ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง ไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด รู้ไว้ จะได้ไม่เข้าใจผิด !

          ภาวะเม็ดเลือดขาวสูงไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเสมอไป ทว่าภาวะเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติส่อถึงความไม่ปกติในร่างกายได้เช่นกัน

 
ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง

         เมื่อตรวจพบว่ามีเม็ดเลือดขาวสูง คนส่วนมากมักจะกลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่ใจเย็น ๆ ก่อนค่ะ เพราะการที่เม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะเสี่ยงเป็นมะเร็งชัวร์ ๆ แต่การเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวเกิน อาจบอกได้ถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย และสาเหตุเหล่านั้นก็ไม่ได้น่ากลัวถึงขั้นมะเร็งเลยด้วย ฉะนั้นเพื่อความไม่ตื่นตระหนกตกใจจนเกินไป วันนี้เรามาทำความรู้จักกับเม็ดเลือดขาวกันให้มากขึ้น พร้อมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะเม็ดเลือดขาวสูงให้มากกว่านี้กันค่ะ

เม็ดเลือดขาว คืออะไร ?

          เม็ดเลือดขาว ภาษาอังกฤษคือ White blood cells หรือ leukocytes หรือเรียกย่อ ๆ ว่า WBC เม็ดเลือดขาวเป็นเซลล์ที่สร้างจากไขกระดูก โดยจะพบเม็ดเลือดขาวในหลอดเลือดเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจจะพบเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบน้ำเหลือง และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นในส่วนนั้น ๆ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวเป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่หลักในการต้านทานและทำลายเชื้อโรคที่เข้ามาบุกรุกในร่างกาย ทั้งนี้เม็ดเลือดขาวมีอยู่หลายชนิด และทำหน้าที่ในการต้านทานเชื้อโรคแตกต่างกันออกไป

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง
เม็ดเลือดขาวมีกี่ชนิด ? 

          เซลล์เม็ดเลือดขาวสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีหน้าที่แตกต่างกัน คือ

1. เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil)

          ถือเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีอยู่มากที่สุดในร่างกายเรา โดยปกติแล้วจะมีเม็ดเลือดขาวชนิดนี้อยู่ประมาณ 3-7 ล้านตัวต่อเลือด 1 ซี.ซี. หรือร้อยละ 60-70 ของจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด โดยไขกระดูกจะสร้างนิวโทรฟิลขึ้นมาใหม่ในทุก ๆ วัน แต่จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหากร่างกายเราได้รับเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย หรือเซลล์ในร่างกายมีอาการอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อ

          โดยการทำงานของเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลจะถูกปล่อยออกสู่กระแสเลือด ผ่านเข้าไปสู่เนื้อเยื่อของร่างกายในส่วนที่ติดเชื้อ ซึ่งจะใช้เวลาในการส่งเม็ดเลือดขาวเฉลี่ยประมาณ 7 ชั่วโมง และจะคงอยู่ในเนื้อเยื่อได้ประมาณ 1-2 วัน เพื่อกินเชื้อโรคบุกรุก และย่อยเชื้อนั้นก่อนที่ร่างกายจะขับเซลล์เม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลและเชื้อโรคที่ตายผ่านทางระบบขับถ่ายต่อไป

2. เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte)

          เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีจำนวนมากเป็นอันดับสองในกระแสเลือด ซึ่งปกติจะพบเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ได้ประมาณ 20-50% ของปริมาณเม็ดเลือดขาวทั้งหมดในกระแสเลือด ทว่าในร่างกายเราจะมีเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์อีกจำนวนมากที่อยู่นอกกระแสเลือด โดยเฉพาะในระบบน้ำเหลือง เนื่องจากเม็ดเลือดขาวชนิดนี้มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคแทบจะทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเชื้อบุกรุกที่เข้าสู่ร่างกายอย่างเรื้อรัง เช่น กรณีที่ติดเชื้อไวรัส หรือเป็นวัณโรค เป็นต้น

