x close

เมตาบอลิกซินโดรม

เมตาบอลิก ซินโดรม


เมตาบอลิกซินโดรม สัญญาณร้ายคนอ้วน (เดลินิวส์)


          ภาวะโรคอ้วนเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมเมือง หลายฝ่ายรณรงค์ให้คนไทยหันมาลดพุง แต่ด้วยความเร่งรีบในการใช้ชีวิต ทำให้ต้องพบกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีอยู่รายล้อมทั้งเช้า-เย็น จนยากจะหนีให้หลุดพ้นจากภาวะโรคอ้วน สัญญาณหนึ่งที่บอกว่าความอ้วนเริ่มก่อให้เกิดโรคร้ายแรงตามมา ได้แก่ "ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม" ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โรคเบาหวานในอนาคต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยไปจำนวนมากในแต่ละปี

          ผู้ที่มี "ภาวะเมตาบอลิก ซินโดรม" ควรปรับการใช้ชีวิตเพื่อให้ห่างจากโรค สืบเนื่องที่จะติดตามมา โดย นพ.สมคนึง ตัณฑ์วรกุล อายุรแพทย์ โรคหัวใจและเวชศาสตร์ครอบครัว รพ. นครธน กล่าวว่า ภาวะนี้เกิดจากความผิดปกติในร่างกาย หลายประการที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ ความอ้วน ภาวะการย่อยน้ำตาลบกพร่อง การมีความดันโลหิตสูงแฝงเร้น และภาวะทางพันธุกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก และโรคเบาหวาน โดยช่วงแรกจะไม่มีอาการแต่จะเป็นการสะสมความเสี่ยงไปเรื่อย ๆ จนนำไปสู่โรคสืบเนื่องดังกล่าวในที่สุด แต่หากคนไข้รู้ตัวในขณะเริ่มเกิด "ภาวะเมตาบอลิก ซินโดรม" แล้วดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ย่อมยับยั้งไม่ให้เกิดโรคสืบเนื่องแก่ตัวเองได้ เราจึงอาจมองว่าผู้ที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรมเป็นผู้เตรียมป่วยนั่นเอง

          แต่เดิมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา มองเมตาบอลิกซินโดรมกันคนละแบบเหมือนมองลูกเต๋ากันคนละมุม และอธิบายไปตามความเชี่ยวชาญของตน จนเมื่อประมาณสิบปีก่อนจึงมีข้อตกลงที่ชัดเจน และเกิดแนวทางปฏิบัติที่ตรงกันทุกสาขา มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะดังกล่าวลุกลาม หากภาวะเมตาบอลิกซินโดรม เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงตามมา มักแสดงผลให้เห็นเป็นโรคหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคไต เบาหวาน เป็นต้น

          กลุ่มเสี่ยงของการเกิดภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ส่วนใหญ่เกิดในคนอ้วนลงพุง ซึ่งชายไม่ควรมีรอบเอวเกิน 90 ซม. ผู้หญิงไม่ควรเกิน 85 ซม. นอกจากนี้พันธุกรรมเมตาบอลิกซินโดรม สามารถส่งผลให้คนในสายสกุลมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ตามไปด้วย แม้บางครั้งอาจไม่แสดงออกชัดเจน เพราะยีนที่ก่อโรคอาจไม่รุนแรงพอ บุคคลที่ได้รับถ่ายทอดพันธุกรรมภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นการป้องกันน้ำหนักเกิน และกินอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ จะช่วยยับยั้งการแสดงออกของพันธุกรรมเมตาบอลิกซินโดรมได้  

          นอกจากนี้สภาพแวดล้อมยังเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลให้ภาวะเมตาบอลิกซินโดรมมีความรุนแรงขึ้น เช่น คนที่กินอาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม  น้ำหวานเป็นประจำ เป็นต้น

          ผู้ที่มีภาวะเมตาบอลิก ซินโดรม ควรควบคุมน้ำหนัก, ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ควรเกิน 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, ระดับไขมันคอเลสเตอรอล LDL ในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, ความดันโลหิต ไม่ควรมากกว่า 140/90 มม. ปรอท หรือถ้ามีความดันโลหิตสูงต้องรับประทานยาลดความดันอย่างสม่ำเสมอ

          พนักงานออฟฟิศเป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเมตาบอลิกซินโดรม เนื่องจากต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานทำให้ขาดการออกกำลังกาย นอกจากนี้ความเครียดและความชราภาพ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ควบคุมภาวะเมตาบอลิก ซินโดรมได้ยากอีกด้วย ผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะเมตาบอลิกซิน โดรมควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาเร็วขึ้น 
  
          สำหรับการตรวจวัดว่าเป็น "ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม" หรือไม่...? ต้องมีการเจาะเลือดและมีการคำนวณ จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้งเพื่อหาความเสี่ยงของโรคร่วมอื่นด้วย เพราะโรคร่วมอื่น ๆ หลายโรคในระยะแรกจะไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน แต่จะค่อย ๆ ทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติและส่งผลต่อผู้ป่วยในระยะยาว
  
          แนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิด "ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม" ต้องลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของการมีน้ำหนักเกิน ควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยวซึ่งทำจากแป้ง จะดูดซึมเข้าร่างกายง่ายกว่าวัตถุดิบเดิมที่เป็นข้าว หรือการรับประทานข้าวขัดขาว ซึ่งจะทำให้เกิดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายง่ายกว่าข้าวที่ยังไม่ได้ขัด เป็นต้น

          ขณะเดียวกันผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีแป้งและน้ำตาล เช่น มะม่วง กล้วย ข้าวโพด มันเทศ เผือก และถั่วทุกชนิด การออกกำลังกายเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ก็จะทำให้ร่างกายมีความสมบูรณ์ห่างจากโรค
  
          "เมตาบอลิกซินโดรม เป็นโรคของคนอ้วนที่จะนำสู่โรคภัยต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายมากขึ้นในอนาคต ซึ่งในสภาวะปัจจุบันเยาวชนรุ่นใหม่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้อย่างมาก เนื่องจากทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ผู้ปกครองจึงต้องมีส่วนอย่างยิ่ง ในการฝึกให้เด็กรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อเมื่อเด็กโตไปจะได้ไม่เป็นโรคร้ายแรงต่าง ๆ"
  
          แม้ภาวะเมตาบอลิก  ซินโดรม จะเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรงในอนาคต แต่เมื่อรู้ก่อนย่อมเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพของทุกคน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมตาบอลิกซินโดรม อัปเดตล่าสุด 29 ธันวาคม 2552 เวลา 15:49:26 1,937 อ่าน
TOP