อาการปวดหัว 14 ชนิด รักษาแบบนี้สิถึงตรงจุด



          อาการปวดหัวที่เราเป็นกันอยู่จริง ๆ แล้ว มีมากมายหลายสาเหตุ แต่ละสาเหตุก็รักษาไม่เหมือนกัน เช็กดูเลย คุณปวดหัวแบบไหนอยู่

ปวดหัว

          อาการปวดหัวเป็นอาการเจ็บป่วยสามัญที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เคยสังเกตไหมคะว่า อาการปวดหัวในแต่ละครั้งจะมีความแตกต่างเล็ก ๆ พอให้จับสังเกตได้อยู่เหมือนกัน ซึ่งทางเว็บไซต์ Health.com เขาก็บอกมาว่า ที่อาการปวดหัวมีขั้นความรุนแรงก็เพราะจริง ๆ แล้วอาการปวดหัวแบ่งออกได้ถึง 14 ชนิดตามนี้นั่นเอง


1. อาการปวดหัวชนิดรีบาวน์ด (Rebound headache)

          * อาการ

          ปวดศีรษะเกือบทุกวัน โดยเฉพาะหลังตื่นนอน อาจปวดที่บริเวณขมับหรือทั้งศีรษะเลยก็ได้ ส่วนความรุนแรงแล้วแต่อาการของแต่ละคน

          * สาเหตุ

          อาการปวดหัวชนิดรีบาวน์ดเกิดจากการรับประทานยาแก้ปวดปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะยาแก้ปวดจำพวกอะซีตะมิโนเฟน (Acetaminophen) หรือไทลินอล, แอสไพริน และไอบูโพรเฟนเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมทั้งยารักษาโรคไมเกรน (Triptans) เกิน 10 วันต่อเดือนด้วย ซึ่งเมื่อเรากินยาแก้ปวดติดต่อกันนาน ๆ จนร่างกายเกิดความเคยชิน อาการปวดก็จะถูกฤทธิ์ยากดไว้ ทว่าพอฤทธิ์ยาในร่างกายหมดไป อาการปวดหัวฟื้นกลับมาแสดงอาการอีกครั้งในทันที

          * วิธีรักษา

          อาการปวดหัวชนิดนี้ทำได้เพียงแค่ปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ปรับสมดุลปริมาณยาในร่างกายของเราให้เข้าที่เข้าทาง
 
ปวดหัวจากความเครียด

2. อาการปวดหัวจากความเครียด (Tension headache)

          * อาการ
           
          จะมีความรู้สึกปวดหนัก ๆ ที่ขมับทั้งสองข้าง เหมือนมีแรงดันจากภายในแต่ไม่ปวดแบบตุบ ๆ อาจเกิดตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลาง และมาก หรือบางรายอาจรู้สึกปวดที่ต้นคอ หลัง และไหล่ร่วมด้วย

          * สาเหตุ
           
          เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกกดดันในบางเรื่องจนทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายหดเกร็ง หรือแม้แต่การนั่งและนอนผิดท่า การใช้สายตามากเกินไป และแม้แต่อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิเย็นจัด ก็เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อรอบคอเกร็งจนกระทบกับสมอง นำไปสู่อาการปวดหัวได้เช่นกัน
           
          * วิธีรักษา
           
          ในเบื้องต้นสามารถรักษาโดยใช้ยาแก้ปวดจำพวกไทลินอล, แอสไพริน และไอบูโพรเฟนได้ หรือจะไปนวดคลายกล้ามเนื้อก็ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ปริมาณยาแก้ปวดที่จะกินควรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกรด้วยนะคะ
 

3. อาการปวดหัวอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพฟัน (Dental headache)
           
          * อาการ

          ปวดศีรษะได้ทั้งสองข้าง หรือข้างเดียว แต่อาการที่พอจะสังเกตได้ก็คือลักษณะอาการปวดจะเหมือนมีอะไรมารัดรึงที่หัว ปวดรอบ ๆ ลูกตา ปวดร้าวแนวกรามและขากรรไกร บางรายอาจมีอาการกัดฟันในตอนกลางคืนร่วมด้วย และสัมผัสได้ถึงอาการปวดศีรษะเมื่อเอามือไปแตะที่หน้าผาก พร้อมทั้งเมื่ออ้าปากอาจมีเสียงดังกึ้กให้ได้ยินเบา ๆ

