22 วิธีกระตุ้นสมอง ฟิตเฟิร์มความจำ ออกกำลังให้เฉียบคม

          เคยรู้สึกว่าสมองเกิดความเหนื่อยล้า อ่อนประสิทธิภาพกันบ้างไหมคะ ถ้าอย่างนั้นมาออกกำลังสมอง กระตุ้นระบบประสาทกันเถอะ   


          สมองก็ไม่ต่างอะไรกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย ถ้าไม่ได้ใช้บ่อย ๆ ก็อาจมีเสื่อมประสิทธิภาพได้ง่าย ๆ เหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่วัน ๆ เจอแต่เรื่องเดิม ๆ ปัญหาเดิม ๆ ที่ใช้แค่ทักษะที่คุ้นชินไม่กี่อย่างก็ผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้แล้ว ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ก็คงไม่นาจะดีกับเราเท่าไรจริงไหมคะ งั้นลองมาดูวิธีออกกำลังสมอง กระตุ้นสมองแบบง่าย ๆ มาให้เราได้ลับสมองให้เฉียบคมอยู่เสมอ  
 
1. ออกกำลังประสาทสัมผัส
            
          ตอนเช้า ๆ ลองฝึกระบบประสาทสัมผัสทุกส่วน ตั้งแต่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสและการได้ยินให้พบเจอกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ดูบ้าง เพื่อให้เซลล์สมองส่วนที่ไม่ค่อยได้ใช้งานเกิดความตื่นตัว เร่งสร้างสารอาหารธรรมชาติมาบำรุงเสริมกำลังให้สมอง พร้อมกันนั้นเซลล์ประสาทในส่วนข้างเคียงยังมีโอกาสได้เคลื่อนไหวมากขึ้น ฟิตความแข็งแรงให้เซลล์ที่อ่อนล้าไปตามอายุการใช้งาน ให้กลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามเดิม คราวนี้ระบบความทรงจำ และการทำงานของสมองก็จะไม่เสื่อมอายุไปง่าย ๆ
 
2. ทำกิจวัตรประจำวันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด
            
          ถ้าอยากฟิตเฟิร์มสมองด้วยวิธีง่าย ๆ ก็แค่ลองเปลี่ยนมาทำกิจวัตรประจำวันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เช่น เคยแปรงฟันด้วยมือข้างขวามาโดยตลอด นับจากนี้ก็ลองบีบยาสีฟัน และแปรงฟันด้วยมือข้างซ้ายแทน ซึ่งแรก ๆ ก็คงทุลักทุเลน่าดู แต่เชื่อไหมคะว่า วิธีนี้จะช่วยให้สมองซีกที่ไม่ค่อยได้ออกแรงควบคุมการทำงานของร่างกายได้ขยับเขยื้อนทำหน้าที่ของตัวเองบ้าง หมดโอกาสอยู่นิ่ง ๆ อีกต่อไป
 

อาบน้ำ


3. หลับตาอาบน้ำ เปิดโอกาสให้ใช้ประสาทสัมผัสอย่างจริงจัง
            
          ลองปิดตาอาบน้ำดูบ้างก็ดีไม่น้อยค่ะ เพราะนอกจากจะได้เล่นอะไรสนุก ๆ แล้ว การหลับตาอาบน้ำยังเปิดโอกาสให้คุณได้ใช้มือค่อย ๆ คลำไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กระตุ้นให้สมองใคร่ครวญว่าอะไรคืออะไร เพิ่มความยากให้สมองได้ประลองศักยภาพมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว พร้อมกันนั้นเวลาอาบน้ำ ลองดมกลิ่นสบู่ แชมพู ยาสีฟัน และครีมล้างหน้าอย่างจริงจังบ้างก็ได้ ประสาทสัมผัสรับกลิ่นจะได้ถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว

4. ทำกิจกรรมประจำวันด้วยการสับขาหลอก
            
          หากเราทำอะไรซ้ำกันทุกวัน สมองจะจดจำสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็เท่ากับว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายก็จะเป็นไปด้วยความเคยชินโดยที่สมองไม่ต้องออกแรงสั่งการอะไรมาก ดังนั้นลองสับขาหลอกดูบ้างดีกว่าค่ะ จากที่เคยตื่นเช้ามาอาบน้ำ เตรียมอาหารเช้า แล้วกินข้าว อาจจะลองเปลี่ยนมาทำกับข้าวก่อนจะอาบน้ำ และกินข้าวเช้าก่อนแต่งหน้า-แต่งตัว เป็นต้น
 
