x close

มะเร็งจิสต์ โรคใหม่ แต่เป็นภัยใกล้ตัว

 มะเร็งจิสต์


มะเร็งจิสต์ โรคใหม่ แต่เป็นภัยใกล้ตัว (ไทยโพสต์)

          ในปัจจุบันโรคมะเร็ง ถือเป็นโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตมนุษย์เป็นลำดับต้นๆ โดยโรคมะเร็งนั้นสามารถเป็นได้กับทุกส่วนของร่างกาย และด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการค้นพบการเกิดมะเร็งของระบบทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง ที่มีโอกาสพบได้ ไม่บ่อยนัก ที่เรียกว่า "มะเร็งของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร"  (Gastrointestinal Stromal Tumor) หรือ มะเร็งจิสต์ (GIST) ซึ่งมีสถิติพบในต่างประเทศประมาณ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ของโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารทั้งหมด โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบประมาณ 2,000-5,000 รายต่อปี

   
          ผศ.นพ.วิเชียร ศรีมุนินทร์นิมิต สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรค มะเร็งจิสต์ ว่า "ในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีสถิติที่แน่ชัด เนื่องจากโรค มะเร็งจิสต์ นี้ เพิ่งพบในประเทศไทยไม่นานนัก จึงถือเป็นโรคมะเร็งชนิดใหม่ที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุใด อีกทั้งในอดีตมักถูกวินิจฉัยผิดว่า เป็นมะเร็งชนิดที่เรียกว่ามะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ แต่ต่อมาด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์  มีการวินิจฉัยโดยการย้อมพิเศษ ทำให้ทราบถึงกลไกการเกิดขึ้นของมะเร็งเนื้อเยื่อขึ้น โดยพบในส่วนของระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนมาก"

         "โดยสามารถพบ มะเร็งจิสต์ นี้ได้ตั้งแต่ระดับหลอดอาหารไปจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย แต่ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือ กระเพาะอาหาร ประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ลำไส้เล็ก ประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์ มักพบในเพศชายและเพศหญิงในอัตราส่วนเท่าๆ กัน อายุเฉลี่ยที่พบประมาณ 60 ปี ส่วนอายุต่ำกว่า 40 ปี ค้นพบค่อนข้างน้อย"

          มะเร็งจิสต์ จึงจัดเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่ยากต่อการวนิจฉัยและการรักษา เนื่องจากในช่วงแรก จะตรวจพบเนื้องอกอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในช่องท้อง และมักจะไม่แสดงอาการให้เห็น เช่น ที่กระเพาะอาหาร ซึ่งจิสต์ที่ยังคงอยู่บริเวณเดิมนั้น เราเรียกว่าการเกิดเนื้องอกเฉพาะที่ (Local Tumor) และเมื่อจิสต์เกิดการลุกลามขึ้น จะเกิดการแพร่กระจายของโรคไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนกลายเป็นจิสต์ระยะแพร่กระจาย ซึ่งบ่อยครั้งที่จิสต์เจริญเติบโตจนมีขนาดใหญ่ ก่อนที่จะถูกตรวจพบและเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ และเยื่อบุช่องท้อง
 
          สาเหตุของการเกิด มะเร็งจิสต์ คุณหมอเล่าว่า "เกิดจากความผิดปกติของโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Kit ที่อยู่บนผิวของเซลล์ ซึ่งโปรตีนที่ผิดปกตินี้จะส่งสัญญาณคงที่ต่อไปเรื่อยๆ จนทำให้เซลล์ปกติเกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งเซลล์ มะเร็งจิสต์ นี้จะมีชีวิตอยู่รอดได้ดี และเจริญเติบโตได้เร็วกว่า โดยมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าเซลล์ปกติที่อยู่ล้อมรอบ ซึ่งหากเซลล์มะเร็งมีชีวิตที่ยืนยาวเท่าไร ก็จะยิ่งมีอันตรายมากขึ้นเท่านั้น และยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายของโรค โดยที่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบอาการแสดงใดๆ ให้ทราบเลย แต่มาพบโดยบังเอิญ หรือในกลุ่มที่มีอาการแสดงนั้น มีอาการที่พบบ่อย 3 ประการ คือ ปวดท้องในระดับรุนแรงมาก การคลำพบก้อนเนื้อบริเวณท้อง หรือมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดก้อนเนื้อ เช่น ในตำแหน่งของกระเพาะอาหาร อาจจะมีอาการแสดง คืออาการอาเจียนเป็นเลือด ซีด เป็นต้น"

          นอกจากนี้อาจจะพบอาการข้างเคียงอื่นๆ ได้ในระดับอ่อนถึงปานกลาง เช่น ภาวะน้ำคั่ง (Fluid Retention)  หรือบวมน้ำที่บริเวณใต้ตา หนังตาบนหรือรอบดวงตา ท้องเสีย คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ผื่นผิวหนังมีอาการคัน เป็นรอยปื้นแดงเล็กน้อย  แต่โอกาสพบค่อนข้างน้อย ในอดีตที่ผ่านมาโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร (GIST) ถือว่ามีน้อยมาก 

          เนื่องจากโรค มะเร็งจิสต์ มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดค่อนข้างน้อย รวมถึงการถูกวินิจฉัยผิดพลาด เนื่องจากเป็นโรคที่ถูกค้นพบไม่นาน ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ปัจจุบัน การวินิจฉัยด้วยวิธีย้อมพิเศษ โดยการนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อดูผลว่าย้อมติด CD-117 หรือ C-Kit เป็นผลบวกหรือไม่ รวมถึงการมีโอกาสได้รับยาอิมมาตินิบในการรักษาได้ทันที ซึ่ง ณ ปัจจุบันจากผลการศึกษาทางคลินิกพบว่า จำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาอิมมาตินิบสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวมากกว่า 5 ปี ซึ่งการมีชีวิตที่ยืนยาวของผู้ป่วยนี้ถือเป็นคำตอบสุดท้ายที่ผู้ป่วยจิสต์ทุกคนปรารถนา





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งจิสต์ โรคใหม่ แต่เป็นภัยใกล้ตัว อัปเดตล่าสุด 11 กันยายน 2552 เวลา 14:34:30 11,087 อ่าน
TOP