          * สาเหตุ

          เกิดจากปัญหาความผิดปกติของข้อขมับและขากรรไกรล่างที่ทำให้การสบฟันผิดปกติไปด้วย จนเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อที่ควรได้รับการพักผ่อนต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นหลายเท่า นานเข้าจึงส่งสัญญาณความเมื่อยล้ามาเป็นอาการปวดหัว
           
          * วิธีรักษา
           
          ทางเดียวที่จะลดอาการปวดหัวจากสาเหตุนี้ได้ คือ ต้องปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการผิดปกติและหาทางรักษาคุณต่อไป ซึ่งอาจจะต้องเอกซเรย์ข้อต่อขากรรไกร และสำรวจความผิดปกติของสัมผัสฟันที่มีปัญหาอยู่ด้วย
 

4. อาการปวดหัวชนิดคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
           
          * อาการ
          
           อาการปวดศีรษะในแต่ละครั้งจะเป็นช่วงเวลาไม่นาน ราว 5 นาที หรือสูงสุด 3 ชั่วโมง แต่จะรู้สึกปวดหัวแบบทรมานเหมือนจะตายเลยทีเดียว และอาการปวดจะเกิดขึ้นบ่อยแต่เป็นเวลาที่แน่นอน และมักจะมีอาการน้ำตาไหลข้างเดียวและมีเส้นเลือดแตกในตา ทำให้เกิดอาการตาแดง
           
          * สาเหตุ

          เกิดจากความผิดปกติของต่อมไพเนียลและนิวเคลียส (Nucleus) ของเซลล์ประสาทสมองที่ 5 ซึ่งทำให้ระบบการส่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทปรวนแปร ส่งผลกระทบให้ประสาทสัมผัสอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำตา และน้ำมูกทำงานผิดปกติ รวมทั้งปล่อยสารเคมีบางชนิดไปที่เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Dura) ทำให้เกิดอาการปวดหัวในเวลาต่อมา
           
          * วิธีรักษา

          อาการปวดหัวชนิดคลัสเตอร์สามารถรักษาและบรรเทาอาการได้โดยใช้ยากลุ่มทริปเทนต์ (Triptan) หรือยารักษาโรคไมเกรน และการสูดดมออกซิเจน ขนาด 10 ลิตรผ่านหน้ากากให้ออกซิเจนก็ได้
 

ไมเกรน

5. อาการปวดหัวไมเกรน (Migraine)
           
          * อาการ
           
          มีอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดแบบหนัก ๆ ในรายที่อาการหนักมากอาจวียนศีรษะและอาเจียนร่วมด้วย หรือบางรายอาจมีอาการปวดหัวทั้งสองข้าง แต่ปวดตุบ ๆ ติดกันต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งนี้อาการปวดหัวไมเกรนนับเป็นโรคปวดหัวเรื้อรังชนิดหนึ่ง
           
          * สาเหตุ
           
          สาเหตุของโรคไมเกรนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักจะเอนเอียงไปทางความผิดปกติชั่วคราวของหลอดเลือดสมองและสารเคมีในสมอง ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังเป็นผลพวงจากการสะสมความคเรียด พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอติดกันเป็นเวลานานด้วยนะคะ
           
          * วิธีรักษา
           
          ในเบื้องต้นสามารรถรับประทานยาบรรเทาอาการปวดได้ โดยใช้ยาแก้ปวดจำพวกอะซีตะมิโนเฟน (Acetaminophen), ไอบูโพรเฟน และทริปเทนต์ (Triptan) หรือยารักษาโรคไมเกรน แต่อย่างไรก็ดีคววรเข้ารับการรักษาจากแพทย์อีกทางหนึ่ง
 

กาแฟ

6. อาการปวดหัวจากฤทธิ์คาเฟอีน (Caffeine headache)
           
          * อาการ
           
          มีอาการปวดหัวตื้อ ๆ หนักหัวเหมือนร่างกายพักผ่อนไม่พอ บางรายอาจมีอาการเวียนศีรษะเพิ่มด้วยอีกอย่าง หรือไม่ก็รู้สึกปวดกระบอกตาตุบ ๆ ตลอดเวลา
           
