x close

มะเร็งโคนลิ้น กลืนเจ็บ มีก้อนในลำคอนานแล้วไม่หาย อาจเป็นโรคนี้ได้ไม่รู้ตัว

          คนที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเป็นประจำ มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงมาก ดังนั้นควรต้องเช็กความผิดปกติในช่องปากให้ดี ๆ

มะเร็งโคนลิ้น

          บางครั้งการที่มีอาการเจ็บคอเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจทำให้เราไม่เฉลียวใจ ว่านั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของมหันตภัยร้าย ยิ่งหากเกิดมะเร็งที่โคนลิ้น ในจุดที่อยู่ลึกและเป็นจุดอับ เราคงไม่ทันสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทว่าหากปล่อยไว้นาน ๆ ไม่สนใจ อาจตรวจพบอีกทีว่าเป็นมะเร็งโคนลิ้นระยะหลัง ๆ แล้วก็ได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไว้ เรามาทำความรู้จักโรคมะเร็งโคนลิ้นกันค่ะ

มะเร็งโคนลิ้น คืออะไร

          มะเร็งโคนลิ้นถูกจัดอยู่ในโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ ตำแหน่งที่เกิดจะอยู่ด้านหลังลิ้น หรือโคนลิ้น ที่เชื่อมต่อระหว่างช่องปากและช่องคอ จัดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยพอสมควร และมักจะเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะในคนอายุ 50 ปี ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม มักพบในคนยุโรปมากกว่าคนเอเชีย

มะเร็งโคนลิ้น เกิดจากอะไร

          สาเหตุของมะเร็งโคนลิ้น พบว่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ไวรัสตัวเดียวกันกับสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เสี่ยงโรคมะเร็งโคนลิ้นเพิ่มด้วย ดังนี้

          - สูบบุหรี่จัด หรือการได้รับควันบุหรี่มือสองอยู่ตลอด

          - ดื่มเหล้า

          - สุขภาพช่องปากไม่ดี เป็นแผลเรื้อรังในช่องปาก โดยเฉพาะหากมีรอยโรคของแผลที่สามารถกลายเป็นเนื้อร้ายในช่องปากได้

          - การเคี้ยวหมาก

          - พันธุกรรม

          อย่างไรก็ตาม หากเป็นคนที่สุบบุหรี่ด้วย ดื่มเหล้าเก่งด้วย ก็จะมีความเสี่ยงโรคมะเร็งโคนลิ้นมากขึ้น

มะเร็งโคนลิ้น อาการเป็นอย่างไร

มะเร็งโคนลิ้น

          อาการโรคมะเร็งโคนลิ้นในระยะแรก ๆ มักจะตรวจไม่พบ เนื่องจากบริเวณโคนลิ้นเป็นจุดที่อยู่ลึกเกินที่จะสังเกตได้ ต้องอาศัยการตรวจของแพทย์ หู คอ จมูก จึงจะพบรอยโรคในระยะเริ่มต้น ทว่าอาการที่พอจะจับสังเกตได้ด้วยตัวเองก็พอมีอยู่บ้าง ดังนี้

          - กลืนเจ็บ ระคายเคืองลำคอบ่อย ๆ

          - เจ็บคอเรื้อรัง ไอบ่อย

          - รู้สึกมีแผล มีก้อนบริเวณโคนลิ้น หรือในบริเวณต่อมทอนซิลด้านในของลำคอ เป็นนานแล้วไม่หาย และก้อนอาจค่อย ๆ โตขึ้น 

          - กลืนอาหารไม่คล่อง รู้สึกติดคอ สำลักบ่อย

          - อาจพบเลือดปนมากับน้ำลายหรือเสลด

          - ถ้าก้อนโตมากอาจหายใจไม่สะดวก เนื่องจากก้อนเนื้อไปอุดตันทางเดินหายใจ

          - ในระยะลุกลาม อาจพบรอยโรคกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่คอข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ 

          อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติในช่องปากเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น มีแผลเรื้อรัง หรือพบว่ามีก้อนเนื้อบริเวณโคนลิ้นอย่างเห็นได้ชัด ควรรีบไปตรวจร่างกายกับแพทย์จะดีกว่า

มะเร็งโคนลิ้น มีกี่ระยะ

          มะเร็งโคนลิ้นแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ด้วยกัน ดังนี้

