แมงดาทะเลเป็นสัตว์ทะเลที่มีเส้นเมา แต่นอกจากการเอาเส้นเมาแมงดาออกแล้วยังควรต้องเลือกชนิดแมงดาให้ถูกด้วย ถ้าไม่อยากโดนพิษแมงดาจนตาย บ่อยครั้งที่เราได้ข่าวคนกินแมงดาแล้วเจอพิษ มีอาการแพ้พิษแมงดา หรือบางคนก็สาหัสจนกระทั่งเสียชีวิตก็มี ซึ่งวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักแมงดาทะเล สัตว์ทะเลที่หลายคนติดใจในเมนูยำไข่แมงดา และถ้าหากอยากกินแมงดาอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่เสี่ยงพิษ ควรเลือกกินแมงดาชนิดไหนดี แมงดาทะเลในประเทศไทย มีอยู่ 2 ชนิด ดังนี้ แมงดาจาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tachypleus gigas เป็นแมงดาชนิดไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย โดยลักษณะของแมงดาจานจะมีลำตัวโค้งกลม ขนาดตัวโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร ตัวใหญ่กว่าแมงดาถ้วยอย่างเห็นได้ชัด และผิวด้านบนจะเรียบ มีสีน้ำตาลอมเขียว ส่วนหางจะเป็นทรงสามเหลี่ยมมีสัน มีหนามเรียงกันเป็นแถวคล้ายฟันเลื่อย เห็นรอยหยักที่หางอย่างชัดเจน แมงดาถ้วย ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Carcinoscorpius rotundicauda แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดามีพิษ มีสารเทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) และซาซิท็อกซิน (Saxitoxin) ซึ่งเป็นสารพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า และเป็นสารพิษที่ส่งผลต่อระบบควบคุมการหายใจ โดยลักษณะแมงดาถ้วยจะมีลำตัวโค้งกลม ขนาดโตเต็มที่ไม่เกิน 18 เซนติเมตร ตัวจะเล็กกว่าแมงดาจาน ลักษณะหางจะกลมและเรียบ ไม่มีสัน ไม่มีหนาม ผิวด้านบนมีขนสั้นสีน้ำตาลอมแดง อย่างไรก็ตาม แมงดาถ้วยอาจไม่ได้มีพิษทุกตัว เฉลี่ยแล้วพบแมงดาถ้วยมีพิษราว ๆ 30% และพิษของแมงดาถ้วยส่วนใหญ่จะอยู่ในเนื้อและไข่แมงดาอยู่แล้ว ดังนั้น ถึงเอาเส้นเมาแมงดาออกก็อาจไม่รอดจากพิษแมงดา เพื่อความปลอดภัยจึงไม่แนะนำให้กินแมงดาถ้วยค่ะ พิษของแมงดา ก่อให้เกิดอาการทางระบบประสาท ดังนี้ 1. ชารอบปาก ลิ้น 2. มึนงง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย 3. กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชาที่ปลายมือ ปลายเท้า แขน ขา 4. ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพูดลำบาก ตามัวเห็นภาพไม่ชัด เหงื่อออกมาก น้ำลายฟูมปาก 5. หายใจไม่ออก เนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจไม่ทำงาน ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ อาการเป็นพิษมักจะเกิดขึ้นหลังรับประทานแมงดาทะเลประมาณ 10-45 นาที หรืออาจนานถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดพิษและแหล่งที่อยู่ของแมงดาทะเล รวมไปถึงฤดูกาลจับสัตว์ทะเล จำนวนแมงดาที่รับประทานเข้าไป และปริมาณของสารพิษที่ได้รับ ความอันตรายของพิษแมงดาทะเลขึ้นอยู่กับว่าเราได้รับพิษเข้าไปในร่างกายมากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งหากได้รับพิษในปริมาณน้อย ปฐมพยาบาลทันก็อาจไม่อันตรายเท่าไร และอาการเป็นพิษจากแมงดาทะเลก็สามารถหายไปเองได้ โดยให้สังเกตอาการภายในเวลา 24 ชั่วโมง ทว่าหากได้รับพิษแมงดาเข้าไปในปริมาณมากก็เสี่ยงเสียชีวิตได้ภายในเวลา 4-24 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเร็วมาก เพราะพิษของแมงดาทะเลจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อในการหายใจ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตก็เพราะระบบหายใจล้มเหลว ไม่สามารถหายใจเองได้ กลุ่มเสี่ยงที่หากโดนพิษแมงดาทะเลแล้วอาจมีอาการแพ้หนัก หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ คือ ผู้ป่วยเด็ก และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีระบบเมตาบอลิซึมดูดซึมสารพิษได้ค่อนข้างเร็ว โอกาสในการเกิดพิษจึงค่อนข้างง่ายกว่ากลุ่มอื่น เราสามารถปฐมพยาบาลคนที่โดนพิษแมงดาทะเลเล่นงาน ด้วยวิธีตามนี้ 1. ทำให้ผู้ป่วยหายใจคล่องที่สุด โดยจับผู้ป่วยนอนตะแคง หนุนหมอนสูง และรีบเรียกรถพยาบาลโดยด่วน โดยโทร. แจ้ง 1669 2. ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ นม ไข่ขาว หรือยาใด ๆ เพราะอาจสำลักและอาจเกิดอันตรายได้ 3. อย่ากระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน เพราะอาจเกิดการสำลักและทำให้เกิดการอุดกั้นในหลอดลมของผู้ป่วยมากขึ้น 4. หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการผายปอด CPR จนกว่าจะนำตัวผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล การรักษาพิษแมงดาทะเลยังไม่มีแนวทางเฉพาะ แต่แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ และพยายามเอาพิษออกจากร่างกายให้ได้มากที่สุด และหากผู้ป่วยหยุดหายใจก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย หากอยากกินแมงดาทะเลอย่างปลอดภัย แนะนำให้กินตามนี้ 1. เลือกกินแมงดาจาน และหลีกเลี่ยงแมงดาถ้วย 2. หลีกเลี่ยงการรับประทานแมงดาทะเลในช่วงต้นฤดูวางไข่ คือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 3. ไม่ควรรับประทานเนื้อ หรือไข่แมงดาทะเลที่บรรจุถุงสำเร็จ เพราะไม่สามารถเห็นตัวแมงดาทะเลได้ว่าเป็นแมงดาจานหรือแมงดาถ้วย 4. ควรกินเมนูแมงดาทะเลที่ปรุงโดยผู้ที่เชี่ยวชาญ มีความรู้ในการเอาเส้นเมาแมงดาทะเลหรือสะดือของแมงดาทะเลออก ซึ่งเส้นเมาของแมงดาจะอยู่ส่วนตรงกลางกระดอง มีลักษณะเป็นเส้นเหนียว ๆ ยืดได้ แมงดาทะเลอร่อยก็จริง แต่ถ้าอยากกินอย่างปลอดภัย อย่าลืมสังเกตชนิดของแมงดาทะเลให้ดี และทำตามคำแนะนำด้วยนะคะ ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี, กรมอนามัย, Rama Square, เฟซบุ๊ก Drama-addict
แสดงความคิดเห็น