โรคกลัวการเข้าสังคมคืออะไร อาการแบบไหนถึงจะเข้าข่ายป่วย ?

โรคกลัวสังคม


          โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) คืออะไร หลาย ๆ คนยังคงสงสัยกับอาการป่วยแปลกแบบนี้อยู่ แต่เชื่อไหมคะว่า โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) แอบแฝงอยู่ในตัวบุคคลที่ดูเป็นปกติสุขดี ร่างกายก็แข็งแรง และไม่มีทีท่าวาจะป่วยแต่อย่างใด

          นั่นเพราะอาการของโรคจะก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความขี้อาย อาการประหม่า และกลัวขายหน้าตามสถานการณ์น่าตื่นเต้นทั่วไป ใคร ๆ ก็เป็น เลยทำให้ผู้ป่วยหลายคนที่ป่วยเป็นโรคกลัวสังคมไม่รู้ตัว ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ กระปุกดอทคอมจึงขออนุญาตแจกแจงข้อมูลเกี่ยวกับโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) มาให้ทุกท่านได้ศึกษาอาการแบบชัด ๆ ไปเลย เอาล่ะ มาอ่านข้อมูลกันเลยดีกว่าค่ะว่า จริง ๆ แล้วโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) เกิดจากอะไร อาการเป็นแบบไหน แล้วต้องประหม่าขั้นไหนถึงจะเข้าข่ายเป็นผู้ป่วย

 
 
โรคกลัวการเข้าสังคม คืออะไร ?

          โรคกลัวการเข้าสังคม คือ อาการวิตกกังวลว่าตัวเองจะเผลอทำอะไรเปิ่น ๆ เชย ๆ หรือทำพลาดให้ต้องอับอาย กลัวถูกวิพากษฺวิจารณ์จากคนรอบข้าง ซึ่งดูเหมือนอาการของคนตื่นเต้นกับบางอย่างแบบปกติทั่วไป แต่สำหรับผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) จะประหม่ามาก และไม่สามารถบังคับตัวเองให้ไม่ขลาดกลัวการเข้าสังคมได้เลย
 
 
สาเหตุของโรคกลัวการเข้าสังคม

          นักจิตวิทยากล่าวว่า สาเหตุของโรคกลัวการเข้าสังคมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูของครอบครัว แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดถึงสาเหตุที่แท้จริง เพราะบางกรณีโรคนี้ก็เกิดกับคนในครอบครัวเพียงแค่คนเดียว คนอื่น ๆ ไม่มีอาการของโรคเลย ทั้งนี้อาจจะอธิบายในทางชีววิทยาได้ว่า นอกจากการเลี้ยงดูของครอบครัวแล้ว บางทีสาเหตุของโรคยังอาจเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของสมอง พันธุกรรม การประมวลผลในการกระทำของตัวเองและการตอบสนองของบุคคลอื่น รวมไปถึงพฤติกรรมฝังใจตั้งแต่เด็ก ๆ ด้วย

Social Phobia
โรคกลัวการเข้าสังคมเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ?

          จากสถิติพบว่า โรคกลัวการเข้าสังคมเกิดขึ้นกับคนได้ทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเพศหญิง หรือเพศชายก็มีโอกาสเป็นโรคนี้เท่า ๆ กัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า อาการของโรคจะเห็นเด่นชัดในช่วงวัยเด็ก จนไปถึงช่วงวัยรุ่น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่เริ่มต้องเข้าสังคมมากขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ยังมีแนวโน้มอีกด้วยว่า ผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคมส่วนมากจะขาดความมั่นใจในตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และคิดว่าตัวเองมีปมด้อยที่น่าอับอาย ซึ่งเป็นความคิดที่ลดคุณค่าของตัวเองลงโดยไม่รู้ตัว จนเกิดความขลาดกลัวการเข้าสังคมในที่สุด
 
