โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ เช็กอาการอย่างไรว่าต้องสงสัยความจำเสื่อม


          โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ เช็กได้จากอาการหรือพฤติกรรมใดบ้าง เรื่องนี้ลูกหลานควรรู้ไว้ หากผู้สูงอายุที่บ้านหลง ๆ ลืม ๆ บ่อย ๆ รีบเช็กเลย !

          คนเราพอสูงอายุขึ้น โรคคนแก่ก็มักจะถามหา แต่โรคที่น่ากลัวที่สุดในผู้สูงอายุคือโรคสมองเสื่อม ซึ่งหากลูกหลานไม่ได้สังเกตพฤติกรรม หรืออาการของท่าน ก็อาจไม่ทันคิดว่าผู้สูงอายุในบ้านเป็นโรคสมองเสื่อม กระทั่งอาการหนัก หลงลืมแทบจะทุกอย่าง ซึ่งพอไปถึงจุดนั้นการรักษาย่อมทำได้ยากกว่าอาการความจำเสื่อมเบื้องต้นแน่ ๆ ค่ะ

          ดังนั้นใครที่มีญาติผู้ใหญ่อยู่ในบ้าน เราอยากให้มาทำความรู้จักโรคสมองเสื่อมไว้สักนิด แล้วเก็บเอาอาการโรคสมองเสื่อมเบื้องต้นไปสังเกตพระในบ้านสักหน่อย เผื่อพบว่าเข้าข่ายโรคสมองเสื่อมจะได้เข้ารับการรักษา ประคองอาการสมองเสื่อมไม่ให้แย่ลงไปทุกวัน ๆ 

โรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม คืออะไร

          สมองเสื่อมเป็นภาวะความเสื่อมของการทำงานของสมอง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำ การรับรู้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพได้ โดยโรคสมองเสื่อมภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Dementia จัดเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง หรือสมองมีการสูญเสียหน้าที่หลาย ๆ ด้านพร้อม ๆ กัน ซึ่งความเสื่อมของเนื้อสมองอาจค่อยเป็นค่อยไป คือค่อย ๆ หลงลืมทีละเล็กทีละน้อย แต่หากเนื้อสมองเสื่อมแล้วก็จะเสื่อมการทำงานโดยถาวรเลย

          อย่างไรก็ตาม ภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เกิดกับคนแก่ทุกคน หรือพูดได้ว่าโรคสมองเสื่อมไม่ได้พบได้ทั่วไปเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น เพราะโรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่เกิดขึ้นในบุคคลที่มีความชราภาพ ความสูงอายุอาจทำให้เซลล์สมองเสื่อมสภาพ หรือพลังงานสำรองของอวัยวะต่าง ๆ เริ่มร่อยหรอ โรคสมองเสื่อมก็จะแสดงตัวขึ้นมา

โรคสมองเสื่อม

สมองเสื่อม เกิดจากอะไร

          ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ และภาวะสมองเสื่อมก็มีอยู่หลายประเภทด้วยกัน โดยแบ่งสาเหตุของโรคสมองเสื่อมได้ดังต่อไปนี้ 

1. สมองเสื่อมเกิดจากการเสื่อมสภาพของสมอง

          อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า โรคสมองเสื่อมเกิดจากภาวะเนื้อสมองมีการเสื่อมสลาย หรือมีการตายเกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เนื้อสมองเสื่อมหรือสูญเสียการทำงานอาจยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร โดยโรคที่พบได้บ่อยจากสาเหตุนี้ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ฯลฯ

2. สมองเสื่อมเกิดจากหลอดเลือดสมองทำงานผิดปกติ


          ในกรณีที่หลอดเลือดส่วนที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองมีการหนาตัว แข็งตัว หรือมีการตีบตัวผิดปกติ ก็อาจทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลง ซึ่งหากเลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอกับการใช้งานของสมอง ภาวะนี้ก็เป็นสาเหตุทำให้เนื้อสมองตาย และในเนื้อสมองส่วนที่ตายไปนั้นก็จะสูญเสียการทำงาน โดยในระยะแรก ๆ เนื้อสมองอาจตายในพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งอาจยังไม่พบอาการผิดปกติเกิดขึ้นทางร่างกาย ทว่าในกรณีที่สมองขาดเลือดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื้อสมองตายเป็นจำนวนมาก จะเริ่มสังเกตเห็นอาการหลง ๆ ลืม ๆ หรือมีอาการสมองเสื่อมได้

