กระเจี๊ยบเขียว สรรพคุณบรรเจิด เป็นเลิศที่เมือกลื่น ๆ บนฝัก



          ผักรสชาติดีอย่างกระเจี๊ยบเขียว นอกจากจะนำไปทำเมนูอาหารได้หลากหลายแล้ว สรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียวยังดีต่อสุขภาพสุด ๆ ไปเลยนะ รู้เปล่า

          กระเจี๊ยบเขียว หรือกระเจี๊ยบมอญ เป็นผักที่หลายคนชอบรับประทาน เพราะไม่ว่าจะลวก ย่าง หรือนำไปผัด กระเจี๊ยบเขียวก็มีรสชาติที่เด็ดขาด อร่อยจนหลายคนกินได้แบบไม่ยั้ง ทั้งที่ยังไม่รู้ชัดว่าประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียวดียังไง วันนี้เราเลยมาเปิดสรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียวให้หลายคนได้รู้จัก มาดูซิว่ากระเจี๊ยบเขียว สรรพคุณนั้นเลิศจริงหรือเปล่า

กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว กับความเป็นมา

          กระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเอธิโอเปีย แต่ก็พบกระเจี๊ยบเขียวได้ในแถบศูนย์สูตรของทวีปแอฟริกา อียิปต์ หมู่เกาะอินเดียตะวันตก และเอเชียใต้ ทั้งนี้กระเจี๊ยบเขียวเติบโตได้ดีในเขตร้อนและอบอุ่น ในบ้านเราจึงสมารถปลูกกนะเจี๊ยบเขียวได้ทุกภาค

          กระเจี๊ยบเขียวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Abelmoschus esculentus (L.) Moench. อยู่ในวงศ์ Malvaceae โดยนอกจากชื่อกระเจี๊ยบเขียวแล้ว ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เรียกกระเจี๊ยบเขียวด้วย เช่น กระเจี๊ยบขาว กระเจี๊ยบมอญ มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือทวาย มะเขือละโว้ ถั่วส่าย เป็นต้น

กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว กับลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชยืนต้น มีอายุประมาณ 1 ปี ลำต้นสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร ตามลำต้นจะมีขนสั้น ๆ หลายสี แตกต่างกันตามสายพันธุ์ ใบเป็นแฉกคล้ายใบละหุ่งแต่ก้านใบสั้นกว่า ดอกกระเจี๊ยบเขียวจะเป็นสีเหลือง โคนดอกด้านในสีออกม่วง ๆ ส่วนฝักกระเจี๊ยบเขียวมีรูปเรียวยาว ปลายฝักแหลม ตัวฝักจะมีทั้งแบบฝักกลมและฝักเหลี่ยม ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 80-200 เมล็ด ตัวเมล็ดมีลักษณะกลมรีขนาดเดียวกับถั่วเขียว

กระเจี๊ยบเขียว คุณค่าทางโภชนาการมีอะไรบ้าง

          จากข้อมูลของกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แสดงให้เห็นว่า กระเจี๊ยบเขียว 100 กรัม (เฉพาะฝัก) ให้คุณค่าทางอาหาร ดังนี้

          พลังงาน 26 กิโลแคลอรี

          น้ำ 90.8 กรัม

          โปรตีน 1.5 กรัม

          ไขมัน 0.2 กรัม

          คาร์โบไฮเดรต 4.5 กรัม

          ไฟเบอร์ 4.2 กรัม

          เถ้า 0.2 กรัม

          แคลเซียม 11 มิลลิกรัม

          ฟอสฟอรัส 2 มิลลิกรัม

          เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม

          เบต้าเคโรทีน 335 ไมโครกรัม

          วิตามินเอ 56 ไมโครกรัม

          วิตามินอี 0.55 มิลลิกรัม

          ไทอะมีน 0.05 มิลลิกรัม

          ไรโบฟลาวิน 0.08 มิลลิกรัม

          ไนอะซิน 1.8 มิลลิกรัม

          วิตามินซี 14 มิลลิกรัม

กระเจี๊ยบเขียว

สรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียว ดียังไง


          ได้เวลามาเปิดสรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียวกันแล้วจ้า

          * ช่วยในการขับถ่าย

          กระเจี๊ยบเขียวมีสารเมือกเฉพาะตัวและมีเส้นใยชนิดละลายน้ำและชนิดไม่ละลายน้ำอยู่ในตัว สรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียวในข้อนี้จึงช่วยในการขับถ่ายได้ดีมาก ๆ โดยเส้นใยที่ละลายน้ำได้จะช่วยดูดซับสารพิษในลำไส้และขับถ่ายออกมาพร้อมอุจจาระ และทำให้ถ่ายอุจจาระง่ายขึ้น

          * ช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร

กระเจี๊ยบเขียว

          เมือกลื่น ๆ บนผิวกระเจี๊ยบเขียวมีส่วนช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร บรรเทาแผลในกระเพาะอาหาร โดยในปี 2547 มีการศึกษาพบว่า ในกระเจี๊ยบเขียวมีสารประกอบไกลโคไซเลต และไกลโคโปรตีน ซึ่งสารดังกล่าวมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ โพลิ เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เกาะเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารได้ยากกว่าปกติ ความเสี่ยงในการเกิดแผลในกระเพาะอาหารก็จะลดลง

