x close

เตือนโจ๋ฮิตฟังเพลงดัง ๆ จากหูฟัง เสี่ยงหูตึง

ฟังเพลง

เตือนโจ๋ฮิตฟังเพลงดัง ๆ จากหูฟัง เสี่ยงหูตึง (เดลินิวส์)

          นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้เครื่องเล่นเพลงดิจิตอลพกพา อาทิ เครื่องเอ็มพี 3 ไอพอด กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นทั่วโลก เพราะมีความเป็นโลกส่วนตัว พกพาสะดวกเพราะใช้หูฟังขนาดเล็ก ขณะนี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาต่อสุขภาพของผู้ฟังเครื่องดังกล่าว เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคสหภาพยุโรปได้ประกาศเตือนภัย โดยผลการสำรวจพบว่าระบบการได้ยินของวัยรุ่นยุโรปมากกว่า 10 ล้านคน กำลังอยู่ในอันตรายจากการใช้หูฟัง ฟังเพลงจากเครื่องเล่นดิจิตอลในระดับเสียงที่ดังเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการหูอื้อและหูตึง โดยผู้ใช้เอ็มพี 3 ร้อยละ 5-10 ทฟั่วโลกกำลังมีความเสี่ยง ซึ่งน่าห่วงมาก

          ในส่วนของไทยขณะนี้พบว่า วัยรุ่นจำนวนมากนิยมฟังเพลงจากเครื่องเล่นเอ็มพี 3 เครื่องไอพอด รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือที่คัดลอกเพลงจากอินเตอร์เน็ตเป็นร้อย ๆ จนถึงพันเพลง ซึ่งผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดใน 2551 พบประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไปทั่วประเทศใช้โทรศัพท์มือถือ 32 ล้านคน หรือร้อยละ 53 เพิ่มจากปี 2547 ซึ่งมีผู้ใช้ประมาณ 17 ล้านคน การใช้หูฟังเพลง หากฟังเสียงดังปกติทั่วไปคือไม่เกิน 80 เดซิเบล จะไม่เกิดปัญหาต่อระบบประสาทในหู แต่หากฟังดังเกินกว่านี้จะเกิดปัญหาหูตึง หูหนวก เนื่องจากลำโพงเสียงจ่อติดที่รูหู ซึ่งวัยรุ่นมีความเสี่ยง เนื่องจากวัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมฟังเพลงประเภทที่มีจังหวะเร็ว เสียงเบสดังกระแทกหนักๆ และมักฟังเสียงดัง เพื่อความสะใจ ได้อารมณ์ และเมื่อหูตึงแล้วจะเกิดปัญหาการสื่อสาร ต้องพูดเสียงดังกว่าปกติจึงจะได้ยิน ไม่ได้ยินเสียงกระซิบ หากไม่เร่งแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ คาดว่าในอนาคตสมรรถนะการเรียนและการทำงานของเยาวชนอาจมีปัญหา สื่อสารกันไม่รู้เรื่องหรือสื่อสารเพี้ยนไป ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ      

          ด้านนายแพทย์สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค  กล่าวว่า โดยปกติหูมีหน้าที่ในการได้ยิน และการทรงตัวของร่างกาย หูสามารถทนรับฟังเสียงได้ไม่เกิน 90 เดซิเบลเท่านั้น โดยหูฟังเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ไอพอด โทรศัพท์มือถือที่ใช้ในขณะนี้ ยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานความดังเสียงที่ปลอดภัย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรรับฟังในระดับความดังไม่เกิน 80 เดซิเบล

