ข่า...ยาดีคู่ครัวไทย


ข่า


          "ข่า" เครื่องเทศสมุนไพรเก่าแก่ ที่คนไทยทั้งกินทั้งใช้กันมานานนับร้อยนับพันปี

          มีชื่อสามัญที่ฝรั่งใช้เรียก คือ alanga ginger หรือ alanga alangal บางครั้งก็เรียกตามเราว่า kha หรือ ka ด้วย แสดงให้เห็นว่า "ข่า" เป็นสมุนไพรที่เกี่ยวพันกับคนไทยอย่างแน่นแฟ้น จนฝรั่งต้องตั้งชื่อตามเลยทีเดียว เราสามารถพูดอย่างภาคภูมิใจได้ว่า เรื่องการใช้ข่าแล้ว ไม่มีใครเก่งเท่าคนไทย

          การใช้ "ข่า" เป็นเครื่องเทศ คนไทยนิยมใช้มากกว่าขิง อาจเพราะข่าปลูกขึ้นง่าย ทนทานไม่ต้องการการดูแลอะไรมากนัก มีอายุยืนยาว ไม่มีการลงหัว สามารถขุดมากินมาใช้ได้ตลอดปี ดังนั้น คนไทยจึงมีการกินและใช้ข่าในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เป็นทั้งเครื่องเทศดับกลิ่นคาว โดยใช้หัวข่าใส่ในต้มยำ ต้มข่า ต้มแซ่บ ใส่ในหม้อก๋วยเตี๋ยว เครื่องแกง น้ำพริกต่าง ๆ นอกจากนี้ เรายังกินหน่อข่า ดอกข่า เป็นผักแกล้ม ใส่ในข้าวยำของคนใต้ โดยใช้ใบข่าซอยใส่ลงไปหรือคั้นน้ำจากใบใส่ลงไปด้วย เป็นต้น

          ในทางยา "ข่า" มีรสเผ็ดปร่า มีน้ำมันหอมระเหย มีกลิ่นหอมฉุนแรง คนไทยใช้ข่าเป็นยารักษาอาการเจ็บป่วยในแทบทุกระบบของร่างกาย อาทิ

ต้มยำกุ้ง

ระบบทางเดินอาหาร

          ข่าช่วยย่อย ช่วยขับลม แก้จุกเสียดแน่นท้อง แก้ลมป่วง แก้บิด ขับน้ำดี แก้สะอึก ดังนั้น ข่าจึงเป็นเครื่องเทศหลักคู่ครัวไทยเป็นสมุนไพรที่จะไปบำรุงไฟธาตุ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความแข็งแรงของร่างกาย ในกรณีที่จุกเสียดท้อง ปวดท้อง สามารถนำข่ามาทำเป็นยาผง ยาลูกกลอน ยาต้ม ยาชงกินก็ได้ หรือจะนำข่ามาตำ หรือฝนกับเหล้าหรือน้ำปูนใสกินเพื่อรักษาอาการดังกล่าวก็ได้ผลดียิ่ง

ระบบทางเดินหายใจ

          ข่าช่วยแก้ไอ แก้หวัด ลดน้ำมูก แก้หอบหืดได้เช่นเดียวกับขิง เนื่องจากการที่มีรสร้อน จึงเหมาะที่จะปราบหวัดที่มากับหน้าหนาวได้เป็นอย่างดี คนสมัยก่อนนิยมนำข่ามาต้มน้ำ เป็นยากินเพื่อแก้หวัดลดน้ำมูก ในส่วนของการใช้แก้ไอ นิยมฝนข่ากับน้ำผึ้งกินเพื่อกัดเสลด โดยอาจเจือน้ำมะนาวกับเกลือลงไปเล็กน้อย นอกจากนี้ข่ายังช่วยขยายหลอดลมได้อีกด้วย

ระบบหัวใจและหลอดเลือด

          ข่าเป็นยาร้อนทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี มีกำลังวังชา ช่วยขับเลือดเสียในหญิงหลังคลอด ช่วยขับเหงื่อ

ข่า

ระบบประสาท

          ข่าช่วยลดอาการปวด ไม่ว่าจะแก้ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ปวดฟัน รำมะนาด ปวดท้อง ปวดท้องประจำเดือน รวมทั้งอาการปวดบวม ซึ่งถ้ามีอาการเท้าแพลง ปวดกล้ามเนื้อ คนสมัยก่อนจะตำข่ามาพอกบริเวณที่มีอาการข่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของยากิน ยาประคบ อบ อาบ พอก เพื่อแก้อาการปวดและลดการอักเสบ