 
 อาการหวาดกลัวสังคมที่เกิดขึ้นกับเด็ก

          เด็กขี้อายเป็นเรื่องปกติของช่วงวัยของเขา แต่สำหรับเด็กที่เข้าข่ายเป็นโรคกลัวการเข้าสังคมจะแตกต่างออกไป เด็กเหล่านี้จะไม่กล้าแม้แต่เล่นกับเด็กคนอื่น อายถึงขั้นหวาดกลัวการพูดกับผู้ใหญ่ ไม่สบตาใครขณะพูด และมักจะไม่ยอมไปโรงเรียน
 
 
อาการหวาดกลัวสังคมที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่

          โดยปกติแล้วผู้ใหญ่ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม มักจะมีอาการสืบเนื่องมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หรือเป็นวัยรุ่น โดยที่ไม่ได้รับการรักษาเยียวยาให้หายหวาดกลัวการเข้าสังคม
 

Social Phobia
 
สัญญาณ และอาการของโรค

          อ่านมาถึงตรงนี้ก็ชักสงสัยแล้วสิว่า คนที่เรารู้จักหรือแม้แต่ตัวเราเองเป็นโรคหวาดกลัวสังคมด้วยหรือเปล่า งั้นมาเช็กสัญญาณอาการของโรคนี้กันก่อนเลย โดยอาการของโรคจะแบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังนี้

          
            อาการแสดงออกทางอารมณ์ และความคิด
 
              -  รู้สึกประหม่าทุกครั้งที่ต้องพูดคุยกับบุคคลอื่น หรือเผลอ ๆ อยู่ต่อหน้าคนอื่นก็พูดไม่ออก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าต้องพูดไปตามมารยาทก็ยังฝืนความวิตกกังวลของตัวเองไม่ได้

              -  วิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา หวาดกลัวบุคคลอื่นจะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองไปต่าง ๆ นานา

              -  เครียดล่วงหน้าเป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ เมื่อรู้ว่าต้องปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน หรือต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่เจอคนเยอะ ๆ

              -  กลัวว่าตัวเองจะแสดงอาการหน้าขายหน้าอะไรออกไปสักอย่าง

              -  กลัวคนอื่นจะจับสังเกตได้ว่ากำลังรู้สึกประหม่าอยู่

Social Phobia

           อาการแสดงออกทางร่างกาย

              -  อาย หน้าแดง เขินจนบิด ไม่กล้าสบตา

              -  หายใจหอบถี่กระชั้น

              -  ปั่นป่วนในท้อง บางรายถึงกับอาเจียน

              -  เสียงสั่น พูดตะกุกตะกัก

              -  ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก

              -  เหงื่อแตก

              -  หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ


           พฤติกรรมบ่งชี้อาการ

              -  ชอบปลีกตัวไปหลบอยู่คนเดียวบ่อย ๆ เพราะกลัวการเผชิญหน้ากับบุคคลอื่น

              -  มนุษยสัมพันธ์ค่อนข้างต่ำ สานสัมพันธ์ไม่เก่ง และรักษาความเป็นเพื่อนไว้ได้ยาก

              -  ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเองแบบเดี่ยว ๆ จำเป็นต้องมีเพื่อนอยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

              -  ไม่กล้าแสดงออกขั้นรุนแรง

              -  ในผู้ใหญ่บางรายอาจดื่มแอลกอฮอล์ย้อมใจทุกครั้ง ก่อนออกไปเผชิญหน้ากับคนหมู่มาก

 โรคกลัวสังคม


ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการหวาดกลัวสังคม

          หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ อาการโรคหวาดกลัวสังคมคงไม่แสดงออกมาให้เห็นได้ชัดเจนนัก แต่หากคน ๆ นั้นได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกบางอย่าง ก็ทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้นมาได้ เช่นปัจจัยต่อไปนี้

              -  เมื่อต้องพบเพื่อน หรือต้องทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ

              -  กำลังตกเป็นเป้าสายตา

              -  ถูกจับจ้องเวลาที่ทำอะไรก็ตาม

              -  รู้สึกว่าโดนแอบมอง

              -  จำเป็นต้องพูดคุยกับใครเป็นบทสนทนาสั้น ๆ

              -  เมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ

              -  เมื่อต้องทำการแสดงบนเวที หรือหน้าชั้นเรียน

              -  ถูกล้อ แซว หรือกล่าวถึง

              -  เมื่อต้องพูดคุยกับคนสำคัญ หรือบุคคลที่มีอิทธิพลเหนือกว่าตัวเอง

              -  เวลาไปออกเดท

              -  เมื่อเป็นฝ่ายโทรศัพท์ หรือติดต่อผู้อื่นก่อน

              -  ถูกเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงท่ามกลางคนหมู่มาก

              -  ใช้ห้องน้ำสาธารณะ

              -  เมื่อต้องเข้าสอบ หรือถูกทดสอบ

              -  รับประทานอาหารในที่สาธารณะ

              -  เมื่อต้องลุกขึ้นพูดในที่ประชุม

              -  เวลาไปงานปาร์ตี้ หรือต้องเข้าร่วมงานที่มีคนเยอะ ๆ

Social Phobia


การวินิจฉัยโรค

          จิตแพทย์จะวินิจฉัยโรคเมื่อบุคคลนั้นมีอาการกลัวสังคมต่อเนื่องกันนานเกิน 6 เดือน (โดยเฉพาะวัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่น) โดยจะมีแบบทดสอบให้ทำ และจับสังเกตอาการระหว่างที่พูดคุย รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือแม้แต่เข้าห้องน้ำสาธารณะต่อหน้าบุคคลอื่น (คนนอกครอบครัว หรือคนแปลกหน้า) หากว่าผู้ทดสอบมีอาการวิตกกังวล และหวาดกลัวต่อบุคคลอื่นแม้จะใช้ชีวิตตามปกติของตัวเองก็ทำได้ลำบาก นั่นก็แสดงว่า เข้าข่ายป่วยเป็นโรคกลัวการเข้าสังคมแล้วนั่นเองค่ะ
 
โรคกลัวการเข้าสังคม มีผลกระทบกับชีวิตอย่างไรบ้าง ?

          โรคหวาดกลัวสังคมถือเป็นอาการผิดปกติทางสุขภาพจิต ซึ่งหากใครเป็น ย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างเช่น


          ผลกระทบกับชีวิตการงาน และการเรียน

              -  ไม่กล้าไปสัมภาษณ์งาน

              -  มีปัญหากับการติดต่อประสานงานกับหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน

              -  ไม่กล้าแสดงออกในที่ประชุม หรือหน้าชั้นเรียน

              -  ลังเลที่จะตัดสินใจรับตำแหน่ง หรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

              -  ประสิทธิภาพในการทำงาน และการเรียนถดถอย

              -  ไม่มีความสุขกับการเรียน และการทำงาน

 
          ผลกระทบกับความสัมพันธ์

              -  มีปัญหาในการสานสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเพื่อน หรือคนรักก็ตาม ทำให้คบกับใครไม่ได้นาน

              -  ไม่กล้าเปิดใจรับใครเข้ามา

              -  ไม่กล้าแชร์ความคิดเห็นร่วมกับบุคคลอื่น

 
         ผลกระทบกับการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

              -  เสียโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คนใหม่ ๆ ทำให้ไม่ได้พัฒนาตนเองอย่างที่ควรจะเป็น รวมทั้งพลาดโอกาสดี ๆ ในชีวิตอีกหลายสิ่งเลยทีเดียว อีกทั้งการกักขังตัวเองอยู่ในโลกส่วนตัว ยังทำให้คุณกลายเป็นคนโลกแคบได้ง่าย ๆ ด้วยค่ะ

 
แนวทางการรักษา

          แนวทางการรักษาโรคกลัวการเข้าสังคมสามารถเลือกได้ 2 วิธี ได้แก่

             1. การรักษาด้วยวิธีจิตวิทยา

          จิตแพทย์จะเยียวยาอาการกลัวสังคมด้วยวิธี CBT (Cognitive behavior therapy) หรือการบำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม ซึ่งต้องถือว่าเป็นแนวทางการรักษาโรคกลัวการเข้าสังคมที่เหมาะสมมากอีกแนวทางหนึ่ง โดยจิตแพทย์จะพยายามโน้มน้าวผู้ป่วยให้เปลี่ยนความคิด ปรับพฤติกรรม และเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอาการกลัวสังคมของตัวเอง เพื่อให้เขารู้สึกประหม่า และวิตกกังวลน้อยลง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้การเข้าสังคมมากขึ้นด้วย หรือหากผู้ป่วยไม่พร้อมจะเข้ารับการรักษาแบบเดี่ยว ๆ จิตแพทย์ก็อาจจะแนะนำให้เข้ารับการบำบัดแบบกลุ่มฝึกฝนทักษะการเข้าสังคม เรียนรู้วิธีการตอบโต้บทสนทนา และทักษะการกล้าแสดงออกทุกชนิด โดยทำร่วมกันกับผู้ป่วยเคสอื่น ๆ
 
