
เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
แน่ใจแล้วหรือว่า "อาหาร" ที่เราทานกันเข้าไปทุกวัน ๆ ปลอดภัยจากสารพิษอย่างแท้จริง เชื่อว่าทุกคนก็คงรู้แอยู่แล้วว่า อาหารพวกนี้ล้วนมีการเติมแต่งสารเคมีลงไปเกือบทั้งนั้น แต่ก็จำใจต้องทาน แม้จะรู้ดีว่า สารเคมีเหล่านี้ก็เป็นบ่อเกิดของโรคต่าง ๆ มากมายที่จะคุกคามสุขภาพของเราในระยะยาว
...แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ เพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษในอาหารให้ได้มากที่สุด ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มีคำแนะนำดี ๆ มาบอกกัน

3 ข้อน่ารู้ เลี่ยงสารพิษในอาหาร ภัยร้ายใกล้ตัว (สสส.) โดย ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ
"อาหารการกิน" คำโบร่ำโบราณที่กล่าวขานกันมานานในสังคมไทย อาจเป็นข้อบ่งชี้หนึ่งให้เห็นว่า เรื่องของ "อาหาร" และ "การกิน" นั้น แยกออกจากกันไม่ได้
ยิ่งได้กินอาหารอร่อยด้วยแล้ว แหม... อารมณ์นี้ มันช่าง "สุข" จังหนอ
หากแต่ ข้อมูลจากหนังสือ "เปลี่ยนได้ รวมข้อเสนอเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองผู้บริโภค" อาจทำให้ช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นหายไป ด้วยข้อเท็จจริงที่ระบุว่า…
ปี พ.ศ. 2554 ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นอันดับที่ 5 ของโลก คือ 0.86 กิโลกรัม/เฮกเตอร์ โดยอันดับที่ 1-4 ได้แก่ ฝรั่งเศส เวียดนาม สเปน และบราซิล
ส่วนรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมเป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่นำเข้าสารเคมีทางการเกษตรสูงเป็นอันดับ 1
ขณะเดียวกัน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 มีการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานในผักและผลไม้จาก 70 ประเทศที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ปรากฏว่าสินค้าจากประเทศไทยมีสารพิษตกค้างสูงสุดเป็นอันดับ 1 และถูกตรวจพบบ่อยครั้งที่สุดในโลก
นั่นหมายความว่า ทุกมื้อความ "อร่อย" ของอาหารที่กินกันเข้าไปในทุกวันนี้ มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเจือปนด้วยสารพิษปนเปื้อน และนี่อาจเป็นตัวการหนึ่ง ซึ่งก่อ "โรคมะเร็ง" และโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ทำให้คนไทยป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี
พชร แกล้วกล้า ผู้ประสานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า อัตราความเสี่ยงที่จะพบสารพิษในอาหาร ไม่ว่าจะผลิตที่ไหน จำหน่ายอย่างไร ไทยยังคงมีการปนเปื้อนทั้งทางด้านกายภาพ จุลินทรีย์ และสารเคมี อยู่ 1 ใน 3 ของภาพรวมในประเทศ
ส่วนด้านกายภาพนั้นหมายถึง เส้นผม เล็บ หรือแมลง ด้านจุลินทรีย์ ได้แก่ เชื้อที่ทำให้ก่อโรคต่อระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย สุดท้าย การใช้สารเคมีต่าง ๆ ในอาหาร อาทิ สารกันบูด สารกันรา และยาฆ่าแมลง ทั้งนี้ ไม่สามารถบอกได้ว่า พบการปนเปื้อนในผัก ผลไม้ เนื้อแดง หรืออาหารแปรรูปประเภทใดมากที่สุด แต่หากดูจากข่าวสถานการณ์ที่มีให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ แล้ว จะพบว่า เรื่องของอาหารเป็นพิษพบบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว


