หน้ากากอนามัย ใส่ให้เป็น




หน้ากากอนามัย ใส่ให้เป็น เทรนด์กิ๊บเก๋...ป้องกันโรค (เดลินิวส์)

         ฮัดเช้ยยยย...!! ช่วงนี้ จะไอจามตามพื้นที่สาธารณะ ต้องตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนอยู่เสมอ เพราะหน้าฝนนี้ นอกจากจะเสี่ยงเป็นไข้หวัดธรรมดาแล้ว ยังต้องเผชิญกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทั่วโลก 

         ยิ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศเพิ่มขึ้น หลายคนยิ่งหวาดกลัว แม้ผู้รู้หลายท่านออกมาชี้แจงว่า สามารถหายเองได้เหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ใครๆ ก็ไม่อยากให้โรคภัยไข้เจ็บมากล้ำกราย หน้ากากอนามัยจึงเสมือน "เกราะป้องกันโรค"  ซึ่งกำลัง "ฮอตฮิต" ขณะเดียวกัน หากมีไว้ใช้งาน แต่ไม่รู้วิธีใช้อย่างถูกสุขลักษณะ "หน้ากากอนามัย"  อาจกลายเป็น  "หน้ากากสะสมเชื้อโรคร้าย" ก็เป็นได้

         นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เล่าถึงการใช้หน้ากากอนามัยให้ "กิ๊บเก๋" และป้องกันอย่างถูกต้องว่า ความจริงการใช้หน้ากากอนามัย มีไว้ให้ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด และ ผู้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจใช้ เพราะหากผู้ป่วยไอจามในที่ชุมชน จะทำให้ผู้อื่นติดได้ ซึ่งจากผลวิจัย พบว่า ผู้ป่วยไอ 1 ครั้ง สามารถแพร่เชื้อได้ไกลถึง 1 เมตร 

         "วิวัฒนาการของหน้ากากอนามัยเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อ 90 ปีก่อน เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ส่วนในไทย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้รับสั่งให้นำมาใช้ทางการแพทย์ ปี พ.ศ. 2463" 

         ส่วนการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผู้ป่วยควรสวมใส่หน้ากากป้องกัน เพื่อไม่ให้ผู้อื่นได้รับเชื้อ เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม ที่ผู้ป่วยทุกคนควรให้ความสำคัญ ซึ่งหน้ากากอนามัยที่นิยมใช้  มี 2 ประเภท คือ



         1.หน้ากาก ผ่าตัด ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด ป้องกันเชื้อโรคได้ 5 ไมครอน หรือป้องกันได้ ร้อยละ 80 มีอายุการใช้งานประมาณ 3 วัน หากเกิดการฉีกขาด และมีรอยเปื้อน ควรทิ้งทันที การสวมใส่ต้องนำด้านที่มีสีเข้มออกทางข้างนอก หรือสังเกตจากรอยพับของผ้าด้านหน้าต้องพับลง ซึ่งหากใส่ผิดรอยพับจะกักเก็บฝุ่นละอองในรอยพับ ทำให้หายใจลำบาก 

         2. หน้ากาก N95 ป้องกันเชื้อโรคได้ 0.3 ไมครอน กรองได้ละเอียดกว่าชนิดแรก หน้ากากมีแบบชนิดที่มีวาล์ว เพื่อให้หายใจได้สะดวก ส่วนชนิดที่ไม่มีวาล์วได้รับความนิยม เพราะราคาถูก แต่มีข้อเสียอยู่ที่หากใส่ไปนานๆ ทำให้หายใจลำบาก จึงไม่ควรให้เด็กที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ใส่ เพราะอาจทำให้เด็กเสียชีวิต ขณะเดียวกันหากชำรุดหรือเห็นสภาพไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ ควรทิ้งทันที 

         "ก่อนใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ต้องล้างมือให้สะอาดก่อน และเมื่อทำการสวมใส่ ควรหลีกเลี่ยงให้มือไปสัมผัสกับเนื้อผ้าบริเวณด้านในที่แนบกับจมูกและปาก เพราะในมืออาจมีเชื้อโรคทำให้เข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้น การสวมหน้ากากแบบผ่าตัด ต้องจับสายด้านข้างดึงแล้วร้อยกับหู ส่วนแบบ N95 ควรจับบริเวณด้านนอก เพื่อประคอง และดึงสายสวม" 


         นอกจากนี้ การสวมใส่อย่างถูกวิธี เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ใช้หน้ากากอนามัยควรให้ความใส่ใจ โดย นพ.สมชัย กล่าวว่า ควรใส่ให้ผ้าปิดตั้งแต่จมูกจนถึงคาง เพื่อป้องกันเชื้อร้ายที่แฝงตัวมากับอากาศเข้าสู่ร่างกาย ขณะเดียวกัน หลายคนอาจเกรงกลัวจนต้องดึงสายรัดให้แน่นมากที่สุดนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี เพราะทำให้หายใจไม่สะดวก ในความเป็นจริงผู้ใส่ควรดัดเหล็กที่เป็นโครงให้เข้ากับดั้งจมูกให้แนบสนิท เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยง ที่เชื้อโรคจะเข้าสู่จมูกได้ง่าย ขณะเดียวกัน เมื่อใส่หน้ากากอนามัยแล้ว ไม่ควรล้วง หรือเกาบริเวณที่ผ้าปิดอยู่ จะทำให้เชื้อโรคที่ติดมากับมือเข้าไปภายใต้หน้ากากอนามัยได้ 

