หวัดเรื้อรัง ระวัง! อาจไม่ใช่เพียงหวัดภูมิแพ้



 หวัดภูมิแพ้

หวัดเรื้อรัง ระวัง! อาจไม่ใช่เพียงหวัดภูมิแพ้ (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

          คำว่า "หวัดเรื้อรัง" ในที่นี้ หมายถึง อาการคัดจมูกน้ำมูกไหล ที่เป็นติดต่อกันทุกวันนานเกิน ๒ สัปดาห์ โดยไม่มีอาการไข้ (ตัวร้อน) ร่วมด้วยอาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง ตั้งแต่หวัดภูมิแพ้จนถึงมะเร็งโพรงหลังจมูก (ดูตารางที่ ๑)

โรคหวัดภูมิแพ้ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการหวัดเรื้อรัง

          โรคหวัดภูมิแพ้ หรือดังที่นิยมว่า "โรคแพ้อากาศ" จัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ซึ่งยังประกอบด้วยโรคอีกหลายชนิด เช่น โรคหืด ลมพิษผื่นคันเยื่อตาขาวอักเสบจากภูมิแพ้ (มีอาการคันตาเวลาสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้) โรคกลุ่มนี้เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบได้ประมาณร้อยละ ๓๐ ของคนทั่วไป

          ผู้ที่เป็นหวัดภูมิแพ้มักจะมีประวัติว่า มีญาติสายตรง (พ่อแม่ พี่น้อง) เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่งร่วมด้วย โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นโรคหวัดภูมิแพ้แบบเดียวกับผู้ป่วยก็ได้

          ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ร่างกายเกิดมามีความไว (แพ้) ต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ความเย็น ฝุ่นละออง ไรฝุ่นละอองเภสร ขนสัตว์ เป็นต้น (ดูตารางที่ ๒) เมื่อสัมผัสสิ่งที่แพ้ก็มักจะแสดงอาการทันที เช่น เวลาอากาศเย็นหรือถูกฝุ่นเวลาวาดบ้าน (ซึ่งอาจมองไม่เห็นชัดเจน) เข้าก็จะมีการหวัดภูมิแพ้ (ได้แก่ คันคอ คันจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล) เกิดขึ้นทันที ผู้ป่วยมักจะมีอาการมาตั้งแต่เด็ก และเป็นอยู่เรื่อยไปจนตลอดชีวิต

          โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรง ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจกลายเป็นไซนัสอักเสบ หรือเกิดติ่งเนื้อเมือกในจมูก

          ผู้ที่เป็นโรคนี้สามารถให้การดูแลตนเองได้ง่าย ๆ (ดูตารางที่ ๓)

          ในรายที่กินยาแก้แพ้แล้วไม่ทุเลา ควรไปพบแพทย์ เพื่อค้นหาว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่นหรือไม่ ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้ที่รุนแรง ก็อาจให้ยาสตีรอยด์ชนิดพ่นจมูก และอาจแนะนำวิธีสวนล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือให้ผู้ป่วยทำเองที่บ้าน เพื่อชะล้างสารภูมิแพ้ที่อาจติดค้างอยู่ในจมูก

อย่ามัวแต่พึ่งยา

          ยาที่ใช้รักษาหวัดภูมิแพ้เป็นเพียงบรรเทาอาการไม่ได้ช่วยให้หายขาด ผู้ที่เป็นหวัดภูมิแพ้ควรพยายามสังเกตว่าแพ้อะไร และหาทางป้องกันไม่ให้ไปสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้

          ที่สำคัญ ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากสามารถลดการใช้ยา (บางรายถึงชั้นหยุดใช้ยาได้) ภายหลังหันมาออกกำลังกายอย่างจริงจังแทบทุกวัน

ระวัง อาจไม่ใช่เพียงหวัดภูมิแพ้

          ผู้ที่เป็นหวัดเรื้อรัง หรือใช้ยาแก้แพ้ไม่ได้ผล ควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งโพรงหลังจมูก (ดูตารางที่ ๑)

หวัดภูมิแพ้

ตารางที่ ๑. สาเหตุที่พบบ่อยของอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์

๑. โรคหวัดภูมิแพ้ (allergic rhinitis)

           เกิดจากการสัมผัสสิ่งที่แพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคันคอ คันจมูก จาม น้ำมูกใส คัดแน่นจมูก บางรายอาจมีอาการคันตา น้ำตาไหล เจ็บคอ ไอ การรับรู้กลิ่นลดลง หูอื้อ หรือปวดตื้อที่โหนกแก้มหรือหัวคิ้วร่วมด้วย

           มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม มักมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้ (เช่น หืด หวัดแพ้อากาศ หรือลมพิษ ผื่นคัน) บางรายอาจมีโรคภูมิแพ้อื่น ๆ (เช่น ลมพิษ หืด) ร่วมด้วย

๒. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis)

           เกิดจากการติดเชื้อในโพรงไซนัส เนื่องจากเป็นหวัดคัดจมูกบ่อย หรือมีโครงสร้างของโพรงจมูกผิดปกติ (เช่น ผนังกั้นจมูกคด หรือมีติ่งเนื้อเมือกในโพรงจมูก)
ผู้ป่วยจะมีอาการมีน้ำมูก หรือเสลดไหลลงคอ น้ำมูกหรือเสลดมีลักษณะข้นสีเหลืองหรือเขียว หายใจมีกลิ่นเหม็น การรับรู้กลิ่นลดลง อาจมีอาการปวดหน่วงที่โหนกแก้มหรือหัวคิ้ว หรือจมูกไม่ได้กลิ่น

