกัดที่ได้จากผลทับทิมมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ในส่วนของความทรงจำได้จริง ๆ

7. ป้องกันอัลไซเมอร์

          การทดลองในห้องแล็บของมหาวิทยาลัยฮัดเดอร์สฟิลด์แสดงให้เห็นว่า สารพูนิคาลาจิน (Punicalagin) ที่มีอยู่ในผลทับทิมสามารถยับยั้งการอักเสบในเซลล์สมองส่วนที่เรียกว่า Micrologia ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

          โดยในการวิจัย Dr.Olumayokun Olajide และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮัดเดอร์สฟิลด์และนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไฟรบูร์กได้ร่วมกันทำการทดลองโดยใช้เซลล์สมองของหนูทดลองมาใช้เพื่อหาข้อพิสูจน์ ซึ่งผลที่ได้นั้นถูกตีพิมพ์ในวารสาร The Journal Molecular Nutrition and Food Research ว่า จากการทดลองทำให้เรามีความหวังที่จะนำสารสกัดจากผลทับทิมมาสกัดเป็นตัวยา และหากประสบความสำเร็จ ในอนาคตก็จะสามารถนำสารพูนิคาลาจิน (Punicalagin) มาผลิตเป็นตัวยาเพื่อช่วยรักษาอาการเซลล์สมองถูกทำลาย ยับยั้งการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

ทับทิม

          อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงค้นคว้าต่อไปว่าจะต้องนำผลทับทิมปริมาณมากน้อยเพียงใดจึงจะสกัดเป็นตัวยาป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ เพราะในน้ำทับทิม 100% จะมีปริมาณของสารพูนิคาลาจิน (Punicalagin) อยู่แค่เพียงร้อยละ 3.4 เท่านั้น ซึ่ง Dr.Olajide แนะนำว่า เพื่อให้ได้ประโยชน์จากทับทิมอย่างเต็มที่ควรจะบริโภคผลสดจะดีที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยยับยั้งโรคอัลไซเมอร์แล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย

8. ป้องกันการอักเสบในช่องท้อง

          การศึกษาในหลอดทดลองแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สารพูนิคาลาจิน (Punicalagin) จากผลทับทิมมีส่วนช่วยลดเซลล์อักเสบอันเป็นต้นเหตุของอาการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ส่วนกระเพาะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ได้อย่างมีนัยสำคัญ

9. ลดน้ำตาลในเลือด

          สารชีวเคมีที่พบในดอกทับทิม เมล็ดทับทิม และเปลือกทับทิมมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยสารสำคัญจากผลทับทิมจะช่วยกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมน้ำตาลในเลือดและการหลั่งอินซูลินในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อีกทั้งยังมีหน้าที่ยับยั้งการดูดซึมและการสร้างกลูโคส รวมไปถึงช่วยยับยั้งเอนไซม์กลูโคซิเดส และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนให้ทำงานได้อย่างสมดุลกันอีกด้วย

ทับทิม

10. ป้องกันโรคมะเร็ง

          กรดเอลลาจิกที่พบในทับทิมมีฤทธิ์ต้านมะเร็งในเนื้อเยื่อหลายชนิด เช่น ลำไส้ ทางเดินอาหาร ตับ ปอด ลิ้น และผิวหนัง โดยมีฤทธิ์กระตุ้นการเกิดกระบวนการตายของเซลล์มะเร็ง (Apoptosis) บางชนิด รวมทั้งมีฤทธิ์ต้านสารก่อมะเร็ง เนื่องจากในผลทับทิมมีสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูง และยังเป็นแหล่งรวมของสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด จึงช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อที่อาจจะเกิดเป็นเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของเซลล์ในร่างกายได้อีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม การป้องกันและรักษาโรคมะเร็งต้องอาศัยกระบวนการอื่น ๆ ร่วมด้วยถึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย ไม่สูบ ไม่ดื่ม และพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นต้น

ทับทิม

          และนอกจากประโยชน์ด้านสุขภาพดังกล่าวแล้ว ทับทิมยังจัดเป็นสมุนไพรรักษาโรคอีกชนิดหนึ่งที่มีตำรับตัวยามาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยสรรพคุณทางยาของทับทิมก็มีดังนี้ค่ะ

ทับทิม


สรรพคุณของทับทิม สมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่ไม่ควรมองข้าม

