ตากุ้งยิง โรคติดเชื้อที่ตา ที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นเพราะแอบดูใคร !

          ตากุ้งยิงเป็นตุ่มบวมแดงที่เมื่อใครเป็นตากุ้งยิงก็มักจะโดนแซ็วว่าไปแอบดูใครโป๊มาหรือเปล่า เรามาดูกันค่ะว่าจริง ๆ แล้วตากุ้งยิงเกิดจากอะไรกันแน่

ตากุ้งยิง

          เมื่อเกิดอาการตากุ้งยิงขึ้นกับใครก็ตาม นอกจากจะทำให้เสียบุคลิกภาพเพราะตาบวมแดงแล้ว บางคนยังอาจถูกแซ็วว่าไปแอบดูอะไรไม่ดีมาหรือเปล่า จึงทำให้เป็นตากุ้งยิงขึ้นมาได้ ทว่าเราอยู่ในยุคที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปไกลเกินกว่าจะเข้าใจผิด ๆ แบบนั้นอีกต่อไปแล้วค่ะ ดังนั้นเรามารู้ไปพร้อมกันเลยว่า ตากุ้งยิง โรคนี้เกิดจากอะไรกันแน่

ตากุ้งยิง คืออะไร

          ตากุ้งยิง ภาษาอังกฤษคือ Stye หรือ Hordeolum คือโรคติดเชื้อที่บริเวณเปลือกตา ทำให้เกิดเป็นฝีหรือตุ่มหนองที่ขอบเปลือกตา ซึ่งอาจพบได้ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง

ตากุ้งยิง เกิดจากอะไร

          โรคตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณเปลือกตา โดยบางรายอาจมีการอุดตันของต่อมไขมันหรือต่อมเหงื่อบริเวณเปลือกตานำมาก่อน แล้วเกิดการติดเชื้อซึ่งมีอยู่เป็นปกติในบริเวณนั้นตามมา หรือเมื่อมีเชื้อโรคเข้าไปจึงทำให้เกิดอาการอักเสบเป็นหัวหนองที่เปลือกตาบนหรือเปลือกตาล่าง

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงเป็นตากุ้งยิงมีอะไรบ้าง

          เรารู้กันแล้วว่าโรคตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ดวงตาง่ายขึ้น จนเป็นตากุ้งยิงได้ก็อย่างเช่น

          - ขยี้ตาบ่อย ๆ จนเปลือกตามีเชื้อแบคทีเรียหรือฝุ่นเกาะติดอยู่

          - ล้างเครื่องสำอางออกไม่หมด

          - ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด

          - ใช้ผ้าเช็ดหน้าที่ไม่สะอาดเช็ดดวงตา

          - เช็ดถูดวงตาด้วยเสื้อผ้าที่ใส่อยู่

          - ล้างหน้าด้วยน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

          - น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา

          - ฝุ่นละอองในอากาศลอยเข้าดวงตา

ตากุ้งยิง ใครเสี่ยงเป็นมากที่สุด

          ตากุ้งยิงเป็นโรคที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักจะพบในเด็กอายุ 4-10 ขวบได้บ่อย อาจเพราะเด็กวัยนี้ยังไม่รู้จักรักษาความสะอาดดีเท่าที่ควร เช่น อาจเล่นดินเล่นฝุ่นแล้วเอามือมาขยี้ตา เป็นต้น

          ทว่าในผู้ใหญ่ที่เป็นตากุ้งยิงบ่อย ๆ อาจบ่งบอกได้ว่ามีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แฝงอยู่ดังต่อไปนี้

          - มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือตาเข ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเสี่ยงเป็นตากุ้งยิงบ่อยเพราะเปลือกตาต้องทำงานมากกว่าปกติ เช่น ต้องขยี้ตา หรี่ตา หรือเพ่งสายตามากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นได้ชัด

          - สุขภาพทั่วไปไม่ดี เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ขาดอาหาร ฟันผุ ไซนัสอักเสบ อดนอน เป็นต้น

          - ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำทำให้ติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เบาหวาน หรือกินยาสเตียรอยด์นาน ๆ เป็นต้น
    ตากุ้งยิง

ตากุ้งยิง อาการเป็นอย่างไร

          อาการตากุ้งยิงจะเป็นตุ่มบวมแดงหรือเป็นหนองที่เปลือกตา ระยะแรกจะมีอาการปวด บวม บางรายมีอาการบวมมากจนตาปิด หรือบางรายมีหนองไหลออกจากเปลือกตา และในกรณีที่หนองแตกในตาจะทำให้มีขี้ตาเป็นสีเขียว

          อย่างไรก็ดี อาการตากุ้งยิง มีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน ซึ่งโดยทั่วไปจะสามารถแบ่งโรคตากุ้งยิงได้ 3 ประเภท ดังนี้

          1. External hordeolum

          โรคตากุ้งยิงที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน ลักษณะเป็นตุ่มหนองที่บริเวณเปลือกตาด้านนอก  มีอาการแดง เจ็บ ซึ่งเราอาจเรียกตากุ้งยิงชนิดหัวผุดก็ได้

          2. Internal hordeolum

          โรคตากุ้งยิงที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาด้านใน จะพบเป็นตุ่มนูนแดง เจ็บ ซึ่งเราอาจเรียกตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน

          3. Chalazion

          เป็นการอักเสบเรื้อรังของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ตากุ้งยิงจะมีลักษณะนูนแข็ง กดไม่เจ็บ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ตาเป็นซิสต์

เป็นตากุ้งยิง ทำไงดี

          หากรู้สึกว่าตัวเองเป็นตากุ้งยิง ให้ดูแลตัวเองเบื้องต้นดังนี้

          1. ล้างมือบ่อย ๆ

          2. งดใช้เครื่องสำอาง

          3. หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์

          4. ไม่ควรบีบหนองออกเอง เพราะอาจทำให้อักเสบมากขึ้น

ตากุ้งยิง

ตากุ้งยิง รักษาอย่างไร

          เมื่อสงสัยว่าเริ่มเป็นตากุ้งยิง ก็ควรรีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็ว เพราะในระยะแรก จะมีลักษณะเปลือกตาอักเสบ ยังไม่มีหนอง ถ้าได้ใช้ยาทันท่วงที และใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณที่เป็นวันละ 2-4 ครั้ง จะทำให้ไม่เกิดการรวมตัวเป็นฝีขึ้น กุ้งยิงก็จะหายได้โดยการใช้ยาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องผ่าฝี ทั้งนี้การใช้ยาควรได้รับการตรวจตาและสั่งยาโดยแพทย์ โดยยาที่ใช้มักเป็นยาปฏิชีวนะหยอดตาป้ายตา และบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะรับประทานร่วมด้วย

          แต่ในรายที่เป็นฝีหรือตุ่มเป็นไตขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องทำการผ่าฝีและขูดบริเวณนั้นออกให้สะอาดจริง ๆ ร่วมกับการใช้ยาเพื่อรักษาให้หายขาดและไม่ให้เป็นซ้ำอีก ในบางรายอาจเป็นซ้ำได้ถ้าหนองยังออกไม่หมด หรือการอักเสบยังไม่หายดี

วิธีดูแลตัวเองหลังเจาะกุ้งยิง

          1. ปิดตาไว้อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง หลังจากนั้นสามารถเปิดตาเองได้ ล้างหน้าได้ตามปกติ

          2. หากมีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวดครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง

          3. วันรุ่งขึ้นให้ประคบน้ำอุ่น โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น บิดให้หมาด แล้วประคบลงบนเปลือกตาข้างที่เป็นกุ้งยิงครั้งละ 10-15 นาที ในขณะที่ประคบให้หลับตาไว้ วิธีนี้จะช่วยลดอาการปวด บวม หรือช้ำได้
  
ตากุ้งยิง

ตากุ้งยิง ป้องกันได้ ง่ายนิดเดียว

          1. ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตา ใบหน้า และเส้นผม โดยเฉพาะผู้หญิงควรต้องสระผมบ่อย ๆ

          2. ระวังอย่าให้ผมแยงตา

          3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณเปลือกตา หรือขยี้ตาบ่อย ๆ

          4. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น

          5. ล้างเครื่องสำอางให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณดวงตา

          6.  เมื่อสงสัยว่ามีอาการตากุ้งยิง ให้รีบมารักษากับแพทย์โดยเร็ว

          แค่เรารักษาสุขอนามัยของตัวเองให้ดี และพยายามอย่าใช้มือขยี้ตาหรือสัมผัสดวงตาบ่อย ๆ รวมทั้งควรสวมใส่แว่นตาเมื่อต้องเผชิญกับกลุ่มควันและฝุ่นละออง เท่านี้ก็จะช่วยป้องกันโรคตากุ้งยิงได้แล้วนะคะ แต่หากใครเป็นตากุ้งยิงขึ้นมา ถ้าสามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้อย่างที่แนะนำไปในระยะที่อาการยังไม่รุนแรงมาก ตากุ้งยิงจะค่อย ๆ ยุบลงภายใน 24 ชั่วโมง และเมื่อรักษาต่อไปอีก 3-4 วัน ฝีก็จะค่อย ๆ ยุบหายไปเอง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตากุ้งยิง โรคติดเชื้อที่ตา ที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นเพราะแอบดูใคร ! อัปเดตล่าสุด 6 กันยายน 2562 เวลา 16:01:12 338,768 อ่าน
TOP
x close