เล่นกีตาร์


5. บริหารนิ้วมือ-นิ้วเท้า

          นิ้วมือและนิ้วเท้าเป็นแหล่งรวมเส้นประสาทและเส้นเลือดที่สัมพันธ์กับการทำงานของสมอง ถ้าเราขยับนิ้วบ่อย ๆ ก็ส่งผลต่อไปยังสมองด้วยนะคะ ลองบริหารนิ้วโดยพับข้อนิ้วขึ้น-ลงสลับกัน หรือเวลาตื่นนอนตอนเช้า ก่อนลุกจากที่นอนให้ขยับนิ้วหัวแม่เท้าขึ้น-ลง หมุนข้อเท้าเป็นวงกลม จะช่วยให้สมองตื่นตัว สดชื่นขึ้น

6. มองของที่ชินตาในแนวกลับหัว
            
          จากที่เคยมองสิ่งของตามแนวเดิมมาตลอด หากคุณเปลี่ยนมุมมองด้วยการมองแบบกลับหัวบ้าง สมองก็จะต้องสื่อภาพ และตีความสิ่งที่ตาเห็นอย่างซับซ้อนมากขึ้น ได้ออกกำลังกายไปในตัว หมดกังวลเรื่องสมองฝ่อ หรือเฉื่อยชาได้เลย

 
เคล็ดลับสุขภาพ


7. ดมกลิ่นหอมที่เปลี่ยนไปทุก ๆ สัปดาห์
            
          ปกติเคยได้ดมแต่กลิ่นชา หรือกาแฟในทุกเช้า จนสมองจดจำกลิ่นเหล่านี้ได้ขึ้นใจ ฉะนั้นลองเปลี่ยนกลิ่นกระตุ้นสมองกันหน่อยดีกว่า ง่าย ๆ ก็แค่หาน้ำมันหอมระเหยกลิ่นสดชื่น เช่น กลิ่นวานิลลา กลิ่นเปปปอร์มินต์ หรือกลิ่นส้มมาวางไว้ที่หัวเตียง สลับปรับเปลี่ยนกลิ่นทุก ๆ สัปดาห์​ เป็นการเปิดโอกาสให้สมองได้เรียนรู้และจดจำกลิ่นแปลกใหม่เรื่อย ๆ

8. สลับที่นั่งบนโต๊ะกินข้าว
            
          สำหรับครอบครัวใหญ่ที่มีที่ประจำบนโต๊ะกินข้าว การสลับที่นั่งทุก ๆ วันจะช่วยให้ร่างกายต้องใช้ทักษะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เช่น ต้องเปลี่ยนทิศทางเวลาจะหันไปพูดกับใคร ต้องเอื้อมมือไปหยิบขวดเกลือ หรือพริกไทยในที่ที่ต่างไปจากเดิม แค่นี้สมองและประสาทสัมผัสทุกส่วนก็ได้ใช้มากขึ้นแล้ว

  

เคล็ดลับสุขภาพ


9. เปิดหน้าต่างรถรับลมและวิวที่แตกต่าง

          ถ้าปกติในระหว่างเดินทางไปทำงาน หรือไปเรียน คุณเอาแต่ก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์ตลอดเวลา ก็เท่ากับว่าตีกรอบให้สมองได้เห็นและเรียนรู้ภายใต้พื้นที่แคบ ๆ แบบจำกัด ซึ่งก็คงไม่เวิร์กกับการทำงานของสมองเท่าไรจริงไหมคะ ดังนั้นเพื่อกระตุ้นให้สมองมีงานทำมากกว่าเดิม ก็เงยหน้ามองทิวทัศน์รอบ ๆ ระหว่างทาง แต่ถ้าจะให้ดีลองเปิดหน้าต่างรถ รับลมเย็นชิล ๆ กับกลิ่นโอโซนของธรรมชาติบ้างก็หรูเลย
 

10. ทายเหรียญเพิ่มรอยหยักสมอง
            
          เนื่องด้วยสมองจะจำแนกของแต่ละประเภทจากสิ่งที่ตามองเห็น และวิเคราะห์ลักษณะของสิ่งของจากการสัมผัส ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามกลไกธรรมชาติของร่างกาย วนเวียนซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดความเคยชิน ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากเราจะประลองความสามารถของสมองด้วยทักษะที่ล้ำกว่า โดยการใส่เหรียญไว้ในกระเป๋า จากนั้นก็ใช้มือคลำแล้วทายว่านั่นคือเหรียญอะไร หรือจะใส่เหรียญไว้ในถ้วยจนเต็ม วางไว้ใต้แสงไฟที่ส่องกระทบ แล้วเพ่งมองเหรียญในถ้วยให้ชัด ๆ พร้อมทั้งทายเหรียญที่ตามองเห็นไปด้วย
 

