ฝันร้ายบ่อย ๆ อันตราย! กระทบสุขภาพกาย สุขภาพจิต


ฝันร้าย

ฝันร้าย (อาหาร & สุขภาพ)
เรียบเรียงจากบทความ : Nightmares in Adult โดย ฉัตรตระกูล เจียจันทร์พงษ์, M.P.H.

          คุณอาจจะคิดว่าคุณเป็นคนเดียวที่ถูกฝันร้ายรบกวน ส่วนคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วน่าจะเติบโตเกินกว่าจะฝันร้ายหรือไม่?...ความจริง คือ ฝันร้ายพบได้มากในเด็ก ๆ โดยหนึ่งในสองของเด็กมักฝันร้ายอยู่เนือง ๆ แต่ผู้ใหญ่ราว 2% ถึง 8% ก็ฝันร้ายด้วยเช่นกัน

          คุณฝันร้ายเพราะมีความเครียดหรือไม่? ฝันร้ายนี้ไปรบกวนการนอนปกติหรือไม่? หากเป็นเช่นนั้นก็สำคัญมากที่ต้องหาให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้ฝันร้าย จากนั้นคุณจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลง และลดการเกิดให้น้อยลง

ฝันร้ายคืออะไร

          ฝันร้ายจะดูเหมือนจริงมาก เป็นความฝันที่รบกวนและทำให้ตื่นจากหลับลึก มักจะทำให้หัวใจเต้นแรงจากความกลัว ฝันร้ายมักจะเกิดบ่อยที่สุดในช่วงการหลับที่มีการเคลื่อนไหวของลูกตาอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า rapid eye movement หรือ REM ซึ่งเป็นช่วงที่ความฝันส่วนมากเกิดขึ้น เนื่องจากช่วงการหลับระดับ REM จะยาวนานขึ้นเมื่อกลางคืนผ่านไปเรื่อย ๆ จึงอาจพบว่า ฝันร้ายมักเกิดบ่อยในช่วงชั่วโมงเช้ามืด

          เรื่องราวในฝันร้ายจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน อย่างไรก็ดี ก็ยังมีฝันร้ายบางอย่างที่หลายคนเจอเหมือน ๆ กัน เช่น ผู้ใหญ่จำนวนมากจะฝันในทำนองที่ว่าไม่สามารถวิ่งได้เร็วพอที่จะหนีจากอันตราย หรือฝันเกี่ยวกับการตกจากที่สูงมาก ๆ หากคุณประสบกับเหตุการณ์อันเจ็บปวด เช่น เกิดอุบัติเหตุ ก็อาจเกิดฝันร้ายซ้ำซากเกี่ยวกับประสบการณ์อันน่ากลัวนี้

          แม้ว่าทั้งฝันร้าย (nightmare) และ night terror จะทำให้เราสะดุ้งตื่นจากความกลัว แต่ทั้งสองอย่างไม่เหมือนกัน night terrors มักเกิดขึ้นในช่วงสองสามชั่วโมงแรกหลังนอนหลับ ลักษณะเป็นความรู้สึก ไม่ใช่ความฝัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถบอกได้ว่ากลัวอะไรเวลาตื่นขึ้นมา

อะไรทำให้ฝันร้ายในผู้ใหญ่?

          ฝันร้ายในผู้ใหญ่มักเกิดขึ้นได้เอง แต่ก็อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างจากความผิดปกติบางอย่าง

          บางคนฝันร้ายหลังรับประทานอาหารว่างตอนดึก ทำให้เมตาบอลิซึ่มเพิ่มขึ้น และส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อให้มีกิจกรรมมากขึ้น

          ยารักษาโรคบางอย่าง ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ทำให้ฝันร้ายบ่อย ๆ ยาที่ออกฤทธิ์กับสารเคมีในสมองอย่างเช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า และยาเสพติดมักมีความสัมพันธ์กับฝันร้าย ส่วนยาที่ไม่ได้รักษาโรคทางจิตประสาท เช่นยาลดความดันโลหิตบางชนิด ก็ทำให้เกิดฝันร้ายในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

          การหยุดใช้ยา หรือยาเสพติด รวมไปถึงการหยุดแอลกอฮอล์ และยากล่อมประสาทก็อาจกระตุ้นให้ฝันร้ายได้ หากคุณสังเกตได้ถึงความแตกต่างของความถี่ของการเกิดฝันร้ายหลังเปลี่ยนยา ให้ปรึกษาแพทย์

          การนอนหลับไม่เพียงพอก็อาจทำให้ฝันร้ายได้เช่นกัน แม้จะเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างแน่ชัดว่า วงจรอย่างนี้จะทำให้ฝันร้ายอย่างผิดปกติเกิดขึ้นได้หรือไม่