การป้องกันเรื่องสารพิษในอาหาร อีกหนึ่งจอมวายร้ายใกล้ตัว "อยู่ที่ตัวเราเอง" โดยหลักการเบื้องต้น พชร แนะนำว่า หากซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้า โดยมากแล้วจะมีฉลากหรือหีบห่อบรรจุภัณฑ์อยู่ อยากจะให้อ่านเสียก่อน เพราะบนฉลากหรือหีบห่อบรรจุภัณฑ์ พอที่จะให้ข้อมูลแก่เราได้ว่า สินค้าที่จะซื้อนั้น ผู้ผลิตคือใคร ผลิตจากไหน และผลิตด้วยกรรมวิธีการใด
"อย่างไรก็ตาม ผักสดและผลไม้ที่ขายกันอยู่ทั่วไปในตลาดสดนั้น ไม่มีบรรจุภัณฑ์มาด้วย สิ่งที่ต้องดูต่อไป จึงเป็นเรื่องทางกายภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่ควรเลือกซื้อผักหรือผลไม้สวย ๆ มารับประทาน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการปรุงแต่ง หรือมีการใช้สารเคมีในการปลูกค่อนข้างมาก ที่สำคัญคือ ควรล้างก่อนนำไปประกอบอาหาร และไม่นำมารับประทานกันอย่างดิบ ๆ แต่ควรนำไปลวก นึ่ง ต้ม หรือผัดก่อนทุกครั้ง วิธีการนี้จะช่วยลดสารตกค้างและสิ่งสกปรกที่มากับผัก ส่วนความร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ตัวการก่อโรคลงได้"
สำหรับเนื้อสัตว์สด ๆ นั้น ต้องระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดง ดินประสิว และการใช้สารเพื่อคงความสดของอาหาร อาทิ การใช้ฟอร์มาลีน รวมถึงการใช้สารฟอกขาวในเครื่องในสัตว์
"เนื้อสดตามตลาดสดทั่วไป จะสังเกตได้ง่ายทั้งจากกลิ่นและจากการสัมผัสกับเนื้อสัตว์โดยตรง ถ้าลองกดดูเนื้อสัตว์ก็จะพอสังเกตได้ว่า เนื้อนั้นสดจริงหรือไม่ เพราะหากผ่านการแช่ฟอร์มาลีนมา เนื้อสัตว์จะเหลวและมีกลิ่นฉุน นอกจากนี้ ยังสามารถสังเกตความอนามัยของร้านได้ด้วยว่า สะอาดเกินไปหรือไม่ หากที่แผงขายไม่มีแมลงใด ๆ มาก่อกวนเลย ก็มีความเป็นไปได้ว่า เจ้าของร้านใช้สารเคมีบางอย่างในการป้องกันแมลงเหล่านี้ ซึ่งอาจทำให้สารเคมีนั้นปนเปื้อนเพิ่มมาในอาหารได้"
ทั้งนี้ ผู้บริโภคพึงตระหนักไว้ว่า อะไรที่เกินพอดี มีความสุดโต่งทั้งด้านรูปลักษณ์ของตัวอาหารและความสะอาดที่มากเกินไปนั้น ควรระวัง


จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ปัจจุบัน อาหารแปรรูปและอาหารกึ่งสำเร็จรูป จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความสะดวก กินง่าย รสชาติดี และใช้เวลาน้อย หากแต่ "แต่ละคำ" ที่กินเข้าไป สะสมโรคร้ายสู่ร่างกายไม่รู้ตัว
แฮม เบคอน ไส้กรอก และเนื้อสัตว์แปรรูปชนิดต่าง ๆ มักมีความเสี่ยงในการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งหลายครั้งพบว่า มีการใช้วัตถุกันเสียมากเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ และการที่ได้รับสารกันบูดมากเกินไปนั้น ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานหนัก และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
"นอกจากนี้ ยังต้องระวังการใช้โซเดียมหรือเกลือในการแปรรูปไว้ด้วย หากกินบ่อย ๆ ต้องระวังตัวเองว่าจะได้รับสารจำพวกเกลือเข้าสู่ร่างกายมากเกินความต้องการ ทำให้ไตทำงานหนัก" คุณพชร กล่าว
ส่วนการใช้น้ำประสานทอง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ "สารบอแรกซ์" สารเคมีสังเคราะห์ที่ถูกนำมาผสมในอาหาร เช่น ลูกชิ้น หมูยอ หรืออาหารชุบแป้งทอด ฯลฯ เพื่อให้มีความเหนียว กรุบกรอบ ชวนรับประทานด้วย เพราะแม้ปัจจุบัน จะมีปริมาณการใช้สารบอแรกซ์น้อยลง แต่ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่
"ของทอดต่าง ๆ ที่ชอบซื้อกินกันข้างทาง นอกจากจะต้องระวังเรื่องการใช้สารบอแรกซ์ การใช้สารกันบูด และสีผสมอาหารแล้ว ยังต้องดูถึงน้ำมันที่ใช้ทอดด้วย เพราะการใช้น้ำมันทอดซ้ำในปัจจุบัน ไม่ได้ลดน้อยลงกว่าเมื่อก่อนเลย อีกทั้งจะดูจาก "สีของน้ำมัน" ก็ทำไม่ได้แล้ว จึงต้องสังเกตจาก "กลิ่น" ของอาหาร เพราะแม้สีจะดูใหม่ แต่เมื่อนำมาใช้ซ้ำ จะมีกลิ่นหืนค่อนข้างแรง"


แม้ว่าจะมีการใช้สารเคมีกันอยู่มาก จนดูไม่มีความปลอดภัยทางด้านอาหารก็ตามที แต่เมื่ออาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต การวิตกกังวลจึงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น หากไร้ซึ่งความระวังและความตระหนักในตนเอง
นอกเหนือจากข้อมูลด้านบนที่กล่าวไป คุณพชร กล่าวเพิ่มว่า วิธีการในการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากสารพิษในอาหาร เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างการกินผัก-ผลไม้ ที่ไม่ควรตามใจความอยาก แต่ควรเลือกกินผักและผลไม้ให้ตรงตามฤดูกาล ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อสารเคมีตกค้าง ส่วนอาหารแปรรูปนั้น ขอแค่อ่านฉลากอย่างละเอียด รู้ตัวว่ากำลังจะรับประทานอะไรเข้าไป มีส่วนประกอบของอะไรบ้าง ก็พอจะช่วยได้
หรือหากมีเวลาลองทำอาหารกินเอง ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่่ยงจากสารพิษปนเปื้อนในอาหารได้ ดังนั้น แค่รู้จักเลือกกินอย่าง \'"ฉลาด" เรื่องอาหารการกิน ก็ยังเป็นอีกหนึ่งความสุขของชีวิตได้ค่ะ
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
