เรื่องของการนอนกรน ที่ไม่ควรชะล่าใจ


นอนกรน

การนอนกรน (snoring) (โรงพยาบาลพญาไท 1)

          กรน คือเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของลิ้นไก่และเพดานอ่อนขณะนอนหลับ ในเวลาที่เราหลับสนิทนั้น เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในช่องคอโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิ้นไก่และเพดานอ่อนจะคลายตัว บางคนคลายตัวมาก จนย้อยลงมาอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลมหายใจเข้าไม่สามารถไหลผ่านลงสู่หลอดลมและปอดได้โดยสะดวก กระแสลมหายใจที่ถูกปิดกั้นไหลผ่านในลำคอไปกระทบลิ้นไก่และเพดานอ่อนจนเกิดการสั่นมากกว่าปกติ ผลก็คือมีเสียงกรนตามมา

          ยิ่งการอุดกั้นมากเพียงใดเสียงกรนก็จะดังมากขึ้นเท่านั้น จนที่สุดการปิดกั้นนี้มากถึงอุดตันทางเดินหายใจจนหมด จะทำให้อากาศไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยสมบูรณ์ จึงเกิดภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea)


สาเหตุของการนอนกรน

          1. อายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะหย่อนยานลง รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลิ้นไก่และลิ้นตกไปปิดทางเดินหายใจได้ง่าย

          2. เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนแต่เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเป็นเท่ากับผู้ชาย

          3. โรคอ้วน มีไขมันส่วนเกินไปสะสมในช่วงคอ เบียดช่องหายใจให้แคบลง

          4. ดื่มสุราหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ซึ่งมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางส่งผลลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ขยายช่องหายใจ

          5. การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจแย่ลง ทำให้ช่องคอระคายเคือง มีการหนาบวมของเนื้อเยื่อ ทางเดินหายใจจึงตีบแคบลง เกิดการอุดตันได้ง่าย

          6. อาการคัดจมูกเรื้อรัง เช่น มีผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้ หรือเนื้องอกในจมูก

          7. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าคนปกติ

          8. ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางร่นไปด้านหลัง ลักษณะคอยาว กระดูกโหนกแก้มแบน โรคที่มีความผิดปกติบริเวณนี้เช่น Downs’s syndrome, Prader Willi syndrome, Crouzons syndrome เป็นต้น

          9. โรคที่มีความผิดปกติด้านฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (hypothyroid) พบว่าทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตันได้ง่ายกว่าคนทั่วไป


นอนกรน

ชนิดความผิดปกติในการนอนกรน

          1. ชนิดที่ไม่เป็นอันตราย (simple snoring) คนที่นอนกรนชนิดนี้ มักจะมีเสียงกรนสม่ำเสมอ ไม่มีหายใจสะดุด หรือเสียงฮุบอากาศ เสียงกรนมักดังมาก โดยเฉพาะเวลานอนหงาย ความดังของเสียงกรนจึงไม่ได้บอกว่าอันตรายหรือไม่ เนื่องจากการกรนชนิดนี้ไม่มีภาวะขาดอากาศร่วมด้วยจึงยังไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากนักเว้นแต่ทำให้รบกวนคู่นอนได้

          2. ชนิดที่เป็นอันตราย (snoring with obstructive sleep apnea) คนที่มีภาวะนี้มักจะกรนเสียงดังและมีอาการคล้ายสำลักหรือสะดุ้งตื่นกลางดึก ตื่นขึ้นมาด้วยอาการอ่อนเพลียไม่สดชื่นหรือปวดศีรษะ และต้องการนอนต่ออีกทั้งที่ใช้เวลานอน 7- 8 ชม.แล้ว กลางวันบางคนอาจมีอาการง่วงนอน, หลงลืม, ไม่มีสมาธิ, หงุดหงิดง่าย, ขี้โมโหรวมทั้งมีความรู้สึกทางเพศลดลง แต่อย่างไรก็ตามการเฝ้าสังเกตุการณ์ผู้ป่วยด้วยตนเองไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าผู้ป่วยมีการนอนกรนชนิดใด


การนอนกรนปกติ

การนอนกรนปกติ

การตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับ

          การตรวจร่างกาย ซักประวัติ

          การตรวจประเมินทางเดินหายใจ

          การตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep test ) โดยการอ่านและแปลผลโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคการหลับ (sleep specialist physician)

การรักษาการนอนกรน

1. การรักษาการนอนกรนแบบไม่ผ่าตัด

          เปลี่ยนท่านอน ในบางรายการเปลี่ยนท่านอนเป็นตะแคงก็ทำให้ความรุนแรงโรคนี้ลดลงอย่างมาก

          การลดน้ำหนัก ในรายที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งดูจากค่าดัชนีมวลกาย

          การใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้บริเวณเพดานอ่อนและโคนลิ้น  (RF)

          การใช้คลื่นความถี่วิทยุในการรักษาเยื่อบุจมูกบวม  (RF)

          การฝังพิลลาร์ (Pillar) 

          การใช้เครื่องอัดความดันต่อเนื่องปล่อยลมเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจเปิดกว้างขึ้น ไม่อุดกั้นขณะนอนหลับ (continuous positive airway pressure: CPAP)

          การใช้ทันตอุปกรณ์ (oral appliance) เพื่อเลื่อนขากรรไกรล่างพร้อมกับโคนลิ้นมาทางด้านหน้า ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นขณะนอนหลับ


2. การรักษาการนอนกรนแบบผ่าตัด

          การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน และลิ้นไก่  UPPP (uvulopalatonpharyngoplasty ) / UPF (uvulopalatal flap)

          การผ่าตัดทอนซิล (tonsillectomy)

          การผ่าตัดแก้ไข ผนังกั้นช่องจมูกคด (septoplasty)

          การผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรบนและล่างมาทางด้านหน้า (maxillomandibular advancement, MMA)








ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลพญาไท 1


เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องของการนอนกรน ที่ไม่ควรชะล่าใจ อัปเดตล่าสุด 2 มกราคม 2562 เวลา 11:15:20 5,967 อ่าน
TOP
x close