          ทั้งนี้เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ บีเซลล์ ทีเซลล์ และเนเจอรัล-คิลเลอร์เซลล์ โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ชนิดบีเซลล์จะมีหน้าที่ต้านเชื้อแบคทีเรียและสารพิษต่าง ๆ ส่วนเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ชนิดทีเซลล์จะมีหน้าที่ต้านเซลล์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เซลล์มะเร็ง ส่วนเนเจอรัล-คิลเลอร์เซลล์จะมีหน้าที่กำจัดทุกเซลล์ที่ไม่ใช่เซลล์ปกติในร่างกายเรา


ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง

3. เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophil)

          เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรียและพยาธิ อีกทั้งยังช่วยควบคุมภาวะภูมิแพ้และภาวะภูมิต้านทานตัวเองด้วย รวมทั้งยังสามารถระงับการทำงานของสารเคมีที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เนื่องจากหน้าที่หลักของเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลคือการปล่อยสารพิษออกไปจัดการกับเชื้อบุกรุก ให้สารพิษจากเซลล์เม็ดเลือดขาวค่อย ๆ กัดกร่อนความผิดปกติที่เข้ามาสู่ร่างกาย จึงสามารถทำลายพยาธิที่มีขนาดใหญ่ได้นั่นเอง

          ทั้งนี้ในคนปกติจะมีเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลอยู่ไม่เกิน 5% แต่ก็อาจพบว่าค่าเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลเพิ่มสูงขึ้นในตอนกลางคืนได้ เนื่องจากตามปกติแล้ว ไขกระดูกจะผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนี้ออกมาในเวลากลางคืน และจะมีเวลาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 18 ชั่วโมง ก่อนจะเข้าสู่เนื้อเยื่อปลายทางซึ่งส่วนมากจะเป็นระบบทางเดินอาหาร ทว่าหากพบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลที่อวัยวะอื่น ๆ ก็ส่อถึงบางโรคได้เช่นกัน

4. เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte)

          พบได้ในร่างกายประมาณ 4-10% ของปริมาณเม็ดเลือดขาวทั้งหมด โดยเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งมีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคและแบคทีเรียออกจากร่างกาย แถมยังสร้างภูมิต้านทานเพื่อป้องกันเชื้อโรคในครั้งต่อไปด้วย

          โดยเมื่อร่างกายมีเชื้อโรคหรือเชื้อที่ไม่ปกติมาบุกรุก เม็ดเลือดขาวโมโนไซต์จะพากันเคลื่อนตัวไปไหลวนอยู่ในกระแสเลือดเพื่อเตรียมจัดการเชื้อบุกรุกประมาณ 40 ชั่วโมงก่อนจะออกสู่เนื้อเยื่อ และแตกตัวไปดักกินสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย จากนั้นก็ย่อยเชื้อบุกรุกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วถ่ายโอนมาไว้ในเซลล์เพื่อให้เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ทำความรู้จัก เป็นการสร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งแปลกปลอมในลักษณะเดียวกันนี้ในครั้งต่อ ๆ ไปนั่นเอง


5. เม็ดเลือดขาวชนิดบาโซฟิล (Basophil)

          เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่พบได้น้อยที่สุดในร่างกายเรา คือไม่เกิน 2% ของปริมาณเม็ดเลือดขาวทั้งหมด มีหน้าที่ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมเฉพาะจุด ช่วยต้านอาการภูมิแพ้ และสามารถปล่อยสารที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ เช่น ฮีสตามีนและเฮพาริน ซึ่งจะช่วยให้ผนังหลอดเลือดปล่อยเซลล์ต่าง ๆ ผ่านออกมาง่ายขึ้น เปรียบเสมือนตัวนำทางให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอื่น ๆ มาช่วยกำจัดเชื้อโรคในบริเวณนั้นมากขึ้นด้วย แต่หากผลิตออกมามากเกินปกติอาจบ่งบอกถึงอาการแพ้บางชนิด


ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง คืออะไร ?