          อย่างไรก็ตามยังมีกรณีเส้นเลือดอุดตันในบริเวณเส้นเลือดใหญ่ในส่วนที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมอง ซึ่งก็จะทำให้เนื้อสมองขาดเลือดได้เช่นกัน และในกรณีนี้ก็มักจะก่อให้เกิดภาวะเนื้อสมองตายขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้ แม้จะมีการอุดตันของเส้นเลือดเพียงครั้งเดียวก็ตาม ซึ่งผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะเส้นเลือดสมองตีบหรืออุดตันดังกล่าว มักจะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่สูบบุหรี่จัด เป็นต้น ทว่าก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมอีกด้วยนะคะ


3. สมองเสื่อมเกิดจากการติดเชื้อในสมอง

         เชื้อไวรัสบางชนิดสามารถก่อให้เกิดอาการอักเสบในสมองได้ เช่น เชื้อไวรัสสมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสที่ติดมาจากหมู โดยมียุงเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสชนิดนี้ หรือที่เราเรียกว่า โรคไข้สมองอักเสบ โดยหากมีการติดเชื้อที่รุนแรงผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้ หรือหากไม่เสียชีวิตแต่เซลล์สมองถูกทำลายจากการอักเสบ ก็เสี่ยงมีอาการสมองเสื่อมเช่นกัน

          แต่นอกจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบแล้ว ปัจจุบันยังพบว่ามีไวรัสชนิดอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ด้วย เช่น การติดเชื้อไวรัส HIV ซึ่งจะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่อง ก่อให้เกิดการติดเชื้อในส่วนต่าง ๆ ได้ง่าย และตัวเชื้ออาจทำลายเนื้อสมองให้เสียหาย ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำ ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง บุคลิกภาพไม่เหมือนเดิม ทั้งนี้โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมักพบบ่อยในกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่าพบในผู้สูงอายุ

โรคสมองเสื่อม

4. สมองเสื่อมเกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด

          โดยเฉพาะวิตามินอย่างวิตามินบี 1 หรือวิตามินบี 12 โดยวิตามินเหล่านี้เป็นสารช่วยเสริมการทำงานของเซลล์สมอง ผู้ที่ขาดวิตามินบี 1 หรือได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจส่งผลให้เซลล์สมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนอาจร้ายแรงถึงขั้นเซลล์สมองเสียหาย ซึ่งกรณีนี้มักพบในผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ที่ดื่มเหล้ามากกว่าอาหารอื่น ๆ จึงทำให้ร่างกายขาดวิตามินที่สำคัญกับการทำงานของสมอง

          ส่วนในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินบี 12 เช่น ผู้ที่กินมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดเป็นเวลานานหลายปี ทำให้ร่างกายไม่ได้รับวิตามินบี 12 ที่มักจะพบในเนื้อสัตว์หรือในน้ำปลา หากไม่ได้รับประทานวิตามินเสริมอาหารร่วมด้วย ร่างกายอาจได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ ส่งผลให้การทำงานของระบบประสาทและสมองเสียหาย จนถึงเซลล์สมองตายได้ 

          นอกจากนี้ยังอาจพบความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นออกไป ซึ่งก็อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารบางอย่าง โดยเฉพาะในส่วนการดูดซึมวิตามินบี 12 จากกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้ก็จะมีประสิทธิภาพลดลง เสี่ยงต่อความเสื่อมของเซลล์สมองได้เช่นกัน


5. สมองเสื่อมที่เกิดจากการแปรปรวนของระบบเมตาบอลิก

          ความแปรปรวนของระบบเมตาบอลิก เช่น การทำงานของต่อมไร้ท่อบางชนิดซึ่งผิดปกติไป เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือทำงานน้อยเกินไป รวมไปถึงการทำงานของตับหรือไตผิดปกติไป ซึ่งสาเหตุดังที่กล่าวมาจะก่อให้เกิดความแปรปรวนของระบบขับของเสีย และระบบเผาผลาญพลังงาน จนอาจทำให้ของเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกาย ส่งผลให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาให้ระบบเมตาบอลิกเป็นปกติ ในที่สุดก็อาจทำให้เซลล์สมองได้รับผลกระทบ เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ด้วยนะคะ

