เห็ดหลินจือ ราชาแห่งสมุนไพร เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านมะเร็ง

          เห็ดหลินจือ สรรพคุณยอดสมุนไพรจากแผ่นดินจีน ยาอายุวัฒนะที่คนรักสุขภาพไม่ควรพลาด

          หนึ่งในสมุนไพรจีนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นยารักษาโรคชั้นเลิศนั่นก็คือ "เห็ดหลินจือ" โดยสรรพคุณของเห็ดหลินจือได้รับการบอกต่อกันมาเนิ่นนานว่า ช่วยบำรุงร่างกาย เสริมภูมิต้านทาน ต้านอักเสบ ต่อสู้โรคมะเร็ง จึงได้รับฉายาว่า "ยาอายุวัฒนะ" วันนี้ชวนมารู้จักสมุนไพรจีนเปี่ยมคุณค่าชนิดนี้กัน

เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือ คืออะไร

          เห็ดหลินจือ มีชื่อสามัญว่า Lingzhi mushroom, Reishi mushroom มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ganoderma lucidum เป็นยาจีนชั้นสูง ที่ใช้กันมานานกว่า 4,000 ปี ได้รับการบันทึกสรรพคุณไว้ในตำรา "เสินหนงเปิ่นฉ่าวจิง" ว่าเป็น "เทพเจ้าแห่งชีวิต" เพราะมีพลังมหัศจรรย์ในการบำรุงร่างกาย เห็ดหลินจือจึงมีชื่อเรียกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หลิงจือ เห็ดหมื่นปี เห็ดจวักงู เห็ดอมตะ เห็ดศักดิ์สิทธิ์ เห็ดนางกวัก และยังถูกเรียกว่าราชาสมุนไพร เนื่องจากสรรพคุณทางยาในการบำรุงร่างกาย ขับพิษ ป้องกันและรักษาโรคที่ดีเลิศกว่าสมุนไพรชนิดอื่น

          เห็ดหลินจือ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนและมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่นิยมนำมาบริโภคเพื่อบำรุงร่างกายและรักษาโรคมากที่สุดก็คือ เห็ดหลินจือแดง (Ganoderma lucidum) เนื่องจากมีสารที่เป็นประโยชน์มากที่สุด

เห็ดหลินจือ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของดอกเห็ดหลินจือ

          ดอกเห็ดเป็นรูปไตหรือรูปครึ่งวงกลม กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร หนา 1-3 เซนติเมตร ดอกอ่อนมีขอบสีขาว ถัดเข้าไปมีสีเหลืองอ่อน กลางดอกมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง ผิวเป็นมันคล้ายทาด้วยแลคเกอร์ มีริ้วหรือหยักเป็นคลื่น ขอบหมวกงุ้มลงเล็กน้อยและหนา ด้านล่างเป็นรูกลมเล็ก ๆ เชื่อมติดกัน

          เห็ดหลินจือมีก้านสั้นหรืออาจไม่มีก้าน ถ้ามีก้านมักมีสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลดำ ยาว 2-10 เซนติเมตร อยู่เยื้องไปข้างใดข้างหนึ่งหรือติดขอบหมวก ทำให้ดอกมีรูปร่างคล้ายไต ผิวก้านเป็นเงา เนื้อในเห็ดมีสีน้ำตาลอ่อน

          สปอร์เห็ดหลินจือ เป็นตัวช่วยในการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ถูกสร้างออกมาจากผนังของรูที่อยู่ใต้หมวกเห็ด ลักษณะเป็นรูปวงรีสีน้ำตาล ปลายด้านหนึ่งตัดตรง ผิวเรียบ มีผนังหนาสองชั้น ระหว่างผนังมีลายหนามยอดเรียวไปจรดผนังชั้นนอก เมื่อสืบพันธุ์ สปอร์จะหลุดออกจากรูใต้หมวกแล้วปลิวไปเกาะบนผิวดอก ทำให้เรามองเห็นดอกเห็ดเป็นมันเงาสีน้ำตาลคล้ายฝุ่นเกาะ เมื่อสปอร์กระจายออกไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจึงจะเจริญเติบโตเป็นเห็ดดอกใหม่

