เบื่องาน แต่ไม่มีที่ไป เช็กให้ไว เรากำลังเป็น Grumpy Staying ทำงานแค่ให้ผ่านไปวัน ๆ หรือเปล่า

เบื่องาน ทำงานไปวัน ๆ เช็กให้รู้ทัน เรากำลังเป็น Grumpy Staying อยากลาออกแต่ไม่มีที่ไปหรือเปล่า

เบื่องาน

เบื่องาน แต่ไม่ลาออกง่าย ๆ ภาวะนี้เรียกได้ว่าเจอกันทุกวงการการทำงาน โดยเฉพาะพนักงานบริษัทที่สามารถย้ายงานกันได้ทุกปี แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เบื่องานจะแย่ ไม่พอใจงานที่ทำเลย แต่ก็ยังทนทำงานที่เดิมให้ผ่านไปวัน ๆ เพราะไม่กล้าลาออกไปหางานใหม่ แบบนี้แหละที่เข้าข่าย Grumpy Staying ที่เรากำลังจะพาทุกคนไปรู้จัก

Grumpy Staying คืออะไร

เบื่องาน

Grumpy Staying คือ คำอธิบายภาวะการทำงานของคนที่หมดใจกับงานแล้ว เบื่องานมาก ไม่ชอบงานที่ทำอยู่ ฟีลแบบเบื่อตั้งแต่หน้าที่ที่ต้องทำ เบื่อเพื่อนร่วมงาน เบื่อสิ่งแวดล้อมในการทำงาน หรืออาจถึงขั้นไม่พอใจกับนโยบายของบริษัท รวมไปถึงเงินเดือนที่ตัวเองได้รับด้วย ทว่าก็ยังทนทำงานด้วยความเบื่อ ความหงุดหงิดใจไปทุกวัน เพราะไม่กล้าลาออกไปทำงานที่ไหน รู้สึกไม่มีที่ไป และในที่สุดก็กระทบกับประสิทธิภาพในการทำงาน กลายเป็นคนที่ทำงานแค่ให้ผ่านไปวัน ๆ 

Grumpy Staying สาเหตุคืออะไร
ที่ทำให้เรายังทนทั้ง ๆ ที่เบื่องาน

สาเหตุที่ทำให้คนทำงานกลายเป็น Grumpy Staying ก็มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้

  • งานไม่ตรงใจ ไม่ตอบโจทย์ความสามารถ มองไม่เห็นการเติบโต หรืออาจได้ทำแต่งานที่น่าเบื่อ ทำแต่งานรูทีนวนลูปไปไม่รู้จบ หรือได้ทำงานที่ไม่ตรงกับความสนใจของตัวเอง

  • สิ่งแวดล้อมที่ทำงานเป็นพิษ เจอคน Toxic มีเพื่อนร่วมงานไม่สามัคคีกัน 

  • หัวหน้างานเลือกที่รักมักที่ชัง นโยบายบริษัทก็จ้องแต่จะจับผิด 

  • วัฒนธรรมขององค์กรกับสิ่งที่เป็นมีความขัดแย้งกัน หรือไม่ตรงกันในหลายจุด 

  • ทำงานจนไม่มี Work-Life balance รู้สึกว่างานเริ่มจะกลืนกินชีวิตไปแล้ว

  • ไม่มีแววก้าวหน้าในสายอาชีพ บริษัทไม่เปิดโอกาสให้ได้พัฒนาทักษะ มีแต่อยู่แล้วสกิลที่เคยมีถดถอยลงไปเรื่อย ๆ

  • การมีปัญหาชีวิต ปัญหาการเงิน ปัญหาครอบครัว รวมไปถึงปัญหาสุขภาพ และเริ่มมองงานเป็นภาระอีกอย่างที่ทำไปก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น

  • หางานใหม่ได้ยาก หรืออาจเป็นตัวเองที่มีโอกาสหางานใหม่ได้ยากขึ้น เช่น อายุมากเกินไป หรือทักษะการทำงานล้าหลังไปกลัวไม่ทันเด็กรุ่นใหม่ เป็นต้น

Grumpy Staying เช็กสิ เรามีอาการหรือยัง

เบื่องาน

ถ้าทุกวันนี้เบื่องานขั้นสุด แต่ก็ยังไม่อัปเดตเรซูเม่สักที ไม่เคยที่จะมองหางานใหม่ งั้นลองมาเช็กอาการ Grumpy Staying ดูก่อนก็ได้

  • มักจะบ่นเรื่องงานกับคนรอบข้างอยู่บ่อย ๆ หรือแทบทุกวัน 

  • ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่มีความสุขในการทำงาน หรือมีทัศนคติต่องานแย่ลง เช่น เริ่มมีคำถามกับงานที่ต้องทำ ว่าทำไปทำไม ทำแล้วจะเวิร์กจริงหรือไม่ เป็นต้น 