6. สมองเสื่อมเกิดจากการกระทบกระแทกที่ศีรษะอย่างรุนแรง


          การกระทบกระแทกที่เกิดขึ้นกับศีรษะทั้งแบบรุนแรง หรือได้รับการกระทบกระเทือนบ่อย ๆ เช่น นักมวย นักกีฬาที่ต้องใช้ศีรษะในการกระแทกสิ่งต่าง ๆ หรืออาจพบได้ในผู้ป่วยเมาสุรา ที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางร่างกายได้ง่าย รวมไปถึงผู้สูงอายุที่อาจหกล้มศีรษะฟาดพื้นได้ โดยการกระทบกระเทือนที่เกิดขึ้นกับสมอง แรงกระแทกนั้นอาจส่งผลให้เนื้อสมองตายไปบางส่วน หรือหากเนื้อสมองตายไปเป็นจำนวนมาก สมองอาจสูญเสียการทำงาน เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน

7. สมองเสื่อมจากเนื้องอกในสมอง

          โดยเฉพาะเนื้องอกที่เกิดในบริเวณสมองส่วนหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบประสาทบางส่วนหยุดทำงานไป ผู้ป่วยอาจมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป ความจำและการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในลักษณะของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั่นเองค่ะ

          สาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยก็อย่างที่เรากล่าวไว้ข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม โรคสมองเสื่อมในผู้สูงวัยที่พบได้บ่อยมักจะเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ หรือปัญหาหลอดเลือดสมองผิดปกติ หรือบางเคสก็พบว่ามีสาเหตุจากทั้งสองอย่างร่วมกันเลยก็เป็นได้ คราวนี้เรามาเช็กอาการโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุกันบ้างค่ะ พฤติกรรมไหนเข้าข่ายโรคสมองเสื่อมบ้าง ลองสังเกตได้จากข้อมูลด้านล่างเลย

โรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม อาการเป็นอย่างไร สังเกตจากสัญญาณอะไรได้บ้าง

          อาการหลง ๆ ลืม ๆ เช่น รู้ว่าหยิบของออกมาแล้วแต่ไม่รู้ว่าไปวางลืมไว้ที่ไหน แต่แน่ใจว่าหยิบของติดมือมาแน่ ๆ เพียงแต่นึกไม่ออกว่าเอาไปวางที่ไหนเท่านั้นเอง อาการหลงลืมดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นกันได้ทุกคนจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นความธรรมดาได้เลย แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เขาจะจำเหตุการณ์เมื่อ 5 นาทีที่ผ่านมาไม่ได้เลย เช่น จำไม่ได้ว่าเมื่อสักครู่ได้เดินไปหยิบของออกมา จำไม่ได้เลยว่าเกิดเหตุการณ์อะไรบ้างเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา เป็นต้น

          ทั้งนี้อาการสมองเสื่อมอาจค่อยเป็นค่อยไป โดยคนรอบข้างอาจสังเกตสัญญาณโรคสมองเสื่อมได้ จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

          1. เริ่มจำสิ่งที่ตัวเองเพิ่งพูดไปไม่ได้ มักพูดซ้ำ ๆ ในเรื่องเดิม หรือโทร. หาลูก-หลานวันละหลายครั้ง เพื่อบอกเรื่องเดิมซ้ำ ๆ เป็นต้น

          2. มีอาการจำเหตุการณ์หรือใบหน้าคนที่เพิ่งเจอในระยะสั้น ๆ ไม่ได้ เช่น ในกรณีมีคนเอาของมาให้ ก็จำไม่ได้ว่าใครเป็นคนเอามาให้ หรือจำไม่ได้ว่ากินข้าวหรือยังทั้งที่เพิ่งกินไป

          3. บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เช่น ทำอะไรช้าลง นั่งเหม่อบ่อยขึ้น ชอบพูดถึงอดีตเก่า ๆ คิดเรื่องยาก ๆ หรือคิดแก้ปัญหาอะไรไม่ค่อยได้

          4. อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายขึ้น เนื่องจากภาวะการทำงานในส่วนของการควบคุมอารมณ์เริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ จึงอาจมีการกระทบกระทั่ง โกรธ ฉุนเฉียว ใส่คนในบ้านอย่างไม่ค่อยมีเหตุผล หรืออาจมีอารมณ์เปลี่ยนไป เช่น กินข้าวไปหัวเราะไป

          5. เกิดภาวะหลงผิด เช่น คิดว่ามีโจรมาขโมยเงินในบ้าน เนื่องจากผู้ป่วยวางเงินไว้แล้วลืม เก็บเงินไว้ตรงไหนก็ลืมว่าได้เก็บเงินไว้ ทำให้คิดไปว่าเงินตัวเองหาย และเชื่อว่ามีโจรขโมยอยู่ในบ้าน เป็นต้น หรือบางเคสอาจฝังใจกับอดีตเก่า ๆ แล้วเอามาคิดใหม่ เข้าใจใหม่ เช่น สมัยก่อนสามีเจ้าชู้ ก็จะระแวงว่าสามีจะไปมีชู้ เป็นต้น

