เก๋ากี่ หรือ โกจิเบอร์รี สมุนไพร เพื่ออายุที่ยืนยาว


เก๋ากี่ สมุนไพร เพื่ออายุที่ยืนยาว (อาหาร&สุขภาพ)
โดย Karta Purkh Singh Khalsa, D.N.-C.R.H.
แปลโดย ฉัตรตระกูล เจียจันทร์พงษ์, M.P.H.

          เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่สตรีชั้นสูงชาวจีนบริโภคเก๋ากี่ เพื่อให้อ่อนเยาว์และสวยยิ่งขึ้น ตอนนี้โลกตะวันตกกำลังให้ความสนใจกับเบอร์รีที่มีประโยชน์ที่มีพลังในการรักษานี้ด้วย

          คอนนี่ ร็อค จากเมืองคัลเวอร์ซิตี้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำการรักษาแบบธรรมชาติบำบัดให้แก่ลูกค้าผู้หญิงมากมาย แต่เธอเองก็ยังมีปัญหาสุขภาพหลายอย่างและไม่ตอบสนองต่อการบำบัดใด ๆ เลย

          พอล สติลแมน สามีของเธอ แนะนำให้ดื่มน้ำเก๋ากี่ (goji) ปกติเธอคงต้องลังเลใจก่อน แน่หากเธอไม่ได้เห็นประสบการณ์ของพอลที่มีมาก่อน เขาเองก็ต่อสู้กับโรคอ่อนเพลียเรื้อรังมาเกือบสิบปีเหมือนกัน

          "ผมเคยตื่นขึ้นมาแบบหมดแรงราวกับว่าทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน" พอล กล่าว "ผมลองทุกอย่างตั้งแต่วิตามินปริมาณสูง น้ำผลไม้ จนถึงอาหารดิบต่าง ๆ แต่ไม่มีอะไรช่วยได้เลย"

          เพื่อนคนหนึ่งให้คำแนะนำแก่พอล เขาเห็นด้วยที่จะทดลอง "หลังจากดื่มน้ำเก๋ากี่ไปได้ราวห้าสัปดาห์ ผมจำได้ว่าเช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วค่อยรู้สึกสดชื่นเหมือนคนอื่นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี"

          ตั้งแต่คอนนี่เริ่มดื่มน้ำเก๋ากี่ เธอก็สามารถรับมือกับอาการเจ็บปวดทั่วร่างกาย (fibromyalgia) และไม่มีอาการก่อนมีรอบเดือนอีกต่อไป และหลังจากที่ดื่มไปราวหกเดือน อาการเจ็บที่เกิดจากการผ่าตัดผูกท่อรังไข่เมื่อเก้าปีก่อน ซึ่งต้องให้แพทย์สั่งยาแก้ปวดทุกเดือน ในที่สุดอาการนี้ก็หายไป

          ประสิทธิภาพของเก๋ากี่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ที่แน่ ๆ ก็คือมีประจักษ์พยานหลักฐานที่บ่งบอกถึงประโยชน์ของมันมีมาไม่ขาดสายเหมือนเช่นกรณีของคอนนี่และพอล เก๋ากี่เริ่มขึ้นชั้นมาเทียบเท่ากับลูกยอ (noni), ทับทิม และ ลูกปาล์ม acai นิตยสาร Time กล่าวว่าผลเก๋ากี่เป็นยอดผลไม้แห่งปี


เก๋ากี่

เก๋ากี่คืออะไร?

          มีชื่ออีกอย่างว่า lyceum (Lycium barbarum, Lycium chinense) รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าเก๋ากี่ทิเบต ซึ่งมักจะมาในรูปน้ำคั้นหรือในรูปผลแห้ง ปลูกกันในเขตมองโกเลีย และหิมาลัย ผลไม้สีแดงชนิดนี้รสชาติไม่เปรี้ยวเหมือนแครนเบอร์รี และไม่หวานเท่าลูกเกด

          ต้นเก๋ากี่มีความสูงราว 12 ฟูต มีอายุยืนได้หลายร้อยปี อยู่ได้แม้ในสภาพอากาศที่รุนแรง บางทีอาจเป็นเพราะคุณสมบัติที่ทำให้พืชชนิดนี้มีอายุยืนยาว มันจึงมีคุณสมบัติบางอย่างที่ช่วยต่อต้านความแก่ชรา

          เก๋ากี่นี้มีฉายาว่า "สมุนไพรเพื่อความมีอายุยืนยาว" จัดอยู่ในวงศ์ Solanaceae ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับพริก, มะเขือ, มะเขือเทศ และมันฝรั่ง พืชจากวงศ์นี้มีมากมายที่เป็นอาหารและยา รวมทั้งสมุนไพร ashwagandha ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีชื่อเสียงในการบำบัดของอายุรเวท ผลแห้งมีลักษณะคล้ายกับลูกเกดสีแดงรสชาติจะออกเปรี้ยว

ประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ

          นักสมุนไพรชาวจีนแนะนำให้ใช้ผลเก๋ากี่เพื่อปกป้องตับและไต, ช่วยการไหลเวียน, และช่วยอาการต่าง เช่น วิงเวียน, เสียงลั่นในหู, ตาเบลอมองไม่ชัด แลปัญหาสายตาอื่น ๆ เก่ากี่ยังใช้เป็นยาอายุวัฒนะ, เพิ่มภูมิคุ้มกันและสมรรถภาพทางเพศ

          ผลเก๋ากี่ดูจะมีประโยชน์มากกับตับ โดยช่วยปกป้องจากสารพิษต่าง การศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายครั้งก็แสดงให้เห็นมากมาย การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ethnopharmacology พบว่า ผลเก๋ากี่ลดความเสียหายของตับในหนูทดลองที่ได้รับสารเคมีที่เป็นพิษลงได้ นักวิจัยคาดว่าคุณสมบัติในการป้องกันนี้อาจเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติที่เป็นสารแอนติออกซิแดนท์ที่แรง

          การศึกษาเบื้องต้นในสัตว์ทดลองยังแนะว่า เก๋ากี่อาจช่วยให้น้ำตาลในเลือดสมดุล และนักวิจัยคาดว่านี่ยังอาจช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้ด้วย

เก๋ากี้
มามองกันให้ชัด

          ผลเก๋ากี่อุดมด้วยเบต้าแคโรทีน, วิตามินบีชนิดต่าง ๆ และวิตามินซี มีสารเบต้าซิโทสเตอรอล (beta-sitosterol) ซึ่งต่อต้านการอักเสบ และโพลีแชคคาไรด์ที่ช่วยภูมิคุ้มกัน ทำให้ผลไม้นี้ทำลายอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างมาก ที่น่าสนใจคือ สารโพลีแซคคาไรด์ในเก๋ากี่นั้นเหมือนกับที่พบในสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติเพิ่มภูมิคุ้มกันเช่นกันอย่างเช่น เอ็คไคเนเซีย, แอสทรากาลัส และเห็ดริชิ

          ที่ไม่ค่อยจะเหมือนผลไม้อื่นก็คือ เก๋ากี่ยังเป็นแหล่งที่ให้กรดไขมันจำเป็นและอะมิโน แอซิด โดยมีอะมิโน แอซิด 18 ชนิด รวมทั้งมีอะมิโน แอซิด ที่จำเป็น (essential amino acids) ครบทั้งแปดชนิดอีกด้วย

คำแนะนำในการใช้

          แต่เดิม เก๋ากี่ถูกนำมาใช้ทำซุป, สตูว์ ทำเป็นชาและไวน์ นอกจากนี้ก็ยังรับประทานในรูปผลไม้แห้งด้วย ปริมาณทั่วไปก็คือรับประทานในรูปผลไม้ 6 ถึง 18 กรัม ชงเป็นชาหรือรับประทานเป็นอาหารว่างก็ได้ (การนึ่งจะทำให้ผลอ่อนนุ่มขึ้น) หรือรับประทานในรูปสกัดอาหารเสริม

          น้ำจากผลเก๋ากี่มีจำหน่ายในร้านอาหารสุขภาพ รสชาติค่อนข้างดี เพื่อที่จะให้ได้ประโยชน์กับระบบภูมิคุ้มและระบบฮอร์โมน ให้ดื่มวันละ 3 ถึง 4 ออนซ์ สำหรับบำรุงตับ มักจะรับประทานเก๋ากี่ร่วมกับผลไม้สมุนไพรของจีนอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือโหงวบี่จี้ (schisandra) น้ำเก๋ากี่ใช้ได้ดีในโปรแกรมชำระล้าง


อาหารที่มีคุณสมบัติแอนตี้ออกซิแดนท์มากที่สุด

 ผลไม้ 
ค่า ORAC
 ลูกเก๋ากี่
 25,300 
 ลูกพรุน  5,770
 บลูเบอร์รี
 2,400
 ผักกาดใบหยิก  1,770
 แครนเบอร์รี
 1,750
 สตรอว์เบอร์รี  1,540
 ผักปวยเล้ง
 1,260
 ทับทิม
 1,245
 ราสป์เบอร์รี
 1,220
 บีท  840
 ส้ม
 750

*ค่า ORAC คือ Oxygen Radical Absorbance Capacity (แสดงความสามารถในการเป็นแอนตี้ออกซิแดนท์) ที่ 3.5 ออนซ์


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ที่มา หนังสืออาหาร & สุขภาพ ปีที่ 26 ฉบับที่ 162 พ.ศ.2556



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เก๋ากี่ หรือ โกจิเบอร์รี สมุนไพร เพื่ออายุที่ยืนยาว อัปเดตล่าสุด 12 มกราคม 2564 เวลา 11:15:14 66,325 อ่าน
TOP
x close