เราอาจคิดว่าที่ปวดหลังอยู่ทุกวันเป็นเพราะนั่งมากเกินไป หรือเคลื่อนไหวผิดท่า แต่จริง ๆ แล้ว อาจหมายถึงโรคบางอย่างที่แฝงอยู่ก็เป็นได้
1. ปวดหลังร่วมกับแขน-ขา ชา หรือไม่มีแรง
หากมีอาการปวดหลังร่วมกับชาที่แขน ขา หรือแขน-ขา อ่อนแรงไปด้วย ที่สำคัญยังรู้สึกกลั้นปัสสาวะ หรืออุจจาระได้ไม่ดีเหมือนเดิมหรืออาจกลั้นไม่ไหวเลย อาการแบบนี้อาจมีความผิดปกติบริเวณไขสันหลัง ซึ่งอาการปวดหลังลักษณะนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว
ทั้งนี้อาการปวดหลังในลักษณะดังกล่าวอาจรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ได้ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยและหาทางรักษาเป็นราย ๆ ไป บางคนอาจนอนพักเฉย ๆ ก็หาย แต่บางเคสก็อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษา
2. ปวดหลังช่วงเอวร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น
ในกรณีที่ปวดหลังช่วงเอว ไม่ว่าจะปวดหลังด้านซ้าย หรือปวดหลังด้านขวา หรืออาจจะปวดเอวทั้งสองข้าง เป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับไต ถุงน้ำดี โดยอาจมีการติดเชื้อที่ไต มีนิ่วในถุงน้ำดี หรือเป็นกรวยไตอักเสบก็ได้ โดยเฉพาะหากมีพฤติกรรมดื่มน้ำน้อยเกินไป หรืออั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ก็จะมีแนวโน้มเสี่ยงโรคดังกล่าวมากขึ้น
ดังนั้นหากมีอาการปวดหลังช่วงเอว มีไข้ หนาวสั่น ก็รีบไปตรวจร่างกายกับแพทย์จะดีกว่า โดยการรักษาก็ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น และแพทย์อาจแนะนำให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ รวมทั้งอย่ากลั้นปัสสาวะ ซึ่งหากรักษาโรคที่เป็นให้หายไป อาการปวดหลังช่วงเอว มีไข้ หนาวสั่น ก็จะหายไปด้วย
3. ปวดหลังเหนือบั้นเอวทั้งสองข้าง
ในคนที่ปวดหลังเหนือบั้นเอวทั้งสองข้าง อาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะภายในอย่างไต ถุงน้ำดี ได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อไตทำงานได้น้อยลงก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หรือไตอาจติดเชื้อจนเป็นไตวายเรื้อรังเลยก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดถุงน้ำในตับ ตับอ่อน รังไข่ อัณฑะได้อีก
แต่หากมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดท้องด้วย สันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะ ลำไส้ มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลังแบบไหน หากปวดมาก มีความผิดปกติ แนะนำให้รีบพบแพทย์เลยค่ะ
4. ปวดหลังในคนท้อง
4. ปวดหลังในคนท้อง
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ครรภ์เริ่มโตขึ้น มักจะมีอาการปวดหลังเนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของทารก ทำให้แม่ท้องต้องแบกน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงขนาดมดลูกที่โตขึ้นก็อาจไปกดทับเส้นประสาททำให้ปวดหลังร้าวลงขาได้ แต่ในกรณีที่ปวดหลังมาก ๆ นอกจากจะปรับเปลี่ยนอริยาบถแล้ว คุณแม่ควรปรึกษาอาการปวดหลังที่เป็นอยู่กับสูตินรีแพทย์ด้วยนะคะ
5. ปวดหลังเรื้อรัง และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าปวดหลังเรื้อรังมากว่า 2-3 สัปดาห์ และอาการปวดหลังก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ปวดชนิดที่แบบนอน ๆ อยู่ต้องลุกขึ้นมากินยาแก้ปวด แบบนี้อาจเป็นอาการที่เกี่ยวกับเนื้องอก หรือการอักเสบติดเชื้อ หรือสำหรับคนอ้วนอาจเป็นภาวะไขข้ออักเสบ หรือกระดูกสันหลังสึกกร่อน จึงควรลดน้ำหนักตัวลง เพื่อลดภาระให้กระดูกสันหลัง โดยแพทย์อาจให้สวมเสื้อดามหลังร่วมกับทำกายภาพบำบัดและแนะนำให้กินอาหารที่มีแคลเซียมเพิ่มขึ้น เพื่อบำรุงกระดูก แต่ในคนที่ปวดหลังมากขึ้นเรื่อย ๆ ปวดจนนอนไม่หลับ เคสนี้คงต้องปรึกษาแพทย์อย่างจริงจังแล้วล่ะ
หากใครที่กำลังมีอาการปวดหลังอยู่ให้รีบเช็กตัวเองด่วนนะคะ หรือหากไม่มั่นใจให้พบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย เพราะบางทีหากปล่อยให้ปวดเรื้อรังไปนานเข้า อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายให้ทรุดลงก็ได้ค่ะ
*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 18 กันยายน 2562