
โรคเจ้าหญิงนิทรา...แค่หลับก็อาจอันตราย (Momypedia)
โรคเจ้าหญิงนิทรา โรคนี้หลาย ๆ คนเพิ่งรู้จักจากข่าวเด็กสาวอเมริกันอายุ 17 ปี นอนหลับยาวถึง 64 วัน (สาวมะกันป่วยแปลก นอนหลับรวดเดียว 64 วัน) โดยจะตื่นมาเพื่อเข้าห้องน้ำและทานข้าวเท่านั้น ซึ่งอาการนี้ทำให้เธอไม่ได้ไปเรียนและไม่ได้ทำกิจกรรมของครอบครัวในช่วงนั้นไป และโรคนี้ก็ยังไม่มีทางรักษาหรือป้องกันได้
โรคเจ้าหญิงนิทรา หรือ Sleeping Beauty Syndrome ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Kleine-Levin syndrome เป็นอาการป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาทและเกี่ยวเนื่องถึงจิตใจด้วย โดยอาการของผู้ที่เป็นโรคนี้ผู้ป่วยจะเหนื่อยล้า ง่วงนอนตลอดเวลา หรือมีภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น รวมถึงในบางรายที่จะนอนอยู่ตลอดเวลา และนอนในระยะเวลาที่นานกว่าคนอื่น ที่สำคัญคือเมื่อตื่นขึ้นมาก็ไม่มีความสดชื่นเลย แต่ยังมีอาการเหนื่อย เพลีย ง่วงได้ตลอดทั้งวัน
สำหรับผู้ชายที่เป็นโรคนี้ ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีความต้องการทางเพศสูงกว่าปกติ และทำให้มีเพศสัมพันธ์ในแบบที่ไม่เหมาะสมหรือวิตถารมากกว่าปกติ ทั้งที่ยังอยู่ในอาการง่วงนอนหรือครึ่งหลับครึ่งตื่น
จากการศึกษาผู้ที่เป็นโรคนี้ 40 คน พบว่า ในของเหลวที่อยู่ในไขสันหลังของผู้ป่วยจะมีเคมีที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเคมีที่สร้างมาจากส่วนไหนของร่างกาย ซึ่งเคมีตัวนี้มีผลต่อ GABA-A receptor ซึ่งเป็นหน่วยรับรู้ความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกเหนื่อยง่วง เคมีนี้จะไปกระตุ้นให้หน่วยนี้รู้สึกง่วงมากขึ้นกว่าเดิมจนเกิดอาการของโรค ทีมผู้ศึกษาระบุว่าเวลาเรากินยานอนหลับเข้าไป ตัวยาก็จะจับและกระตุ้นที่ GABA-A receptor โดยตรงเช่นกัน จึงทำให้รู้สึกง่วงและหลับนั่นเอง

สำหรับการรักษาในเบื้องต้นจะเป็นการให้ยา flumanezil ซึ่งเป็นยาที่ให้เพื่อต้านการกินยานอนหลับเกินขนาด มีผลทำให้อาการง่วงน้อยลง มีสมาธิมากขึ้น ตื่นตัวมากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการกระตุ้นหรือระงับอาการชั่วคราว เพราะผู้ป่วยจะต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ และหากขาดการรับยา อาการง่วงหลับ และตื่นมาแบบไม่สดชื่นก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม
ใครที่กลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคเจ้าหญิงนิทราก็ลองสังเกตตัวเองค่ะว่า ง่วงตลอดเวลาไหม นอนได้ยาวเป็นวัน ๆ หรือหลาย ๆ วัน ตื่นมายังมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไม่สดชื่น แต่อย่าสับสนกับความง่วงเพราะอดนอน นอนน้อย หรือง่วงเพราะยานะคะ โรคนี้มักเกิดจากระบบประสาทในร่างกาย และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีผลต่อสมอง ถ้าอยากทราบว่าเป็นโรคนี้ไหม พบแพทย์จะดีที่สุดค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