          ยังมีปัจจัยทางจิตวิทยาที่ทำให้ฝันร้าย เช่น ความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Post-traumatic stress disorder-PTSD) มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยฝันร้ายอยู่ซ้ำซาก

          นอกจากนี้ ฝันร้ายยังอาจเกิดจากความผิดปกติในการนอนหลับ เช่น การหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ระหว่างนอนหลับ (sleepapnea) และอาการขาอยู่ไม่สุข (restiess legsyndrome) หากยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ การฝันร้ายเรื้อรังอาจเกิดจากความผิดปกติในการนอนหลับนี่เอง คนที่มีญาติพี่น้องที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับฝันร้ายมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองได้มากขึ้น


ฝันร้าย

ผลที่มีต่อสุขภาพ

          ฝันร้ายจะเป็นมากกว่าฝันร้ายเมื่อมันเริ่มมีผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหานอนฝันร้ายนั้น ผู้ที่มีอาการวิตกกังวล หรือซึมเศร้า มีแนวโน้มมากที่มีความเครียดอันเกิดจากประสบการณ์และทนทุกข์กับความป่วยทางจิตมากกว่า แม้จะยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างแน่ชัด แต่ฝันร้ายก็อาจมีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย เนื่องจากฝันร้ายอาจมีผลกระทบกับคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก จึงสำคัญที่จะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากคุณฝันร้ายอยู่เป็นประจำ

          การนอนหลับไม่พอเพียงเนื่องจากฝันร้าย อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอื่นตามมา เช่น โรคหัวใจ, ซึมเศร้า และโรคอ้วน

          หากฝันร้ายเกิดจากอาการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ระหว่างนอนหลับ หรือความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ และปล่อยเอาไว้ไม่รักษา สาเหตุเบื้องหลังเหล่านี้อาจนำไปสู่ผลลบอย่างรุนแรงทั้งต่อสุขภาพของร่างกายและสุขภาพจิต

การรักษาการนอนหลับฝันร้ายในผู้ใหญ่

          โชคดีที่มีขั้นตอนที่ทั้งตัวคุณและแพทย์จะช่วยกันทำให้ความถี่ในการฝันร้ายน้อยลง แรกสุด หากฝันร้ายเกิดจากการใช้ยาก็อาจเปลี่ยนปริมาณที่ใช้ หรือเปลี่ยนยาเพื่อกำจัดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

          สำหรับผู้ที่ฝันร้ายอันเนื่องจากการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ หรืออาการขาอยู่ไม่สุข การรักษาอาการเหล่านี้อาจช่วยให้ดีขึ้นได้

          หากฝันร้ายของคุณไม่เกี่ยวกับการป่วย หรือการใช้ยาก็อย่าเพิ่งหมดหวัง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลถึง 70% ของผู้ที่ฝันร้าย รวมไปถึงผู้ที่มีอาการวิตกกังวล, ซึมเศร้า และความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)

          การฝึกจินตนาการก็เป็นการบำบัดทางพฤติกรรมที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับการฝันร้ายอันเนื่องจาก PTSD เทคนิคก็คือ ฝึกความคิดที่อยากจะหลุดออกมาจากสิ่งนั้นในขณะที่เรายังตื่น บางครั้งอาจมีการใช้ยาเข้าร่วมเพื่อรักษาอาการฝันร้ายในลักษณะนี้ แต่ผลที่ได้ก็ยังไม่เห็นได้ชัดเท่ากับการฝึกจินตนาการ

          ยังมีขั้นตอนอื่น ๆ ที่ช่วยลดความถี่ของฝันร้ายลง อย่างการรักษาตารางเวลาเข้านอนและเวลาตื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ จะช่วยบรรเทาการฝันร้ายอันเนื่องจากความวิตกกังวลและความเครียด คุณอาจพบว่า การเล่นโยคะและการทำสมาธิก็อาจช่วยได้

          การฝึกอนามัยการนอนหลับ ช่วยป้องกันไม่ให้นอนไม่พอแล้วเป็นบ่อเกิดของฝันร้าย ควรจัดห้องนอนให้น่าผ่อนคลาย เงียบสงบเหมาะสำหรับการนอน จะได้ไม่ทำให้คุณรู้สึกถึงกิจกรรมเครียด ๆ นอกจากนี้ให้ระวังการดื่มแอลกอฮอล์, กาเฟอีน และการสูบบุหรี่ สิ่งเหล่านี้จะยังคงอยู่ในร่างกายเราได้นานกว่า 12 ชั่วโมง และมักไปรบกวนรูปแบบการนอนหลับ

