มะระ สรรพคุณอย่างจี๊ด ลืมความขมไปเลย !


          หวานเป็นลมแต่ถ้าขมก็ต้องมะระ ทว่าความขมของมะระจะเป็นเรื่องน้อยนิดเลยเมื่อเทียบกับสรรพคุณของมะระที่มีอยู่ในตัว
 
          ในยามที่เรายังเด็กเรามักจะมองข้ามเมนูมะระอยู่เสมอ ด้วยความที่รสชาติของมะรออกจะขม ๆ กินแล้วไม่อร่อยเท่าไร และแม้บรรดาผู้ใหญ่ต่างก็บอกว่ามะระมีประโยชน์ หวานเป็นลมขมเป็นยานะรู้ไหม แต่ยังไงหลายคนก็ไม่ยอมกินมะระจนถึงทุกวันนี้ ทว่าอยากให้ลองอ่านสรรพคุณของมะระให้ถี่ถ้วนกันอีกที เผื่อจะเปลี่ยนใจ...

มะระกับหลากหลายชื่อเรียก

          มะระหรือมะระจีนลูกใหญ่ ๆ มีชื่อพื้นบ้านอยู่หลายชื่อด้วยกัน บ้างก็เรียกผักไฮ ผักไซ่ ผักไห่ มะร้อยรู มะไห่ สุพะซู หรือสุพะเด ส่วนชื่อภาษาอังกฤษของมะระก็มีทั้ง Bitter cucumber, Bitter Chinese, Bitter melon, Balsam pear, Leprosy gourd และ Karela

          ในส่วนของชื่อวิทยาศาสตร์ของมะระนั้นมีชื่อว่า Momordica charantia Linn. มะระจัดเป็นพืชในวงศ์ Cucurbitaceae จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับฟัก แตงกวา และบวบ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะระจะเป็นไม้เถา มีมือเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปร่างคล้ายฝ่ามือของคน ขอบใบหยักเป็นซี่ห่าง ๆ ใบและลำต้นมีขนสากอยู่ทั่วไป

          ดอกมะระมีสีเหลือง ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ผลมะระมีขนาดใหญ่สีออกขาวอมเขียว ผิวขรุขระ ร่องใหญ่ ผลยาวประมาณ 4-9 นิ้ว ในบ้านเรามักจะใช้ประโยชน์จากยอดอ่อนมะระ ผลอ่อน ใบ ราก และเถามากกว่าส่วนอื่น ๆ

มะระ

คุณค่าทางโภชนาการของมะระ

          ในปริมาณ 100 กรัม กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แสดงคุณค่าทางโภชนาการของมะระ ดังนี้

     - พลังงาน 31 กิโลแคลอรี

     - น้ำ 92 กรัม

     - โปรตีน 1 กรัม

     - ไขมัน 0.2 กรัม

     - คาร์โบไฮเดรต 6.3 กรัม

     - ไฟเบอร์ 0.7 กรัม

     - เถ้า 0.5 มิลลิกรัม

     - แคลเซียม 21 มิลลิกรัม

     - ฟอสฟอรัส 32 มิลลิกรัม

     - ธาตุเหล็ก 0.7 มิลลิกรัม

     - ไทอะมีน 0.05 มิลลิกรัม

     - ไรโบฟลาวิน 0.03 มิลลิกรัม

     - ไนอะซิน 0.2 มิลลิกรัม

     - วิตามินซี 85 มิลลิกรัม

มะระ สรรพคุณไม่น้อยเลยนะ

          คราวนี้มาดูสรรพคุณของมะระกันบ้าง ว่ามะระมีประโยชน์ต่อสุขภาพยังไง

1. ลดน้ำตาลในเลือด

มะระ

          มีการวิจัยพบว่า ในเปลือกมะระมีสารชาแรนทิน (charantin) และพอลิเพปไทด์-พี (polypeptide-p) ซึ่งมีสรรพคุณกระตุ้นการเปลี่ยนกลูโคสในกระแสเลือดให้เป็นไกลโคเจนที่ตับ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินในตับอ่อน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้

          นอกจากนี้ยังมีอีกงานวิจัยหนึ่งที่พบว่าในมะระมีสารไวซีน (vicine) และสารออกฤทธิ์อื่น ๆ ที่เมื่อลองฉีดแบบอินซูลินกับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 แล้วพบว่า สารตัวนี้ออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

          ทว่าในคนที่กินยาลดเบาหวานอยู่แล้ว การกินมะระในปริมาณมากอาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดจนเกินไปได้นะคะ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังและควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่สกัดมาจากมะระด้วย แต่หากกินมะระเป็นอาหารปกติก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้มากเท่าไร

2. บำรุงตับ

          ผศ. ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า มีงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ในมะระมีสารที่ช่วยเพิ่มเอนไซม์ในการทำลายสารพิษในตับได้ จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีผลดีกับการทำงานของตับในมนุษย์ด้วย

3. ป้องกันมะเร็งเต้านม

มะระ

          ในเรื่องนี้ ผศ. ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นักวิจัยที่สถาบันมะเร็งพบว่า สารในมะระมีผลช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในหนูกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งเต้านม

4. สมานแผล


           รากมะระจีนมีสรรพคุณในการฝาดสมาน โดยในตำรายาไทยพบว่ามีการนำรากมะระจีนไปต้มดื่มรักษาโรคริดสีดวงทวาร แก้บิด และแก้ไข้ได้

5. แก้ไข้

          เถามะระจีนมีสรรพคุณใช้ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้บิด โดยนำเถามะระตากแห้งแล้วต้มดื่มเป็นชา

มะระ

6. ขับพยาธิตัวกลม

          เมล็ดของมะระจีนก็มีสรรพคุณในการขับพยาธิตัวกลม โดยเมล็ดมะระจะมีรสขม สามารถนำมาตากแห้งและต้มดื่มเป็นชามะระได้

7. ช่วยให้เจริญอาหาร

          เรามักได้ยินคนพูดว่า กินมะระแล้วจะกินอาหารได้อร่อยขึ้น นั่นเพราะสารโมโมดิซีนที่ทำให้มะระมีรสขม มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นให้รู้สึกอยากอาหาร กินแล้วจะทำให้เราเจริญอาหารมากขึ้น และยังช่วยให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยแก้ท้องผูกด้วย

          ได้รู้สรรพคุณของมะระกันไปแล้วคราวนี้เรามาดูกันค่ะว่า มะระจะนำมาทำเป็นเมนูอาหารอร่อย ๆ ได้กี่เมนูบ้าง มาดูกันเลย

มะระ

          - 8 เมนูมะระ เสกอาหารไทยขมคอให้อร่อยปังโดนใจ

          แต่ถ้าอยากลดความขมของมะระลง แนะนำให้นำมะระไปคลุกเกลือทิ้งไว้สักพัก แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือเวลาต้มมะระยัดไส้ ให้เปิดฝาหม้อไว้จนเดือด เท่านี้ก็จะช่วยลดความขมของมะระได้ อย่างไรก็ตาม ต้องระวังไว้ด้วยนะคะว่า ไม่ควรกินมะระที่มีผลสุกเกินไป เพราะอาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้เหมือนกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
กองโภชนาการ กรมอนามัย
ชัวร์ก่อนแชร์
ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะระ สรรพคุณอย่างจี๊ด ลืมความขมไปเลย ! อัปเดตล่าสุด 19 ตุลาคม 2563 เวลา 17:16:01 143,645 อ่าน
TOP
x close