             2. การรักษาด้วยยา

          โรคกลัวการเข้าสังคมมีแนวทางการรักษาด้วยตัวยาเช่นกัน โดยส่วนมากจิตแพทย์จะสั่งยาลดอาการซึมเศร้า (Antidepressants) และยาระงับความวิตกกังวล (Anti-Anxiety) ซึ่งระดับความรุนแรงของยาสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยาทั้ง 2 ตัวนี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากยาแต่ละตัวมีผลข้างเคียง เช่น อาการปวดหัว อาเจียน หรือทำให้นอนไม่หลับ ดังนั้นการใช้ยารักษาอาการกลัวการเข้าสังคม ควรอยู่ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์อย่างเข้มงวดนะคะ

รักษาด้วยยา
 
 วิธีเยียวยาอาการผู้ป่วยแบบอื่น ๆ

                 นอกจากการรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์ที่กล่าวไปแล้ว การใช้วิธีปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมบางอย่าง ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางบำบัดที่จะช่วยทำให้คนที่มีอาการหวาดกลัวสังคมได้มีชีวิตที่เป็นปกติสุขได้มากขึ้นเช่นกันค่ะ ลองไปดูกันว่ามีวิธีไหนบ้าง

             1. ฝึกท้าทายความคิดในแง่ลบ

                 ผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคมส่วนมากมักจะคาดเดาไปต่าง ๆ นานาเมื่อต้องตกเป็นเป้าสายตา หรืออยู่ในวงล้อมของคนอื่น ๆ โดยกลัวว่าจะแสดงพฤติกรรมเปิ่น ๆ ดูงี่เง่าออกไป และคนอื่นจะต้องวิพากษ์วิจารณ์เขาอย่างเสีย ๆ หาย ๆ แน่นอน ดังนั้นเราจึงเยียวยาเขาด้วยการให้เขาฝึกท้าทายความคิดในแง่ลบ พยายามเอาชนะความกลัว และการคาดเดาร้าย ๆ อย่างนั้นให้ได้ และผลักดันให้เขาคิดอยู่ในใจเสมอว่า “ฉันต้องทำได้ ไม่มีอะไรยากเลยสักนิด” นอกจากนี้ต้องพยายามให้เขาเลิกคาดเดาความคิดของคนอื่น เลิกกังวลสายตาของใครต่อใครให้ได้ด้วย
 
             2. โฟกัสที่สิ่งรอบตัว

                 หากไม่อยากจดจ่ออยู่กับความวิตกกังวล ผู้ป่วยควรหันเหความสนใจของตัวเองไปที่สิ่งแวดล้อมรอบตัว มองผู้คน และสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น รวมทั้งตั้งใจฟังในสิ่งที่ได้ยิน โดยไม่เอาความคิดด้านลบของตัวเองไปกลบเสียงรอบข้างนั้นจนหมด นอกจากนี้คุณไม่จำเป็นต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้กับคู่สนทนาเพื่อรักษาบรรยากาศตลอดเวลาก็ได้ เงียบนิ่งในบางครั้ง ก็ไม่ทำให้บทสนทนาสะดุด แถมยังลดความเกร็งของคุณลงไปได้อีกด้วย
              
             3. ฝึกกำหนดลมหายใจ

              -  อยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย (นั่งหรือยืนก็ได้) หลังตรง อกผาย

              -  ทาบมือไว้ที่บริเวณหน้าอก และหน้าท้อง

              -  สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ยาว ๆ จากนั้นค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจ โดยมือตรงหน้าท้องก็ขยับเลื่อนขึ้น ส่วนมือที่ทาบหน้าอกก็ลดต่ำลงอย่างช้า ๆ

