x close

วัณโรคกระดูก ปวดหลังเรื้อรัง นี่ล่ะสัญญาณอันตราย !


วัณโรคกระดูกสันหลัง 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          วัณโรคกระดูก ชื่อนี้ฟังแล้วออกจะงง ๆ เพราะเคยได้ยินแต่ วัณโรคปอด ใช่ไหมคะ แต่ วัณโรคกระดูก หรือ วัณโรคกระดูกสันหลัง ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในคนไทย ถึงเวลาที่เราต้องมารู้จักกับ โรควัณโรคกระดูก กันแล้วล่ะ ขอบอกเลยว่า ถ้าใครกำลังทนทรมานกับอาการปวดหลังที่เรื้อรังอยู่ล่ะก็ บางทีโรคนี้อาจกำลังคุกคามคุณอยู่ก็เป็นได้!!!

วัณโรคกระดูก เกิดขึ้นได้อย่างไร

          สำหรับโรควัณโรคกระดูกนี้ เกิดจากการที่คนไข้รับเอาเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส เข้าไปในปอด เมื่อรับเอาเชื้อเข้าไปแล้ว ปอดก็จะติดเชื้อ ทำให้เกิดเป็นวัณโรคปอด แต่ในผู้ป่วยราว 15% เชื้อดังกล่าวจะแทรกซึมผ่านกระแสเลือด แล้วลุกลามเข้าไปทำอันตรายอวัยวะส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง ไต รวมทั้งกระดูก

          ทั้งนี้ หากเชื้อเข้าไปทำลายกระดูกก็จะเรียกว่า "วัณโรคกระดูก" หรือ "วัณโรคกระดูกสันหลัง" (Tuberculosis of Spine) เพราะส่วนใหญ่เชื้อจะไปอยู่ที่กระดูกสันหลัง ข้อเข่า ข้อต่อ ถ้าเป็นนาน ๆ เข้า เชื้อจะไปทำลายกระดูก ทำให้กระดูกยุบตัว หลังโก่งงอ มีหนองหรือเศษกระดูก หมอนรองกระดูกเลื่อน และเมื่อเข้าสู่ช่องไขสันหลังจะเกิดการกดทับประสาทที่ไขสันหลัง จนทำให้เป็นอัมพาตที่ขาได้ 


วัณโรคกระดูก ติดต่อกันได้หรือไม่

          หลายคนคงเกิดคำถามว่า วัณโรคกระดูกสามารถติดต่อกันได้หรือไม่ คำตอบคือ โรคนี้สามารถถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้ เพราะเริ่มต้นจากการมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเชื้อโรคนั้นเข้าสู่ร่างกายด้วยการสูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยวัณโรคที่ไอ จาม หรือหายใจรดเข้าไป หรืออาจติดต่อได้จากหนองของผู้ป่วย รวมทั้งการดื่มนมวัวดิบ ๆ จากวัวที่มีเชื้อวัณโรค หรือจากการทานอาหาร และภาชนะใส่อาหารที่มีเชื้อวัณโรคปนเปื้อน 


วัณโรคกระดูกสันหลัง

ใครคือกลุ่มเสี่ยง

          จริง ๆ แล้ว วัณโรคกระดูก สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ดังนั้น ไม่ว่าจะเด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ ผู้หญิง หรือผู้ชาย ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เท่า ๆ กัน แต่คนที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไปก็คือ ผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารที่ร่างกายต้องการ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขอนามัย หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มาก ๆ รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ ก็จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป

อาการวัณโรคกระดูกที่สังเกตได้

          เมื่อเชื้อวัณโรคลุกลามไปตามข้อต่อและกระดูก ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยตามตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่อาการจะเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งผ่านไป 1 เดือน อาการปวดจะเด่นชัดขึ้น อาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ ตอนเย็น ๆ ร่วมด้วย บวกกับเบื่ออาหาร น้ำหนักลด แต่ผู้ป่วยอาจคิดไปว่าเป็นอาการปวดหลังธรรมดา หากปล่อยไว้นาน จะทำให้กระดูกสันหลังโก่งงอ เพราะเชื้อไปทำลายกระดูก และถ้าหากเชื้อไปกดทับระบบประสาทในที่สุดก็จะทำให้ขาชา อุจจาระ ปัสสาวะลำบาก บางคนต่อมน้ำเหลืองโต เดินกะเผลก

          ทั้งนี้ มีข้อมูลระบุว่า วัณโรคกระดูกส่วนใหญ่จะเกิดกับกระดูกสันหลังส่วนเอว ราว ๆ 30-50% ซึ่งหากเชื้อวัณโรคเข้าไปยังกระดูกสันหลังส่วนเอว จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหลังมาก ๆ จนไม่สามารถยืนตรงได้เลย 

จะวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคกระดูกได้อย่างไร

          ผู้ป่วยหลายคนเห็นว่าปวดหลังเป็นอาการธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป จึงไม่ได้เอะใจมาพบแพทย์ กว่าจะมาพบแพทย์ก็ต้องรอให้ปวดหลังมาก ๆ จนร่างกายทนไม่ไหว หรือแขนขาชาอ่อนแรงไปแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะบอกว่าตัวเองเป็นโรคนี้หรือไม่ เพราะอาการปวดหลังก็บ่งบอกได้ถึงหลายโรค ดังนั้นแล้ว หากมีอาการบ่งชี้ดังที่กล่าวมาข้างต้นร่วมกับอาการปวดหลังที่กินยาแล้ว 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์แล้ว ก็ยังไม่หาย ก็ควรจะมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว โดยแพทย์จะวินิจฉัยจาก

            การตรวจทางรังสี เพื่อดูว่ากระดูกสันหลังถูกทำลายหรือไม่ มีการโก่งตัวหรือไม่ รวมทั้งหมอนรองกระดูกแคบลงหรือไม่ เพราะนี่เป็นสัญญาณว่า เชื้อวัณโรคกำลังทำลายกระดูกสันหลัง

            การตรวจด้วยซีทีสแกน หรือ เอ็มอาร์ไอ เพื่อดูว่ามีหนอง และการทำลายกระดูกสันหลังหรือไม่ รวมทั้งไขสันหลัง และเส้นประสาท ถูกกดทับด้วยหรือไม่

ปวดหลัง

การรักษาวัณโรคกระดูก มีกี่วิธี

          จุดมุ่งหมายในการรักษาวัณโรคกระดูกก็เพื่อกำจัดเชื้อวัณโรค ป้องกันไม่ให้มีการกดทับระบบประสาท รวมทั้งป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังผิดรูปด้วย ซึ่งในปัจจุบัน วัณโรคกระดูกสามารถรักษาได้ทั้งวิธีการผ่าตัด และไม่ผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัดก่อน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก หากได้รับยารักษาวัณโรค ซึ่งต้องกินยาติดต่อกันประมาณ 1 ปี รวมทั้งได้พักฟื้น และใส่อุปกรณ์ประคองหลัง ก็สามารถกลับมาเป็นเหมือนปกติได้ แต่ที่สำคัญก็คือ ผู้ป่วยต้องไม่หยุดการรับประทานยาต่อเนื่องก่อนแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา และทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นในอนาคตได้

          อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมากแล้ว รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือกลับมาเป็นซ้ำอีกจนมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตจากการไปกดทับไขสันหลัง รวมทั้งกระดูกผิดรูปไปมาก มีหนองเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในบริเวณที่เป็นอันตรายต่อเส้นประสาท แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดรักษาเพื่อระบายเอาหนองออก หรือผ่าตัดเพื่อเอากระดูกที่ติดเชื้อออกแล้วเชื่อมกระดูกสันหลังใหม่ รวมทั้งการผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกสันหลัง

ดูแลตัวเอง ป้องกันโรควัณโรคกระดูก

          ง่าย ๆ เลยก็คือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง พยายามอยู่ในที่ปลอดโปร่งหายใจสะดวก เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าหรือกระดาษปิดปาก เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย และทิ้งกระดาษลงในถังขยะที่มีฝาปิดให้เรียบร้อย

          ที่สำคัญมากอีกข้อก็คือ หากในบ้านมีสมาชิกป่วยเป็นวัณโรค ไม่ว่าจะวัณโรคอะไร หรือมีผู้ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ก็ควรไปตรวจสุขภาพเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วยด้วย

          ได้รู้จักโรควัณโรคกระดูกไปแล้ว ต่อไปนี้ ถ้าเกิดใครมีอาการปวดหลังเรื้อรัง กินยาหลายเม็ดแล้วก็ยังไม่หายสักที แล้วยังมีประวัติเข้าใกล้ผู้ป่วยวัณโรคด้วยล่ะก็ ลองไปให้คุณหมอตรวจดูหน่อยก็ดีนะคะ เพราะยิ่งรู้ตัวเร็ว การรักษาก็ไม่ยุ่งยาก แถมยังมีโอกาสหายขาดจากโรคอันแสนทรมานนี้ได้มากขึ้นด้วยล่ะ 


เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- thaispineclinic.com
- thaispine.com
- healthcorners.com
 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัณโรคกระดูก ปวดหลังเรื้อรัง นี่ล่ะสัญญาณอันตราย ! อัปเดตล่าสุด 18 กันยายน 2556 เวลา 17:49:53 115,700 อ่าน
TOP