          * สาเหตุ
           
          ชื่อก็บอกชัดอยู่แล้วนะคะว่าสาเหตุของอาการปวดหัวเกิดขึ้นเพราะฤทธิ์ของคาเฟอีน ซึ่งก็ได้มาจากกาแฟที่คุณ ๆ ชอบกินนี่ล่ะ โดยเฉพาะใครที่กินกาแฟเกินวันละ 5 แก้ว อาการปวดหัวชนิดนี้จะตามมาคุกคามคุณในอีกไม่ช้า
           
          * วิธีรักษา
           
          นอกจากการรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป อีกทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ก็คือการลดปริมาณคาเฟอีน นั่นก็หมายความว่าต้องค่อย ๆ ลดปริมาณกาแฟในแต่ละวันให้เหลือแค่ 2 แก้วต่อวันเป็นอย่างมาก
 

7. อาการปวดหัวจากการมีเพศสัมพันธ์ (Orgasm headaches)
           
          * อาการ
           
          ปวดจี๊ดที่ศีรษะอย่างฉับพลัน มักจะเกิดในช่วงใกล้ถึงจุดสุดยอดหรือในบางรายอาจปวดก่อนและหลังมีเพศ สัมพันธ์ก็เป็นได้ โดยมีแนวโน้มเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งอาการปวดจะคงตัวอยู่ได้นาน 1 ชั่วโมงถึง 1 วันเลยทีเดียว
           
          * สาเหตุ
           
          ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุของอาการปวดศีรษะชนิดนี้ แต่ที่จับสังเกตได้คืออาการปวดจะหายไปเองโดยอัตโนมัติ และอาจไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

          * วิธีรักษา
           
          เนื่องจากยังไม่สามารถทราบสาเหตุของอาการได้ ในเบื้องต้นจึงทำได้เพียงกินยาบรรเทาอาการปวดไปก่อน และถ้าต้องการป้องกัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ระบุให้กินยาแก้ปวดก่อนมีเพศสัมพันธ์ราว 1-2 ชั่วโมง พร้อมกันนั้นก็พยายามอย่าเร่งจังหวะการเคลื่อนไหวรุนแรงมากนัก

ปวดหัวตอนเช้า

8. อาการปวดหัวทุกเช้า (Early morning headaches)
           
          * อาการ
           
          มีอาการปวดหัวตุบ ๆ ทุกเช้าหลังตื่นนอน บางรายจะรู้สึกหนักหัวเหมือนลุกไม่ไหว
           
          * สาเหตุ
          
           สาเหตุของโรคค่อนข้างถูกพูดถึงอย่างกว้าง ๆ เพราะอาจจะเป็นหนึ่งสัญญาณของโรคไมเกรน โรคเครียด โรคปวดศีรษะเพราะปัญหาสุขภาพฟัน หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอก็ได้

          * วิธีรักษา
           
          ทางที่ดีควรสังเกตอาการของตัวเองให้แน่ชัด ถ้าปวดหัวเป็นเวลาต้องจำเวลาไปบอกแพทย์ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์ได้วินิจฉัยได้ตรงจุดมากขึ้น และหากคุณมีอาการปวดที่รุนแรง กินยาแก้ปวดก็ไม่ช่วยอะไร อาจจะต้องเข้ารับการสแกนสมองเพื่อค้นหาว่ามีเนื้องอกในสมองด้วยหรือเปล่า
 
 
9. อาการปวดหัวจากไซนัสอักเสบ (Sinus headaches)

          * อาการ
           
          อาการปวดหัวจากไซนัสอักเสบมีความคล้ายคลึงกับอาการหวัดทั่วไปและอาการปวดหัวไมเกรนมากจนแทบแยกไม่ออก แต่สำหรับคนที่เป็นโรคไซนัสอยู่แล้วอาจคาดเดาไปก่อนได้ว่า ตัวเองน่าจะมีอาการปวดหัวจากผลกระทบของโรคไซนัสอักเสบ ซึ่งโดยส่วนมากจะรู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณหน้าผาก ร้อนผ่าวกระบอกตา ลามไปถึงโหนกแก้มเลยทีเดียว
           