๓. ติ่งเนื้อเมือกในจมูก หรือริดสีดวงจมูก (nasal polyps)

           มักพบในผู้ที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุจมูก จากการติดเชื้อหรือหวัดภูมิแพ้เรื้อรัง เกิดเป็นติ่งเนื้อเมือกขึ้นในโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ

           มีอาการคัดแน่นจมูกลอดเวลาในโพรงจมูกข้างนั้นเพียงข้างเดียว พูดเสียงขึ้นจมูก อาจไม่มีความรู้สึกในการรับรู้กลิ่น น้ำมูกออกเป็นหนอง หรือปวดที่หัวคิ้วหรือโหนกแก้มร่วมด้วย เมื่อใช้ไฟส่องดูในโพรงจมูกข้างนั้น อาจมองเห็นก้อนเนื้อสีขาวใส

๔. สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก (foreign body in the nose)

           พบในเด็กเล็กที่เล่นซน นำวัตถุ (เช่น เมล็ดผลไม้ เศษยางลบ เศษกระดาษ กระดุม ลูกปัด) ยัดใส่เข้าไปค้างคาอยู่ในโพรงจมูกข้างหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการคัดแน่นจมูกอยู่ข้างหนึ่ง และมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวซึ่งมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดปนหนองไหลออกจากจมูกข้างนั้น

๕. มะเร็งโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal cancer)

           ผู้ป่วยจะมีอาการคัดแน่นจมูกเรื้อรังเป็นแรมเดือน กินยาแก้หวัดคัดจมูกไม่ทุเลา ถ้าปล่อยให้มีอาการนานหลายเดือน ก็อาจมีเลือดออกปนในน้ำลายหรือไหลออกทางรูจมูก หูอื้อข้างหนึ่ง ตาเขเห็นภาพซ้อน และอาจคลำได้ก้อนแข็ง (ต่อมน้ำเหลืองที่โต) ที่ข้างคอข้างใดข้างหนึ่ง อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย

ห้องนอน

ตารางที่ ๒. สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย

           ไรฝุ่นบ้าน พบตามที่นอน หมอน ผ้าห่มพรม เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นที่ทำด้วยนุ่น หรือเป็นขน ๆ

           เชื้อรา พบสปอร์ตามพุ่มไม้ ในสวน ห้องน้ำ ห้องครัว ในที่ชื้น

           อาหาร เช่น อาหารทะเล

           ละอองเกสร หญ้า วัชพืช

           สัตว์เลี้ยง (เช่น สุนัข แมว นก) แมลงสาบ

           ฝุ่นละออง ความเย็น (เช่น อากาศเย็น แอร์เย็น)

หวัดเรื้อรัง

ตารางที่ ๓. การดูแลตนเองเมื่อเป็นหวัดเรื้อรัง

๑.ควรไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้


           (๑) มีไข้ (ตัวร้อน) นานเกิน ๑ สัปดาห์

           (๒) มีน้ำมูกหรือเสลดข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีกลิ่นเหม็นทุกครั้งที่สั่งหรือขากออกมา

           (๓) มีเลือดกำเดาไหล หรือมีเลือดออกปนมากับน้ำลาย

           (๔) มีก้อนแข็งที่ข้างคอ

           (๕) คัดแน่นจมูกอยู่เพียงข้างเดียว หรือคัดแน่นตลอดเวลา

           (๖) ปวดตรงโหนกแก้มหรือหัวคิ้วมาก

           (๗) หูอื้อ ตาเข หรือเห็นภาพซ้อน

           (๘) เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

           (๙) กินยาแก้แพ้ไม่ทุเลา

           (๑๐) มีความวิตกกังวล

๒. ถ้าไม่มีอาการดังในข้อ ๑. และมีอาการเป็นหวัด จาม น้ำมูกใส เมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ควรให้การดูแล ดังนี้

           (๑) พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ทั้งในบ้าน ที่ทำงาน และสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน ควรสังเกตว่ามักมีอาการกำเริบในเวลาใด สถานที่ใด และสัมผัสถูกอะไร เช่น แพ้ความเย็นหรือควันบุหรี่ก็ควรหลบแอร์เย็น ๆ หรือควันบุหรี่ แพ้ฝุ่นก็สวมหน้ากากอนามัยเวลาปัดกวาด แพ้ขนสัตว์ก็อยู่ห่างจากสัตว์เลี้ยง แพ้ซากแมลงสาบก็หาทางกำจัดแมลงสาบในบ้าน เป็นต้น

           (๒) ถ้ามีอาการมาก กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน (หากกลัวว่ากินแล้วง่วง ทำงานไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วง) เป็นครั้งคราว ไม่ควรกินติดต่อกันนาน ๆ

           (๓) หากเป็นบ่อย ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่าอดนอน อย่าสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา

           (๔) ควรปรึกษาแพทย์ถ้ากินยาแก้แพ้ไม่ทุเลา

           (๕) ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะ (นิยมเรียกว่ายาแก้อักเสบ) มากินเอง เพราะไม่มีประโยชน์เนื่องจากนอกจากโรคนี้ไม่ใช่โรคติดเชื้อ และไม่ควรซื้อยาชุดกินเอง เพราะอาจมียาสตีรอยด์และยาปฏิชีวนะผสม นอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว ยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้ได้


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หวัดเรื้อรัง ระวัง! อาจไม่ใช่เพียงหวัดภูมิแพ้ อัปเดตล่าสุด 13 พฤษภาคม 2556 เวลา 15:48:09 198,828 อ่าน
TOP
x close