          หูฟังที่มีจำหน่ายในท้องตลาดขณะนี้มี 3 ประเภท คือ แบบแยงเข้าไปในรูหู (In-Ear หรือ Ear -Plug) แบบแปะหรือสวมแนบพอดีหู และแบบครอบที่ใบหู แต่ที่วัยรุ่นนิยมมากที่สุดเป็นแบบแยงเข้าไปในรูหูเพราะมีขนาดเล็ก พกพาสะดวก แยกแยะเสียงดนตรีได้ชัดเจน หาซื้อง่ายตามแผงลอย ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้าทั่วไป ราคาไม่แพง เริ่มต้นที่ 30 บาทขึ้นไป การฟังเพลงจากหูฟังชนิดนี้เสี่ยงอันตรายสูงกว่าหูฟังประเภทอื่น เนื่องจากตัวลำโพงหูฟังจะอยู่ใกล้กับประสาทรับเสียงในหูมากที่สุด โดยเพลงที่วัยรุ่นนิยมฟังจะมีหลากหลายแนว เช่น ป๊อป ร็อค ฮิปฮอป แร็พ พังค์ เป็นต้น เป็นเพลงประเภทที่มีจังหวะแรง เร็ว เสียงเบสกระแทกหู  หากฟังเสียงดังเกินไป จะมีผลต่อระบบประสาทการได้ยิน
 
          นายแพทย์สมเกียรติกล่าวต่อว่า การฟังเพลงที่มีความดังเกิน 80 เดซิเบลเป็นเวลานาน จะเป็นอันตรายต่อเชลล์ประสาทรับสัญญาณในหู ทำให้เสื่อมลงไปเรื่อย ๆ จนเกิดอาการหูตึง ต้องฟังเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ มีรายงานผลสำรวจวัยรุ่นไทยในระดับมัธยมตอนต้นและมัธยมตอนปลายในกทม. พบว่า หูตึงสูงถึงร้อยละ 70 การฟังเพลงจากหูฟังหากเปิดเสียงดังไม่ควรฟังนานเกินครึ่งชั่วโมง เพราะเสียงอาจดังมากเกินไป เช่นอัาจดังกว่า 110 เดซิเบล จะทำให้เกิดภาวะหูตึงแบบถาวร การฟังที่เป็นอันตรายต่อหูมากที่สุดคือ การเสียบหูฟังตลอดเวลา ไม่เว้นแม้เวลาหลับ จะเป็นตัวเร่งทำให้หูตึงเร็วขึ้น เนื่องจากแก้วหูจะทำงานตลอดเวลา และจะมีผลหลังจากตื่นนอน จะทำให้อารมณ์หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน ส่งผลให้เป็นคนอารมณ์ร้ายถึงก้าวร้าว เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง อาการหูตึงจะเกิดทั้งสองข้างพร้อมกัน หากขับขี่รถจะเกิดปัญหาจราจร เพราะไม่ได้ยินเสียงแตรรถ

          ในส่วนของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ หากฟังเพลงจากหูฟังและเปิดเสียงดังเกินไป นอกจากจะทำให้ประสาทหูเสื่อมจนหูหนวกแล้ว ยังทำให้พัฒนาการของสมองในด้านการเรียนรู้ของเด็กลดลงอีกด้วย เนื่องจากเชลล์ประสาทรับคลื่นเสียงของเด็กอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่ มีความไวต่อการเสื่อมจากเสียงดังมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การได้ยินต่ำกว่ามาตรฐานของเด็กทั่ว ๆ ไปในวัยเดียวกัน และจะมีผลไปถึงการพูดของเด็กด้วย เพราะการได้ยินกับการพูดจะสัมพันธ์กัน หากการได้ยินไม่ดีการพูดก็จะไม่ดีด้วย อาจเกิดปัญหาในการเรียนต่อไป อาจเรียนไม่รู้เรื่อง เรียนตามเพื่อนไม่ทัน หรืออาจต้องพึ่งเครื่องช่วยฟังเสียงตั้งแต่วัยเด็ก ความสามารถในการทำงานลดลงเมื่อเติบโตและทำงาน การติดต่อประสานงานเพี้ยนไป สำหรับวิธีการในการสังเกตง่าย ๆ ว่า สถานที่นั้นมีเสียงดังเกิน 80 เดซิเบลหรือไม่ สังเกตได้จากเมื่อยืนห่างกันระยะหนึ่งเมตรแทนที่จะพูดกันได้ยินแต่ต้องตะโกนใส่กันจึงจะได้ยิน




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนโจ๋ฮิตฟังเพลงดัง ๆ จากหูฟัง เสี่ยงหูตึง อัปเดตล่าสุด 18 มกราคม 2553 เวลา 16:39:41 1,807 อ่าน
TOP