          โดยปกติแล้วร่างกายคนเราควรมีเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่ประมาณ 4,500-10,000 เซลล์ต่อโลหิตหนึ่งลูกบาศก์มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 11,000 เซลล์ต่อโลหิตหนึ่งลูกบาศก์มิลลิเมตร ดังนั้นหากมีจำนวนเม็ดเลือดขาวเกินจำนวนดังกล่าว ก็ถือว่าอยู่ในภาวะเม็ดเลือดขาวสูง ซึ่งโดยส่วนมากการที่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงเกินปกติก็มักจะเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ไม่สบาย เป็นไข้ มีพยาธิในร่างกาย อาจเกิดจากอาการหอบหืด ภูมิแพ้ หรือมีการอักเสบบริเวณอวัยวะต่าง ๆ เช่น คออักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปอดอักเสบ ลําไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านั้นมีกำลังต่อสู้กับเชื้อที่บุกรุกได้นั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม ภาวะเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มสูงขึ้นดังกรณีข้างต้น ก็ถือเป็นกลไกการป้องกันตัวเองอย่างหนึ่งของร่างกาย ซึ่งหากมีอาการป่วยไม่มาก เม็ดเลือดขาวสามารถจัดการเชื้อโรคและทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะปกติได้ เคสนี้ก็ถือว่าการมีเม็ดเลือดขาวสูงไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ค่ะ ทว่าหากมีอาการป่วยค่อนข้างหนัก เป็นเรื้อรังมานาน อย่างวัณโรค อาการปอดอักเสบ อาการไส้ติ่ง เคสเหล่านี้ควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง และเมื่อรักษาโรคที่เป็นจนหายขาด ระดับเม็ดเลือดขาวก็จะกลับสู่ภาวะปกติเช่นกันค่ะ

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง
 
เม็ดเลือดขาวสูงแบบไหน ไม่ใช่แค่ติดเชื้อ ?

          ภาวะเม็ดเลือดขาวสูงสามารถเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อ การอักเสบ การแพ้ หรือภาวะที่มีพยาธิบุกรุกร่างกายก็จริง แต่กระนั้นก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ร่างกายมีเม็ดเลือดขาวสูงเกินปกติได้เช่นกัน โดยปัจจัยที่ว่าก็มีดังต่อไปนี้

1. การตอบสนองจากการใช้ยา

          โดยเฉพาะการใช้ยาสเตียรอยด์ ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวมากขึ้นได้

2. การสูบบุหรี่

          การสูบบุหรี่มีผลทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายโดยสารนิโคตินที่มากับบุหรี่ ซึ่งพฤติกรรมการสูบบุหรี่ยังมีส่วนกระตุ้นความเสี่ยงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปอด และโรคถุงลมโป่งพอง รวมไปถึงการอักเสบติดเชื้อในอวัยวะต่าง ๆ ได้ง่าย ส่งผลให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดขาวออกมามากขึ้นเพื่อจัดการความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย

3. ความเครียด

          ความเครียดไม่เคยให้ประโยชน์กับร่างกายไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ เลยค่ะ อย่างในกรณีนี้ความเครียดก็ส่งผลให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นได้ด้วย โดยมีการศึกษาพบว่า ความเครียด ความวิตกกังวล รวมทั้งอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นในร่างกาย จะกระตุ้นให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดหลั่งออกมา และเมื่อปริมาณฮอร์โมนคอร์ติซอลมีมากขึ้นในกระแสเลือด ไขกระดูกจะผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมามากขึ้นเพื่อควบคุมฮอร์โมนแห่งความเครียดให้อยู่ในระดับปกติ แต่อย่างไรก็ตาม อาการนี้ไม่ถือว่าอันตรายค่ะ เพราะเมื่อร่างกายผ่อนคลายขึ้น ความเครียดหายไป ฮอร์โมนคอร์ติซอลลดลง ระดับเม็ดเลือดขาวก็จะกลับไปสู่ภาวะปกติเช่นเดิม

