x close

สารพันปัญหา ปวดประจำเดือน

ปวดประจำเดือน

สารพันปัญหาปวดประจำเดือน (ไทยรัฐ)
ข้อมูลจากโรงพยาบาลเวชธานี

          การมาเยือนทุกเดือนของประจำเดือนในเพศหญิง ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ไม่ต้องขบคิดให้ปวดหัว แต่หลายคนก็เกิดอาการปวดหัวเหมือนจะเป็นไข้ เหนื่อยง่าย ซึมเศร้า หงุดหงิด คัดเต้านม คลื่นไส้อาเจียน และปวดถ่วงท้องน้อย…เมื่อวันนั้นของเดือนมาถึง...

          การมีประจำเดือน เป็นเครื่องหมายของสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือ ตั้งแต่อายุประมาณ 12 ปี จนถึงอายุเฉลี่ยประมาณ 55 ปี โดยการทำงานของฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ที่มีหน้าที่ในการควบคุม กระบวนการสร้างไข่ ตกไข่ ตลอดจนการนำไปสู่การปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย และการฟักตัวเป็นมนุษย์ในที่สุด

          ในวันที่ผนังภายในมดลูกค่อย ๆ เพิ่มความหนาขึ้น เซลล์เยื่อบุผนังมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยที่ความหนานี้จะเต็มไปด้วยเส้นเลือดที่มาเลี้ยง เมื่อหนาเต็มที่แล้วระดับของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จะมีการหลุดลอกของชั้นผนังภายในมดลูกที่หนาตัวขึ้น และมีเลือดอยู่ปริมาณมาก กลายมาเป็นประจำเดือนไหลออกมาทางช่องคลอด และในช่วงนี้คุณผู้หญิงหลายท่านมักมีอาการมากมายที่รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น อาการวิงเวียน คลื่นไส้ ท้องอืด เบื่ออาหาร หงุดหงิด มีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ อันเนื่องมาจากระดับฮอร์โมนเพศลดลงจากระดับปกติ

          ที่สำคัญคุณผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ยังต้องประสบกับปัญหาปวดท้องในขณะมีประจำเดือน ซึ่งสร้างความทรมานทั้งทางร่างกายและอารมณ์ จนบางครั้งอาจส่งผลต่อการทำงานปกติ หรือการดำเนินชีวิตประจำวันได้

          ทว่าอาการที่น่าวิตกของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ถึงวัยมีประจำเดือน ก็คงหนีไม่พ้น "ปวดประจำเดือน" และถ้าปวดทุกเดือน…ปวดมาก…ก็ไม่ควรวางใจ

          พญ. จิราภรณ์ ครุพานิช สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงอาการปวดประจำเดือนว่า โดยทั่วไปเกิดจากผนังมดลูกมีการสร้างสารชนิดที่เรียกว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) หลั่งออกมามากขึ้น หรือมีความไวต่อสารตัวนี้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และมดลูกหดตัวแรงขึ้น อันเป็นสาเหตุของอาการปวดประจำเดือน นอกจากนี้ยังทำให้เส้นเลือดในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายหดตัวได้อีก จึงทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และท้องเดินร่วมด้วย

          ความจริงแล้วอาการปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการมีประจำเดือนแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติใด ๆ เพียงแต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงบางคน ที่มดลูกมีการบีบรัดตัวอย่างรุนแรงเท่านั้น จึงไม่มีอะไรที่น่าวิตกกังวล เว้นเสียแต่ว่าจะมีการปวดถ่วงอย่างรุนแรง บริเวณท้องน้อย ซึ่งหากปวดมาก ๆ จนไม่เป็นอันกินอันนอน ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เพราะการปล่อยให้อาการปวดประจำเดือนรุมเร้าทุกครั้งที่มีประจำเดือน โดยไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกวิธีนั้น อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างมากได้

          สาเหตุที่ผู้หญิงมีอาการปวดท้องน้อยสามารถเกิดก่อน เกิดในระหว่าง หรือหลังมีประจำเดือนก็ได้ อาจเกิดจากปีกมดลูกอักเสบ เนื้องอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่ หรือในส่วนของโรคที่ไม่ใช่ทางนรีเวช เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

