x close

มลพิษเมืองหลวง

มลพิษ กรุงเทพ



มลพิษเมืองหลวง (Momypedia)
โดย: พ.ญ.สิรินันท์ บุญยะลีพรรณ

          เพื่อนบ้านที่เจอะเจอกันได้ตลอดเวลาของชาวกรุงเทพฯ ทุกท่าน

          อาจจะเป็นเพราะคนไทยมีนิสัยไม่ค่อยชอบย้ายถิ่นฐาน หรือถ้าจะย้ายมักย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่มากกว่าย้ายออก เมืองใหญ่จึงมีคนมากขึ้นทุกวัน ...เอาล่ะ ไหน ๆ ก็รักจะอยู่กรุงเทพฯ แล้ว มารู้จัก "มลพิษทางอากาศ" เพื่อนร่วมบ้านร่วมเมืองของเรากันหน่อยดีกว่าค่ะ

 1.ฝุ่นละออง 

          มาตรฐานโลกเขากำหนดไว้ว่า ฝุ่นละอองแขวนลอยทั้งหมดไม่ควรเกิน 330 ไมโครกรัม : ลูกบาศก์เมตร แต่กรุงเทพฯ มีฝุ่นเข้าไปตั้ง 800 ไมโครกรัม : ลูกบาศก์เมตร ฝุ่นพวกนี้มาจากไหน ส่วนหนึ่งก็เป็นฝุ่นเดิมสะสม ลอยแล้วตกลงมาใหม่ โดนกวาดฟุ้งลอยขึ้นไปอีก มาจากการก่อสร้าง จากโรงงานอุตสาหกรรม และส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งมาจากควันท่อไอเสียรถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันดีเซล เรียกเป็นภาษาทางการว่า Diesel Exhaust Particulates (DEP) ซึ่งฝุ่นประเภท DEP นี้ มีสารที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้ด้วยค่ะ

          ฝุ่นเหล่านี้ให้โทษต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เด็กที่เป็นหอบหืด หรือโรคแพ้อากาศ เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบในหลอดลม ยิ่งถ้าเป็นฝุ่นขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 10 คือขนาดต่ำกว่า 10 ไมครอน (1 ไมครอน = 0.001 มิลลิเมตร) ยิ่งอันตรายมาก เพราะมันสามารถเข้าไปได้ลึกถึงถุงลมเล็ก ๆ ในปอดเลยค่ะ 

          จากการวัดล่าสุดตามริมถนนในกรุงเทพฯ พบเจ้าฝุ่น PM 10 นี้มีปริมาณ 150 ไมโครกรัม : ลูกบาศก์เมตร สูงเกินค่ามาตรฐานคือ 120 ไมโครกรัม : ลูกบาศก์เมตร และในบริเวณทั่วไปของกรุงเทพฯ ที่อยู่ห่างจากถนนก็ยังมีค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 10 ถึง 66 ไมโครกรัม : ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 55 ไมโครกรัม : ลูกบาศก์เมตรค่ะ 

          นั่นเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมเราจึงพบเด็กเป็นโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืดกันมากขึ้น

 2. ก๊าซโอโซน

          คุณสมบัติของโอโซน คือช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตสำหรับชั้นโอโซนที่อยู่ในบรรยากาศ และสามารถนำมาฆ่าเชื้อโรคในน้ำได้ แต่โทษของมันก็มี เปรียบง่าย ๆ ก็เหมือนคลอรีน เราเอาคลอรีนมาฆ่าเชื้อโรคในการทำน้ำประปา แต่คงไม่มีใครอยากเอาคลอรีนมาสูดดม จริงไหมคะ 

          โอโซนก็เหมือนกัน ถ้าเอาโอโซนมาสูดดมโดยตรงในปริมาณเกินมาตรฐาน เขาพิสูจน์กันมาแล้วว่ามีผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจแน่นอนค่ะ ค่ามาตรฐานที่สหรัฐอเมริกากำหนดคือ 240 ไมโครกรัม : ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับ 0.12 ppm ถ้ามีปริมาณเกินกว่านี้ จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอด ทั้งในคนปกติ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ และโรคหอบหืด เพราะโอโซนไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ และเพิ่มความไวของหลอดลมด้วยค่ะ