          6. มีอาการเห็นภาพหลอน เห็นคนที่บุกรุกเข้ามาในบ้าน เห็นญาติที่เสียชีวิตไปมาหา ซึ่งอาจทำให้ลูก-หลาน คนในบ้านคล้อยตามได้ เข้าใจผิดคิดว่าเขาเห็นสิ่งลึกลับจริง ๆ ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการความจำเสื่อม

          7. อาการหลงลืมเริ่มเห็นชัดขึ้น เช่น ลืมว่าตัวเองกินข้าวไปแล้ว ลืมว่าต้องอาบน้ำ และโดยส่วนมากจะสังเกตได้ชัดว่าผู้ป่วยเริ่มมีภาวะบกพร่องในการดูแลสุขอนามัยของตัวเอง เช่น ลืมตัดเล็บ ไม่ไปตัดผม ลืมกดชักโครก กินอาหารแล้ววางจานทิ้งไว้ ลืมว่าต้องล้างจาน เป็นต้น

โรคสมองเสื่อม

          8. มีพฤติกรรมจำทางกลับบ้านไม่ได้ บางคนอาจเดินหายออกจากบ้านไป เดินไปตามทางเรื่อย ๆ อย่างไม่มีจุดหมาย ไม่รู้ว่าจะไปไหน แล้วจะกลับบ้านอย่างไร

          9. ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้ อย่างเช่น ลืมไปว่าจะปรุงอาหารชนิดนี้ได้อย่างไร ทั้งที่เคยทำ หรือในรายที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ อาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แม้แต่การอาบน้ำ เข้าห้องน้ำ 

          10. วางของผิดที่ผิดทาง เช่น เอาเตารีดไปวางในตู้เย็น เอานาฬิกาข้อมือใส่เหยือกน้ำ
 
          11. มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น พูดไม่รู้เรื่อง เรียกชื่อคนหรือสิ่งของเพี้ยนไป นึกคำพูดไม่ค่อยออก หรือใช้คำผิด ๆ ทำให้คนอื่นฟังไม่เข้าใจ

          อย่างไรก็ตาม อาการและพฤติกรรมข้างต้นเป็นเพียงจุดสังเกตสัญญาณโรคสมองเสื่อมที่คนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัวสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ

          นอกจากนี้ หากจะแบ่งความรุนแรงของโรคสมองเสื่อม ก็สามารถแบ่งตามอาการได้ 3 ระดับคือ

          1. ระดับไม่รุนแรง คือมีภาวะสมองเสื่อมเล็กน้อย ผู้ป่วยจะหลงลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ลืมว่าวางของไว้ตรงไหน อาจจำชื่อคนหรือสถานที่ที่คุ้นเคยไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องในอดีตยังสามารถจำได้ดี

          ทั้งนี้ การสูญเสียความจำของผู้ป่วยสมองเสื่อมจะเริ่มจากสูญเสียความจำใหม่ ๆ ก่อน มักจะจำเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ค่อยได้ ถ้าอาการเป็นมากแล้วจึงจะสูญเสียความจำในอดีต เราจึงมักเห็นผู้สูงอายุชอบพูดแต่เรื่องเก่า ๆ พูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ เพราะยังจำเรื่องอดีตได้ดี แต่ถ้าถามเรื่องที่เพิ่งเกิด อาจจะจำไม่ค่อยได้

          2. ระดับปานกลาง จะมีภาวะความจำเสื่อมมากขึ้น ความสามารถในการเรียนรู้ ความเข้าใจ การแก้ปัญหาและตัดสินใจทำได้ไม่ดี หรือบกพร่อง หลายสิ่งที่เคยทำได้กลับทำไม่ได้ เช่น ลืมวิธีทำอาหาร เปิดโทรทัศน์ไม่เป็น คำนวณเลขง่าย ๆ ไม่ได้ บางคนอาจลืมแม้กระทั่งชื่อคนในครอบครัว หากเป็นในระยะท้าย ๆ จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนคอยดูแล ไม่ควรปล่อยให้อยู่คนเดียว

          3. ระดับรุนแรง ผู้ป่วยจะไม่สามารถจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ จำญาติพี่น้องหรือแม้แต่ตนเองไม่ได้ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม้แต่สุขอนามัยของตัวเอง เช่น กลั้นปัสสาวะ-อุจจาระไม่อยู่ หากผู้ป่วยอยู่ในระดับนี้ต้องมีผู้คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