11. คิดต่อยอดสิ่งของธรรมดา
            
          การคิดให้มากขึ้นก็เปรียบเสมือนการลับสมองให้เฉียบคมไปด้วยในตัว ดังนั้นหากคุณถือของบางอย่างอยู่ในมือ ลองสร้างสรรค์ไอเดียดูสิคะว่า ของชิ้นนั้นจะกลายร่างเป็นอะไรได้อีกบ้าง เบาะ ๆ เอาแค่ 10 ไอเดียก็พอ ต่อยอดความคิดให้สมองเรื่อย ๆ แบบนี้ รับรองเลยว่าห่างไกลโรคความจำเสื่อมแน่ ๆ แถมยังช่วยพัฒนาสติปัญญาอีกด้วยนะจ๊ะ


เคล็ดลับสุขภาพ

 
12. สแกนสินค้าในซูเปอร์มาร์เกต
            
          ปกติเวลาเราเดินซื้อของในห้าง คนส่วนใหญ่มักจะสนใจแต่ของที่ตัวเองต้องการ ทำให้บางครั้งไม่ได้มองดูของที่วางอยู่บนชั้นครบทุกชิ้น ซึ่งหากครั้งต่อไปที่คุณเดินซื้อของ ลองกวาดตามองสินค้าที่วางอยู่บนชั้น ตั้งแต่ชั้นบนลงมาชั้นล่าง แล้วไล่มองจากด้านซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้ายก็แล้วแต่ถนัด การทำแบบนี้จะช่วยให้คุณได้เห็นสินค้าหลากชนิดมากขึ้น ส่วนสมองเองก็จะได้ไล่เรียงข้อมูลใหม่ ๆ เข้าไปกักตุน กระตุ้นให้สมองที่เคยทำงานเอื่อย ๆ ถูกปลุกให้ตื่นตัวมากขึ้น
 

13. จับกลุ่มวาดรูป
            
          การวาดรูปเป็นทักษะที่ไม่ต้องใช้การพูดจา แต่ใช้อารมณ์ และทักษะที่สมองส่วนเซรีบรัมหรือสมองส่วนนอกเป็นผู้สั่งการ ซึ่งหลาย ๆ คนไม่ค่อยได้ใช้งานสมองส่วนนี้เท่าไรนัก ดังนั้นก็ต้องฝึกฝนสมองส่วนนี้กันหน่อย ง่าย ๆ ก็แค่จับกลุ่มวาดภาพเล่นสนุก ๆ หรือจะกำหนดธีมการวาดรูปเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปด้วยก็ยิ่งดี

เต้นซุมบา Zumba

14. เต้นตามจังหวะเพลง

          จะเต้นเดี่ยว หรือเต้นกันเป็นกลุ่ม การเต้นรำ เต้นเข้าจังหวะเพลง ก็ช่วยชะลอสมองเสื่อมได้ เพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องผสานทั้งร่างกาย จิตใจ สังคมเข้าด้วยกัน 

15. ใช้ทักษะการสื่อสารให้มาก
            
          นักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยมาแล้วว่า คนที่ต้องติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นเป็นประจำ หรือแค่พูดคุยให้มากขึ้น ก็ช่วยบำรุงสมองส่วนที่ต้องจดจำได้แล้ว โดยอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ข้อมูลที่ใช้สื่อสารซึ่งกันและกัน จะผลักดันให้สมองต้องจดจำข้อมูลเหล่านั้นมากขึ้นนั่นเอง 
 
เพื่อน


16. เม้าท์กับเพื่อน

          นอกจากการสื่อสาร พูดคุยธรรมดาแล้ว การเม้าท์เรื่องสัพเพเหระกับเพื่อน ๆ ก็จะช่วยคลายเครียดได้ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องสนุก ๆ สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม จะยิ่งทำให้เราไม่เครียด ไม่เหงา แล้วฮอร์โมนแห่งความเครียดอย่างคอร์ติซอลจะไม่หลั่งออกมามากเกินไป ซึ่งฮอร์โมนนี้จะทำให้ประสิทธิภาพของสมองลดลง