          - รักษาอาการอุจจาระร่วง

          ตำรับยาที่มีเปลือกผลทับทิมเป็นส่วนประกอบ สามารถรักษาอาการท้องเสียในเด็กและทารก 305 คน โดยอาการหายไปภายใน 1-3 วัน จำนวน 281 คน และมีอาการดีขึ้น 9 คน ทั้งนี้งานวิจัยในเว็บไซต์สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดลได้อธิบายไว้ว่า สารสกัดเปลือกผลทับทิมที่ได้จากการต้มกับน้ำ แล้วสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 95 หรือ เอทานอลร้อยละ 50 มีฤทธิ์ลดความถี่ของการถ่ายอุจจาระ และยับยั้งการหลั่งสารของลำไส้ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้อุจจาระร่วงด้วยน้ำมันละหุ่ง, แมกนีเซียมซัลเฟต, เซนโนไซด์ บี และ Misoprostol ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    
          นอกจากนี้ตำรับยาโบราณที่ใช้ทับทิมแก้ท้องร่วงก็มีอยู่เช่นกัน โดยให้นำเปลือกผลทับทิมประมาณ 1/4 มาล้างให้สะอาดและตากให้แห้ง จากนั้นนำมาฝนกับน้ำหรือน้ำปูนใสข้น ๆ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือนำเปลือดทับทิมตากแห้งไปต้มกับน้ำปูนใสแล้วกรองผ้าขาวบางนำมาดื่มก็ได้เช่นกัน

          หรือสูตรแก้ท้องเสียตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) แนะนำให้นำเปลือกทับทิมมาต้มกับน้ำจนเดือด แล้วดื่มน้ำทับทิมครั้งละ 1-2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง (สำหรับเด็ก) แต่หากเป็นผู้ใหญ่ให้ดื่มน้ำทับทิมครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง

          - เป็นยาถ่ายพยาธิตัวตืดและพยาธิตัวกลม

          วิธีใช้ผลทับทิมถ่ายพยาธิดังกล่าวก็ให้ใช้เปลือกสดของราก หรือต้นทับทิมที่เก็บใหม่ ๆ ประมาณ 60 กรัม หรือราว ๆ 1/2 กำมือ เติมกานพลูหรือกระวานลงไปเล็กน้อย เพื่อแต่งรส ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 1/2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (30 ซี.ซี.) หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง รับประทานยาถ่าย เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะตาม และควรอดอาหารก่อนรับประทานยา เพียงเท่านี้ก็จะช่วยถ่ายพยาธิตัวตืดและพยาธิตัวกลมได้แล้วล่ะค่ะ

          - แก้อาการปวดบิด ปวดเบ่ง

          ให้ใช้เปลือกแห้งของทับทิม ครั้งละ 1 กำมือ (3-5 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มวันละ 2 ครั้ง โดยอาจใช้กานพลูหรืออบเชยแต่งกลิ่นให้ดื่มง่ายมากขึ้นก็ได้ค่ะ

          นอกจากนี้สรรพคุณของทับทิมยังใช้ได้เกือบทั้งต้นเลยนะคะ โดนใบทับทิมสามารถนำมาอมกลั้วคอ หรือทำยาล้างตาได้ ดอกทับทิมช่วยห้ามเลือดได้ ส่วนเมล็ดทับทิมใช้รับประทานเป็นผลไม้รสหวาน หรือมีรสเปรี้ยวอมหวาน มีวิตามินซี และแร่ธาตุหลายตัว ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน โรคลักปิดลักเปิด และบำรุงฟันให้แข็งแรง

ทับทิม

ทับทิม ก็มีข้อเสียและข้อควรระวัง

          บางคนทานทับทิมแล้วจะมีอาการแพ้ เช่น เกิดผื่นลมพิษ ลิ้นบวม ริมฝีปากบวม คันตา ตาแดง ระคายเคืองจมูก แต่หากอาการแพ้นั่นรุนแรงมาก ๆ อาจทำให้มีอาการหอบหืด หรือหายใจไม่ออกได้เลย นอกจากนี้ คนที่มีอาการความดันโลหิตต่ำไม่ควรทานทับทิม เพราะทับทิมมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต อาจทำให้ความดันโลหิตยิ่งต่ำลงไปอีก

          เห็นประโยชน์ของทับทิมรอบด้านอย่างนี้หลายคนก็อยากกินทับทิมขึ้นมาทันที และหากจะให้ดีเราอยากให้กินเมล็ดทับทิมจากผลสด ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์จากเนื้อทับทิมด้วยนะคะ หรือหากใครชอบดื่มน้ำทับทิมมากกว่า เราก็มีวิธีทำน้ำทับทิมมาแบ่งปันกันด้วย

          - เคล็ดลับแกะเม็ดทับทิมแบบง่าย ๆ พ่วงวิธีคั้นน้ำทับทิมกินเอง
      

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 , สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ, healthline, au.news.yahoo


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประโยชน์ของทับทิม ผลไม้คุณค่าสูงยิ่ง ป้องกันได้หลายโรค อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2564 เวลา 18:16:14 276,944 อ่าน
TOP
x close