นอนหลับ

จิตบำบัด

          ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา แบรี่ ครา โคว์ และเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยแห่งนิวเม็กซิโก ได้ทำการศึกษาจำนวนมากมายเกี่ยวกับการใช้จิตบำบัดเพื่อรักษาอาการฝันร้าย นักวิจัยกลุ่มนี้ค้นพบผลในทางบวกในการรักษาผู้ป่วยฝันร้ายอันเนื่องจาก PTSD

          ครา โคว์ และเพื่อนร่วมงานพบว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเหยื่อจากการล่วงเกินทางเพศที่เกิดอาการ PTSD แล้วได้รับการบำบัดจะมีฝันร้ายน้อยกว่า และมีคุณภาพการนอนหลับดีขึ้นหลังการบำบัดเป็นกลุ่มผ่านไปสามครั้ง นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งได้ทำการศึกษานำร่องเล็ก ๆ และให้การบำบัดแก่ทหารผ่านศึกเวียดนาม และก็ได้ผลอย่างเดียวกัน

          การศึกษาการบำบัดที่มหาวิทยาลัยแห่งนิวเม็กซิโกเรียกว่า "การบำบัดด้วยวิธีจินตนาการ" (Imagery Rehearsal Therapy) จัดว่าเป็นการรักษาแบบความคิดและพฤติกรรมบำบัด (cognitive-behavioral treatment) เป็นการบำบัดที่ไม่ใช้ยา สิ่งที่มีในกระบวนการบำบัด ได้แก่ ในช่วงที่ตื่นก็ช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนตอนจบของฝันร้ายเสีย ทำให้ฝันนั้นไม่ทำให้อารมณ์เสียอีกต่อไป จากนั้นก็ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยให้ฝึกจินตนาการถึงภาพที่เห็นที่เป็นภาพใหม่ ไม่ทำให้หวาดกลัวให้มาสัมพันธ์กับความฝันที่เปลี่ยนไป

          การบำบัดด้วยวิธีจินตนาการนี้ยังมีส่วนอื่น ๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ป่วยแก้ปัญหาอื่นที่เกี่ยวเนื่องมาจากฝันร้าย เช่น โรคนอนไม่หลับ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยจะได้รับการสอนการวางแผนเบื้องต้นที่อาจช่วยพวกเขาทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น เช่น การงดกาเฟอีนตลอดช่วงบ่าย, ทำการผ่อนคลายทุกเย็นให้เป็นกิจวัตรประจำวัน หรืองดนอนดูโทรทัศน์บนเตียง

การบำบัดด้วยยาสำหรับฝันร้าย

          นักวิจัยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อรักษาฝันร้าย อย่างไรก็ตาม ควรทราบไว้ว่า สิ่งที่นักวิจัยค้นพบยังไม่สมบูรณ์นัก เมื่อเทียบกับการศึกษาในการบำบัดด้วยการฝึกจินตนาการ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าการศึกษาด้านการใช้ยารักษายังมีอยู่น้อย และการศึกษาแบบนี้มักเป็นการศึกษาเล็ก ๆ และไม่มีการเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (ที่ไม่ได้รับยา) ทำให้ยากที่จะแน่ใจว่า การใช้ยาช่วยลดฝันร้ายลงได้หรือไม่ หรือเป็นเพราะผู้ป่วยมีความเชื่อ หรือมั่นใจว่ายาช่วยได้ ซึ่งเป็นผลที่เรียกว่า placebo effect

จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่รักษาอาการฝันร้าย?

          ฝันร้ายอาจกลายมาเป็นปัญหาสุขภาพทางจิตในบางคน แต่บางคนก็ไม่เป็น เช่นนั้น สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดก็คือ ฝันร้ายพบได้บ่อยในช่วงแรก ๆ ของการผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด อย่างไรก็ตาม การวิจัยแนะนำว่า คนส่วนมากที่มี PTSD (รวมทั้งฝันร้าย) ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานจะหายจากฝันร้ายได้โดยไม่ต้องรักษา โดยมากมักจะใช้เวลาราวสามเดือนหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรงนั้น ๆ

          อย่างไรก็ตาม หากอาการ PTSD (รวมทั้งฝันร้าย) ไม่ลดลงไปหลังสามเดือน อาการเหล่านี้อาจกลายมาเป็นอาการเรื้อรังได้ หากคุณฝันร้ายมานานกว่าสามเดือน ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตและพูดคุยเกี่ยวกับการบำบัดทางพฤติกรรม


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝันร้ายบ่อย ๆ อันตราย! กระทบสุขภาพกาย สุขภาพจิต อัปเดตล่าสุด 29 มิถุนายน 2558 เวลา 18:10:47 44,652 อ่าน
TOP
x close