x close

หญ้าดอกขาว สมุนไพรลดความอยากอาหาร ตัวช่วยของคนอยากเลิกบุหรี่

          หญ้าดอกขาว สมุนไพรสรรพคุณเด็ด ช่วยสิงห์อมควันเลิกบุหรี่ แถมยังเป็นตัวช่วยลดน้ำหนักของคนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน

หญ้าดอกขาว

          ชื่อของ "หญ้าดอกขาว" เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีสรรพคุณช่วยลดความอยากบุหรี่ หลังจากถูกบรรจุเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ซึ่งนอกจากจะเป็นสมุนไพรที่ช่วยให้คนติดบุหรี่เลิกบุหรี่ได้แล้วนั้น ก็ยังมีสรรพคุณอีกมากมายที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของคนเรา ดังที่นิตยสารหมอชาวบ้านให้ข้อมูลว่า...

           ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vernonia cinerea (L) Less.

           ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE

           ชื่ออื่น ๆ : ก้านธูป หญ้าหมอน้อย เสือสามขา หญ้าสามวัน ผ้ำสามวัน

           ลักษณะทั่วไป : ไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว เรียงเวียน ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง สีม่วง ผลแห้ง

           การขยายพันธุ์ : ใช้เมล็ด

หญ้าดอกขาว

เล่าเรื่องหญ้าหมอน้อย

          หญ้าดอกขาว จัดเป็นวัชพืชชั้นดี ที่มีไว้ก็เหมือนมีหมออยู่ข้างกาย ดังชื่อที่ว่าหมอน้อย น่าจะหมายถึงสรรพคุณที่สามารถรักษาได้สารพัดของเจ้าหญ้าดอกขาวนี้นั่นเอง จากคำบอกเล่าของหมอยาพื้นบ้าน คุณตาส่วน สีมะพริก ท่านว่า หญ้าหมอน้อยนี้ดีเป็นยาแก้ไข้ที่ใกล้มือที่สุด ใช้ได้ตั้งแต่ ไข้ทับระดู ไข้หวัด ไข้มาลาเรีย นอกจากนั้น ยังเป็นยาล้างปอดที่ดีจึงใช้ได้ในอาการ ไอ เจ็บคอ หอบ และสามารถใช้รักษาอาการปวดได้ ทั้งปวดท้อง โรคกระเพาะ ปวดเมื่อย ปวดข้อ

          ที่สำคัญคือ ตายืนยันว่า โรคเลือดสูง (ความดันโลหิตสูง) เยี่ยวขัด คนเป็นเบาหวาน ให้ตากหมอน้อยไว้กินประจำได้เลย ตาส่วนยังบอกว่า หมอน้อยเป็นยารักษาแผลกลาย ผ้ำ (การติดเชื้อมีหนองในเนื้อเยื่อลึก ๆ คล้ายฝีแต่ไม่ใช่ฝี) ฝีหนอง งูสวัด ที่ดีตัวหนึ่งด้วย

          นอกจากมีสรรพคุณที่สร้างความอุ่นใจเมื่อมีไว้ใกล้ ๆ แล้ว เมื่อนำหมอน้อยมาต้มกินก็พบว่า เป็นยาต้มที่มีรสชาติดีทีเดียว ดีกว่าสมุนไพรอีกหลายตัว ครั้นมีโอกาสพบปะกับหมอยาหลายท่านมากขึ้น ก็ยิ่งได้รับการยืนยันว่า หญ้าหมอน้อยเป็นยาวิเศษใกล้ตัวจริง ๆ และหมอยาพื้นบ้านในที่ต่าง ๆ จะใช้ในสรรพคุณเหมือนกับที่ตาส่วนบอก แต่อาจจะเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ม่านพระอินทร์ ผ้ำสามวัน ยาไม่ต้องย่าง เป็นต้น

          จากความรู้พื้นบ้านมีการพัฒนาต่อมากระทั่งปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของสมุนไพร พบสารออกฤทธิ์และฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เช่น ขับปัสสาวะ ป้องกันไม่ให้ไตถูกทำลาย ต้านแบคทีเรีย ต้านมาลาเรีย ลดไข้ แก้ปวด แก้อักเสบ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านการเกิดแผล ต้านเบาหวาน ต้านการกระจายของมะเร็ง ต้านไม่ให้รังสีแกมมาทำลายเซลล์ เป็นต้น การศึกษาทางแผนปัจจุบันนี้ได้ยืนยันความเป็นหมอน้อยของหญ้าดอกขาวต้นนี้ได้เป็นอย่างดี