เห็ดหลินจือ

ประโยชน์ของเห็ดหลินจือ สรรพคุณสมเป็น "ยาอายุวัฒนะ"

          ในเห็ดหลินจือมีสารสำคัญหลายชนิด โดยมีองค์ประกอบหลักคือ

          - สารในกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharides) มีฤทธิ์เสริมระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเนื้องอก ลดน้ำตาลในเลือด  ลดอาการอักเสบ

          - สารในกลุ่มไตรเทอร์พีน (Triterpene)  ช่วยกำจัดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ ป้องกันโรคภูมิแพ้ ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด 

          - สารในกลุ่มนิวคลีโอไทด์ (Nucleotide) ออกฤทธิ์บรรเทาอาการเจ็บปวด ป้องกันลิ่มเลือดแข็งตัวในเส้นเลือด ลดความเสี่ยงโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส

          - สารประกอบเจอมาเนียม (Gemanium) เสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย บำรุงประสาท สมอง หัวใจ กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด

เห็ดหลินจือ

          นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ช่วยบำรุงสุขภาพ ต้านการอักเสบ ช่วยยับยั้งและรักษาอาการต่าง ๆ ของโรคได้มากมาย ซึ่งพบได้ทั้งในดอกเห็ดและสปอร์ แต่ส่วนใหญ่พบในสปอร์ และสปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้มจะมีสารสำคัญและฤทธิ์ทางยาดีกว่าสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม โดยในตำรับยาระบุไว้ว่า "เห็ดหลินจือ" นำมาใช้รักษาได้หลายอาการ เช่น...

          - บำรุงร่างกาย เสริมกำลัง บรรเทาอาการอ่อนเพลีย
          - เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีรายงานการศึกษาทางคลินิกพบว่า เห็ดหลินจือมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งปอด, ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และผู้ป่วยมะเร็งขั้นลุกลาม
          - ลดน้ำตาลในเลือด ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน รวมทั้งโรคที่อยู่ในกลุ่มอาการความผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหารของร่างกาย
          - ลดไขมันในเลือด ป้องกันโรคหัวใจ
          - เสริมสร้างความจำ ป้องกันอัลไซเมอร์
          - ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น
          - ชะลอความแก่ บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง
          - ล้างพิษให้ร่างกาย
          - บำรุงสายตา
          - แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
          - รักษาโรคภูมิแพ้ หืด หอบ
          - เพิ่มความแข็งแรงให้ปอด ม้าม
          - ลดความดันโลหิตสูง
          - แก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ โรคเกาต์
          - บำรุงระบบประสาท โดยมีการนำไปรักษาโรคประสาทที่มีอาการอ่อนเพลียอย่างเรื้อรังได้เห็นผล
          - แก้อาการนอนไม่หลับ เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร
          - รักษาอาการปวดหลังจากการติดเชื้องูสวัด
          - รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
          - ลดการอักเสบในลำไส้
          - บำรุงและรักษาโรคตับต่าง ๆ ทั้งตับแข็ง ตับอักเสบ ฟื้นฟูสมรรถภาพของตับที่ถูกทำลายจากการรับประทานยาจำนวนมากติดต่อกันเป็นเวลานาน
          - ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
          - ป้องกันการทำงานหนักของไต
          - รักษาริดสีดวงทวาร
          - ลดอาการปวดประจำเดือน
          - แก้ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
          - แก้ปัญหาภาวะมีบุตรยาก
          ฯลฯ

          ทั้งนี้การศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับพิษวิทยาของเห็ดหลินจือทั้งพิษแบบเฉียบพลันและพิษแบบเรื้อรังพบว่า มีความเป็นพิษต่ำมาก และมีความปลอดภัยสำหรับการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะไม่พบผลข้างเคียงหรือสารตกค้างที่ตับหรือไต 

