x close

5 วิธีลดความดันสูง ด้วยการรักษาทางเลือก

ความดัน ความดันโลหิต



5 วิธีลดความดันสูง ด้วยการรักษาทางเลือก (ชีวจิต)

          ผู้สูงอายุหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าความดันโลหิตสูงไม่อันตราย เพราะการที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเริ่มแรกนั้นมักจะไม่มีอาการแสดงให้รู้ แต่จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป จึงได้รับสมญานามว่าเป็น "ฆาตกรเงียบ" เมื่อปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมาย เช่น จอประสาทตาเสื่อม ไตวาย อัมพาต หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

          จากการสำรวจสภาวะสุขคนไทยของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2547 พบว่า คนไทยวัย 15 ปีขึ้นไปมีความดันโลหิตสูงผิดปกติ (เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป) จำนวนถึง 11 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของประชากรทั้งประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

          และคุณทราบหรือไม่ว่า ความดันโลหิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

          อายุ สวนมากความดันโลหิตจะสูงขึ้นตามอายุ เด็กโตมีความดันโลหิตสูงกว่าเด็กเล็ก ในวัยผู้ใหญ่ ความดันมักสูงกว่าวัยหนุ่มสาว แต่ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าความดันโลหิตต้องเพิ่มขึ้นตามอายุเสมอไป ในปัจจุบันถือว่า ไม่ว่าอายุเท่าใดก็ตาม ถ้ามีความดัน 140/90 มิลลิเมตรของปรอทหรือมากกว่า ถือว่าเป็นภาวะความดันโลหิตสูง

          เวลา ความดันโลหิตจะไม่เท่ากันตลอดทั้งวัน มีการขึ้น ๆ ลง ๆ ในเวลานอนหลับ ความดันซีลโตลิก (ค่าความดันตัวแรก) มักจะลดลงต่ำสุดจนเหลือเพียง 60 – 70 มิลลิเมตรปรอท แต่พอตื่นขึ้นความดันนี้จะสูงขึ้นเป็น 130 มิลลิเมตรปรอท เป็นต้น

          จิตใจและอารมณ์ ทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและอยู่ได้นานได้ เช่น คนที่เพิ่งทะเลาะกับคนอื่นด้วยความโกรธ ความดันโลหิตขึ้นไปสูงกว่าเดิม 30 มิลลิเมตรปรอท และคงอยู่เช่นนั้นหลายชั่วโมง รวมทั้งความเจ็บปวดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตขึ้นเร็วด้วย

          กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม มีส่วนช่วยทำให้เป็นความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียดก็ทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคนี้สูงมากขึ้น

          เชื้อชาติ เป็นที่ทราบกันดีมานานแล้วว่า อุบัติการณ์ของความดันโลหิตสูงในพวกแอฟริกัน-อเมริกัน นั้นสูงและรุนแรงกว่าอเมริกันผิวขาว

          ปริมาณเกลือที่รับประทาน มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูงด้วย กล่าวคือ ผู้ที่รับประทานเกลือมากจะพบว่ามีความดันสูงกว่าผู้ที่รับประทานเกลือน้อยกว่า

          ดังนั้น วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดจะต้องลดเกลือ เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจเช็คความดันโลหิตทุก 6 เดือน และหากพบความดันโลหิตสูงผิดปกติ ควรรีบดูแลรักษาและปรับพฤติกรรมตามหลักปัญจกิจ หรือร่วมกับ 5 แนวทางการรักษาทางเลือกที่เรานำมาฝากกันค่ะ

           1. คันธบำบัด มีคำแนะนำมากมายจากอโรมาเทอราปิสต์ ให้ใช้น้ำมันหอมระเหยบางชนิดช่วยบำบัดอาการและทำให้ผ่อนคลาย เช่น น้ำมันหอมละเหยกลิ่นคาโมไมล์ ลาเวนเดอร์

           2. การบำบัดด้วยอาหาร ด้วยการลดปริมาณเกลือโซเดียม และหันมาเพิ่มอาหารที่มีธาตุโพแทสเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งมีมากในผักและผลไม้สด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วย มันฝรั่ง และ ผักใบเขียวต่าง ๆ เช่น เซเลอรี่ (ขึ้นฉ่ายฝรั่ง) ซึ่งถือเป็นผักที่ดีในการลดความดันโลหิต

           3. การบำบัดด้วยสมุนไพร การดื่มน้ำสมุนไพรจากขึ้นฉ่าย กระเจี๊ยบแดง และบัวบก เป็นต้น

           4. การผ่อนคลายและทำสมาธิ เทคนิคการทำสมาธินั้นมีประโยชน์ช่วยรักษาระดับความดันโลหิต จากการศึกษามีคำแนะนำว่า การทำสมาธิ 20 นาที วันละ 2 ครั้ง จะช่วยลดความดันโลหิตได้

           5. โสตบำบัด (การบำบัดด้วยเสียง) คำแนะนำจากนักวิจัยเพื่อช่วยลดความดันโลหิต คือให้ฟังเพลงที่ช่วยลดความดันโลหิต คือให้ฟังเพลงที่ช่วยผ่อนคลายแล้วหายใจเข้าออกลึก ๆ แล้วปล่อยให้ตัวเองซึมซับเอาพลังงานเสียงเข้าไว้

          ความดันโลหิตสูงนั้นป้องกันได้ถ้าเริ่มต้นปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวคุณสู่วิถีชีวิตที่มีความสุขทั้งกายและใจตั้งแต่วันนี้ค่ะ

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 วิธีลดความดันสูง ด้วยการรักษาทางเลือก อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 16:22:48 180,789 อ่าน
TOP