โรคไข้เลือดออก กับความเชื่อที่เข้าใจกันมาแบบผิด ๆ




โรคไข้เลือดออก กับความเชื่อที่เข้าใจกันมาแบบผิด ๆ

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณ Spartan Doctor

          เป็นที่น่าตกใจและน่ากังวลอย่างมาก สำหรับตัวเลขของผู้ป่วย "โรคไข้เลือดออก" ที่ในช่วงครึ่งปีแรกตัวเลขผู้ป่วยสะสมสูงเกือบ 4 หมื่นราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 2,000 ราย และขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 50 ราย (ที่มา:กรมควบคุมโรค 17 มิถุนายน 2556) และคาดว่าตลอดปีนี้ น่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มนับแสนราย และเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่าตัว และถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้...

          ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคจะออกมาประกาศแจ้งเตือนถึงสถานการณ์ "ไข้เลือดออก" และได้แนะนำถึงวิธีการป้องกัน แนวทางการรับมือ และการสังเกตอาการหากเป็นโรคนี้ แต่ยอดตัวเลขก็ยังพุ่งสูงขึ้น บ่งชี้ได้ว่าสถานการณ์ไข้เลือดออกตอนนี้เริ่มรุนแรงแล้ว วันนี้กระปุกดอทคอม จึงขอหยิบข้อมูลดี ๆ ของคุณ Spartan Doctor ที่ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับ "ความเข้าใจผิดและเข้าใจถูกของไข้เลือดออก" เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้คนส่วนใหญ่ที่ยังเชื่อในข้อมูลเดิม ๆ ที่ผิด ๆ ได้รับทราบกัน


 โรคไข้เลือดออกพบมากที่สุดที่ไหนในประเทศไทย?

          ความเชื่อ : ไข้เลือดออกเป็นโรคของคนต่างจังหวัด ใกล้ป่า ใกล้สวน

          ความจริง : ยุงลายที่นำไข้เลือดออกเป็นยุงบ้านอาศัยในเมืองศิวิไลซ์ และชุมชน พบได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย และข้อมูลในปี 2555 จังหวัดที่พบไข้เลือดออกมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ (ผู้ป่วยทั่วประเทศประมาณ 7 หมื่นราย กรุงเทพฯ ป่วยไปประมาณ 1 หมื่นราย)


โรคไข้เลือดออกเป็นโรคของคนวัยใด?

          ความเชื่อ : ไข้เลือดออกเป็นโรคของเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ไม่น่าเป็น

          ความจริง : ข้าศึกเราเปลี่ยนรูปแบบ เริ่มเล่นงานผู้ใหญ่มากขึ้นปี 2555 มีผู้ป่วยอายุมากกว่า 15 ปีคิดเป็นร้อยละ 52.44 (เกินครึ่ง ! )


โรคไข้เลือดออกเป็นแล้วจะเป็นอีกไหมนะ?

          ความเชื่อ : ใครเคยเป็นไข้เลือดออกแล้วจะไม่เป็นอีก

          ความจริง : ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ (DENV 1-4) แต่ละปีผลัดเปลี่ยนกันระบาดในความชุกที่แตกต่างกัน คนจึงมีโอกาสเป็นซ้ำได้ในช่วงชีวิตถึง 4 ครั้ง


โรคไข้เลือดออก ต้องมีเลือดออกตามตัวเหมือนชื่อโรคหรือเปล่า?

          ความเชื่อ : ถ้าเป็นไข้เลือดออกก็ควรมีเลือดออกจากอวัยวะต่าง ๆ หรือจุดเลือดออกตามตัว ถ้าไม่มีไม่น่าใช่
 
          ความจริง : ไข้เลือดออกตอนแรกจะผู้ป่วยจะเป็นไข้ และไม่มีอาการอะไรจำเพาะที่บ่งบอกเลย ส่วนใหญ่เป็นไข้สูง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ปวดรอบกระบอกตา, ปวดกระดูก, คลื่นไส้อาเจียน, ปวดท้อง จะมีแค่บางรายที่มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือมีเลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งไม่ค่อยปรากฏในวันแรก ๆ แต่มักจะเป็นวันหลัง ๆ ของการมีไข้

โรคไข้เลือดออก กับความเชื่อที่เข้าใจกันมาแบบผิด ๆ


ไม่ได้ถูกยุงกัด แต่เป็นไข้ นี่เสี่ยงเป็นไข้เลือดออกหรือเปล่านะ?

          ความเชื่อ : ถ้ามีไข้แต่ไม่เคยเห็นว่าโดนยุงกัด น่าจะไม่ใช่ไข้เลือดออก

          ความจริง : ประวัติการโดนยุงกัด แพทย์จะไม่เคยซักจากคนไข้เลย เพราะเชื่อถือไม่ได้ ส่วนใหญ่มักโดนกัดโดยไม่รู้ตัว ให้สังเกตจากไข้และอาการเป็นหลัก


พอไข้สูง รู้สึกตัวว่าจะเป็นไข้เลือดออก กินยาอะไรบรรเทาอาการเบื้องต้นดี?