หญ้าดอกขาว สรรพคุณ


หญ้าดอกขาว ยาไม่ต้องย่าง

          ในวัฒนธรรมอีสาน ใครตกต้นไม้ ควายชน รถชน จะต้องนำตัวไปย่างไฟ โดยใช้สมุนไพรและวิธีการย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อให้เลือดกระจายตัว มิเช่นนั้นจะมีเลือดคั่งค้าง ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง และเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามมา แต่ยายผาด ชิดทิด หมอยาเมืองเลย บอกว่ามีสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า "ยาไม่ต้องย่าง" ซึ่งเมื่อต้มกินแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องย่าง เมื่อได้ยินชื่อยาตัวนี้ครั้งแรก ต้องทวนกับแม่หมอถึง 2-3 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่ามียาชื่อนี้จริง ๆ พอยายผาดไปชี้ต้นให้ดู ก็พบว่าเป็นหญ้าดอกขาวนั่นเอง ซึ่งงานศึกษาวิจัยก็พบว่า หญ้าดอกขาวมีฤทธิ์ลดการอักเสบเป็นสรรพคุณเด่นอย่างหนึ่ง


ยาอดบุหรี่ชาวบ้าน โรงพยาบาลสานต่อ 

          ประสบการณ์ชาวบ้านยังใช้หญ้าดอกขาวแก้อาการติดบุหรี่ เพราะกินแล้วจะทำให้เหม็นบุหรี่และไม่อยากสูบอีก 

          ในปี 2531 โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (ปัจจุบันคือมูลนิธิสุขภาพไทย) ได้นำประสบการณ์การใช้หญ้าดอกขาวนี้มาเผยแพร่ จนได้รับความสนใจอย่างมาก ต่อมาในปี 2537 โครงการสมุนไพรฯ ได้หาทุนสนับสนุนการวิจัยของ ภกญ.ฉวีวรรณ ม่วงน้อย (ดวงจร) หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของหญ้าดอกขาวกับยาหลอกในการลดการสูบบุหรี่ พบว่า หญ้าดอกขาวสามารถลดการสูบบุหรี่ลงได้มากกว่ากลุ่มควบคุม รายงานนี้ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งนำหญ้าดอกขาวไปใช้กันอย่างแพร่หลาย งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาสมัยใหม่ครั้งแรกของโลกเกี่ยวกับการใช้หญ้าดอกขาวเพื่อลดความอยากบุหรี่

          ต่อมาในปี 2547 มีการจดสิทธิบัตรในอเมริกา โดยนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ที่ใช้สารสกัดหญ้าดอกขาวใส่ในก้นกรองบุหรี่เพื่อลดความอยากสูบบุหรี่ จึงน่าดีใจที่คนไทยมีโอกาสช่วยชาวโลกในการเลิกบุหรี่

          ในประเทศไทย ได้มีการศึกษานำร่องการใช้ประโยชน์จากหมอน้อยในการนำมาช่วยเลิกบุหรี่ (smoking cassation) โดยทีมวิจัย รศ.ดร.ภก.ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ ในกลุ่มคนที่ติดบุหรี่ที่สถาบันธัญญารักษ์ จังหวัดปทุมธานี ภายใต้การสนับสนุนจากเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ และ สสส. พบว่าสามารถช่วยลดจำนวนคนสูบบุหรี่ได้ดี และพบว่าสมุนไพรหญ้าดอกขาวในรูปแบบการนำไปเคี่ยว ใช้ในลักษณะอมแล้วดื่มก่อนการสูบบุหรี่ทุกครั้ง มีฤทธิ์ที่เด่นชัดคือ หลังการอมแล้วจะทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไปทันทีหลังการใช้ครั้งแรกและครั้งต่อ ๆ ไป ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ในที่สุด และลดจำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวันได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ ไม่ว่าจะสูบหนักหรือเบามาก่อนก็ตาม

          จากงานวิจัยพบว่า หากใช้ติดต่อกันนาน 2 เดือน สามารถช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ถึง ร้อยละ 60 และหากใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย จะสามารถช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ถึงร้อยละ 62 และที่สำคัญช่วยทำให้คนเลิกบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 60-70 หากใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย

          ผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาวในรูปแบบเคี่ยว นอกเหนือจากจะทำให้เลิกบุหรี่แล้ว ยังมีสมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้น เลือดจะมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่คั่งค้างในปอดลดลงอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญมีผลข้างเคียงในการเลิกบุหรี่ เช่น กระวนกระวาย สมาธิแปรปรวน หรือหงุดหงิดน้อยมาก

หญ้าดอกขาว สรรพคุณ


สารออกฤทธิ์ในหญ้าดอกขาว

          ด้านสารออกฤทธิ์ พบว่าในแต่ละส่วนของหญ้าดอกขาวมีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน โดยที่โดดเด่นคือ ใบ จะมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระโดยรวม (total antixidant capacity) ที่สูงที่สุด โดยมีสารประเภท ฟีนอลิก (total phenolics) และสารกลุ่มคาเทชิน (catechin) ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ไอโซฟลาโวน (isoflavone)

          นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่อาจเป็นคำตอบของสมุนไพรหญ้าดอกขาวในการช่วยเลิกบุหรี่คือ ในสารสกัดหยาบจากใบและดอกที่ได้จากการเคี่ยวมีสาระสำคัญคือ นิโคติน (nicotine) ในปริมาณต่ำ

          ดังนั้น กลุ่มคนที่สูบบุหรี่ที่ค่อย ๆ เลิกบุหรี่ได้โดยไม่มีอาการข้างเคียงนั้น อาจเป็นผลมาจากมีการทดแทนของสารนิโคตินในกระแสเลือดไม่ให้ขาดหายไปทันที แต่อย่างไรก็ตามการเลิกบุหรี่ที่ดีที่สุด นอกจากการใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาวแล้ว ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันไปออกกำลังกาย ร่วมกับความตั้งใจเพื่อตนเองหรือบุคคลที่คุณรักจะช่วยเสริมทำให้เลิกบุหรี่ได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

          สำหรับการศึกษาความปลอดภัยพบว่า หญ้าดอกขาวเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง หลายแห่งได้มีการพัฒนาหญ้าดอกขาวในรูปแบบชาชงให้สามารถใช้ประโยชน์กันได้ง่ายขึ้น


หญ้าดอกขาว สรรพคุณ


ยาไม่อยากข้าว สำหรับสาวอยากลด 

          หญ้าหมอน้อยนั้น ตาส่วนบอกว่ามีข้อเสียนิดหน่อย คือ กินยาตัวนี้แล้วจะทำให้คอแห้ง ซึ่งก็อาจจะมีผลในการช่วยลดเสมหะและน้ำมูกเวลาเป็นหวัด ข้อเสียอีกอย่างคือ ทำให้ไม่อยากข้าว คำของหมอยา ผู้ล่วงลับไปแล้วท่านนี้ทำให้ฉุกคิดได้ว่า หญ้าหมอน้อยอาจจะมีประโยชน์ในการรณรงค์ลดพุงในยุคนี้

          เมื่อสืบค้นข้อมูลก็พบเข้าจริง ๆ ว่ามีคนญี่ปุ่นไปจดสิทธิบัตรที่สหรัฐอเมริกา ในการใช้สารสกัดด้วยน้ำของหญ้าหมอน้อย เป็นยาลดความอยากอาหาร ในรูปแบบของยาพ่นทางปาก แต่หญ้าหมอน้อยเป็นสมุนไพรไทยแท้ ๆ จะไปกลัวอะไรในเมื่อตาส่วนท่านชี้ทางให้แล้ว เราก็เอาหญ้าดอกขาวมาชง มาทำเป็นยาอบไอน้ำใช้ลดพุงกันก็คงจะดีไม่น้อย

          หญ้าดอกขาว หมอน้อยที่แสนใจดี มีสรรพคุณมากมาย กินง่าย รสชาติดีเยี่ยม เหมาะจะเป็นชาของคนรุ่นใหม่ห่างไกลบุหรี่ บุหรี่นะติดง่าย เลิกยาก อย่าลองดีกว่า แต่ถ้าติดแล้ว ลองสะกิดชวนหมอน้อยมาเป็นเพื่อนดื่มชากันสักหน่อย ใครจะไปนึกว่าต้นหญ้าที่ขึ้นเรียงราย เดินเหยียบบ้าง เด็ดมาเล่นบ้าง จะมีประโยชน์ทางยาช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้ ดังเช่น เจ้าหมอน้อย หรือหญ้าดอกขาว


สรรพคุณตำรับยาจากหญ้าดอกขาว

          -  ยาไม่ต้องย่างแก้ฟกช้ำ ให้นำยาไม่ต้องย่าง (หญ้าดอกขาว) ทั้ง 5 (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) ฝาง บัวบก ยาหัว เถาไม้กระเบื้องต้น (แก้มขาว) ต้มกินจนหาย

          -  ยาแก้เหน็บชา แขนขาไม่มีแรง ใช้หญ้าดอกขาวทั้ง 5 กิ่งก้านใบทองพันชั่ง ต้มกินแทนน้ำชา

          -  ยาหลอดลมอักเสบ ลำคอมีเสมหะมาก ให้ใช้หญ้าดอกขาวทั้ง 5 มาต้มกิน

          -  ยาลดอาการอยากบุหรี่ นำหญ้าดอกขาวทั้ง 5 จำนวน 2-3 ต้น ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มเดือดนาน 10 นาทีแล้วกินบ่อย ๆ หรือใช้ในรูปแบบของชาชงขนาด 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