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง

4. โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก

          ความผิดปกติที่เกิดจากไขกระดูก เช่น โรคพังผืดในไขกระดูก ซึ่งเกิดจากการที่ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป ส่งผลให้เกิดพังผืดในไขกระดูกขึ้นได้ และอาจกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในภายหลัง

5. โรคเลือดข้น (Polycythemia vera)

          เป็นโรคเลือดชนิดหนึ่งที่เกิดจากการที่ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงจำนวนมากผิดปกติ ทำให้เลือดมีความเหนียวข้น ทว่านอกจากการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังอาจพบว่า ไขกระดูกของผู้ป่วยโรคนี้ผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

6. ร่างกายสูญเสียการควบคุมการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาว

          ในกรณีที่ร่างกายสูญเสียการควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดขาว จะทำให้เม็ดเลือดขาวถูกสร้างขึ้นมามากผิดปกติ และเม็ดเลือดขาวที่ไขกระดูกสร้างเพิ่มขึ้นมาเหล่านี้ก็จะขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งในกรณีนี้อาจเข้าข่ายโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมียนั่นเองค่ะ

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง อาการเป็นแบบไหน ?

          จริง ๆ แล้วภาวะเม็ดเลือดขาวสูงไม่มีอาการเฉพาะของโรค แต่จะมีอาการที่เกิดขึ้นจากสาเหตุที่ทำให้มีเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงอยู่บ้าง โดยส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดตามร่างกาย มีรอยฟกช้ำ ปวดหัว เป็นไข้ หนาวง่าย น้ำหนักลด เป็นลมหรือหมดสติ เป็นต้น ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้เป็นเวลานานและรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง รักษาได้อย่างไร ?

          เนื่องจากภาวะเม็ดเลือดขาวสูงเกิดจากหลายสาเหตุ แถมยังไม่มีอาการเฉพาะของโรค การรักษาผู้ป่วยภาวะเม็ดเลือดขาวสูงจึงต้องรักษาไปตามสาเหตุที่เป็น เช่น หากเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะ แต่หากระดับของเม็ดเลือดขาวไม่ได้สูงมาก หรือเม็ดเลือดขาวที่สูงสามารถหายไปได้เอง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพราะเพียงแค่ไม่กี่วัน ระดับเม็ดเลือดขาวก็จะกลับมาเป็นปกติแล้ว

          อย่างไรก็ตาม กรณีที่เม็ดเลือดขาวสูงมาก (Hyperleukocytosis) คือ เม็ดเลือดขาวสูงกว่า 100,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร เม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะไปอุดกั้นหลอดเลือดและเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ ทำให้เลือดหนืดจนไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่เพียงพอ อีกทั้งยังทำให้อวัยวะสูญเสียการทำงานไป ส่งผลให้หัวใจขาดเลือด และสมองขาดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นแพทย์อาจใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายพลาสมาซึ่งต้องได้รับมาจากผู้บริจาค เพื่อช่วยลดระดับเม็ดเลือดขาว

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง ป้องกันได้ไหม ?

          ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดขาวสูง เช่น การป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ ก็ถือว่าช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะเม็ดเลือดขาวสูงลงได้

          จะเห็นได้ว่า จริง ๆ แล้วภาวะเม็ดเลือดขาวสูงไม่ได้น่ากลัวเสมอไป ฉะนั้นหากมีภาวะเม็ดเลือดขาวสูงก็อย่าเพิ่งกังวลกลัวจะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวนะคะ แต่หากป่วยไม่หายสักทีก็แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิโรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย 
Dr.Sant
thalassemia
จุฬาเซ็นเตอร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
Mayoclinic, Healthydietbase, Healthline, Doctorshealthpress, Medicalnewstoday, Americaninno

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง ไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด รู้ไว้ จะได้ไม่เข้าใจผิด ! อัปเดตล่าสุด 8 ธันวาคม 2564 เวลา 09:43:27 522,014 อ่าน
TOP
x close