          ความเชื่อ : ถ้าสงสัยเป็นไข้เลือดออก กินยาลดไข้ได้เฉพาะพาราเซตามอล

          ความจริง : ถูกต้อง ถ้าสงสัยเป็นไข้เลือดออกห้ามกินยาลดไข้ "แอสไพริน" และกลุ่ม NSAIDS (เช่น ibuprofen, Naproxen) เพราะทั้งสองกลุ่มนี้จะทำให้มีความเสี่ยงเลือดออกมากขึ้น และแอสไพรินในคนป่วยไข้เลือดออก อาจเกิดอาการผิดปกติทางสมอง (Reye \'s syndrome)


คำแนะนำ

          ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้

            ไข้สูง

            อาการไม่ชี้ชัดว่าป่วยตรงไหน เช่น ไม่เจ็บคอ, ไม่มีน้ำมูก, ไม่ไอ, ไม่ถ่ายเหลว แต่รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดตามตัว คลื่นไส้อาเจียน

            เป็นไข้ 3 วันไม่หาย วันที่ 3 อาการก็ยังไม่ดีขึ้น

          ให้รีบพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดหาไข้เลือดออก

          สำหรับการสังเกตอาการป่วย ถ้าไข้วันที่ 1 และ 2 อาการยังเป็นไม่มาก ยังพอกินได้ อาจลองสังเกตตัวเองที่บ้านดูก่อน ยังไม่ต้องรีบพบแพทย์ (แต่ถ้าอาการแย่มาก กินไม่ได้ ก็ไปก่อนได้) และพอไข้วันที่ 3 อาการยังไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์ในทันที เนื่องจากวันที่ 3 เป็นวันที่ดีที่สุดที่แพทย์ตรวจเลือดแล้วจะบอกได้ชัดเจนว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ และอย่าชะล่าใจ อย่าเชื่อว่าจะหายเอง เพราะเกิน 3 วันไปแล้ว จะเริ่มเข้าสู่ช่วงเลือดออก พลาสมาในเลือดจะออกมานอกเส้นเลือดนำไปสู่อันตรายถึงชีวิต


ไข้เลือดออก


การป้องกันโรคไข้เลือดออก

          สามารถทำได้ด้วยการป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ด้วยวิธีดังนี้

          ทายากันยุง หรือจะใช้สมุนไพรที่ป้องกันยุงได้ เช่น ตะไคร้ น้ำมันยูคาลิปตัส

          นอนในมุ้ง เพื่อป้องกันการถูกยุงกัด

          ใช้เครื่องดักยุง หรือไม้ตียุงในการกำจัดยุง

          เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถ้วยรองขาโต๊ะทุกสัปดาห์ สำหรับแจกันอาจจะใส่ทรายผสมลงไป ส่วยถ้วยรองขาโต๊ะให้ใส่เกลือเพื่อป้องกันลูกน้ำ

          หมั่นตรวจสอบแหล่งกักเก็บน้ำ เช่น แทงค์ บ่อ กะละมัง ว่ามีลูกน้ำหรือไม่ และใช้ฝาปิดให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันยุงวางไข่

          หมั่นตรวจสอบถาดรองน้ำที่ตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศ เพราะเป็นที่แพร่พันธุ์ของยุง โดยเฉพาะถาดระบายน้ำของเครื่องปรับอากาศบางเครื่องอาจออกแบบไม่ดี โดยมีรูระบายน้ำอยู่เหนือก้นถาดหลายเซนติเมตร ทำให้มีน้ำขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง

          ตรวจสอบรอบ ๆ บ้านว่ามีแหล่งน้ำขังหรือไม่ ท่อระบายน้ำบนบนหลังคามีแอ่งขังน้ำหรือไม่ หากมีต้องจัดการ

          หากใครมีรั้วไม้ หรือต้นไม้ที่มีรูกลวง ให้นำคอนกรีตเทใส่ปิดรู เช่น ต้นไผ่ ต้องตัดตรงข้อและให้เทคอนกรีตปิดแอ่งน้ำ 

          เลี้ยงปลาในอ่างที่ปลูกต้นไม้ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพื่อให้กินลูกน้ำ

          ใช้ "ทรายอะเบท" กำจัดยุงลาย โดยให้นำทรายอะเบท 1 กรัม ใส่ในภาชนะที่มีน้ำขัง (อัตราส่วน 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร หรือ 20 กรัม) จะป้องกันไม่ให้เกิดลูกน้ำได้นานประมาณ 1-2 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากใช้เสร็จแล้วต้องเก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดมิดชิด รวมทั้งเก็บในที่เย็น แห้ง และมีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ

          ใช้สารลดแรงตึงผิว เช่น ผงซักฟอก สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ฉีดพ่นกำจัดยุง เพราะสารดังกล่าวจะไปทำลายระบบการหายใจของแมลง ทำให้แมลงตายได้

          ใช้ยาฆ่าลูกน้ำ วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดและได้มีการสำรวจพบว่ามีความชุกของยุงมากกว่าปกติ

          ใช้สารเคมีพ่นตามบ้านเพื่อฆ่ายุง



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคไข้เลือดออก กับความเชื่อที่เข้าใจกันมาแบบผิด ๆ อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13:15:21 45,024 อ่าน
TOP
x close