
เด็กไทยรู้ไหม นมดื่มง่าย อร่อยและได้คุณค่า (สสส.)
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th
"ดื่ม ดื่ม ดื่ม....เรามาดื่ม ดื่มนมกันเถอะ ดื่มนมเยอะ ๆ ร่างกายแข็งแรง"...เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงเคยร้องเพลงนี้เมื่อสมัยยังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลเป็นแน่ เราต่างได้รับการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กให้ดื่มนมเยอะ ๆ นั่นเป็นเพราะนมอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่สำคัญอย่างแคลเซียม โปรตีน ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตต่อร่างกายและสติปัญญาอย่างมาก
แต่ปัจจุบันพบว่า เด็กไทยอ้วน เตี้ย ผอม มีอัตราการดื่มนมต่ำกว่าเด็กทั่วเอเชียและทั่วโลก ส่วนความสูงเฉลี่ยอยู่เกณฑ์ค่อนข้างเตี้ย
อาจารย์แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการบำบัดและผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ อธิบายให้ฟังว่า ลักษณะอ้วน เตี้ย และผอม ในเด็กไทย พบได้ 2 แบบคือ ผอมเตี้ย เป็นภาวะโภชนาการขาด มักพบในต่างจังหวัด ส่วนในเมืองใหญ่มักพบเด็กอ้วนเตี้ย ซึ่งเป็นภาวะโภชนาการเกิน ทั้งสองแบบมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ทั้งร่างกาย และสติปัญญาของเด็กโดยตรง
"เด็กที่มีลักษณะผอมเตี้ย จะมีสติปัญญาต่ำกว่าปกติ ส่วนเด็กอ้วน จะเสี่ยงต่อการเป็นผู้ใหญ่อ้วน และเกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรังได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ฯลฯ" อาจารย์แววตา บอก

นักโภชนาการคนเก่ง บอกว่า ปัจจุบันนี้มีเครื่องดื่มให้เลือกหลากหลาย อย่างน้ำหวาน น้ำผลไม้สำเร็จรูป ซึ่งมีรสหวาน เด็ก ๆ จะชอบเพราะอร่อยกว่านมที่มีรสจืด เมื่อได้กินบ่อย ๆ ก็ติด ถึงแม้ว่านมจืดมีรสหวานตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ไม่หวานเท่าน้ำตาล เด็กจึงไม่ชอบดื่มนม
เด็ก ๆ ช่วงวัย 1-3 ขวบ หากไม่ได้ดื่มนมแม่ และผู้ปกครองให้ดื่มนมกล่อง หรือนมชงที่มีรสหวานอย่าง รสวานิลา ช็อกโกแลต ฯลฯ เด็ก ๆ ก็จะดื่มนมจืดไม่ได้ ส่วนนมที่มีรสหวานเมื่อมีการแทนที่ด้วยน้ำตาล ปริมาณแคลเซียมก็ลดน้อยลงไปด้วย

"นอกจากน้ำหวานต่าง ๆ แล้ว ผลิตภัณฑ์จากนมก็ให้ความหวานมากไม่แพ้กัน เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โดยปกติจะไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม แต่บ้านเราจะมีส่วนประกอบของน้ำตาลเยอะมาก อย่างนมเปรี้ยวขนาด 400 มล. มีน้ำตาลเฉลี่ยแล้วมากกว่า 10 ช้อนชา แม้จะโฆษณาว่า โลว์แฟต (Lowfat) แต่ที่จริงแล้วก็มีความหวานเท่าเดิม
หากลูกชอบหรือติดนมรสหวานแล้ว ผู้ปกครองสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการดื่มนมได้ อาจใส่ผลไม้สดอย่างมะม่วง กล้วย มะละกอ แตงโม องุ่น หรือธัญพืชอย่างถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ข้าวโพด ลงไปในนมจืด หรือโยเกิร์ตธรรมชาติเพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหาร และรสหวานธรรมชาติ" นักโภชนาการคนเก่งอธิบาย


นมจืดมีแคลเซียมมากกว่านมชนิดอื่น หากเป็นนมโคแท้ หรือนมผงผสมน้ำก็จะมี 99-100 เปอร์เซ็นต์เป็นนมโคแท้ แต่ถ้ามีส่วนผสมของน้ำตาล ความหวานก็จะแทนที่ปริมาณแคลเซียมในนมให้ลดลงไปด้วย สารอาหารหลักในนมมีทั้งแคลเซียม คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ถ้าเทียบกับอาหาร ในนม 1 แก้ว มีข้าว 1 ทัพพี และไข่ 1 ฟอง นมมีโปรตีน และน้ำตาลธรรมชาติในนมช่วยดูดซึมแคลเซียมได้ดี
ส่วนแคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่มีมากที่สุดในร่างกาย โดยเฉพาะในกระดูกและฟัน เป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการตลอดเวลาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนเติบโตเป็นเด็กถึงวัยชรา โดยวัยเด็กและวัยชราต้องการแคลเซียมในปริมาณเท่ากัน และต้องการมากกว่าวัยผู้ใหญ่ แต่ทุกช่วงวัยต้องได้รับแคลเซียมไม่น้อยกว่า 800-1000 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ควรให้เด็กดื่มนมวันละ 2 แก้ว จะเป็นนมวัว หรือนมถั่วเหลืองก็ได้" อาจารย์แววตา อธิบาย

นักโภชนาการคนเก่ง แนะนำว่า แคลเซียมมีมากในนมวัว ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต ฯลฯ เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ผักใบเขียวต่าง ๆ ปลาเล็ก หรือปลาที่กินได้ทั้งกระดูก อย่าง ปลาข้าวสาร ปลาซิว เป็นต้น รวมทั้ง งาดำ ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มีแคลเซียม 100 มิลลิกกรัม
ผู้ปกครองควรสรรค์สร้างเมนูอาหารให้ลูกด้วยส่วนประกอบจาก นม ไข่ เต้าหู้ ลงในอาหารด้วย เนื่องจากไข่มีแคลเซียมถึง 63 มิลลิกรัม และยังมีโปรตีนที่ดีอยู่ อย่างเช่น เต้าหู้ทรงเครื่อง แกงจืดเต้าหู้ เต้าหู้นมสด ฯลฯ
"วัยเด็กเป็นรากฐานที่ดีในการสร้างเสริมแคลเซียม เพื่อให้ภาวะกระดูกแข็งแรง ผู้ปกครองควรใส่ใจเรื่องอาหารให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ และเสริมอาหารที่มีแคลเซียมสูงเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะกระดูกผุและพรุนในอนาคตได้" อาจารย์แววตา ฝากทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