          -  ยารักษาแผลเบาหวาน นำหญ้าดอกขาวทั้งต้น และราก 1-2 กำมือ ต้มกับน้ำ 6-8 แก้ว เมื่อยาเดือด ปล่อยให้เดือดกรุ่นไปสัก 5-10 นาที ได้น้ำยาสีเหลืองแบบชา หรือจะตากแห้งต้ม หรือชงกินต่างน้ำก็ได้

          -  ยาแก้ปวดข้อ ปวดเข่า ปวดหลัง นำหญ้าดอกขาวต้มกิน เช่นเดียวกับแผลเบาหวาน

          -  ยาแก้ผ้ำ (การติดเชื้อมีหนองในเนื้อเยื่อลึก ๆ คล้ายฝีแต่ไม่ใช่ฝี) นำหญ้าผ้ำสามวัน (หญ้าดอกขาว) มาต้มเอาไอ รมแผลบริเวณที่เป็น เมื่อยาเย็นลงแล้วเอาน้ำยาต้มมาล้างแผล 1 วัน รม 3 ครั้ง 3 วันก็หาย โดยใช้ยาหม้อเดิมทั้ง 3 วัน

          ปัจจุบัน ชาหญ้าดอกขาวถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ในส่วนยาพัฒนาจากสมุนไพร สำหรับลดความอยากบุหรี่ ในรูปแบบชง (รพ.) กินครั้งละ 2 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร หลังอาหาร วันละ 3-4 ครั้ง ในบางรายจะมีอาการ ปากแห้ง คอแห้ง และควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไตเนื่องจากยาหญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียมสูง 

          ผลิตและจัดจำหน่ายโดย ร้านยาไทยโพธิ์เงินอภัยภูเบศรโอสถ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี (เฟซบุ๊ก abhaiherb)  

          นอกจากข้อมูลจากหมอชาวบ้านจะยืนยันถึงประโยชน์และสรรพคุณทางยาของหญ้าดอกขาวแล้ว ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็ยังเคยให้ข้อมูลเรื่องหญ้าดอกขาวไว้ว่า ในหญ้าดอกขาวมีสารไนเตรทซึ่งจะไปเคลือบต่อมรับรสที่อยู่บริเวณลิ้น ทำให้ประสาทรับรู้รสบริเวณลิ้นรู้สึกชา ดังนั้นผู้ที่บริโภคหญ้าดอกขาวเข้าไปจะไม่รับรู้รสชาติใด ๆ อันทำให้สิงห์อมควันไม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่ เช่นเดียวกับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หากทานหญ้าดอกขาวก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อก็จะทานอาหารได้น้อยลง หรือลดความอยากอาหารลงไป เพราะเมื่อทานอาหารเข้าไปแล้วจะรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย หญ้าดอกขาวจึงมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้นั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม ภญ.ผกากรอง ยืนยันว่า สารไนเตรทที่ไปเคลือบบริเวณต่อมรับรสบนลิ้นสามาถถูกชะล้างออกได้เพียงแค่กลืนน้ำลายหรือดื่มน้ำ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าสารนี้จะไปตกค้างในร่างกาย และการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้ย้ำว่า ฤทธิ์ของสารไนเตรทที่อยู่ในหญ้าดอกขาวจะอยู่ติดลิ้นได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้นก่อนจะจางหายไป ส่วนน้ำที่ชะล้างสารไนเตรทลงไปในร่างกายจะไม่มีผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ 

          ทั้งนี้สามารถรับประทานหญ้าดอกขาวตามความต้องการ เพราะเป็นสมุนไพรที่ร่างกายสามารถขับออกได้เอง โดยมีในรูปแบบการชงเป็นชาดื่ม หรือรับประทานแบบลูกอมเม็ด ครั้งละ 2-3 เม็ด ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ทาน สามารถหาซื้อในชื่อ "ยาอมไม่อยากข้าว" ได้ที่ร้านขายยา เนื่องจากเป็นยาควบคุมที่ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้จำหน่าย เพื่อคอยให้คำแนะนำก่อนรับประทาน เช่น ต้องรับประทานร่วมกับการออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ไม่แนะนำให้รับประทานยาอมไม่อยากข้าว ได้แก่ กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องโลหิตจาง และกลุ่มคนที่ขาดสารอาหาร
 
ภาพจาก อภัยภูเบศรโรงพยาบาลชุมพวง  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  
โดย ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หญ้าดอกขาว สมุนไพรลดความอยากอาหาร ตัวช่วยของคนอยากเลิกบุหรี่ อัปเดตล่าสุด 3 กรกฎาคม 2563 เวลา 17:39:59 116,821 อ่าน
TOP