อาการคลื่นไส้ อาเจียนที่เป็นอยู่เกิดจากสาเหตุอะไร เข้าข่ายโรคไหม แล้วควรต้องบรรเทาอาการยังไงกันดี
อาการคลื่นไส้อาเจียนเริ่มต้นขึ้นจากศูนย์ควบคุมสมองที่เรียกว่า "ศูนย์อาเจียน" ซึ่งเมื่อศูนย์อาเจียนถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าจากภายนอก เช่น จากทางเดินอาหารและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากอวัยวะควบคุมการทรงตัวภายในหูชั้น (ก่อให้เกิดอาการเมารถเมาเรือ) หรือจากศูนย์ CTZ ก็จะส่งสัญญาณออกจากศูนย์อาเจียนไปสู่กระบังลม ทำให้กระบังลมบีบตัว ส่งสัญญาณทำให้เกิดอาการเกร็งบริเวณหน้าท้อง ในขณะที่หลอดอาหารและกระเพาะอาหารที่ได้รับสัญญาณนี้จะเกิดการคลายตัว ส่งผลให้เศษอาหารถูกผลักดันออกจากปากมาเป็นอาการอาเจียนนั่นเอง
อาการคลื่นไส้ อาเจียน เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
- สาเหตุทางจิตใจ ความเครียด ความวิตกกังวล (Psychogenic or emotional vomiting)
- ความผิดปกติทางกาย ซึ่งแบ่งได้เป็น
- ความผิดปกภายในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ, กระเพาะลำไส้อักเสบ, กระเพาะทะลุ อุดตัน ไม่ทำงาน หรือขาดเลือด, ภาวะตับหรือถุงน้ำดีอักเสบ, เยื่อบุช่องท้องอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ
- โรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนในร่างกาย เช่น อาการแพ้ท้องของหญิงตั้งครรภ์
- ภาวะติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)
- ความผิดปกติทางสมอง เช่น แรงดันในกะโหลกศีรษะสูงจากเนื้องอกหรือก้อนเลือดผิดปกติในศีรษะ, สมองพิการจากสารพิษ, อาการข้างเคียงของโรคไมเกรน, สมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
จากสารพิษ เช่น
- พิษจากการติดเชื้อในเส้นเลือด โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
- พิษหรือเชื้อโรคที่มาจากอาหาร (อาการอาหารเป็นพิษ)
- พิษจากการแพ้ยาและสารพิษบางชนิด เช่น การให้รังสีรักษา หรือยาประเภท Opioids, SSRI, Antibiotics, ยาเคมีบำบัด เป็นต้น
- อาการข้างเคียงจากโรคที่เป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวานชนิดพิเศษ (diabetic ketoacidosis), ไตวาย, หมวกไตพร่องวิกฤต (adrenal crisis) หรือโรคหัวใจบางชนิด รวมทั้งภาวะหัวใจล้มเหลว
- การตอบสนองของร่างกายต่อกลิ่นที่เหม็น ฉุน รุนแรง
- ภาวะที่ร่างกายได้รับแอลกอฮอล์มากเกินพิกัด
- ภาวะที่ได้รับความเจ็บปวดที่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น
คลื่นไส้ อาเจียนแบบนี้ เสี่ยงความผิดปกติอะไร
- รู้สึกคลื่นไส้ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร
ถ้าเพียงรู้สึกคลื่นไส้ แต่ไม่อาเจียน แต่มีอาการเบื่ออาหารร่วมด่้วย เคสนี้ถือว่ามีอาการไม่รุนแรง ยังสามารถกินอาหารอ่อน ๆ หรือเรื่องดื่มประเภทน้ำหวานได้ ซึ่งโดยส่วนมาแล้วอาการอย่างนี้จะเกิดขึ้นกับคนที่รู้สึกเบื่อ ๆ เครียด หรือกำลังวิตกกังวลกับอะไรบางอย่าง
- มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน หรืออาเจียนอย่างเดียวโดยไม่มีอาการเจ็บหนักหรือฉุกเฉิน อาจวินิจฉัยตามประวัติและสิ่งที่อาเจียนออกมา เช่น
- อาเจียนหลังตื่นนอนตอนเช้าเป็นส่วนใหญ่
- แพ้ท้อง โดยประจำเดือนจะมาขาด เต้านมโตและแข็งขึ้นร่วมด้วย
- แฮงก์เหล้า โดยเฉพาะคนที่ดื่มหนักมากในคืนก่อน หรือมีโรคพิษสุราเรื้อรังอยู่กับตัว ซึ่งอาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงร่วมด้วย
- มีภาวะไตวายร่วมด้วย โดยอาจสังเกตอาการบวมตามแขน ขา และตัว หรือรู้สึกอ่อนเพลียพร้อมอาเจียนบ่อย ๆ ในตอนเช้า
- อาเจียนไม่เป็นเวลา และไม่ได้อาเจียนเพราะการรับประทานอาหาร อาจเกิดจาก
- สมองผิดปกติ โดยเฉพาะหากอาเจียนพุ่ง ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ตามัว โดยไม่มีประวัติโรคกระเพาะอาหารมาก่อน
- ร่างกายได้รับสารพิษ หรือหากท้องเสียไปพร้อมกันด้วย อาจมีอาการอาหารเป็นพิษ
- ความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนในขณะที่รับประทานอาหารหรือหลังรับประทานอาหารทันที
ทั้งนี้ อาการอาเจียนขณะกินอาหารหรือหลังอาหารทันทีอาจเกิดได้จากกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน จากการดื่มเหล้า การรับประทานของเผ็ด หรือการรับประทานอาหารจนอิ่มมากเกินไป
- มีอาการอาเจียนหลังอาหาร 1 ชั่วโมงขึ้นไป มักเกิดจาก
- กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นอุดตัน ซึ่งส่วนมากเกิดจากกระเพาะอาหาร ลำไส้เป็นแผลเรื้อรัง มักจะมีอาการปวดท้องเวลาหิวหรือเมื่ออิ่มเป็นเวลานาน ๆ และสิ่งที่อาเจียนออกมามักจะเป็นอาหารที่กินมานานหลายชั่วโมงแล้ว
- กระเพาะ ลำไส้ทำงานน้อยไป มักจะเป็นสาเหตุจากอาการข้างเคียงของโรคเบาหวานเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษา
- มีอาการอาเจียนร่วมกับอาการปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมด้วยทุกครั้ง อาจเสี่ยงโรคตับอักเสบได้
- อาเจียนหลังกินยา มักเกิดจากผลข้างเคียงของยา หรือมีอาการแพ้ยานั้น ๆ หรือกินยาหลังอาหารในขณะที่ท้องว่าง
อาการอาเจียนแบบไหนต้องไปหาหมอ
- หากอาเจียนติดต่อกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ หรือสงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ให้รีบไปพบแพทย์
- หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนทั้งวัน หรือมากกว่า 24 ชั่วโมง
- หากเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ อาเจียนนานกว่า 2 ชั่วโมง ให้รีบไปพบกุมารแพทย์โดยด่วน เพราะอาจมีภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะหากเด็กไม่ปัสสาวะนานกว่า 4-6 ชั่วโมงร่วมด้วย
- อาเจียนโดยมีเลือดปนออกมาด้วย
- อาเจียนร่วมกับมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง และมีอาการคอแข็ง
- อาเจียนร่วมกับอาการเฉื่อยช้า ซึม และงุนงง
- อาเจียนร่วมกับมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
- ท้องเสียร่วมด้วย
- หายใจเร็วและชีพจรเต้นผิดปกติ
วิธีรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน
1. หากมีอาการคลื่นไส้ที่ไม่รุนแรง หรือรู้สึกคลื่นไส้เพราะรับประทานอาการได้น้อย (รู้สึกเบื่ออาหาร) อาจรักษาด้วยยาเมโตโคลปราไมด์ (Metoclopraminde) ครั้งละ 1 เม็ดก่อนอาหาร 3 เวลา
2. หากคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศรีษะจากการเมารถเมาเรือ ควรใช้ยาไดเมนฮัยดรีเนต (dimenhydrinate) ครั้งละ 1 เม็ดเมื่อมีอาการ
ทั้งนี้ การรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียนด้วยยา จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรด้วยทุกครั้ง เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียนมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งความเหมาะสมของการใช้ยาก็ขึ้นอยู่กับอายุและอาการคลื่นไส้ในแต่ละเคสด้วย ที่สำคัญยาทุกชนิดมีผลข้างเคียงที่ควรต้องระวังด้วยกันทั้งนั้นนะคะ
วิธีป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน
1. ดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียง
2. รับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด
3. รับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
4. แบ่งอาหารออกเป็น 5-6 มื้อเล็ก ๆ แทนที่จะรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ๆ 3 มื้อ
5. ควรรับประทานอาการก่อนเข้านอนประมาณ 3-4 ชั่วโมง
แม้ว่าอาการคลื่นไส้ อาเจียนจะไม่ใช่โรค แต่ก็เป็นสาเหตุของโรคและความผิดปกติของร่างกายได้อย่างที่เราเพิ่งนำเสนอไป ดังนั้นหากคุณมีอาการเหล่านี้อยู่บ้าง ก็อย่าลืมใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้นนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
,
WebMD
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล