โรควุ้นในตาเสื่อม

โรค วุ้นในตาเสื่อม

โรควุ้นในตาเสื่อม (Momypedia)
โดย วิลาสิณี

          เป็นแล้วไม่รักษาตาบอดได้เชียวนะ

          หากคุณรู้สึกว่าเห็นยุงบินรอบ ๆ ตัว แต่ตบเท่าไหร่ก็ไม่โดน หรือมองเห็นสิ่งแปลกปลอม เช่น หยากไย่ จุด เส้น ลอยไปลอยมาในตา นั่นอาจจะเป็นอาการของ "โรควุ้นในตาเสื่อม" ที่เกิดในลูกตาของคุณก็ได้!!

          นพ.พัฒน ธัญญกิตติกุล ประจำภาควิชาจักษุวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล มาเล่าเรื่องของโรคนี้ให้เราฟังกันอย่างง่าย ๆ

อาการ โรควุ้นในตาเสื่อม

          เวลาลืมตาจะมองเห็นอะไรกวนตาเป็นรูปหยากไย่ ตาข่าย จุด เส้น วง ลอยไปลอยมา หรือบางคนบอกว่าเห็นเหมือนยุง แต่ปัดเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่มียุงนี่นา และจะอันตรายสุด ๆ ถ้าในเวลาค่ำหรือในที่มืด คุณเห็นแสงคล้ายฟ้าแล่บแปล๊บ ๆ เพราะอะไรก็ต้องติดตามกันต่อข้างล่างนะคะ

สาเหตุ โรควุ้นในตาเสื่อม

          คุณหมอบอกว่าในลูกตากลม ๆ ของเรานี้จะมีวุ้นใสอยู่ตรงกลาง ระหว่างเลนส์กับจอประสาทตา และเมื่อคุณอายุ 40 วุ้นตรงนี้ก็จะเริ่มชราภาพ จากลักษณะเป็นวุ้นก็จะกลายเป็นของเหลว วุ้นที่เละจนเหลวนี่เอง เมื่อเรากลอกตาวุ้นก็จะกระเพื่อม กลายเป็นสิ่งที่เรามองเห็นเป็นจุด เป็นเส้น ที่รบกวนสายตาเรานั่นเอง

          และการกลอกตาไปมาจะมีแรงกระชาก ให้จอประสาทตาให้ฉีกขาด และตอนนี้แหละที่คุณอาจจะเห็นแสงแปล๊บ ๆ เหมือนฟ้าแลบ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา การฉีกขาดจะรุนแรงขึ้นกลายจอประสาทตอลอก ถ้าถึงขั้นนั้นก็แปลว่าคุณมองไม่เห็นอะไรแล้ว เพราะตาบอดไปเรียบร้อย!

การรักษา โรควุ้นในตาเสื่อม

          ยังไม่มีการรักษาโรควุ้นในตาเสื่อมได้ เพราะมันเกิดจากความชราของอวัยวะเราเอง เรียกว่าเป็นไปตามอายุขัย แต่ยังพอสามารถรักษาอาการข้างเคียงของโรคนี้ได้บ้าง คือถ้าจอประสาทตาฉีกขาดอย่างที่บอกไป หากไปพบจักษุแพทย์ เขาจะใช้เลเซอร์ซ่อมแซมรอยขาดให้ปิดสนิท ก็ทำให้คุณยังมีดวงตาไว้ถนอมใช้ได้อีกนานค่ะ

การป้องกัน โรควุ้นในตาเสื่อม

ถึงจะรักษาไม่ได้ แต่มันป้องกันได้นะคะ วิธีการก็คือ

          1.ป้องกันไม่ให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน ทั้งจากการเล่นกีฬา จากอุบัติเหตุ และอื่น ๆ เพราะการที่ตาถูกกระแทกแรง ๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้วุ้นในตาเสื่อมได้เร็วขึ้น

          2.อย่าอ่านหนังสือในที่มืด เพราะจะทำให้สายตาสั้น สายตาสั้นจะทำให้วุ้นในลูกตาเสื่อมง่าย

          3.อย่านอนในที่สว่าง เพราะแม้ร่างกายจะหลับ แต่ลูกตาเมื่อได้รับแสงก็ยังทำงานอยู่ เมื่อลูกตาทำงานหนัก วุ้นก็จะเสื่อมได้ง่าย

          4.ถ้าคุณอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรจะไปพบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะหากมีอาการแพทย์จะดูแลคุณในระยะแรกได้เลยค่ะ

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรควุ้นในตาเสื่อม อัปเดตล่าสุด 11 ธันวาคม 2552 เวลา 16:29:40 12,006 อ่าน
TOP
x close