          ทีนี้โอโซนในท้องถนนกรุงเทพฯ มาจากไหน ส่วนใหญ่มาจากควันท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งจะมีก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และสารไฮโดรคาร์บอนออกมาด้วย เมื่อสาร 2 ชนิดนี้ทำปฏิกิริยากับรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด ก็จะเกิดเป็นโอโซนขึ้น ตอนนี้รอบ ๆ กรุงเทพฯ เราเริ่มจะมีปริมาณโอโซนเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดเป็นบางวันแล้วค่ะ

 3. ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ 

          ส่วนใหญ่มาจากท่อไอเสียรถยนต์อีกเหมือนกัน พอออกมาแล้วส่วนหนึ่งไปทำปฏิกิริยากับรังสีอัลตราไวโอเลต ได้เป็นก๊าซโอโซน ซึ่งเป็นก๊าซพิษอย่างที่กล่าวแล้ว ตัวของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เองก็ให้โทษต่อทางเดินหายใจเหมือนกัน โดยทำให้มีการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการน้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ หายใจลำบาก โชคดีว่าในกรุงเทพฯ ยังมีค่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ค่ะ

 4. ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์

          คงจำกันได้ว่า ถ้าเรานอนหลับในรถยนต์ที่ติดเครื่องไว้อาจตายได้เพราะก๊าซตัวนี้ ซึ่งมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากรถยนต์ และเนื่องจากมันไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เราจึงไม่รู้ตัวเมื่อสูดหายใจเข้าไป เมื่อเข้าไปแล้วมันจะไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจน ทำให้ร่างกายโดยเฉพาะสมองขาดออกซิเจน มีอาการปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าสูดเข้าไปมาก ๆ ก็ตายได้ค่ะ 

          ในกรุงเทพฯ ยังมีค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดค่ะ ส่วนหนึ่งเพราะว่าเครื่องยนต์รุ่นใหม่ถูกกำหนดให้มี Catalytic Converter ตั้งแต่ พ.ศ.2536 เลยทำให้มีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลงมาจากเดิมที่เคยสูง

          ไหน ๆ พูดถึงมลพิษในอากาศแล้ว ขอแถมอีกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับท้องถนน คือควันบุหรี่ เพราะเจ้านี่มีพิษร้ายเหลือ ก็มันมีสารพิษอยู่ตั้ง 4,000 ชนิดนี่คะ ผลเสียของมันนอกจากจะมีทั้งต่อตัวผู้สูบเองแล้ว คนที่อยู่ข้างเคียงจะได้รับผลดังนี้ค่ะ 

          คือต้องสูดหายใจเอาสารพิษจากควันบุหรี่เข้าไปด้วย สารบางอย่าง เช่น Nitrosamine ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งนั้น ปล่อยออกมากับควันบุหรี่มากกว่าที่ผู้สูบบุหรี่รับเข้าไปอีกค่ะ เลยทำให้คนรอบข้างที่หายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปรับสารนี้มากยิ่งกว่าตัวผู้สูบเองถึง 50 เท่า แม้แต่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เพิ่งเล่ามานั้นก็มีอยู่ในควันบุหรี่ค่ะ และคนรอบข้างก็รับเข้าไปมากกว่าผู้สูบบุหรี่เองด้วย

          เราจึงพบว่าเด็ก ๆ ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ จะมีโอกาสเจ็บป่วยเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดสูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีใครสูบบุหรี่หลายเท่าค่ะ 

          ถ้าใครอยากทราบข้อมูลว่าแถวบ้านมีมลพิษมากน้อยขนาดไหน ลองเข้าไปดูใน internet นะคะ มี home page ของกรมควบคุมมลพิษอยู่ที่ www.pcd.go.th ค่ะ

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มลพิษเมืองหลวง อัปเดตล่าสุด 30 กันยายน 2552 เวลา 14:27:19 2,198 อ่าน
TOP