          ถึงแม้จะไม่มีสมุนไพรตัวอื่น ๆ เลย แต่ขอให้มีข่าตัวเดียวก็ใช้ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น การทำตำรับยาแก้เมื่อย ลุกไม่ได้ จะใช้ข่ามาตำ เอาน้ำมวก (น้ำที่เหลือจากการแช่ข้าวเหนียวก่อนนำไปนึ่ง) เป็นน้ำคั้น แล้วเอาไปทาตามเส้นของผู้ป่วย

ระบบผิวหนัง
         
          ข่าแก้ลมพิษ แก้ผดผื่นคัน แก้กลากเกลื้อน แมลงสัตว์กัดต่อย พิษแมลงมุม เป็นต้น ซึ่งการใช้ข่าในด้านนี้ ต้องเป็นข่าแก่เท่านั้นจึงจะได้ผลดี

          เรื่องของข่าแก้ลมพิษนี้ เป็นที่รู้กันดีในหมู่คนไทย โดยจะใช้ข่าแก่ตำใส่เหล้าขาวทาบริเวณที่เป็น แต่สำหรับการรักษาแมลงสัตว์กัดต่อยแล้ว นิยมฝนกับน้ำมะนาวทา แต่การใช้ข่าทางผิวหนังต้องมีข้อควรระวังอยู่บ้าง เนื่องจากบางคนแพ้ข่า โดยเมื่อทาแล้วถ้ามีอาการแสบร้อนก็ต้องหยุดใช้ทันที

          นอกจากการใช้เป็นยาข้างต้นแล้ว ข่ายังใช้เป็นสมุนไพรฆ่าแมลงในแปลงผักได้อย่างปลอดภัย ช่วยดับกลิ่น ทั้งกลิ่นเหม็น กลิ่นคาว และกลิ่นตัวได้อย่างน่าทึ่ง ในสมัยก่อนถ้าใครมีกลิ่นตัว เขาจะแนะนำให้ใช้ข่าทั้ง ๕ ต้มอาบ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็ได้มีการนำข่ามาทำเป็นเสปรย์ข่าดับกลิ่นเท้าที่ช่วยแก้ปวดเมื่อได้อีกแรงผสมไปกับการนวดที่แผนกแพทย์แผนไทย

          ปัจจุบันมีการวิจัยพบว่า ข่ามีสรรพคุณแก้ปวดแก้อักเสบที่ดีมาก และยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านเนื้องอก ขยายหลอดลมน้ำมันหอมระเหยในข่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและรา ซึ่งเป็นหลักฐานสนับสนุนสรรพคุณทางยาของข่าตามที่คนไทยใช้กันมาแต่โบราณ

ข่า

          "ข่า" คือ ของดีคู่บ้าน คู่ครัวไทย ปลูกกินใช้ได้ไม่ยาก ขจัดทั้งโรคภัย เจ็บป่วยไข้เมื่อใด นำมาใช้ได้ทันที

          สเปรย์ข่า

          สารสกัดข่า มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย ช่วยดับกลิ่นอับ กลิ่นไม่พึงประสงค์ และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่เท้า ทำให้เท้ามีสุขภาพดี (หากใช้สเปรย์ข่าร่วมกับนวดเท้า จะเพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดเป็นอย่างดี เมื่อฉีดพ่นแล้ว สามารถระเหยได้ง่าย ไม่ทิ้งคราบไว้บนผิว

          ส่วนประกอบ : สารสกัดข่า น้ำมันจากดอกลีลาวดี

          สรรพคุณ : สเปรย์เพื่อเท้าที่ผ่อนคลายและปลอดกลิ่น ทำความสะอาดและดับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ช่วยการไหลเวียนของเลือด

          วิธีใช้ : ฉีดพ่นลงบนเท้าที่ทำความสะอาดดีแล้ว ถูฝ่าเท้าไปมาสักครู่จนแห้งจึงสวมถุงเท้าหรือรองเท้า สามารถใช้ทำความสะอาดเท้าก่อนการนวดเท้า



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข่า...ยาดีคู่ครัวไทย อัปเดตล่าสุด 7 กันยายน 2564 เวลา 08:08:32 77,535 อ่าน
TOP
x close