ท้องอืดท้องเฟ้อบ่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะจ๊ะ

          หลายครั้งที่อาการแสบท้องเข้ามาเล่นงานเราให้เจ็บจี๊ด ๆ หรือบางทีก็รู้สึกแน่นท้องแทนที่จะไปแน่นอก จนต้องเรอระบายความปั่นป่วนในช่องท้องออกมาให้ขายหน้าเล่น ๆ และก็เชื่อว่าทุกครั้งที่เกิดอาการผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ในท้องของเราแบบนี้ รวมไปถึงอาการท้องเสียด้วย คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะหยิบยาที่ซื้อมาจากร้านขายยามาบรรเทาอาการแทนที่จะไปหาหมอรักษาโรคให้เป็นเรื่องเป็นราว

ปวดท้อง

           แต่อาการแบบนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องธรรมดาสามัญทั่วไปก็ได้ เพราะเอาเข้าจริง ๆ นี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกาย ว่าเกิดบางอย่างผิดปกติขึ้นกับร่างกายเราแล้วล่ะ เอาเป็นว่าเรามาดูข้อมูลจากเว็บไซต์ Good Housekeeping เขาได้ชี้แจงเรื่องความผิดปกติต่าง ๆ กับช่องท้องของเราให้ได้รู้กันดีกว่าค่ะ

เรอ ปั่นป่วนในช่องท้อง

          ถ้าคุณเรอบ่อย ๆ และรู้สึกเหมือนมีลมวนอยู่ในท้องตลอดเวลา ก็แสดงว่าเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อขึ้นแล้ว ซึ่งอาการท้องอืดท้องเฟ้อก็มีสาเหตุมาจากในกระเพาะอาหารของเรามีแก๊สอยู่เยอะเกินไป จนทำให้เกิดอาการแน่นท้องขึ้นมาได้ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยยาลดแก๊สในกระเพาะอาหาร และพยายามอย่านอนราบลงกับพื้น แต่ให้หมั่นเดินแทน เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     * ป้องกันอย่างไรดี

          หากสังเกตว่าตัวเองเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้ออยู่บ่อย ๆ ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของคุณเอง เช่น เคี้ยวอาหารให้ช้าลง และเคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น หรือถ้ามีอาการอาหารไม่ย่อยร่วมด้วย ก็ต้องเลี่ยงรับประทานอาหารรสจัด และอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ เป็นต้น

รู้สึกแสบร้อนกลางอก

          อาการแสบร้อนกลางอกแบบเฉียบพลัน แสดงสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ระบบย่อยอาหารภายในร่างกายของเราเริ่มมีปัญหา เพราะอาหารที่ทานเข้าไป ได้ย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหาร จนทำให้เราเกิดความรู้สึกแสบร้อนกลางอก ซึ่งอาการแสบร้อนกลางอกเนื่องจากอาหารไม่ย่อย อาจจะใช้ยาลดกรดที่ขายตามร้านขายยาทั่วไปบรรเทาอาการได้เลย แต่ควรเลือกกินยาลดกรดชนิดน้ำ เพราะจะออกฤทธิ์บรรเทาอาการได้เร็วกว่ายาเม็ดที่ต้องเคี้ยว และหากอาการกำเริบทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการอย่างถูกต้องกันต่อไป

     * ป้องกันอย่างไรดี

          หลังจากรับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้ว ควรรอให้อาหารย่อยอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนที่จะเอนตัวลงนอน เพราะถ้าหากเรานอนทั้ง ๆ ที่ระบบย่อยอาหารยังย่อยอาหารในท้องได้ไม่หมด ก็จะทำให้อาหารที่เรากินเข้าไปตีย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร เป็นสาเหตุของอาการแสบร้อนกลางอกนั่นเอง นอกจากนี้ควรนอนหมอนที่สูงประมาณ 3-4 นิ้วด้วยนะคะ


ท้องผูก

ถ่ายยาก

          สำหรับคนที่นาน ๆ จะถ่ายสักที หรือถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถคาดเดาความผิดปกติของระบบภายในร่างกายได้เช่นกัน โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่จะทำให้เกิดอาการท้องผูกขึ้นได้ก็เกิดจาก

          - มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคพาร์กินสัน โรคทางระบบประสาทต่าง ๆ และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองและไขสันหลัง

          - เกิดจากยาที่รับประทาน เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาลดกรด, ยาที่มีฤทธิ์ anticholinergic ซึ่งจะทำให้การบีบตัวของทางเดินอาหารน้อยลง, ยากันชัก, ยาบำรุงเลือด, ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน (morphine) เป็นต้น

          - การอุดกั้นของทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ เนื้องอกในลำไส้ ลำไส้บิดพันกัน และลำไส้ตีบตัน เป็นต้น

          - การเคลื่อนไหวของลำไส้หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ

          ซึ่งวิธีแก้อาการท้องผูกก็ไม่ยาก เพียงแค่รับประทานผัก-ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ เพื่อให้ช่วยขับถ่ายได้สะดวกขึ้น หรือถ้าไม่สามารถรับประทานผัก-ผลไม้ได้อย่างพอเพียง แนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดที่มีกากใยเยอะ ๆ ช่วยด้วยอีกแรง

ท้องเสีย

          ใครที่รู้ตัวว่าธาตุอ่อน กินอะไรก็ท้องเสียอยู่บ่อย ๆ ควรต้องระวังการรับประทานของตัวเองให้มากกว่าคนทั่วไป เพราะคุณอาจจะมีอาการแพ้นม เนื่องจากร่างกายไม่มีเอนไซม์ช่วยย่อยน้ำตาลแลกโตสในนม หรืออาจจะแพ้แอลกอฮอล์ หรืออาหารบางชนิดก็ได้ ซึ่งถ้าเกิดอาการท้องเสีย ให้พยายามถ่ายออกมาให้หมด และอย่ากินยาหยุดถ่ายเด็ดขาด เพราะเชื้อจะกักอยู่ในร่างกาย ทำให้ปวดแน่นท้องมากขึ้น

          นอกจากนี้ก็ต้องหยุดรับประทานอาหารสัก 2-4 ชั่วโมงหลังเกิดอาการท้องเสีย เพื่อให้ลำไส้หยุดทำงานชั่วคราว อีกทั้งต้องหมั่นจิบน้ำเกลือแร่เสมอ เพื่อให้ร่างกายได้รับเกลือแร่แทนน้ำที่สูญเสียไป และพยายามอย่ารับประทานอาหารที่มีกากใย นม และอาหารรสจัดในช่วงที่ยังถ่ายเหลวอยู่ แต่ให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หรือข้าวใส่เกลือแทน

ปวดแสบท้อง ปวดบิด

          อาการแสบท้องจี๊ด ๆ อย่างไม่ทราบสาเหตุ และไม่สามารถระบุตำแหน่งที่เจ็บปวดได้อย่างแน่ชัด แต่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจจะมีสาเหตุได้หลายกรณี เช่น เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารเกิดระคายเคืองเนื่องจากรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด จึงทำให้เกิดอาการแสบท้อง ปวดบิดขึ้นได้ ซึ่งถ้ามีอาการปวดแสบที่รุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกเหมือนมีดบาดทุกครั้งที่ขยับตัว ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจวินิจฉัยโรค หรือเอกซเรย์ดูความผิดปกติในช่องท้องที่เกิดขึ้น และหาทางรักษาอย่างถูกวิธี


ปวดท้อง

ท้องไส้ปั่นป่วน

          หากรู้สึกปั่นป่วน แน่นท้อง คล้าย ๆ กับท้องไส้ปั่นป่วน ให้สังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เช่น มีอาการปวดท้อง บริเวณกลางท้อง หรือปวดท้องน้อยบ่อย ๆ หรือเปล่า หรือท้องอืดแน่นท้อง เหมือนมีลมอยู่ในกระเพาะเยอะเกินไป และถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกสลับกับท้องเสีย หรือบางรายอาจจะรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุดนานติดต่อกัน 3 เดือน เป็นต้น

          หากมีอาการผิดปกติแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณ ก็อาจจะคาดเดาได้ว่า คุณกำลังตกอยู่ในภาวะลำไส้แปรปรวน หรือ ภาวะ IBS ซึ่งก็มีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก

          - ร่างกายหลั่งสารหรือฮอร์โมนที่ผิดปกติในผนังลำไส้ เป็นผลให้ลำไส้บิดตัวอย่างผิดปกติไปด้วย จนเกิดอาการท้องผูก ท้องเสีย และปวดท้องขึ้นได้

          - ระบบประสาทในผนังลำไส้ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าง่ายกว่าปกติ เช่น ดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ อาหารรสเผ็ด เปรี้ยว ก็จะเกิดอาการปวดท้อง แสบร้อนที่กระเพาะได้

          - อารมณ์ปรวนแปร เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล หรือความกลัวต่อบางอย่างอย่างฉับพลันทันใด ซึ่งจะส่งผลให้ลำไส้ทำงานอย่างผิดปกติไปด้วยเช่นกัน

          - เกิดจากความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของลำไส้

     * รักษาได้ไหม

          ทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาวิธีรักษาโรคลำไส้แปรปรวนให้หายขาดได้ ทำได้แค่เพียงให้ยาบรรเทาอาการไปก็เท่านั้น ซึ่งโดยส่วนมากแพทย์ก็จะให้ยารักษาตามอาการของแต่ละคนไป เช่น ถ้ามีอาการปวดท้อง แพทย์ก็จะสั่งยาที่ช่วยคลายการบีบตัวของลำไส้ ลดอาการปวดเกร็ง หรือถ้ามีอาการท้องอืด มีลมในท้อง แพทย์ก็จะให้ยาลดแก๊สในกระเพาะอาหาร และยาขับลมไปบรรเทาอาการ เป็นต้น

     * ป้องกันอย่างไรดี

          โรคลำไส้แปรปรวนมักจะเกิดกับคนที่มีความเครียดบ่อย ๆ และคนที่รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ไม่ชอบกินผักและผลไม้ แต่ชอบกินอาหารขยะและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ รวมทั้งคนที่กินอาหารไม่ตรงเวลาด้วย ก็อาจจะเสี่ยงเป็นโรคลำไส้แปรปรวนด้วยเช่นกัน ดังนั้นทางที่ดีเราก็ต้องดูแลสุขภาพอยู่เสมอ หมั่นออกกำลังกายและทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมทั้งพยายามทำใจให้สบาย ไม่เครียด ไม่อดนอนด้วยนะคะ

อึดอัด แน่นท้อง

          ลักษณะอาการคล้าย ๆ อาหารไม่ย่อยแบบนี้อาจเกิดจากการที่กระเพาะได้รับแลกโตสจากนมมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ร่างกายหลั่งเอนไซม์มาช่วยย่อยน้ำตาลแลกโตสจากนมไม่ทัน โดยอาการลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ร่างกายไม่ชินกับการย่อยนมเป็นส่วนใหญ่ จนเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกอึดอัด แน่นท้องขึ้นมาได้

          ดังนั้นถ้าคุณสังเกตว่าตัวเองมักจะมีอาการอึดอัดแน่นท้องแบบนี้ทุกครั้งที่ดื่มนม หรือกินอาหารประเภทนมเข้าไป ก็พยายามลดปริมาณการดื่มนมให้น้อยลง เพื่อบรรเทาอาการอึดอัดแน่นท้องให้หมดไป

          อาการปวดท้องในลักษณะต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากจะเจอแน่ ๆ เพราะไม่ว่าจะปวดท้องในลักษณะแบบไหน ก็ดูจะเจ็บปวดทรมานไม่ต่างกันเลยนะคะ ดังนั้นทางที่ดีก็ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทุก 5 หมู่ เน้นรับประทานผักและผลไม้ นอกจากนี้ก็ต้องใส่ใจสุขภาพร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ ถ้าสังเกตว่าระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเริ่มไม่เหมือนเดิม ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการที่แน่ชัดกันต่อไปด้วยนะคะ

 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องอืดท้องเฟ้อบ่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะจ๊ะ อัปเดตล่าสุด 30 มิถุนายน 2564 เวลา 16:21:20 449,997 อ่าน
TOP
x close