          ส่วนสาเหตุของการปวดประจำเดือน ที่เกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) พบร้อยละ 7-10 ของผู้หญิงทั่วไป อาจมากถึงร้อยละ 50 ของผู้หญิงก่อนหมดประจำเดือน และพบร้อยละ 38 (โดยเฉลี่ยจากร้อยละ 20-50) ของผู้หญิงที่มีปัญหาการมีบุตรยาก โดยพบร้อยละ 70-89 ของผู้หญิงที่ปวดท้องน้อยเรื้อรัง หากมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม อัตราเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในญาติสายตรง 10 เท่า

          ภาวะการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกนอกมดลูก ส่วนใหญ่เกิดในอุ้งเชิงกราน ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก ทั้งจากอาการปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือในบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย ส่วนความเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยาก เกิดจากการรุกล้ำของเนื้อเยื่อเข้าไปในมดลูก ทำให้เกิดพังผืดตามมา และไข่ในเพศหญิงฝังตัวได้ยากขึ้น

          ในกรณีที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เกิดในบริเวณลำไส้ใหญ่ อาจปนมากับการถ่ายเป็นมูกเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งในกรณีหลังพบเมื่อเนื้อเยื่อลุกลามเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ

          ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งมาจากปีกมดลูกอักเสบ จากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ก่อให้เกิดพังผืดในบริเวณปีกมดลูก ทำให้เกิดการปวดเรื้อรังบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในช่วงมีประจำเดือนเสมอไป

          จากสาเหตุที่เกิดขึ้น สามารถทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจภายในโดยสูติ-แพทย์ หรือการส่องกล้องเข้าไปภายในช่องท้อง และทำการตัดชิ้นเนื้อส่งพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาได้ในกรณีที่ปวดมาก และสามารถทำการวินิจฉัยโรคได้อีกหลายวิธี

วิธีลดปวดประจำเดือน

          การรับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น เป็นหนึ่งวิธีที่พบได้บ่อย ๆ ซึ่งก็ใช้ได้ผล แต่การสะสมของยาแก้ปวดในร่างกายอาจส่งผลต่อกระบวนการทำงานของตับ และยังอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้ ดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า การออกกำลังกายเป็นประจำ สม่ำเสมอ และเหมาะสม ไม่หักโหมจนเกิดอาการเจ็บป่วย เช่น การวิ่งอยู่กับที่ การออกกายบริหารแบบเต้นแอโรบิก การเดินวันละ 10-20 นาที นอกจากจะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายโดยรวม เป็นไปด้วยดีแล้ว ที่สำคัญช่วยให้ร่างกายสามารถทนกับ ความเจ็บปวดได้มากขึ้น

          การบำรุงร่างกายด้วยอาหาร และสมุนไพรจีนอย่าง "ตังกุย" ก็นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้หญิงยุคนี้ สารสกัดที่อยู่ในตังกุย มีคุณสมบัติในการต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก จึงทำให้สามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือน และอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวได้ รวมทั้งสามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ และสม่ำเสมอ

          นอกจากนี้ การเลือกรับประทานอาหาร ที่ให้พลังงานสูง จำพวก แป้ง ไขมัน น้ำตาล และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ๆ เช่น ตับ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลา หอย ถั่วเมล็ดแห้ง ก็จะช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางจากการที่ร่างกายต้องสูญเสียเลือดไป ในขณะมีประจำเดือนด้วยเช่นกัน

          นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวที่กล่าวมา แล้ว ยังควรคำนึงถึงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ บางประการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นในระหว่างที่มีรอบเดือน นั่นคือ ควรพิถีพิถันกับการทำความสะอาดร่างกายให้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณ "จุดซ่อนเร้น"

          ขณะเดียวกันก็ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายในขณะที่มีประจำ เดือน คือ ไม่ใส่เสื้อผ้าที่หลวมหรือคับจนเกินไป เลือกรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมวดหมู่ งดดื่มน้ำเย็นจัด ๆ ไม่ปล่อยความคิดให้ฟุ้งซ่าน หรือหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องเลวร้าย รวมไปถึงไม่ควรทุ่มตัว หักโหมกับงานจนเกินไป พยายามทำใจให้สบาย ทำอารมณ์ให้สดชื่น แจ่มใสอยู่ตลอดเวลา



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สารพันปัญหา ปวดประจำเดือน อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 17:06:44 64,361 อ่าน
TOP