โรคกลัวรู trypophobia ภาวะโฟเบียที่อาจร้ายแรงกว่าที่คิด

           โรคกลัวรู ขอบอกไว้ว่าไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ถ้าเจอจัง ๆ อาจถึงขั้นช็อกได้เช่นกัน

โรคกลัวรู

           ในโลกใบนี้มีคนที่เป็นโรคกลัวอะไรแปลก ๆ เยอะแยะไปหมด ซึ่งทำให้เวลาที่เห็นวัตถุอะไรที่แม้จะดูไม่อันตรายเลยแม้แต่น้อย แต่ก็เล่นเอากลัวจนร้องไห้ได้เลยทีเดียว อย่างเช่นที่กระปุกดอทคอมจะนำทุกคนไปรู้จักกับอีกหนึ่งภาวะโฟเบียที่เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังประสบอยู่ นั่นคือ โรคกลัวรู หรือ ทริโปโฟเบีย (Trypophobia) จะมีอาการอย่างไร และเป็นภาวะที่ส่งผลร้ายแรงไหม ไปติดตามกันดู

โรคกลัวรู หรือ ทริโปโฟเบีย (Trypophobia)

โรคกลัวรู ภาษาอังกฤษเรียกว่าอย่างไร ?

          โรคกลัวรู มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Trypophobia (ทริโปโฟเบีย) มีคำรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Trypo ที่แปลว่ารู และคำว่า phobia ที่เป็นว่าความกลัว

 
โรคกลัวรู คืออะไร ?

          โรคกลัวรู คือภาวะของคนที่มีอาการกระอักกระอ่วน ไม่อยากมองไม่อยากเข้าใกล้วัตถุที่มีลักษณะเป็นรูกลวงโบ๋ หรือมีเม็ดโผล่ออกมาจากรู
โดยอาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ภาพรูในลักษณะผิดธรรมชาติ อย่างเช่น รูที่ปรากฏตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เนื้อผิวหนัง หรือต้นไม้เท่านั้น แต่รวมไปถึงภาพธรรมดาทั่วไปแต่มีรูปรากฏอยู่ ได้แก่ ฟองน้ำ ปะการัง เมล็ดพืช หรือแม้แต่วงกลมตามร่างกายของสัตว์เลยทีเดียว ถ้าหากเห็นแล้วจะรู้สึกเกิดอาการคันยุกยิก ขนลุก หรือรู้สึกขยะแขยง บางคนถึงขั้นตัวสั่น อาเจียน เข่าอ่อน และไม่สบายไปเลยก็มี 

โรคกลัวรู หรือ ทริโปโฟเบีย (Trypophobia)

 โรคกลัวรู สาเหตุ เกิดจากอะไร ?

           สำหรับสาเหตุของภาวะดังกล่าวนี้ จากการวิจัยของ อาร์โนด์ วิลกินส์ และจีออฟ โคล จากสถาบันจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแห่งเอสเซกซ์ สหราชอาณาจักร ระบุว่า อาการที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากความรู้สึกขยะแขยง มากกว่าความกลัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะความกลัวนั้นจะต้องมาจากการที่สมองนำภาพที่เห็นไปเชื่อมโยงกับบางสิ่งบางอย่างที่อันตราย แต่ภาวะดังกล่าวกลับไม่ใช่ เพราะผู้ป่วยมักจะมีความรู้สึกกระอักกระอ่วนต่อทุก ๆ อย่างที่ถึงแม้ว่าจะรู้ดีว่าไม่มีอันตรายเลยแม้แต่น้อย

โรคกลัวรู หรือ ทริโปโฟเบีย (Trypophobia)

           ดังเช่นในกรณีของ สเตฟานี่ อินกาเมลส์ วัยรุ่นสาวชาวอังกฤษที่เกิดอาการกลัวมัฟฟิน เนื่องจากผิวของขนมปังดังกล่าวมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ ตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้เธออาเจียนออกมาทุกครั้งหลังจากที่เห็นภาพของขนมปังดังกล่าว และมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องแอดมิตเข้าโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว

           นอกจากนี้พวกนักจิตวิทยายังให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า การที่คนรู้สึกกลัวหรือไม่ชอบภาพอะไรก็ตามที่มีรูเยอะ ๆ อาจเป็นเพราะพวกเขาเคยมีประสบการณ์เลวร้ายเกี่ยวกับสิ่งที่เห็นมาก่อน ทั้งที่เกิดจากการกระทำของคนด้วยกันเอง หรือสัตว์ต่าง ๆ ที่เคยเรียนรู้มาว่าเป็นอันตรายและควรหลีกเลี่ยง อย่างเช่น ตัวอย่างของชายที่เป็นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่าง บอกว่าเขารู้สึกหวาดกลัวเมื่อเห็นรูปทรงกลม ๆ บนตัวปลาหมึกวงแหวนสีน้ำเงิน

           แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกเหนือจากสัตว์มีพิษเหล่านั้นแล้ว ยังมีสิ่งของอื่น ๆ ที่สามารถนำไปสู่ความกลัวได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เมล็ดฝักบัว หินพัมมิส หลุมในเนื้อฟัน รูขุมขนหรือตัวรับสัญญาณของปลาฉลาม รูในผนังคอนกรีต ไม้ที่โดนแมลงเจาะ ภาพขยายของรูขุมขน หลุมบนผนังที่เกิดจากการผุกร่อนไขกระดูก รังตัวต่อ รังผึ้ง รังมด และฟองแป้งในเนื้อขนมปัง



โรคกลัวรู วิธีการรักษาทำอย่างไร ?

           เนื่องจากโรคกลัวรูนั่นเกิดขึ้นจากภาวะความกลัวในจิตใจ ดังนั้นจึงไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา แต่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ในกรณีที่มีอาการรุนแรง โดยเราจะสามารถสังเกตได้ว่าอาการกลัวรูของตนเองมีความรุนแรงหรือไม่ ด้วยการสังเกตง่าย ๆ ดังนี้ 

          - เมื่อรู้สึกว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้า 

          - เมื่อความกลัวนั้นกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล 

          - เมื่อมีอาการกลัวติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน

          ทั้งนี้ ในการรักษาจะต้องมีการบูรณาการหลาย ๆ อย่างควบคู่กัน ทั้งการบำบัดพฤติกรรม การเอาชนะความกลัวด้วยวิธีทางจิตวิทยา และถ้าหากมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยก็จำเป็นจะต้องใช้ยาต้านอาการซึมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีสภาวะจิตใจที่ดีและพร้อมจะเอาชนะความกลัวได้ค่ะ



ทดสอบโรคกลัวรู ทำได้ด้วยวิธีนี้ 

          การทดสอบโรคกลัวรู้นั้นสามารถทดสอบได้ง่าย ๆ ด้วยการดูภาพหรือคลิปวิดีโอที่มีรูปรูตะปุ่มตะป่ำ หากเกิดอาการอึดอัด หวาดกลัว จนไปถึงรู้สึกคลื่นไส้ หรือรู้สึกอยากอาเจียน นั่นก็แปลว่าคุณกำลังเป็นโรคกลัวรูแล้วล่ะค่ะ และวันนี้เราก็มีตัวอย่างคลิปวิดีโอทดสอบอาการโรคกลัวรูมาฝากกันด้วย ถ้าพร้อมจะทดสอบแล้วเราไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ



          แม้จะดูเหมือนไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไรสำหรับคนที่ไม่มีอาการนี้แต่อยากจะบอกว่าความกลัวที่กลายเป็นโรคในตระกูลโฟเบียนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายได้ ดังนั้นหากมีคนรอบข้างมีอาการกลัวที่ดูเหมือนจะร้ายแรงละก็ ทางที่ดีที่สุดคือควรจะทำความเข้าใจ และไม่ซ้ำเติม เพราะบางทีความรู้สึกขบขันเนี่ยล่ะค่ะที่จะทำร้ายอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคกลัวรู trypophobia ภาวะโฟเบียที่อาจร้ายแรงกว่าที่คิด อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2564 เวลา 15:55:42 309,580 อ่าน
TOP
x close