อีโบลา รู้ไว้ใช่ว่า หยุดไวรัสร้าย ก่อนจะแพร่มาไทย


เชื้ออีโบล่า
เชื้ออีโบล่า


รู้ไว้ใช่ว่า…หยุดไวรัสอีโบลา ก่อนจะแพร่มาไทย (emagazine)

          อีโบลา ไวรัสตัวร้าย แม้จะยังไม่ระบาดไทย แต่เราก็ต้องเตรียมพร้อมและช่วยกันป้องกัน เชื้ออีโบลา ที่ยังไม่มียารักษา

          ไม่เพียงแต่มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตเท่านั้นที่มีพัฒนาการที่แข็งแกร่งขึ้น เชื้อไวรัส แบคทีเรียเองก็เริ่มถีบตัวเองให้เอาชนะกับพวกยาตานเชื้อทั้งหลายที่มีอยู่ จึงไม่แปลกที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโลกมีการพบเชื้อไวรัสใหม่ ๆ เชื้อไวรัสกลายพันธุ์หลายชนิด ซึ่งบางชนิดก็ได้อาละวาดแพร่ระบาดให้ชาวโลกหวาดผวาไปตาม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไข้หวัดนก หรือ เชื้อมือเท้าปาก

          ล่าสุด เกิดเชื้อไวรัสอันตรายที่ทำให้โลกตกใจขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือเชื้อไวรัสอีโบล่า ซึ่งค้นพบมาเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว และการระบาดครั้งล่าสุดของอีโบลา เริ่มต้นที่กินี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นก็ลามไปไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน มีผู้ติดเชื้อกว่า 1,300 คน เสียชีวิต 729 ราย ถือเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีการค้นพบไวรัสอีโบลา

อีโบลา คืออะไร

          อีโบลา หรือ EVD (Ebola Virus Disease) เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสอีโบลา (Ebola Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสแบบมีเยื่อหุ้ม เป็นแท่งยาวแบบมีเส้นสาย (filamentous virions) จุดกำเนิดของเชื้ออีโบลานั้นเชื่อว่ามาจากประเทศทางทวีปแอฟริกาตะวันตก โดยมีแหล่งรังโรคอยู่ในลิงป่าและค้างคาวกินผลไม้ การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลานั้นจะติดจากคนสู่คนโดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย และการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ

          สำหรับไวรัสอีโบลา เป็นไวรัสที่ถูกจัดอยู่ในระดับที่มีความอันตรายรุนแรงระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ในการศึกษาวิจัยที่จำเป็นต้องมีการเลี้ยงเชื้อจึงต้องทำภายในห้องปฏิบัติที่ มีความปลอดภัยระดับสูงสุดซึ่งในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ที่เท่านั้น

          และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่านี้ ถือเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรงที่มีอัตราป่วยตายสูง และเป็นกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง แต่อัตราการแพร่ระบาดสูงและเร็วมากกว่า

          ในการรักษานั้น แม้จะมีความพยายามพัฒนาวัคซีนอยู่ แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีวัคซีนใด ที่จะรักษาได้หายขาด สามารถทำได้เพียงพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการบำบัดคืนน้ำ (rehydration therapy) ทางปากหรือหลอดเลือดดำเท่านั้น


เชื้ออีโบล่า

สังเกตอาการโรคเชื้อไวรัสอีโบลา

          1. มีไข้ และไข้สูงทันทีทันใด

          2. อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ

          3. มีอาการปวดศีรษะมาก

          4. เจ็บคอ

          5. คลื่นไส้ อาเจียน

          6. ท้องเสีย

          7. มีผื่นนูนแดงตามตัว (maculopapular rash)

          8. อาการขั้นรุนแรง ที่ต้องพบแพทย์โดยเร่งด่วนคือ ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกง่ายมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวายอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง และช็อก โดยอวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่

          แต่ทั้งนี้ อาการของโรคติดเชื้อจากไวรัสอีโบล่านี้ จะไม่ต่างกับโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย เท่าไรนัก ดังนั้น ในการวินิจฉัยต้องแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันออก เช่น มาลาเรีย อหิวาตกโรคและไข้เลือดออกจากไวรัสอื่น ๆ จากนั้น อาจทดสอบเลือดหาแอนติบอดีต่อไวรัส ดีเอ็นเอของไวรัส หรือตัวไวรัสเองเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

          ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมจุฑา ศาสตราจารย์ประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า "ไวรัสอีโบลาจะเข้าแบ่งตัวในเม็ดเลือดขาว และเข้าไปอยู่อาศัยในเซลล์ต้นกำเนิดเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานลดลง นอกจากนั้นยังเข้าไปติดเชื้อในผนังหลอดเลือดทำให้เกิดอาการเลือดออกในผิวหนัง รายที่มีอาการมากอาจพบอาการเลือดตกในตา ตับและไตวาย เสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์ โดยเชื้อจะมากน้อยขึ้นกับระยะที่เป็นจะออกมาทางสารคัดหลั่งพวกเลือด อสุจิ น้ำนม น้ำในช่องคลอด เหงื่อ น้ำลาย"


วิธีป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลา

          แม้ว่าความเสี่ยงที่ไวรัสอีโบลาจะออกจากแอฟริกามายังยุโรป เอเชีย หรืออเมริกามีต่ำมาก และไม่น่าจะแพร่ระบาดข้ามภูมิภาคมายังอีกซีกโลกหนึ่งได้ แต่ด้วยการคมนาคมที่ทั่วถึงกันทุกประเทศ อาจทำให้เชื้อไวรัสนั้นติดตามคนมาด้วยในการเดินทาง ซึ่งมีบ่อยครั้งที่ผู้ที่ป่วยด้วยเชื้อไวรัสอาจยังไม่รู้ตัวถึงความผิดปกติของตัวเอง และโรคก็ไม่แสดงอาการ ดังนั้นแล้วไม่ว่าประเทศไหนทั่วทุกภูมิภาค ต่างก็ต้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เข้าไปแพร่ระบาดในประเทศของตนเองด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อความไม่ประมาท

          1. แยกผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่าออกจากผู้ป่วยอื่น ๆ และเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิด

          2. ใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาลอย่างเข้มงวด รวมถึงดำเนินการให้ความรู้แก่ชุมชนอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว

          3. ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปรุงเนื้อสัตว์ ให้สวมเสื้อผ้าป้องกันอย่างเหมาะสม ล้างมือ และทำความสะอาดร่างกาย

          ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่าเคยพบผู้ป่วยด้วยเชื้อไวรัส "อีโบล่า" แต่ทว่าคนไทยก็ไม่ควรประมาท !!








ลิขสิทธิ์บทความของ emaginfo.com
ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อีโบลา รู้ไว้ใช่ว่า หยุดไวรัสร้าย ก่อนจะแพร่มาไทย อัปเดตล่าสุด 15 สิงหาคม 2557 เวลา 16:11:28 7,159 อ่าน
TOP
x close