          ฉะนั้นหากญาติผู้ใหญ่ของเราเริ่มมีอาการหลงลืม พูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ มีพฤติกรรมแปลกไป ลองพาท่านไปพบแพทย์เพื่อบรรเทาอาการสมองเสื่อมจะดีกว่านะคะ

โรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม รักษาได้ไหม

          การรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอาจทำได้เพียงแค่บรรเทาอาการ ชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองด้วยการให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง ยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยได้ออกจากบ้านไปไหน ไม่ค่อยมีสังคม ควรให้เขาได้เจอเพื่อน ได้มีสังคม ได้พูดคุยกับคนอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นสมองในส่วนที่ยังเหลือ ชะลอไม่ให้เซลล์สมองที่เคยอยู่นิ่ง ๆ ได้ทำงานกันบ้าง

          อย่างไรก็ดี การรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ทราบสาเหตุของการเกิดโรคสมองเสื่อม รวมไปถึงการจำแนกโรคแทรกซ้อนในตัวผู้ป่วยด้วย ว่ามีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ร่วมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อการรักษาที่ให้ประสิทธิภาพมากที่สุดกับตัวผู้ป่วยเอง

โรคสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์ต่างกันอย่างไร

          โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมค่ะ โดยโรคอัลไซเมอร์ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานกันว่า โรคอัลไซเมอร์ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีภาวะความจำเสื่อม อาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง หรือเกิดจากสภาวะเสื่อมสภาพของสมองจนส่งผลให้ความจำ พฤติกรรม และการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้รับผลกระทบ

          ดังนั้นถ้าถามว่าโรคสมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์ต่างหรือเหมือนกันอย่างไร จึงตอบได้แต่เพียงว่าอัลไซเมอร์ก็เป็นสาเหตุของโรคความจำเสื่อมชนิดหนึ่งซึ่งพบบ่อยในผู้สูงอายุเท่านั้นเอง โดยลักษณะอาการของผู้ป่วยก็จะมีความจำลดลง และหากไม่ได้รับการรักษา ความจำและการทำงานของระบบประสาทและสมองก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ

โรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม ป้องกันได้ไหม

          แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อม แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตัวบางอย่างอาจช่วยให้สมองมีความจำที่ดีได้ เช่นข้อวิธีป้องกันโรคความจำเสื่อมดังต่อไปนี้

          1. หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัด การรับประทานยาโดยไม่จำเป็น สูบบุหรี่ หรืออยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่

          2. การฝึกฝนสมอง ได้แก่ การพยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อย ๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือบ่อย ๆ คิดเลข เล่นเกมตอบปัญหา ฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ใหม่ ๆ เป็นต้น

          3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง โดยอาจเลือกกิจกรรมเดินเล่น แอโรบิก หรือรำมวยจีน เป็นต้น

          4. พยายามพูดคุย พบปะผู้อื่นบ่อย ๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่าง ๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ (ถ้ามี)

          5. ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ เช่น การตรวจหาความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และหมั่นดูแลตัวเองอย่าให้ขาด

          6. ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น

          7. พยายามมีสติในสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังทำและฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา

          8. พยายามไม่คิดมาก ไม่เครียด หากิจกรรมต่าง ๆ ทำเพื่อคลายเครียด หรือออกไปท่องเที่ยว เนื่องจากความเครียดและอาการซึมเศร้าอาจทำให้จำอะไรได้ไม่ดี

          ทั้งนี้ระยะเวลาการดำเนินโรคสมองเสื่อมของแต่ละบุคคลอาจมีความแตกต่างกันไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการรักษาด้วยว่ารู้ตัวเร็วไหม ตอนไปถึงขั้นตอนการรักษาอาการความจำเสื่อมมีความรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งทางแพทย์ก็จะเป็นคนวินิจฉัยและประเมินอาการผู้ป่วยในแต่ละเคสอีกทีนะคะ

          แต่ที่สำคัญ การมีผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอยู่ในบ้าน คนที่ต้องดูแลผู้ป่วยควรทำความเข้าใจพฤติกรรมและอาการป่วยของท่าน และควรดูแลรักษาสภาพจิตใจของตัวเองไปพร้อม ๆ กันด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอาจทำให้คนที่ต้องดูแลตกอยู่ในสภาวะเครียดได้เช่นกัน ดังนั้นพยายามดูแลซึ่งกันและกันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
มูลนิธิอัลไซเมอร์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ เช็กอาการอย่างไรว่าต้องสงสัยความจำเสื่อม อัปเดตล่าสุด 3 ธันวาคม 2563 เวลา 16:12:53 55,930 อ่าน
TOP
x close