
ท้องเสีย เรื่องที่ไม่ธรรมดา (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์ อายุรแพทย์ สาขาประสาทวิทยา
ตั้งชื่อเรื่องไว้แบบนี้บางท่านอาจจะประหลาดใจ ชวนให้คนค้าน เพราะแพทย์ส่วนใหญ่และคนทั่วไปเกือบทุกคนมักจะรู้สึกว่าท้องเสียเป็นเรื่องธรรมดา แล้วทำไมผู้เขียนถึงได้ตั้งชื่อเรื่องเช่นนี้ หรือต้องการจะบอกอะไร
อันที่จริงก็เป็นความตั้งใจจะให้เกิดความกังขาอยู่เหมือนกัน เพราะว่าถ้าเขียนเรื่องท้องเสีย คนอ่านก็คงมีน้อยเพราะเป็นเรื่องปกติที่รู้ ๆ กันอยู่ หรือเคยอ่านมามากมายแล้ว ไม่น่าจะมีอะไรพิเศษ แต่ถ้าลองติดตามอ่านเรื่องนี้ไปจนจบจะได้ประโยชน์และหลายท่านคงจะเห็นคล้อยตามกับผู้เขียน
โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง หมายถึงการถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะเหลวหรืออุจจาระเป็นน้ำเกินกว่า 2 ครั้งใน 1 วัน หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียวก็จัดว่าท้องเสีย
ในอดีตจะเรียกลักษณะที่อุจจาระเป็นมูกปนเลือดว่าเป็นโรคบิด เพราะผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดบิดในท้องขณะที่เบ่งอุจจาระร่วมด้วย
โรคท้องเสียมีทั้งท้องเสียเฉียบพลันและท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งท้องเสียเฉียบพลันนั้นเป็นไม่กี่วันรักษาไม่กี่วันก็หาย แต่ท้องเสียเรื้อรังนั้นหมายถึงมีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ สาเหตุของท้องเสียแบบเฉียบพลันก็จะแตกต่างจากกรณีเรื้อรัง
ท้องเสียเฉียบพลันมักเกิดจากอาหารเป็นพิษหรือการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือ พยาธิในลำไส้
ส่วนท้องเสียแบบเรื้อรังมักเกิดจากการอักเสบของลำไส้ชนิดที่ไม่ใช่จากอาหารเป็นพิษ หรือการติดเชื้อธรรมดา แต่มักเกิดจากการย่อยและการดูดซึมอาหารผิดปกติ การอักเสบจากภูมิแพ้หรือติดเชื้อแปลก ๆ หรือเป็นมะเร็งในทางเดินอาหาร ดังนั้นท้องเสียแบบเรื้อรังจึงจัดเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา
แม้แต่ท้องเสียแบบเฉียบพลันที่ดูเป็นเรื่องธรรมดา ก็ยังพบว่าบางกรณีอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาไม่ถูกต้องหรือช้าเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ที่เสียชีวิตจากท้องเสียเฉียบพลันจะเกิดจากภาวะช็อก
อาการช็อกเนื่องจากท้องเสียส่วนมากเกิดจากการขาดน้ำและเกลือแร่ปริมาณมาก ส่วนน้อยเกิดจากภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งทั้ง 2 กรณีมีอาการเตือนแต่ถูกละเลยทั้งจากผู้ป่วยและแพทย์ ถ้าสังเกตได้ก่อนที่จะช็อกก็จะรักษาได้ทัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใด ดังนั้นทุกคนควรจะรู้จักอาการเดือนเหล่านี้เป็นอย่างดีและจำไว้ให้แม่น วันหนึ่งอาจช่วยชีวิตคุณหรือคนที่คุณรักได้

ปกติเวลาเขียนบทความที่ไม่ใช่ตำรามักจะไม่เขียนเป็นข้อ ๆ แบบนี้แต่ครั้งนี้ตั้งใจและต้องการให้ผู้อ่านได้จำ 6 ข้อ สัญญาณอันตรายก่อนเกิดอาการช็อก พยายามจำให้ขึ้นใจ เวลามีอาการท้องเสียเฉียบพลันไปพบแพทย์ต้องบอกแพทย์ให้ตรง 6 ข้อนี้ว่ามีหรือไม่มี สำหรับแพทย์ก็ขอให้บันทึกอาการทั้ง 6 ข้อนี้ทุกครั้งที่ให้การตรวจรักษาผู้ป่วยท้องเสียเฉียบพลัน
จากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า แพทย์ส่วนใหญ่จะบันทึกอาการเฉพาะที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารเวลาตรวจผู้ป่วยท้องเสีย ซึ่งได้แก่ อุจจาระมีลักษณะอย่างไร ถ่ายมากน้อยแค่ไหน ปวดท้องหรือไม่ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด หรือมีใช้ร่วมด้วยหรือไม่ มีส่วนน้อยที่จะบันทึกสัญญาณอันตรายทั้ง 6 โดยครบถ้วน ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องมีส่วนร่วมด้วยโดยบอกแพทย์ไม่ว่าแพทย์จะถามหรือไม่ก็ตาม
สัญญาณอันตรายทั้ง 6 ข้อนี้ ยังใช้ได้กับโรคอื่น ๆ ที่จะเกิดอาการช็อกแทรกช้อนได้ เช่น โรคติดเชื้อต่าง ๆ การบาดเจ็บรุนแรง การขาดอาหาร และขาดน้ำรุนแรง โรคในระบบต่าง ๆ อาการแพ้รุนแรงและภาวะพิษจากยาหรือสารเคมีอื่น ๆ
สิ่งที่ต้องย้ำเตือนสำหรับผู้ป่วยทุกคนคือ ถ้าเกิดอาการท้องเสียเฉียบพลันควรดื่มน้ำผสมเกลือแร่ให้มาก ๆ อย่าดื่มแต่น้ำเปล่า เพราะถ้าท้องเสียถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหลาย ๆ ครั้ง ร่างกายจะสูญเสียทั้งน้ำและเกลือแร่ การดื่มน้ำเปล่าจะทำให้ความเข้มข้นของเกลือแร่ในเลือดต่ำลง เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว อาจเกิดอาการสับสน ซึมลง หมดสติ และชักได้







ขอขอบคุณข้อมูลจาก