          * สาเหตุ
           
          เกิดจากการอักเสบบริเวณเยื่อโพรงจมูก ซึ่งส่งผลกระทบให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นหดเกร็งจนอาจรู้สึกปวดศีรษะได้
           
          * วิธีรักษา
           
          โดยปกติแล้วหากรักษาโรคไซนัสให้หายเป็นปกติได้ อาการปวดหัวก็จะหายไปพร้อมกัน หรือบางรายที่อาการไซนัสไม่รุนแรง ร่างกายจะสามารถรักษาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยาใด ๆ
 

ปวดหัว

10. อาการปวดหัวจากการดื่มอาหารเย็นจัด (Ice cream headache)
           
          * อาการ
          
           ปวดจี๊ดขึ้นสมองโดยทันทีเมื่อกินอาหารเย็นจัด เช่น ไอศกรีมหรือน้ำเย็นเจี๊ยบ ส่วนมากมักจะรู้สึกเจ็บจี๊ดบริเวณขมับ หรือบางรายอาจปวดร้าวไปทั้งหัว และในผู้ป่วยไมเกรนจะรู้สึกถึงความเจ็บปวดได้เร็วและรุนแรงกว่าในคนปกติ
           
          * สาเหตุ
           
          ในร่างกายของเรามีกลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมโดยอัตโนมัติ ซึ่งการรับประทานไอศกรีมเย็นจัดในขณะที่ร่างกายมีอุณหภูมิอบอุ่นก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ดังนั้นเมื่อเรากินไอศกรีมเย็นจัดเข้าไป เส้นเลือดบริเวณเพดานปากก็จะแสดงปฏิกิยาโดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ความเย็นจัดกระทบไปถึงสมอง เป็นสาเหตุให้เส้นเลือดที่ต่อตรงไปยังสมองสูบฉีดเลือดอย่างเร็วจนทำให้เกิดอาการปวดจี๊ดที่สมองดังกล่าว
           
          * วิธีรักษา
           
          เบื้องต้นให้หยุดรับประทานไอศกรีมก่อน จากนั้นดื่มน้ำอุ่นตามเพื่อคลายเส้นเลือดที่หดเกร็ง อีกทั้งค่อย ๆ เล็มไอศกรีมอย่างช้า ๆ และพักไอศกรีมไว้ที่ลิ้นสักพักเพื่อให้ร่างกายได้ปรับอุณหภูมิก่อน ซึ่งก็สามารถช่วยบรรเทาและป้องกันอาการปวดหัวได้เหมือนกัน
 
11. อาการปวดหัวเรื้อรัง (Chronic daily headache)
           
          * อาการ
          
           ปวดหัวติดต่อกันมากกว่า 15 วันต่อเดือน และปวดอย่างนี้เรื่อย ๆ เกิน 3 เดือน ในบางรายอาจมีอาการไข้และปวดเมื่อยบริเวณคอและไหล่ร่วมด้วย
           
          * สาเหตุ
           
          สาเหตุของอาการปวดหัวเรื้อรังอาจเกิดจากพฤติกรรมกินยาแก้ปวดติดต่อกันนานเกินไป ทำให้ร่างกายได้รับยาปริมาณมากเกิน พร้อมกันนั้นอาจวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากโรคไมเกรนและเนื้องอกในสมองได้อีกทางหนึ่งด้วย
           
          * วิธีรักษา
           
          เริ่มแรกควรหยุดใช้ยาแก้ปวดที่กินเป็นประจำก่อน จากนั้นอาจรักษาโดยใช้ยาแก้อาการเศร้าซึม ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น อะทีโนลอล (Atenolol), เมโทโพรลอล (Metoprolol), โพรพาโนลอล (Propanolol) ซึ่งเป็นยาที่แพทย์ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคไมเกรน หรือยาแก้อาการชัก เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin), โทพิราเมต (Topiramate) แม้กระทั่งยาแก้ปวดอย่าง นาโพรเซน (Naproxen) และการทำโบท็อกซ์บรรเทาอาการปวด
 

12. อาการปวดหัวในช่วงรอบเดือน (Menstrual headaches)
           