เห็ดหลินจือ กับสรรพคุณต้านมะเร็ง

          สรรพคุณของเห็ดหลินจือที่วงการแพทย์กล่าวถึงกันมากที่สุดนั่นก็คือ ฤทธิ์ในการต้านมะเร็งและฆ่าเซลล์มะเร็ง เพราะมีงานวิจัยทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศพบว่า เห็ดหลินจือมีคุณสมบัติในการต่อต้านโรคมะเร็งที่ได้ผลดีเยี่ยม เพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์เม็ดเลือดขาว เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สามารถออกฤทธิ์ต่อต้านกับเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก ฯลฯ ทั้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งปอด, ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และผู้ป่วยมะเร็งขั้นลุกลาม

          แต่ก่อนที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะตัดสินใจใช้เห็ดหลินจือเป็นยาเสริมนั้น เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือแพทย์ผู้ให้เคมีบำบัดก่อนทุกครั้ง เพราะการใช้สมุนไพรรักษามะเร็งร่วมกับการรักษาทางเคมีบำบัดอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ไปลดทอนประสิทธิภาพของยาเคมี ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็น

เห็ดหลินจือ

วิธีรับประทานเห็ดหลินจือป้องกันโรค

       1. ดอกเห็ดหลินจือฝานบาง ๆ ประมาณ 2-3 ชิ้น

       2. ต้มในน้ำเดือดนาน 10-15 นาที

       3. ใช้ดื่มแทนน้ำได้ตลอดเวลา จะช่วยให้สดชื่น เสริมภูมิต้านทาน และไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ช่วงเวลาที่ร่างกายจะสามารถดูดซับสารจากเห็ดหลินจือได้ดีที่สุดนั้น ก็คือช่วงเวลาที่ท้องว่าง โดยแนะนำให้ดื่มในช่วงตื่นนอนในตอนเช้า หรือก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมง

          ทั้งนี้ เห็ดหลินจือใช้ทานเพื่อเป็นยา จึงไม่ควรนำไปปรุงร่วมกับอาหารชนิดอื่น แต่หากไม่สะดวกจะนำดอกเห็ดหลินจือมาต้มน้ำดื่มก็สามารถทานเห็ดหลินจือในรูปแบบแคปซูล ชา กาแฟ ซึ่งแปรรูปวางขายอยู่ในท้องตลาดก็ได้เช่นกัน แต่ต้องทานตามปริมาณที่ระบุไว้ในฉลาก และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัย สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองและการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ที่ www.fda.moph.go.th 

เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือ ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

          ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงรับรู้ถึงสรรพคุณทางยาของเห็ดหลินจือว่ามีผลดีต่อสุขภาพมากมาย แต่มีราคาแพง เพราะต้องนำเข้าจากประเทศจีน จึงมีพระราชดำริให้เพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นเห็ดหลินจือสายพันธุ์ G2 (Ganoderma Lucidum 2)

          จากนั้นในปี พ.ศ. 2549 นายซัง ตุง ฟู กรรมการบริษัท พีพัฒนาพร จำกัด ได้มอบเห็ดหลินจือสายพันธุ์ G9 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างเห็ดหลินจือเกาหลีกับเห็ดหลินจือป่าสีม่วงให้กับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดานำไปทดลองวิจัยพัฒนา ซึ่งเห็ดพันธุ์นี้ศาสตราจารย์อี้ฉวนอี้ จากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพด้านรักษาโรคนิวส์ไฮต้าเหลียน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยการเกษตรประเทศจีนพัฒนาขึ้น เพราะมีดอกใหญ่ หนา และมีสปอร์มาก นอกจากนี้ยังมีปริมาณสารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์สูงกว่าเห็ดหลินจือสายพันธุ์อื่น ๆ อีกด้วย

          เมื่อเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือได้สำเร็จ จึงได้นำไปแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือชนิดต่าง ๆ เช่น เห็ดหลินจือสกัดบรรจุแคปซูล, เห็ดหลินจือสำหรับชง, น้ำเห็ดหลินจือ, เม็ดอมเห็ดหลินจือ ฯลฯ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นยาแผนโบราณ จำหน่ายได้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้มีเพียงผู้ป่วยเท่านั้นที่สามารถบริโภคเห็ดหลินจือได้ แต่คนทั่วไปที่เป็นกลุ่มรักสุขภาพก็สามารถทานเห็ดหลินจือได้โดยไม่เกิดผลข้างเคียง จึงได้รับการตอบรับที่ดี

เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือ มีผลข้างเคียงไหม ?