          ทั้งนี้วิธีใช้ให้นำฝักอ่อนกระเจี๊ยบเขียวมาหั่น ตากแดด พอแห้งแล้วบดให้ละเอียด จากนั้นตักผงกระเจี๊ยบเขียว 1 ช้อนโต๊ะ มาละลายในน้ำต้มสุก นม น้ำผลไม้ หรืออาหารอ่อน ๆ กินวันละ 3-4 ครั้งหลังอาหาร

          * ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

          เนื่องจากกระเจี๊ยบเขียวมีทั้งไฟเบอร์ชนิดไม่ละลายน้ำ และไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้อยู่ในตัว จึงช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่นั่นเอง

กระเจี๊ยบเขียว

          * เพิ่มจำนวนแบคทีเรียมีประโยชน์

          สารเมือกและเส้นใยชนิดละลายน้ำได้ของกระเจี๊ยบเขียว เมื่อลงไปสู่ลำไส้ใหญ่ จะช่วยกระตุ้นให้แบคทีเรียชนิดดี (พรีไบโอติก) เจริญเติบโตได้ดี ซึ่งเมื่อในลำไส้มีพรีไบโอติกมากขึ้นก็จะช่วยลดแบคทีเรียชนิดไม่ดีในลำไส้ได้ด้วย

          * รักษาโรคพยาธิตัวจี๊ด

          จากการศึกษาสรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียวกับการรักษาโรคพยาธิตัวจี๊ดในหนูทดลอง พบว่า สารสกัดจากกระเจี๊ยบเขียวด้วยแอลกอฮอล์สามารถลดจำนวนพยาธิตัวจี๊ดในหนูถีบจักรได้ ดังนั้นผู้ที่มีพยาธิตัวจี๊ดอาจลองกินกระเจี๊ยบเขียวเป็นผักติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อลดจำนวนพยาธิตัวจี๊ดก็ได้

          * รักษาแผลสด

          ยางจากผลสดของกระเจี๊ยบเขียวช่วยรักษาแผลสดได้ และอาจช่วยรักษาแผลให้หายไวโดยไม่เป็นแผลเป็น เนื่องจากกระเจี๊ยบเขียวมีสารต้านอนุมูลอิสระชนิดกลูต้าไธโอนค่อนข้างสูง โดยเมื่อเป็นผลสด ให้ล้างแผลให้สะอาด แล้วใช้เมือกจากฝักกระเจี๊ยบเขียวมาทารอบ ๆ แผลให้ทั่ว

กระเจี๊ยบเขียว

          * รักษาอาการแสบร้อนที่ผิวหนัง

          เมือกลื่นของกระเจี๊ยบเขียวทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ตำรับยาโบราณจึงนิยมนำเมือกของกระเจี๊ยบเขียวมาพอกผิวหนังที่รู้สึกแสบร้อน

          * บำรุงสตรีคลอดบุตร

          กระเจี๊ยบเขียวมีสารเพคตินมาก เมื่อทานเข้าไปจะช่วยสมานแผลภายในของสตรีหลังการคลอดบุตรให้กลับมาเป็นปกติ และยังช่วยสร้างเซลล์ที่ผิวหนังไม่ให้เป็นแผลเป็น หน้าท้องไม่ลาย อีกทั้งกระเจี๊ยบเขียวยังเป็นพืชที่มีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟันได้อีกต่างหาก

          * ต้านมะเร็ง

          สรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียวที่ดีมาก ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง โดยเฉพาะกลูต้าไธโอน ที่มีคุณสมบัติควบคุมสารอนุมูลอิสระในร่างกาย กระตุ้นการสร้างสารซ่อมแซมเซลล์ ทำปฏิกิริยาขจัดสารพิษที่เกิดในร่างกาย และช่วยต้านมะเร็งได้อีกด้วย

          กระเจี๊ยบเขียวประโยชน์ดีต่อสุขภาพแบบนี้ก็อย่าลืมกินกระเจี๊ยบเขียวกันบ่อย ๆ นะคะ ไม่ว่าจะเมนูต้ม ลวก ย่าง หรือผัด ก็สามารถนำกระเจี๊ยบเขียวไปประกอบอาหารได้ตามใจชอบเลย แต่ถ้าต้องการรับประโยชน์จากไฟเบอร์ในกระเจี๊ยบเขียวอย่างเต็มที่ แนะนำให้นำกระเจี๊ยบเขียวมาหั่นซอย ผสมน้ำเล็กน้อยแล้วคนให้เหนียวไว้รับประทาน โดยไม่ต้องผ่านความร้อน แต่ถ้าทานสดไม่ได้ แค่นำมาลวกพอสุกแล้วกินแกล้มอาหารชนิดต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, กองโภชนาการ กรมอนามัย, องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน, หนังสือมหัศจรรย์ พืชสมุนไพร 99 ชนิด ต้านโรคร้าย โดย นารี ยิ่งเจริญ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระเจี๊ยบเขียว สรรพคุณบรรเจิด เป็นเลิศที่เมือกลื่น ๆ บนฝัก อัปเดตล่าสุด 9 กรกฎาคม 2562 เวลา 16:40:46 185,328 อ่าน
TOP
x close