  • ประสิทธิผลในการทำงานลดลง ทั้งปริมาณและคุณภาพของงานลดลง หรือใช้เวลาทำงานนานกว่าที่เคย  

  • มักจะปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในองค์กร ไม่ยอมปรับตัว หรือจะมีความดื้อถ้าให้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ 

  • ขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานค่อนข้างบ่อย

  • ขาดงานบ่อย หรือโดดประชุมบ่อย หรืออาจมาทำงานด้วยท่าทีเนือย ๆ ทำไปให้หมดวัน ไม่ได้ตั้งใจในการทำงาน 

  • ไม่มีแรงจูงใจที่จะผลักดันให้ตัวเองก้าวหน้าหรือได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเท่าไร

Grumpy Staying
ภัยเงียบที่เป็นแล้วเสี่ยงชีวิตพัง

งานกับชีวิตเป็นเรื่องที่แยกจากกันได้ยาก ดังนั้นคนที่มีภาวะเบื่องานแบบ Grumpy Staying ย่อมต้องได้รับผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะด้านการทำงานที่ด้อยประสิทธิภาพลง เสียงาน เสียลูกค้า บั่นทอนจิตใจจนหมดขวัญและกำลังใจในการทำงาน อีกทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานก็อาจย่ำแย่ พาลให้ทำงานอย่างไม่มีความสุข หงุดหงิดง่าย มีแต่ความเครียด หากปล่อยให้เครียดสะสมก็จะส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างแน่นอน 

Grumpy Staying
ถ้าเจอคนมีภาวะนี้ ควรรับมืออย่างไร

เบื่องาน

เป็นธรรมดาที่พนักงานอาจจะเบื่องานที่ทำ หรือมีประสิทธิภาพการทำงานถดถอยลงเมื่อทำงานมานาน แต่หากเจอแบบนี้เราควรรับมืออย่างไรดี ตามมาดูกันค่ะ

  • หาโอกาสพูดคุยกับพนักงานที่เบื่องานแต่ไม่กล้าลาออก สอบถามดูว่าเขามีปัญหาด้านไหนที่บริษัทพอช่วยเหลือได้บ้าง

  • สร้างจุดหมายและแรงจูงใจในการทำงาน เช่น ชื่นชมผลงานของเขา หรือบอกเขาว่างานที่ทำมีความหมายต่อบริษัทในด้านใด

  • ปรับขึ้นเงินเดือนให้เหมาะสมกับงานที่พนักงานได้รับมอบหมาย หรือมีเบี้ยเลี้ยงพิเศษหากต้องทำงานเพิ่ม เพราะกำลังใจในการทำงานที่ดีที่สุดก็คือค่าตอบแทนนี่เอง

  • ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้น่าทำงานมากขึ้น 

  • หากเป็นไปได้บริษัทควรมีนโยบายที่เอื้อให้คนทำงานสามารถทำงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น

  • อาจส่งพนักงานไปเพิ่มทักษะ อัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

  • บริษัทควรมีเป้าหมายในการทำงานและความคาดหวังถึงผลงานอย่างชัดเจน

  • สนับสนุนการทำงานที่มี Work-Life balance 

  • จัดทำนโยบายสมัครใจลาออก เพื่อเป็นทางเลือกให้พนักงาน

อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นพนักงานที่มีภาวะ Grumpy Staying ลองทบทวนดูดี ๆ ว่าจริง ๆ แล้วเรายังต้องการทำงานนี้อยู่ไหม ที่เราเบื่อคือเบื่ออะไร ติดปัญหาการทำงานตรงจุดไหน และพยายามหาทางออก เช่น อาจลาพักร้อนไปพักใจ ฟื้นฟูตัวเองสักหน่อย หรือปรับตารางชีวิตให้ได้ทำงานพร้อมกับใช้ชีวิตไปด้วย แต่หากค่อนข้างแน่ใจว่าไปต่อกับงานนี้ไม่ไหวแล้วจริง ๆ ก็อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองไม่มีที่จะไป ลองยื่นใบสมัครไปหลาย ๆ ที่ ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองมีทางเลือกหลาย ๆ ทางดูก่อน

บทความที่เกี่ยวข้องกับภาวะเบื่องาน

ขอบคุณข้อมูลจาก : teambuilding.com, timesofindia.indiatimes.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เบื่องาน แต่ไม่มีที่ไป เช็กให้ไว เรากำลังเป็น Grumpy Staying ทำงานแค่ให้ผ่านไปวัน ๆ หรือเปล่า อัปเดตล่าสุด 5 ตุลาคม 2566 เวลา 17:17:55 25,768 อ่าน
TOP
x close