          * อาการ
           
          อาการปวดหัวชนิดนี้สงวนสิทธิ์เพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นอาการปวดศีรษะในช่วงระหว่างมีรอบเดือน จะรู้สึกเหมือนเป็นไข้ทับระดู เป็นหนึ่งสัญญาณของอาการ PMS โดยอาการปวดหัวชนิดนี้จัดว่าเป็นไมเกรนอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดก่อนมีประจำเดือนหรือหลังเป็นประจำเดือนประมาณ 2-3 วัน
           
          * สาเหตุ
           
          เกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นเหตุให้เกิดอาการ PMS ทั้งปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย และบางรายอาจปวดหัวร่วมด้วย
           
          * วิธีรักษา
           
          แพทย์แนะนำให้ผู้หญิงที่มักเกิดอาการ PMS อย่างรุนแรงทุกครั้งที่เป็นประจำเดือนรับประทานแมกนีเซียมเยอะ ๆ โดยอาจจะเลือกรับประทานแมกนีเซียมจากอาหาร เช่น กล้วย, อะโวคาโด, ถั่ว, เม็ดมะม่วง, โยเกิร์ต, เต้าหู้, ปลาทูน่า เป็นต้น หรือใครจะเลือกกินหาแมกนีเซียมในรูปแบบวิตามินก็ได้เช่นกัน
 

ปวดหัว

13. อาการปวดหัววันหยุดสุดสัปดาห์ (Weekend headache)
           
          * อาการ
          
          ปวดหน่วง ๆ ที่ศีรษะหลังจากลุกจากที่นอน อาจปวดยาวไปทั้งวัน และมักจะเกิดในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
           
          * สาเหตุ
                     
          อาจเกิดขึ้นได้จากทั้งความเครียดที่สะสมมาตลอดสัปดาห์ พฤติกรรมการนอนดึกตื่นสาย รวมทั้งผลพวงจากคาเฟอีนที่คั่งค้างในร่างกายด้วย
           
          * วิธีรักษา
           
          การรักษาอาการปวดหัวในช่วงวันหยุดไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดใด ๆ เพียงแค่นอนหลับพักผ่อนในเวลาปกติเหมือนทุกวัน และพยายามอย่าดื่มชากาแฟเยอะเท่านั้น
 

14. อาการปวดหัวอย่างรุนแรงโดยฉับพลัน (Emergency headache)
           
          * อาการ
           
          ปวดหัวอย่างรุนแรงโดยฉับพลัน หน้ามืด และรู้สึกปวดหัวเหมือนหัวจะระเบิด บางรายมีไข้และความดันโลหิตสูงร่วมด้วย หรืออาการปวดเกิดขึ้นหลังจากได้รับแรงกระแทกบริเวณศีรษะ รวมทั้งภายหลังเคลื่อนไหวศีรษะเร็วและแรง อีกทั้งยังอาจปวดคอ เกิดอาการชาที่ใบหน้า ลิ้น และปาก จนส่งผลกระทบกับการพูด พร้อมทั้งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง

          * สาเหตุ

          อาการปวดหัวอย่างรุนแรงไม่ใช่โรคเรื้อรัง แต่เป็นอาการปวดหัวที่เกิดจากความเครียดอย่างสูง ซึ่งมีผลต่อระดับความดันโลหิตและการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง รวมทั้งอาจมีสาเหตุจากแรงกระแทกที่ค่อนข้างรุนแรงบริเวณศีรษะ และเนื้องอกที่สมองก็ได้
          
          * วิธีรักษา
           
          เมื่อเกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรงฉับพลัน วิธีที่ดีที่สุดคือรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยด่วน โดยเฉพาะคนไข้ที่หมดสติไปแล้วด้วย
           
          ไม่ว่าจะอาการปวดศีรษะชนิดไหน ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อสุขภาพเราสักอย่างเลยว่าไหมคะ เพราะบางชนิดของอาการปวดหัวก็เป็นสัญญาณของโรคร้าย หรืออย่างน้อย ๆ อาการปวดหัวที่เกิดจากความเครียดก็บั่นทอนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราไม่น้อยเหมือนกัน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการปวดหัว 14 ชนิด รักษาแบบนี้สิถึงตรงจุด อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2562 เวลา 10:28:34 1,896,491 อ่าน
TOP
x close