          ระยะที่ 1 พบก้อนหรือแผลที่โคนลิ้น มะเร็งมีขนาดเล็ก 

          ระยะที่ 2 พบก้อนหรือแผลท่โคนลิ้น หรือลำคอ มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น     

          ระยะที่ 3 โรคลุกลามเข้าอวัยวะใกล้เคียงและต่อมน้ำเหลืองที่คอโต คลำได้ 

          ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะใกล้เคียงมากขึ้น กระจายไปต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตมาก และอาจโตทั้ง 2 ข่างของลำคอ หรือมีโรคแพร่กระจายไกลไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น กระจายไปปอด ตับ หรือกระดูก เป็นต้น

มะเร็งโคนลิ้น

 
มะเร็งโคนลิ้น รักษาอย่างไรได้บ้าง

          วิธีรักษามะเร็งโคนลิ้นมีอยู่ 3 แนวทางหลัก ๆ ด้วยกัน คือ

          1. ผ่าตัด

        ในเคสที่พบว่าเป็นมะเร็งโคนลิ้นระยะแรก ๆ มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ก็สามารถผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกได้ โดยอาจจะรักษาร่วมกับรังสีรักษา และเคมีบำบัดในบางราย

          2. รังสีรักษา

          เป็นวิธีการรักษาที่สามารถใช้ได้กับโรคมะเร็งโคนลิ้นได้ทุกระยะ โดยทั่วไปจะใช้รักษาร่วมกับการผ่าตัด หรือการให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยระยะที่มะเร็งเริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ

          3. เคมีบำบัด

          ในผู้ป่วยที่มีการลุกลามของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ นอกเหนือจากศีรษะและลำคอ แพทย์จะรักษาด้วยการให้เคมีบำบัดเป็นส่วนใหญ่

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังครบการรักษาแล้ว แพทย์จะยังนัดตรวจรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ไป โดยใน 1-2 ปีแรก หลังการรักษามักนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ภายหลัง 3-5 ปี มักนัดตรวจทุก 2-3 เดือน แต่ถ้าภายหลัง 5 ปีไปแล้วมักนัดทุก 6-12 เดือน เพื่อเช็กให้ชัวร์ว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในร่างกายอีกต่อไป

มะเร็งโคนลิ้น อันตรายแค่ไหน


          มะเร็งทุกชนิดสามารถรักษาให้หายได้ หากเจอตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก เช่นเดียวกันกับมะเร็งโคนลิ้น หากเป็นในระยะที่ไม่ลุกลามมากนัก โอกาสในการรักษาให้หายก็เป็นไปได้สูง ทว่าหากพบมะเร็งในระยะลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ หลายส่วน การรักษาอาจทำได้ยากขึ้น และหากร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอ ไม่วาจะด้วยโรคแทรกซ้อนหรืออายุ เซลล์มะเร็งก็อาจคร่าชีวิตได้เหมือนกัน

มะเร็งโคนลิ้น ป้องกันได้แค่ลดความเสี่ยง

มะเร็งโคนลิ้น

          วิธีป้องกันมะเร็งโคนลิ้นก็สามารทำได้โดยลดพฤติกรรมเสี่ยงมะเร็ง ดังนี้


          - ไม่สูบบุหรี่

          - ไม่ดื่มเหล้า

          - ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี หากมีแผลเรื้อรังควรรีบไปปรึกษาแพทย์

          - รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

          - หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          - พักผ่อนให้เพียงพอ

          มะเร็งเป็นเซลล์ที่สามารถก่อเนื้อร้ายให้ทุกส่วนในร่างกาย และส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมไม่ระมัดระวังสุขภาพของตัวเราเอง ดังนั้นการป้องกันมะเร็งได้ดีที่สุด ก็ควรดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพียงเท่านี้ก็จะลดโอกาสในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้แล้ว

          *หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 12 มิถุนายน 2563

ขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งโคนลิ้น กลืนเจ็บ มีก้อนในลำคอนานแล้วไม่หาย อาจเป็นโรคนี้ได้ไม่รู้ตัว อัปเดตล่าสุด 12 มิถุนายน 2563 เวลา 15:30:17 260,976 อ่าน
TOP