          แม้มีงานวิจัยพบว่า การทานเห็ดหลินจือไม่มีผลข้างเคียงและไม่มีสารตกค้างที่ตับหรือไต แต่ในบางคนอาจมีอาการแพ้เห็ดได้ สังเกตได้จากเมื่อทานเข้าไปแล้วมีอาการปากแห้ง คอแห้ง และอาจมีอาการคัน ผื่นขึ้น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง เลือดกำเดาไหล หากมีอาการเช่นนี้ไม่ควรทานเห็ดหลินจืออีก

เห็ดหลินจือ กับข้อควรระวัง ใครไม่ควรทาน !

          ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ควรทานเห็ดหลินจือเลย เพราะอาจทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่รุนแรงกว่าเดิม เช่น

          1. สตรีมีครรภ์และแม่ที่ให้นมบุตร เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงพอมายืนยันว่า เห็ดหลินจือมีความปลอดภัยต่อสตรีมีครรภ์หรือคุณแม่ที่ให้นมบุตร ดังนั้นเลี่ยงการทานเห็ดหลินจือในช่วงนี้ไปก่อนจะปลอดภัยกว่า

          2. คนที่มีความดันโลหิตต่ำ เพราะเห็ดหลินจือมีฤทธิ์ลดความดัน หากผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำทานเข้าไป จะทำให้ความดันยิ่งต่ำลงจนเป็นอันตรายได้

          3. ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding disorder) หรือผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) เพราะการทานเห็ดหลินจือในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น
 
          4. ผู้ป่วยที่กำลังจะผ่าตัด เพราะเห็ดหลินจือจะเพิ่มความเสี่ยงอาการเลือดออกมากขึ้น ดังนั้นก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ไม่ควรทานเห็ดหลินจือ

          5. ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง (Autoimmune Disease) เช่น โรคลูปัส หรือ เอสแอลอี (SLE) หรือ โรคพุ่มพวง ไม่ควรใช้เห็ดหลินจือ โดย นพ.บรรเจิด ตันติวิท ผู้เขียนหนังสือ "หลินจือ กับ ข้าพเจ้า" ระบุว่า นั่นเพราะเห็ดหลินจือจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ถูกทำให้แข็งแรงขึ้นนี้จะยิ่งก่อให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายมากขึ้น 

          6. ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน ไม่ควรทานเห็ดหลินจือ เพราะมีแนวโน้มที่ผลจากเห็ดหลินจือจะเข้าไปลบล้างหรือขัดขวางการบำบัดด้วยยากดภูมิ

          นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน, ยาลดการอักเสบ NSAID, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด Warfarin และ Heparin ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะเห็ดหลินจืออาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของยาและอาการที่ป่วยอยู่
 
          "เห็ดหลินจือ" เป็นสมุนไพรที่ซ่อนประโยชน์ไว้มากมายจริง ๆ สมกับฉายา "ราชาแห่งสมุนไพร" แต่ถึงกระนั้นเราก็ขอย้ำอีกครั้งว่า ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนหาซื้อเห็ดหลินจือในรูปแบบต่าง ๆ มาทานเองนะคะ เพราะบางโรค บางอาการ อาจจะมีผลข้างเคียงกับวิธีการรักษาโรคแผนปัจจุบันได้ 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
องค์การเภสัชกรรม, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, กระทรวงสาธารณสุข, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, พืชเกษตรไทย, SpringNews, ไทยโพสต์, เดลินิวส์, webmd.com, organicfacts.net
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เห็ดหลินจือ ราชาแห่งสมุนไพร เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านมะเร็ง อัปเดตล่าสุด 7 พฤศจิกายน 2563 เวลา 21:10:33 291,555 อ่าน
TOP
x close