         อย่างไรก็ตาม จากความต้องการของประชาชนในการเลือกซื้อหน้ากากอนามัยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หน้ากากผ่าตัดจาก ราคาไม่เกินแผ่นละ 5 บาท ถีบตัวสูงขึ้น อยู่ที่แผ่นละเกือบ 20 บาท ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอซื้อมาใช้ได้ทุกวัน นพ.สมชัย แนะนำว่า การประดิษฐ์หน้ากาก อนามัยผ้าขึ้นมาเอง ก็สามารถช่วยป้องกันได้ 80% โดยใช้วัสดุเช่น ผ้าสาลู ผ้าฝ้าย ผ้ายืด ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าถุง เป็นต้น ทำให้ประหยัดเงินได้อย่างมากเพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อบ่อยๆ หน้ากากที่ผลิตเองสามารถนำมาซักใช้ใหม่ได้ 

         โดยการประดิษฐ์หน้ากากอนามัยขึ้นใช้งาน เหมาะกับเด็กๆ ที่ชอบลายการ์ตูนสวยงาม สามารถนำผ้าลวดลายต่างๆ มาใช้ในการทำ หรือเพนท์รูปภาพเล็กน้อย เพราะหากใช้สีระบาย จนทึบไปหมดจะทำให้เด็กหายใจไม่สะดวก ขณะเดียวกันอาจนำสติกเกอร์มาตกแต่งได้เช่นกัน 



         "ประเทศญี่ปุ่นเมื่อผู้ป่วยรู้ว่าไม่สบายเขาจะใส่หน้ากากอนามัยทุกช่วงเวลา เพื่อไม่ให้ไปติดผู้อื่น ส่วนในสหรัฐอเมริกาวัฒนธรรมด้านสุขอนามัยจะชอบล้างมือบ่อยมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อยากให้คนไทยนำมาปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมด้านสุขอนามัยอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต"

         นพ.สมชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การดูแลร่างกายให้แข็งแรงเป็นภูมิต้านทานที่ดีที่สุด ควรหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ชุมชนหากมีอาการเป็นไข้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และรีบไปพบแพทย์ ส่วนเด็กๆ หากไม่มีหน้ากากอนามัย ไม่ควรพาไปในที่ชุมชน เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดโรคได้ 

         ไม่แน่อนาคตหน้ากากอนามัยในไทย อาจเป็นมากกว่า "เกราะป้องกัน" เพราะไม่ว่าใครก็สามารถทำหน้ากากอนามัยขึ้นมาตอบสนองจินตนาการของตัวเองได้



ขั้นตอนการทำหน้ากากอนามัย

         1. นำผ้าที่เตรียมไว้มาพับครึ่งตามความยาวผ้าแล้วพับจับจีบทวิช 1 นิ้ว ตรงกลางผ้ากลัดด้วยหมุด หรือ เนาตรึงไว้ และ ทำอีกชิ้นเช่นเดียวกัน 

         2. นำผ้าที่พับไว้มาวาง โดยหันด้านนอกขึ้น และนำยางยืดมาวางที่มุมผ้าด้านกว้างข้างบน และข้างล่าง ด้านละ 1 เส้น กลัดเข็มหมุด หรือ เนาตรึงไว้

         3. นำผ้าที่พับไว้อีกชั้นมาวางซ้อนกับผ้าชิ้นแรกที่ตรึงยางยืดไว้ โดยหันผ้าด้านนอกชนกัน แล้วเย็บจักร หรือ ด้นถอยหลังรอบผ้าสี่เหลี่ยม ให้ห่างจากริมผ้า ด้านละครึ่งเซนติเมตร โดยเว้นช่องว่างไว้กลับตะเข็บ ประมาณ 1 นิ้ว

         4. ขลิบผ้าตรงมุมทั้ง 4 มุม ให้ใกล้กับรอยเย็บ เพื่อเวลากลับตะเข็บจะได้เรียบร้อยสวยงาม

         5. สอยปิดช่องว่างที่เว้นไว้ให้เรียบร้อย


หน้ากากอนามัย


หน้ากากอนามัย






ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย ศราวุธ  ดีหมื่นไวย์
- กระทรวงสาธารณสุข


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หน้ากากอนามัย ใส่ให้เป็น อัปเดตล่าสุด 16 มิถุนายน 2564 เวลา 15:44:07 34,127 อ่าน
TOP
x close