17. เปลี่ยนเส้นทางใหม่ ๆ ในการเดินทาง

          ถ้าต้องนั่งรถไปทำงานในเส้นทางเดิมทุกวันจะทำให้สมองเฉื่อยชาเพราะเคยชินกับเส้นทางนั้น แต่ถ้าลองเปลี่ยนเส้นทางดูสักวัน จะช่วยให้สมองเราได้คิดมากขึ้น หรือจะลองเดินไปในที่ที่ไม่เคยเดิน หรือสถานที่ที่ไม่เคยไปก็ได้เช่นกัน


อ่านหนังสือ


18. อ่านหนังสือออกเสียง
            
          ทราบไหมคะว่า เวลาที่เราอ่านหนังสือออกเสียงดัง ๆ ร่างกายจะเลือกใช้สมองส่วนที่แตกต่างจากการอ่านหนังสือในใจมารองรับกิจกรรมนี้ นั่นก็หมายความว่า โดยปกติที่เราอ่านหนังสือในใจมาโดยตลอด สมองส่วนที่จะถูกเรียกใช้งานเมื่ออ่านหนังสือออกเสียงก็จะไม่มีโอกาสได้แสดงศักยภาพเลย ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องสลับหน้าที่ให้สมองส่วนที่ถูกหลงลืมได้ทำงานบ้างแล้วล่ะค่ะ
 
19. เรียนภาษาอื่น ๆ

          มีงานวิจัยพบว่า การเรียนรู้และพูดภาษาที่ 2 จะช่วยปรับปรุงทักษะด้านความจำและการรู้คิด ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง จึงชะลอภาวะสมองเสื่อมได้นานขึ้นโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 4 ปี 

20. ลิ้มรสอาหารแปลก ๆ
            
          สมองเราอาจจะจดจำรสชาติและกลิ่นของอาหารมากมายอยู่แล้ว แต่ถ้าเรากินอาหารเดิม ๆ ดมแต่กลิ่นที่ซ้ำกันตลอดเวลา ความเฉื่อยจะเข้ามาครอบคลุมสมองคุณทีละน้อย นานเข้าก็อาจจะฝ่อได้เหมือนกัน ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันสมองฝ่อ เรามากระตุ้นการทำงานของสมองส่วนที่รับรู้รส กลิ่น และรสชาติกันหน่อยดีกว่า ด้วยการเลือกกินอาหารเมนูใหม่ ๆ ที่ไม่เคยได้ลิ้มรสเลยตั้งแต่เกิดมา อ้อ ! แล้วอย่าลืมดมกลิ่นอาหารก่อนรับประทานด้วยนะจ๊ะ
 
เคล็ดลับสุขภาพ

21. เล่นเกมส์ที่ต้องคิดวิเคราะห์
            
          งานที่ทำ หรือตำราที่เรียนอยู่ทุกวันมักจะเป็นเรื่องที่วนไปวนมา สมองก็อาจจะฝึกทักษะเดิม ๆ มาจนเบื่อแล้วก็ได้ ถ้าอย่างนั้นเรามาลับสมองให้เฉียบคมสุด ๆ ไปเลยดีไหมคะ โดยลองหาซื้อหนังสือทดสอบไอคิวมาทำเล่น ๆ ดู หรือเล่นเกมที่ต้องใช้ทักษะคิดวิเคราะห์แบบซับซ้อนมากหน่อยก็ได้ เช่น หมากฮอส หมากรุก สแครบเบิล เกมซูโดกุ ต่อจิ๊กซอว์ ฯลฯ ซึ่งช่วยกระตุ้นสมอง ให้ทำงานและมีการพัฒนาตลอดเวลา ลดภาวะการเกิดอัลไซเมอร์หรือโรคความจำเสื่อมได้
    
22. จัดบ้านใหม่

           อาจจัดเฟอร์นิเจอร์ใหม่ สลับที่ทางให้ดูแปลกตา หรือจะจัดโต๊ะทำงานใหม่ก็ได้ จะช่วยพัฒนาสมองซีกซ้ายทางด้านความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
       
            ไม่น่าเชื่อนะคะว่า แค่ลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ หรือลองเปลี่ยนการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ก็ช่วยให้สมองมีโอกาสได้ฟิตเฟิร์มสุขภาพได้แล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
rd.com
Modernmom
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
22 วิธีกระตุ้นสมอง ฟิตเฟิร์มความจำ ออกกำลังให้เฉียบคม อัปเดตล่าสุด 3 ธันวาคม 2562 เวลา 11:11:37 48,352 อ่าน
TOP
x close