สพฉ.เตือน 3 โรคเสี่ยงหน้าฝน โรคระบบทางเดินหายใจ-ทางเดินอาหาร-อุบัติเหตุ พร้อมแนะอาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน ชี้หากพบเห็นให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)
จากสภาวะอากาศที่ย่างเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย และในหลากหลายพื้นที่มีฝนตกชุก ซึ่งจากสภาพอากาศเช่นนี้ส่งผลให้เริ่มมีผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้รวบรวมโรคที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน และอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือป้องกัน เพื่อไม่ต้องเจ็บป่วยกับโรคร้ายดังกล่าว
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า โรคที่มักจะเกิดขึ้นในฤดูฝนคือโรคที่ติดเชื้อจากระบบทางเดินอาหาร และโรคที่ติดเชื้อจากระบบทางเดินหายใจ เพราะเมื่ออากาศมีความชื้นมาก จะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะโรคปอดบวมที่เป็นโรคซึ่งเกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ โดยปอดเกิดอาการอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ โดยอาการเบื้องต้นจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอแห้ง มีเสมหะปนเลือด จามคัดจมูกเจ็บหน้าอกและมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ทั้งนี้ หากท่านพบเหตุผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวมและอาการเข้าขั้นฉุกเฉิน คือ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ มีเลือดหรือเสมหะปริมาณมากในปาก หายใจเสียงดังโครกคราก ตัวซีดเหงื่อท่วมตัว และต้องลุกนั่งหรือพิงผนังหรือยืนเพื่อให้หายใจได้ ควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เข้ามารับผู้ป่วยฉุกเฉินไปรักษาที่โรงพยาบาลให้ได้อย่างทันท่วงที
สำหรับโรคทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน เป็นเพราะเกิดจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดและการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือรับประทานอาหารที่ทิ้งไว้ข้ามคืน จะทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษหรือโรคบิดได้ง่าย ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวและอาเจียนอย่างรุนแรง มีอาการหายใจขัด ถือว่าเข้าขั้นฉุกเฉิน ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ในช่วงฤดูฝนยังพบว่ามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างมาก เนื่องด้วยถนนที่ใช้ในการขับขี่ยวดยานพาหนะจะลื่นและเปียก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยง ดังนั้น ผู้ใช้รถใช้ถนนควรขับขี่รถด้วยความระมัดระวัง เช็กสภาพเบรกรถ ไฟสัญญาณรถ และไฟส่องสว่างภายในรถ รวมถึงยางรถยนต์ ที่ปัดน้ำฝนให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา และพกเบอร์โทรฉุกเฉิน ไว้ในรถอยู่เสมอเพื่อความไม่ประมาท
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