              -  สูดลมหายใจลึก ๆ อีกครั้ง และกักลมไว้ประมาณ 2 วินาที

              -  ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้า ๆ ขยับมือได้อย่างอิสระ

              -  สูดลมหายใจให้ลึกที่สุด แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากอย่างช้า ๆ

              -  สูดลมหายใจเข้า 4 ครั้ง กักลมหายใจ 2 วินาที และปล่อยลมหายใจออกทางปากไปเรื่อย ๆ มีสมาธิกับการกำหนดลมหายใจให้ได้มากที่สุด

Social Phobia

          นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถฝึกสมาธิด้วยโยคะ หรือการนั่งสมาธิ เพื่อปรับลดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์อื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วยนะคะ
 

             4. เผชิญหน้ากับความกลัว

                 ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง ดังนั้นหากต้องการเอาชนะความขลาดกลัวก็ต้องเผชิญหน้ากับมันให้ได้ โดยเริ่มแรกอาจให้ผู้ป่วยลองทดสอบกับสถานการณ์เล็ก ๆ ที่คิดว่าเขาน่าจะรับมือไหว เช่น กลัวการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ก็ให้เขาลองออกงานสังคม โดยมีเพื่อนที่มนุษย์สัมพันธ์ดีเลิศเป็นบัดดี้ เปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้วิธีสานสัมพันธ์กับผู้อื่นไปเรื่อย ๆ และในที่สุดเขาก็จะเกิดความเคยชินกับการเริ่มต้นสานสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้ในที่สุด
 
            ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องจำไว้เสมอว่า การเริ่มต้นทุกอย่างไม่เคยง่าย ดังนั้นแรก ๆ อาจจะต้องใช้ความอดทนมากหน่อย และพยายามเริ่มทำความคุ้นชินกับสถานการณ์รอบตัวไปก่อน อย่าเพิ่งกระโดดข้ามขั้นตอนไปงานใหญ่นะคะ
 
 
             5. สร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

              -  เข้าคอร์สเรียนการเข้าสังคม ซึ่งมักจะเปิดสอนเป็นหลักสูตรอบรมการพัฒนาบุคลิกภาพ ตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

              -  เข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครที่คุณสนใจ ลองเข้ากลุ่มกิจกรรมที่ทำให้คุณรู้สึกสนุก และพัฒนาความกล้าแสดงออกของคุณมากขึ้น เป็นต้นว่า ชมรมคนรักสัตว์ ชมรมนักปั่นจักรยาน หรือเข้าร่วมกลุ่มสังคมเล็ก ๆ ที่ผู้ป่วยคุ้นเคยก่อนก็ได้

              -  ฝึกฝนทักษะการเข้าสังคมด้วยตัวเอง หากคุณรู้สึกไม่กล้าพูดคุยกับคนแปลกหน้า ก็ต้องพยายามฝึกฝนทักษะจนกว่าจะกล้าเข้าไปพูดคุยกับคนแปลกหน้ามากขึ้น

สร้างมนุษย์สัมพันธ์ดี
 
             6. เปลี่ยนไลฟ์สไตล์

              -  งด หรือหลีกเลี่ยงชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนทุกชนิด เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการวิตกกังวล หัวใจเต้นแรง

              -  จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยอาจจะเลือกดื่มแอลกอฮอล์ย้อมใจเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่รู้สึกอึดอัด แต่ทั้งนี้ก็ควรต้องจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพราะแอลกอฮอล์ก็มีส่วนสร้างความประหม่าให้คุณได้เช่นกัน

 
            แม้โรคกลัวการเข้าสังคมจะดูไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพของเราเท่าไร แต่ก็มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นหากคุณ หรือคนรอบข้างมีความสุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้ (โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น) ก็ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อหาทางเยียวยาโดยด่วนค่ะ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคกลัวการเข้าสังคมคืออะไร อาการแบบไหนถึงจะเข้าข่ายป่วย ? อัปเดตล่าสุด 13 มิถุนายน 2561 เวลา 11:37:26 156,231 อ่าน
TOP
x close